29 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน “เทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (BKK Read & Learn Festival)” ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารและผู้แทนภาคีเครือข่าย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้พยายามสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลาหลายปีตั้งแต่ก่อนที่ทีมบริหารชุดนี้จะเข้ามา ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่สูงมากและต้องมีนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหาร ขณะเดียวกัน หัวใจของการสมัครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จะมีคำว่า Network อยู่ คือจะต้องมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ยืนยันในหลักการ 2 เรื่อง ได้แก่ Learning for Life หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ Opportunities for All หรือการขยายโอกาสต่าง ๆ ให้ครอบคลุม
“การที่กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกและประกาศรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งยืนยันความสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการหรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายต่าง ๆ มากกว่า ปัญหาหลักในช่วงที่สมัครคือถูกตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯ ใหญ่เกินไปจนไม่สามารถทำได้หรือไม่ แต่ทีมทุกคนยืนยันว่าต้องเข้าร่วมทั้งกรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองที่มีโอกาสมากที่สุดทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องของการเรียนรู้ ซึ่งต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่มาร่วมกัน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ในส่วนของทิศทางการขับเคลื่อนต่อไป รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนด 5 Primary Areas หรือประเด็นหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. พัฒนาการเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development) 2. การศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education) 3. การพัฒนาทักษะอาชีพ (Vocational Skills Development) 4. การเรียนรู้เพื่อทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for all, anywhere, anytime) และ 5. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง (Participation of Youth and Citizens in Urban Development) ภายใต้หลักการ 2 เรื่องคือ Learning for Life และ Opportunities for All โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทุนว่าขอให้นำ 5 ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักในการสนับสนุนทุนแก่นักวิจัยหรือผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ไปกับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มีนาคม 2567 จะมีการแถลงว่ากรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายจะดำเนินการอะไรบ้างภายใต้ 5 ประเด็นดังกล่าว
กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 3 เมืองของประเทศไทย ที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้คัดเลือกจากรายชื่อเมือง จำนวน 64 เมือง ใน 35 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) โดยกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดยะลา ได้รับการพิจารณาคัดเลือกและประกาศรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ในปีนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นการเชิดชูความพยายามอันโดดเด่นในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นจริงได้สำหรับทุกคนในระดับท้องถิ่น ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงของสถาบันศึกษา สถาบันฝึกอบรม และสถาบันวัฒนธรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น ตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชน 2. การเป็นเมืองที่สามารถระดมทรัพยากรในทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในทุกช่วงวัยของชีวิต และ 3. มีการขยายการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ กรุงเทพมหานครจึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านกับ “เทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (Bangkok Read & Learn Festival 2024)” ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2567 โดยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเทศกาลหนังสือ การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งนับว่าเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่รักหนังสือและจะได้พบปะนักเขียน อีกทั้งยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทั่วกรุงเทพฯ เช่น หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร TK Park รวมถึงห้องสมุดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานของเอกชน ร้านหนังสืออิสระ ด้วยกิจกรรมที่หลายหลาย ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ จะทำให้กลุ่มบุคคลที่รักการอ่านได้มีโอกาสมาพบปะกัน แลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ด้วยกัน อาทิ กิจกรรม Walking Trip กิจกรรม Biking Trip กิจกรรม #BKKBooktok อ่านสนุกกับ TikTok และกิจกรรมอ่านผลิบาน ที่จะทำให้ทุกคนได้รู้จักห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานครมากยิ่งขึ้น กิจกรรมการอ่านสำหรับผู้สูงวัยอายุเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อาทิ การดูแลสุขภาพกายและใจวัยเก๋า
นางสาววริฎฐา แก้วเกตุ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวถึงการสนับสนุนกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ว่า กสศ. ได้ทำงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นจริงได้มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 ได้ขยับการส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง ด้วยการเปิดเวทีวิชาการในการพัฒนาตัวแบบและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำงานร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วย รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย และนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ส่วนหนึ่ง กสศ. มองเห็นเรื่องการบูรณาการศาสตร์เพื่อสร้าง Learning City เนื่องจากการขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้เพียงภาคส่วนด้านการศึกษาไม่พอ ถ้าเราสามารถเชื่อมภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมทำงานเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคน Learning City จะสามารถทำงานได้อย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งปีนี้จะเป็นการเดินหน้ากรุงเทพมหานครเป็นตัวแบบของเมืองแห่งการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ”
นางสาววริฎฐา กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ กสศ. กำลังเดินหน้าการทำงานตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป้าหมายนี้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่หนึ่งที่สำคัญมาก เนื่องจาก 1 ใน 3 มาตรการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout คือ Flexible Learning หรือการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการศึกษาที่มีทางเลือก เช่น การเรียนรู้ในย่าน ผู้ประกอบการในชุมชน การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เหล่านี้เป็นความก้าวหน้าที่สามารถทำให้ Learning City และ Thailand Zero Dropout ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้รวม 10 เมือง ได้แก่ เชียงราย (เป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2562) เชียงใหม่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา (เป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2563) สุโขทัย พะเยา หาดใหญ่ (เป็นสมาชิกปี พ.ศ. 2565) และสมาชิกล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 คือ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และยะลา
สำหรับเทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (Bangkok Read & Learn Festival 2024) ครั้งนี้ เป็นการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทยให้มีรากฐานที่มั่นคง กระตุ้นให้ธุรกิจร้านหนังสือมีกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญคือเพื่อร่วมเฉลิมฉลองที่กรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน อาทิ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด (PlanToys) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) TikTok Thailand กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย
รายละเอียดกิจกรรม ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๆ อาทิ 1. กิจกรรมหนังสือในสวน โดยครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นที่สวนเบญจกิติ ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 ซึ่งรูปแบบกิจกรรมจะเป็นกิจกรรม Human Library ที่เปิดโอกาสให้กับนักอ่านและประชาชนได้เข้าร่วมพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ และครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยจะมีการแถลงนโยบายกรุงเทพฯ เมืองแห่งหารเรียนรู้ Bangkok Learning City
2. กิจกรรม Walking Trip จำนวน 4 เส้นทาง และกิจกรรม Biking Trip จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่การเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร เช่น สวนสาธารณะ ชุมชน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่การเรียนรู้อื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยกิจกรรม Walking Trip ครั้งที่ 1 จะจัดในวันที่ 9 มีนาคม เพื่อเข้าใจความแตกต่าง ณ พื้นที่สำเพ็ง ครั้งที่ 2 จะจัดในวันที่ 23 มีนาคม เพื่อเรียนรู้การทำเครื่องหนัง ณ พื้นที่เจริญรัถ ครั้งที่ 3 จะจัดในวันที่ 30 มีนาคม ณ พื้นที่บางขุนศรี และครั้งที่ 4 จะจัดในวันที่ 6 เมษายน ณ พื้นที่หัวตะเข้ ส่วนกิจกรรม Biking Trip ครั้งที่ 1 เป็นกิจกรรม Biodiversity Bike Rally ณ สวนรถไฟ และครั้งที่ 2 เป็นกิจกรรม Bike in BKK หัดปั่นในเมืองเก่า ณ ย่านพระนคร
3. กิจกรรมอ่านผลิบาน 8 ครั้ง กับเรื่องราวที่หลากหลาย ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 9 มีนาคม เรียนรู้การทำกะปิหวานที่บางกะปิ ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บางกะปิ ครั้งที่ 2 วันที่ 10 มีนาคม เรียนรู้การพากย์เสียงและทำหนังสือเสียงกับนักพากย์ตัวจริง ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ครั้งที่ 3 วันที่ 16 มีนาคม เรียนรู้การดูแลสิ่งแวดล้อม ใกล้ตัวและการดูแลธรรมชาติ ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ครั้งที่ 4 วันที่ 17 มีนาคม กิจกรรม Boardgame จากหนังสือ ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บางขุนเทียน ครั้งที่ 5 วันที่ 23 มีนาคม เรียนรู้เทคนิคลับกับนักบอลตัวจริง ณ บ้านหนังสือลานกีฬาพัฒน์ 2 ครั้งที่ 6 วันที่ 24 มีนาคม กิจกรรม Books & Cooking Club ทำอาหารด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือ ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 ครั้งที่ 7 วันที่ 31 มีนาคม รู้จักปัญญาประดิษฐ์ ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้มีนบุรี และครั้งที่ 8 กิจกรรมรู้จักและเข้าใจเมืองผ่านการทำงานศิลปะ ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านยังได้จัดกิจกรรมสนับสนุนเทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ เดือนมีนาคม เช่น กิจกรรมความสุข 5 มิติ สำหรับผู้สูงวัยวัยเก๋าที่จะได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพกายและใจวัยเก๋า การเปิดบริการ e–book (อีบุ๊ก อยู่เขตไหน อ่านได้ทุกที่) กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามอัธยาศัยในรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย กิจกรรม Boardgame Club, Digital Guide, Small Talk และสนุกอ่าน สนุกคิด ของ TK park กิจกรรม Better aging: เล่นลืมวัย และกิจกรรมสำหรับเด็กออทิสติก ของ PlanToys สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ในวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลอดจนกิจกรรมจากภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านอีกมากมาย
รวมทั้งยังมีกิจกรรมสะสมแต้มการเรียนรู้ โดยสะสมแต้มและตามล่าตราประทับจากแหล่งเรียนรู้กว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อแลกรับของรางวัลสุดพิเศษ (มีจำนวนจำกัด) เริ่มเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2567 ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถสะสมแต้มได้ 2 รูปแบบ คือ แบบ Offline ผ่านสมุดสะสมแต้มการเรียนรู้ และแบบ Online ผ่าน Line OA @bkklearningcity