“คนทุกกลุ่มในจังหวัด ร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดทิศทางการแก้ปัญหา และหนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย”
ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ จากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดสมุทรสงคราม เล่าถึงการทำงานของจังหวัดว่า
เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านการศึกษาจังหวัดพบว่า เด็กเยาวชนในจังหวัดสมุทรสาครสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 100% แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาที่แฝงอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น สมุทรสงครามมีสภาพเป็นสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เด็กเยาวชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด
“แผนการทำงานด้านการศึกษาของจังหวัด จึงมีเป้าหมายในการยกระดับการทำงานกับผู้ปกครอง และเชื่อมต่อการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยให้ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด”
หลักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของสมุทรสงคราม เริ่มต้นจากการพัฒนากลไกที่จะทำให้คนไม่มองว่าการศึกษาต้องอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น การศึกษาต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประชาชนทุกคนควรมีช่องทางเข้าถึงการพัฒนาตนเอง ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เริ่มจากที่เด็กเยาวชนต้องเรียนรู้เรื่องราวในชุมชนของตน เพื่อความพร้อมในการเติบโตเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้รับช่วงต่อการพัฒนาเมืองต่อไป ไม่เช่นนั้น เราจะปกป้องจังหวัดของเราไว้ไม่ได้
ด้วยแนวคิดดังกล่าว สมุทรสงครามทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ ในการนำแอปพลิเคชันที่ประยุกต์จากต่างประเทศเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล ขณะที่จังหวัดพัฒนากระบวนการเก็บข้อมูลที่ชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วม แล้วสามารถใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์เชิงพื้นที่ หาวิธีการจัดการที่ตรงกับโจทย์ปัญหา
“กระบวนการข้อมูล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจังหวัด เมื่อเห็นข้อมูลร่วมกันในตำบลและจังหวัด จึงนำมาสู่การพัฒนาการศึกษาของจังหวัด 4 รูปแบบ ซึ่งทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงในจังหวัด คือ
การพัฒนาการศึกษาของจังหวัดสมุทรสาคร 4 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1: การยกระดับการศึกษา เริ่มต้นจากยกระดับมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ตั้งต้นจากโจทย์ในพื้นที่ การที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน และเด็กจำนวนมากต้องอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงวัย ปู่ย่าตายาย เด็กต้องดูแลตัวเอง พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกในเรื่องอาหารเช้า รีบไปส่งโรงเรียน เด็กๆก็ไม่ได้ทานอาหารเช้า โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของการเริ่มต้นชีวิต ดังนั้นคณะทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามจึงเริ่มเข้าไปอุดหนุนอาหารเช้าและอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งในจังหวัด “จากการลงพื้นที่ในช่วงแรกเราพบว่า เด็ก 40% ไม่ได้ทานอาหารเช้า สิบโมงเด็กกลุ่มนี้เริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง หลังจากเติบอาหารเช้าเข้าไป ส่งผลให้พัฒนาการทางสุขภาพ พัมนาการสมองของเด็กดีขึ้น” รวมถึงพัฒนาครูด้าน EF: Executive Function หรือทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เพราะเราพบว่าเด็กๆ มีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสมอง โดยทำงานพัฒนาครูร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ผลคือสามารถช่วยเหลือเด็กเล็กจำนวน 575 คนใน 10 ศพด. มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยโดยเฉพาะในเรื่องการเดินทาง เกิดการพัฒนาชมรมครู 121 คนจาก 61 ศพด. เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ และเกิดชมรมผู้ปกครองที่สนับสนุนการจัดพื้นกลางเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู ศพด. ใน 3 อำเภอที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ปกครอง
รูปแบบที่ 2 การพัฒนาอาชีพ และการศึกษาที่มีทางเลือกสำหรับเด็กหลุดนอกระบบ
การเก็บข้อมูลโดยผู้คนในชุมชน ขยายขอบเขตครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้พบว่าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาด้านอาชีพและสุขภาพ โดยข้อมูลรายบุคคลทำให้สามารถจำแนกกลุ่มเด็กออกตามช่วงวัย ชี้ให้เห็นสถานการณ์ และนำสู่การวางแผนทำงานกับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบ โดยมุ่งจัดการศึกษาที่มีทางเลือกหลากหลาย ตามความสนใจและความจำเป็นของชีวิต มีการเชื่อมโยงภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาฝึกอบรมและสนับสนุนผลักดันเรื่องการประกอบอาชีพ และนอกจากนี้ ข้อมูลที่แสดงรายละเอียดของเด็กรายคน ยังใช้เป็นต้นทางในการทำงานกับเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุด ในมิติการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพชีวิต ที่จะช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างมั่นคง
รูปแบบที่ 3 พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนที่ต้องการการดูแลพิเศษ
แม้สมุทรสงครามมีสถานศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ แต่ปัญหาที่พบคือยังขาดครูผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ปกครองได้รวมตัวกันตั้งชมรมดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จนสามารถวางแนวทางการพัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีกระบวนการในการดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ให้มีพัฒนาการและประสิทธิภาพในการเรียนรู้
“ผลการทำงานที่เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ขยายไปถึงความเชื่อมโยงระดับจังหวัด และทำให้สมุทรสงครามเกิดพื้นที่เรียนรู้และมีหลักสูตรสำหรับเด็กเยาวชนผู้พิการทางสติปัญญา เยาวชนผู้พิการทางสติปัญญาที่เคยเข้าไม่ถึงการศึกษาในระบบ มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ เกิดเครือข่ายชุมชนช่วยค้นหาและดูแลเด็กเยาวชนผู้พิการทางสติปัญญา และเกิดการพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ดูแลเด็กเยาวชนผู้พิการทางสติปัญญาให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
รูปแบบที่ 4 ยกระดับการจัดการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย
เป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดสมุทรสงคราม แนวคิดเรื่องการ ‘พัฒนาโรงเรียนในฝันของคนสมุทรสงคราม’ โดยเริ่มจาก ‘โรงเรียนใกล้บ้าน’ ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เสี่ยงถูกยุบ เชื่อมโยงองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ขยับไปทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่และพัฒนาศักยภาพของคุณครู หลังจากได้ลงพื้นที่พบว่า เด็กๆโรงเรียนนี้เรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถมีอาหารเช้า อาหารกลางวัน ดูแลเด็กๆ โดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย ตั้งแต่การพัฒนานักเรียน เสริมศักยภาพครู หนุนเสริมวิชาการจากภายนอก สร้างเครือข่ายผู้ปกครอง และเชื่อมกลไกกับองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะโรงเรียนใกล้บ้าน คือพื้นที่ที่จะสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของภูมิลำเนา ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม และพัฒนาตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองในอนาคต
ชิษนุวัฒน์ กล่าวว่า การถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ได้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ 4 ประการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในพื้นที่จังหวัดอื่น ดังนี้
- อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปักหมุดงานพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นชีวิตของเด็กทุกคน ถ้าเด็กเริ่มต้นจากความขาดแคลน ความบกพร่อง จะส่งผลถึงการเติบโตในวันข้างหน้า นอกจากนี้ควรพัฒนาต่อเนื่องถึงการยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้านในพื้นที่ให้มีคุณภาพ เพื่อสะดวกต่อการศึกษาของเด็กเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องโยกย้ายไปยังพื้นที่อื่น หรือเดินทางเข้าเมือง
- การที่โรงเรียนจะพัฒนาได้ต้องมีการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องอาหารเช้าและอาหารกลางวัน ซึ่งสมุทรสาครมีผลลัพธ์ที่พิสูจน์แล้วว่าจะช่วยให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้นได้ทั้งด้านสุขภาพกายและสติปัญญา
- การพัฒนาโรงเรียนต้องส่งเสริมบทบาทนำของคณะกรรมการสถานศึกษา ให้มีบทบาทนำในการจัดการศึกษาของพื้นที่เพราะมีความเข้าใจบริบทของพื้นที่และรู้จัก ใกล้ชิดเด็กๆ เป็นอย่างดี
- ผลักดันให้ทุกคนในพื้นที่ สามารถลุกขึ้นมาจัดการศึกษาเองได้ ร่วมผลักดัน (ร่าง) พรบ. การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 18 โดยเปิดโอกาสให้มีคณะทำงานรวมตัวกันในรูปแบบสมัชชา มีภาคีองค์กรหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วม มีอำนาจในการระดมทุน จัดตั้งกองทุนที่สามารถใช้งบประมาณเพื่อจัดการศึกษาของจังหวัด
“อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบโครงสร้างการทำงานที่แข็งแรง หากงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ยิ่งถ้าได้ครูและคนในแวดวงการศึกษาที่เข้าใจความเป็นไปในท้องถิ่น ร่วมกับผู้บริหารที่มีใจและตระหนักถึงความสำคัญ งานก็จะยิ่งเดินไปได้เร็วขึ้น”
“สำหรับสมุทรสงคราม ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเราชวนผู้ประกอบการ ผู้บริหารท้องถิ่น และชวนครูที่เป็นคนในพื้นที่มาปรึกษาพูดคุย จนเห็นช่องของการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มจาก ศพด. กับ อปท. สามารถเป็นต้นทางในการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการศึกษาได้ว่า ณ โลกปัจจุบัน เราไม่อาจส่งเด็กไปโรงเรียนแล้วฝากภารกิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไว้กับโรงเรียนหรือครูเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่การจะทำให้เด็กมีคุณภาพ ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วม โดยต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ รวมถึงต้องชวนคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาท้องถิ่นไปด้วยกัน
“เป้าหมายที่สมุทรสงครามต้องการไปให้ถึง คือมีกลยุทธ์ที่หลากหลายในการจัดการเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มชักชวนภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัด มาร่วมฝึกอบรมทักษะอาชีพให้เยาวชนนอกระบบ อาทิ สนับสนุนให้เด็กได้ทำงานเป็นบาริสต้าในร้านกาแฟ มีการดึงสถาบันอาชีวศึกษาเข้ามาจัดทำหลักสูตรทวิศึกษา และเตรียมขยับให้มีพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มขึ้น โดยจะมีกลุ่มธุรกิจในจังหวัดมาช่วยผลักดันเด็ก ๆ ให้ค้นพบเส้นทางอาชีพ นอกจากนี้ในทุกปลายทางของการจัดการเรียนรู้ เด็กทุกคนต้องเทียบโอนวุฒิการศึกษาจากประสบการณ์ได้ เพื่อให้ความหมายของการจัดการศึกษาเพื่อรองรับความต้องการของคนทุกกลุ่ม หมายถึงการเรียนรู้ใดก็ตาม จะสามารถนำไปต่อยอดชีวิตได้จริง เกิดระบบนิเวศน์การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย”