ใช้ ‘ทักษะเล่าเรื่อง’ จุดประกาย ‘ทักษะการคิด’ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียนทุกคน
ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning : โรงเรียนบ้านตาจ่อยหนองสระ จ.ร้อยเอ็ด

ใช้ ‘ทักษะเล่าเรื่อง’ จุดประกาย ‘ทักษะการคิด’ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียนทุกคน

“ทักษะการเล่าเรื่องจะทำให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกสังเกต ได้ทดลองออกแบบเรื่องเล่าที่หลากหลาย ได้พินิจพิเคราะห์ฉากทิวทัศน์ธรรมดาสามัญที่เห็นอยู่ทุกวันแถวบ้าน แล้วพลิกมุมมองได้ว่า การปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ หรือทอเสื่อกกนั้น ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ที่ต่างออกไป

“เมื่อเราให้โจทย์แยกกลับไปทำคนละชิ้น จากนั้นให้เด็กเอางานมารวมกัน เราจะเห็นเป็นรายคนเลยว่าเขาคิดอะไร อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ใครช่างสังเกตและมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญกว่าคือ เราจะพบเลยว่าเด็กคนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือเติมเต็มตรงจุดไหน ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ครูสามารถออกแบบวิธีเสริมพัฒนาการ และมอบหมายงานได้ตรงกับที่นักเรียนแต่ละคนมีต้นทุนอยู่” 

เรื่องราว ‘ห้องเรียนต้นแบบ’ จากโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หลังทดลองนำกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่ห้องเรียน ด้วยหลักสูตรที่ผ่านการสำรวจความต้องการของโรงเรียน ครู และเด็ก ๆ เพื่อการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพื้นที่ ก่อนถอดบทเรียนและขยายผลลัพธ์ไปยังโรงเรียนเครือข่าย ในเขตพื้นที่การศึกษาใกล้เคียง

‘ครูคีม’ อภิสิทธิ์ แดงหนองแปน อธิบายถึงการปูพื้นฐาน ‘ทักษะการเล่าเรื่อง’ อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนรู้เชิงรุก ที่โรงเรียนบ้านตาจ่อยหนองสระ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ร้อยเอ็ด เขต 2 ตำบลดอกล้ำ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด นำมาใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้นักเรียนพัฒนาตนเองได้เป็นรายคน

‘ครูคีม’ อภิสิทธิ์ แดงหนองแปน

ย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ทางโรงเรียนเริ่มนำการเรียนรู้แบบ Active Learning มาใช้ในชั้นเรียน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปที่ตัวผู้เรียนทุกคนได้เท่า ๆ กัน โดยมุ่งไปที่การพัฒนา ‘การคิด’ ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเขียนอ่านและการสื่อสาร เพื่อต่อยอดสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้น

ครูคีมเท้าความว่า “การจะนำสาระวิชาตามหลักสูตรแกนกลางให้ไปถึงเด็ก ๆ ก่อนอื่นเราต้องคำนึงถึงทักษะการรับรู้รับฟังและการทำความเข้าใจ ซึ่งการสอนด้วยวิธีบรรยายอย่างเดียวไม่อาจทำให้เด็กทุกคนไปถึงเป้าหมายปลายทางได้อย่างเสมอภาคกัน เนื่องจากฐานความคิดและความรู้เดิมของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างหลากหลาย ทั้งด้วยสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ จนถึงความต่างเชิงพื้นที่ตามสังคมชุมชนที่สังกัด 

“การที่เด็กซึมซับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะยิ่งสภาพแวดล้อมนั้นไม่ได้หลากหลายซับซ้อนมากนัก ผลประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ เมื่อเด็กไม่เคยเห็น ไม่เคยรับรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ต่างออกไป มันก็ยากที่เขาจะคิดพ้นไปจากกรอบ หรืออีกมุมหนึ่งคือ เมื่อเด็กต้องปะทะกับข้อมูลที่แปลกออกไปจากการรับรู้เดิม จะกลายเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจและยอมรับ 

“กล่าวเชิงเปรียบเทียบคือ ถ้าเด็กรับรู้มาตลอดว่า 2 บวก 2 เท่ากับ 4 เขาจะยึดข้อมูลนั้นเป็นที่ตั้งโดยแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงอื่นแทรกเข้ามา ทีนี้หากใครสักคนพูดขึ้นมาว่า 3 บวก 1 เท่ากับ 4 ก็จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในทันที ฉะนั้นถ้าจะทลายกำแพงการรับรู้ให้เด็กพ้นหลุดจากกรอบ เราต้องเริ่มที่ ‘การคิด’ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการรับรู้รับฟังขึ้นมาก่อน”

เมื่อนั้นการนำ ‘ทักษะการเล่าเรื่องเพื่อมุ่งพัฒนาการคิด’ จึงค่อย ๆ หยั่งรากลง ณ โรงเรียนบ้านตาจ่อยหนองสระ เริ่มที่ชั้นเรียน ป.6 ซึ่งบทเรียนแรกสำหรับการปูพื้นฐาน คือหน่วยการเรียนรู้ที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องกลับไปสำรวจบริเวณพื้นที่บ้านของตัวเอง แล้วค้นหาของดีในชุมชนมาเล่าสู่กันฟัง 

“การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ต่างออกไปจากเดิม ไม่เพียงจะช่วยดึงดูดความสนใจให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน แต่ยังเป็นเหมือนการปลุกเร้าให้เด็กตื่นตัว พร้อมที่จะใช้ความคิด และค่อย ๆ คุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็น โดยในช่วงแรกอาจเริ่มต้นด้วยการให้เด็กเล่นเกมในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเด็กผ่อนคลาย ถัดจากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ช่วงเวลาถ่ายทอดเรื่องเล่า ในช่วงแรกครูอาจต้องช่วยชี้แนะเรื่องการจับประเด็น กระตุ้นและผลักดันเด็กให้มองเห็นเนื้อหาใจความสำคัญ เพื่อเล่าเรื่องออกมาโดยไม่จำเป็นต้องเรียงร้อยเป็นเรื่องยาว

“อย่างแรกเด็กต้องกล้าคิด คิดอะไรออกมาก็ได้ เพื่อเป็นการเริ่มต้น ไม่ต้องกังวลเรื่องถูกผิด จากนั้นค่อยมาเรียนรู้ว่าบ่อเกิดของการคิด ควรต้องมีข้อเท็จจริงเป็นหลักฐานรองรับ แล้วไปสู่ขั้นตอนการเขียน เพื่ออธิบายเส้นทางสำรวจค้นคว้า ชี้แจงข้อมูลสนับสนุน ยืนยันในสิ่งที่คิด ขั้นต่อไปจึงเป็นการแยกประเด็นและลำดับเรื่องราว ระหว่างนั้นครูจะช่วยดูว่าการเรียบเรียงเรื่องเล่ามีอุปสรรคอย่างไร ในขั้นตอนใด โดยจุดนี้ครูต้องปรับบทบาทเป็นผู้ช่วย เพื่อเชื่อมโยงเด็กกับทรัพยากรต่าง ๆ ของชุมชน รวมถึงเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับชุมชนด้วย เพราะเราอยากให้ตัวคอนเทนต์มาจากหลายแหล่งข้อมูลรวมกัน ทั้งบ้าน โรงเรียน ชุมชน หนังสือ อินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดการกรองและเกลาข้อมูลก่อนเล่าเรื่องออกมา”

ครูคีมยกตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ‘ลิขิตกานท์สานคุณค่า สืบศรัทธาบุญผะเหวด ศรีสาเกตนคร’ โดยพานักเรียนลงไปเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน แล้วแบ่งกลุ่มทำ ‘หนังสือเล่มเล็ก’ เล่าเรื่องราวงานประเพณีบุญผะเหวด งานบุญเดือน 4 ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยบทเรียนนี้เด็ก ๆ จะต้องช่วยกันเก็บข้อมูลกลับมาทำแผนผังความคิด วางโครงเรื่อง ก่อนร้อยเรียงเรื่องราวเป็นบทร้อยกรอง และวาดภาพประกอบ

“เมื่อผ่านประสบการณ์เฉพาะตัวในระดับหนึ่งแล้ว เราจะยกระดับขึ้นอีกขั้นด้วยการพาไปทำงานกลุ่ม และเช่นเดิม ต้องเริ่มจากเรื่องราวใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นเคยและมีความทรงจำร่วมกัน หัวข้อเรื่องจึงเป็นประเพณีบุญผะเหวด ของดีของจังหวัดที่ถ้าใครมาร้อยเอ็ดก็ต้องไม่พลาดงานนี้ เมื่อได้โจทย์ตั้งต้นที่มีพลังพอ เด็กจะเห็นภาพว่าจะต้องทำงานยังไง แล้วครูจะช่วยแนะนำเรื่องการวางแผน จัดลำดับความคิด จัดการข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์มาสู่ชิ้นงานให้ได้มากที่สุด

“หัวใจของการเล่าเรื่องคือ ทุกเรื่องเล่าไม่จำเป็นต้องมีประเด็นซับซ้อน แค่ครูต้องช่วยรีดเอาเรื่องราวใกล้ตัวและมีความเฉพาะตัวออกมาให้ได้ โดยเด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะยกระดับเรื่องเล่าที่มีโจทย์ใหญ่ขึ้นและมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นได้ตามทักษะที่มี 

“ความท้าทายของครูคือ ในเบื้องต้นต้องทำให้เด็กเห็นภาพใหญ่ร่วมกันก่อน แล้วจึงหาวิธีดึงเอาความเข้าใจ ความคิด ประสบการณ์ส่วนตัวของเด็กออกมาเป็นรายคน จากนั้นจึงนำส่วนผสมมาประกอบขึ้นรูป ใช้กิจกรรมปลายเปิดมาช่วยสนับสนุน เช่น เกม เพื่อให้ทุกคนกล้าแสดงความเห็น กล้าสะท้อนกันในกลุ่มถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็นเรื่องเล่าที่พัฒนาขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในกลุ่ม ในจุดนี้หากใครคิดต่างจากเพื่อนก็ต้องมีเหตุผลมาอธิบายว่าเพราะอะไร และด้วยการที่ทุกคนมีหลักฐานข้อมูลอ้างอิงความคิดความเข้าใจของตน ก็จะทำให้ค่อย ๆ เกิดวัฒนธรรมการรับฟัง เกิดการยอมรับและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง เกิดการสร้างภูมิในการปะทะกับความรู้ความเข้าใจใหม่ และบ่มเพาะนิสัยให้เด็ก ๆ รู้จักตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลต้นทาง” 

ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่เป้าหมายคือความเปลี่ยนแปลงรายบุคคล

ครูคีมกล่าวว่า เมื่องานจากเด็ก ๆ ผ่านการปรับปรุงขั้นสุดท้าย ผลงานชิ้นนั้นจะถูกนำเข้าสู่วง PLC หรือ Professional Learning Community ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันภายในกลุ่ม พร้อมกับครูทุกสาระวิชาในโรงเรียน เพื่อติดตามพัฒนาการในขั้นตอนต่าง ๆ โดยไม่ได้เน้นที่ความสมบูรณ์สวยงาม แต่ครูต้องช่วยกันมองหาช่องว่างระหว่างการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนว่า เด็กเปลี่ยนแปลงไปในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไร และจะเสริมจุดเด่นหรือเติมเต็มจุดด้อยได้อย่างไร

“ชิ้นงานของเด็กคือตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เราจะเห็นได้จากงานแรก ๆ ที่ให้เขาคิดอะไรก็เขียนออกมา จนถึงวันที่เด็กเริ่มจับประเด็นและลำดับเรื่องเล่าได้ดีขึ้น ว่าแต่ละคอนเทนต์ต่างกันอย่างไร งานแต่ละชิ้นจะแสดงถึงทักษะ ระบบความคิด หรือรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างความมีระเบียบในการทำงาน ที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนผ่านการลงมือทำ ส่วนพัฒนาการด้านอื่น ๆ ก็ยิ่งปรากฏชัด เมื่อครูทุกวิชาเห็นตรงกันว่าเด็กกล้าพูด ละเอียดลออใส่ใจกับการลำดับความคิด การเขียน และการสื่อสารมากขึ้น มีการวางแผนการทำงานได้ชัดเจน กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และรับฟังความเห็นของครูและเพื่อนได้ดียิ่งขึ้น” 

“ครูให้ทำหนังสือกลอนสุภาพ แล้ววาดภาพระบายสีเป็นเรื่องราวงานบุญผะเหวด เราลองทำกันไม่นาน เพื่อนก็เขียนได้ทุกคน จากคนที่ไม่เคยชอบเขียน ก็เริ่มกลับมาชอบเขียน ชอบพูด เห็นเลยครับว่าในชั้นเรียนเปลี่ยนแปลงจริง ๆ” 

สืบสกุล นวลย้อย นักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านตาจ่อยหนองสระ

“ผลงานชิ้นนี้คือการนำเสนอเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน โดยให้เด็กเรียนรู้จากกระบวนการเล่าเรื่อง ให้เด็ก ๆ ได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ตระหนักถึงสิ่งที่รู้ และสะท้อนความคิด เพราะเด็กในพื้นที่ทุกคนจะรู้จักประเพณีบุญผะเหวดกันอยู่แล้ว แต่เขาอาจไม่รู้ถึงความสำคัญ จนเมื่อเด็กรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรรักษา และสามารถจับมาต่อยอดได้ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้นี้ ทำให้เด็กตระหนักถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น จนถึงการหวงแหนรักษาไว้ต่อไป” 

ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ


กสศ. ชวนไปหาไอเดียจากห้องเรียนภาษาไทยชั้น ป.6 ของ ‘คุณครูอภิสิทธิ์ แดงหนองแปน’ แห่งโรงเรียนบ้านตาจ่อยหนองสระ จ.ร้อยเอ็ด จากอินโฟกราฟิกชุดนี้ : “ถามคือสอน – สะท้อนคือเรียน – เขียนคือคิด” เทคนิคสำหรับคุณครูที่อยากเริ่มจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning