“ขอบคุณ กสศ. ที่มอบทุนการศึกษานี้ ทำให้เราจากแทบไม่มีโอกาสได้เรียนแล้วได้กลับมาเรียนต่อ ได้พัฒนาตัวเอง ได้ทำงานดี ๆ มีเงินเดือนแบบนี้ ถ้าไม่ได้ทุนฯ คงเรียนจบแค่ ม.3 ทำงานเป็นลูกจ้างมีรายได้ขั้นต่ำแค่วันละ 200-300 บาท ไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัว และส่งน้องเรียนต่อได้อย่างทุกวันนี้”
คำบอกเล่าของ อุ้ม-วรรณิสา ภักดี สะท้อนถึงคุณค่าของโอกาสทางการศึกษาที่เด็กหญิงชาวเกาะปันหยีคนนี้ได้รับ นั่นคือ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง (5 ปี) จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งทำให้เธอได้เรียนต่อในระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึง ปวส. และได้เข้าทำงานในตำแหน่ง นักสันทนาการเด็ก (Recreation) ประจำ Kids Club ของโรงแรมอวานี พลัส เขาหลัก รีสอร์ท จังหวัดพังงา รับเงินเดือนประจำและสวัสดิการต่าง ๆ เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
ชีวิต (เกือบ) ติดเกาะ

อุ้ม – วรรณณิสา เกิดและเติบโตบน ‘เกาะปันหยี’ เกาะเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือนกว่า 300 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ประมง รวมถึงการเปิดร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว ในวัยเด็กอุ้มเรียนที่โรงเรียนเกาะปันหยีซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา
“ตอนนั้นเรียนที่โรงเรียนเกาะปันหยีกำลังใกล้จบ ม.3 คุณครูถามว่าสนใจเรียนต่อไหม เพราะผลการเรียนดี ได้เกรดสูง ใจเราก็อยากเรียนต่อ แต่ตอนนั้นคิดว่าคงไม่ได้เรียนแล้ว เพราะแม่คงไม่มีเงินส่งเสีย เนื่องจากแม่ไม่สบายก็เลยไม่ได้ทำงาน พ่อทำงานคนเดียว พี่สาวกำลังจะจบ ม.6 ส่วนน้องสาวยังเรียนอยู่ คงต้องส่งเสียน้องเรียนให้เรียนจนจบ เลยคิดว่าเรียนจบ ม.3 แล้ว ก็ทำงานบนเกาะปันหยีเลย มีร้านอาหารอยู่ ช่วงปิดเทอมก็เคยไปทำงานอยู่แล้วเพื่อหารายได้เสริม”
โชคดีที่ในช่วงเวลานั้น คุณครูโรงเรียนเกาะปันหยีได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ ‘โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพ ทำให้วันที่ไร้โอกาสกลับมีความหวังขึ้นอีกครั้ง
“ครูบอกว่ามีทุน กสศ. เข้ามาพอดี แต่ว่าต้องทำเกรดให้ดี ตอนนั้นรีบตอบรับเลย เพราะว่าถ้าได้ทุนก็มีโอกาสพัฒนาตนเอง ซึ่งในที่สุดเราก็ได้รับคัดเลือกให้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภท 5 ปี รุ่นที่ 1 สำหรับนักเรียนชั้น ม.3 ให้เข้าเรียน ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส. ตอนที่รู้ว่าได้ทุนดีใจมาก แม่ก็ดีใจที่ได้เรียนต่อ เพราะจะได้มีโอกาสที่ดีกว่าเดิม จากที่ต้องใช้ชีวิตทำงานร้านอาหารบนเกาะได้ค่าจ้างวันละ 150-200 บาท ก็จะได้พัฒนาตัวเองให้มีรายได้มากกว่านี้”
การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตและบริบทท้องถิ่น

หลังจากได้ทุนฯ อุ้มได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา ในสาขาวิชาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีการท่องเที่ยว) ซึ่งเป็นสาขาอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน
“ตอนเรียนเทคโนโลยีการท่องเที่ยวในระดับ ปวช. จะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้เรียนเกี่ยวกับการเป็นมัคคุเทศก์ เรียนว่ายน้ำ ดำน้ำ และกิจกรรมทางกีฬา ส่วนวิชาเรียนจะเป็นทักษะพื้นฐานหมดเลย เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ บัญชี พอมาเรียนในระดับ ปวส. ก็จะมุ่งไปที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือเรียนวิชาที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การนวด สปา และกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งช่วยให้เรามีทางเลือกมากขึ้น เรียนจบไม่ใช่แค่ไปเป็นไกด์ แต่ยังสามารถไปทำงานนวดสปา หรืออื่น ๆ ได้อีก”
ไม่ใช่แค่โอกาสในการเพิ่มพูนทักษะ-ความรู้ ระหว่างเรียน กสศ. ยังมอบทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งช่วยให้นักศึกษาทุนมีสมาธิจดจ่อต่อการเรียนอย่างเต็มที่ หมดความกังวลใจในเรื่องการใช้ชีวิตและยังได้แบ่งเบาภาระครอบครัว
“ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือนช่วยเราได้มาก ลดภาระของที่บ้าน เพราะว่าหอพักก็อยู่ฟรี ค่าน้ำค่าไฟทุกอย่างฟรีหมดเลย แล้วก็ยังได้เงินเดือนจาก กสศ. ไว้ใช้ระหว่างเดือนอีก เป็นค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ค่าเล่าเรียนเสริมในด้านอื่น ๆ เราพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด ที่เหลือก็เก็บเป็นเงินออมบางส่วน และแบ่งส่งให้ที่บ้านไว้ใช้จ่าย”
จุดเน้นที่สำคัญของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือ ไม่เพียงสร้างความรู้ ทักษะ และวุฒิการศึกษา แต่ต้องสร้างจุดเชื่อมต่อในการผลักดันนักศึกษาให้ได้ ‘เรียนรู้กับนายจ้างและปฏิบัติการจริง’ เพื่อปูทางสู่ ‘การสร้างงาน’ ที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตพวกเขาให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง “เรียนสายอาชีพดีนะคะ ได้ฝึกงานจริง เรียนจบไปแล้วอาจได้งานทำเลย เพราะว่าส่วนมากเขารับ ปวช. หรือ ปวส. มากกว่าผู้ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางสายอาชีพ ตอนเรียน ปวส. จะมีหน่วยกิตให้ไปฝึกงาน ตอนนั้นเลือกมาฝึกงานที่ โรงแรมอวานี พลัส เขาหลัก รีสอร์ท จังหวัดพังงา เลือกฝึกสายสปา เพราะเรียนสปามา และอยากลองทำงานดู แต่พอดีว่างานในส่วนสปารับเด็กฝึกงานครบแล้ว พี่ ๆ เลยแนะนำให้มาฝึกงานด้าน Recreation เหมือนนักสันทนาการที่คอยจัดกิจกรรมเรียนรู้หรือกีฬาให้แก่เด็ก ๆ คล้ายการทำเนิร์สเซอรี่ในโรงแรม ที่สำคัญเป็นกิจกรรมที่เปิดใหม่ในโรงแรมด้วย เราก็เลยสนใจและอยากลองดู”
อาชีพ ‘นักสันทนาการ’ มากกว่ารายได้คือความภูมิใจ

หลังจากเรียนจบได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากวิทยาลัยเทคนิคพังงา อุ้มก็ได้รับเลือกให้เข้าทำงานด้าน Recreation ในแผนก Kids Club ของโรงแรมอนันตรา ลายัน จังหวัดภูเก็ต ทันที
“พอเรียนจบก็ได้งานเป็นพนักงานชั่วคราว ที่โรงแรมอนันตรา ลายัน ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงแรมในเครือของโรงแรมอวานี พลัส เขาหลัก รีสอร์ท แต่พอทำงานไปได้สักพัก มีเจ้าหน้าที่ด้าน Recreation ที่โรงแรมอวานีฯ เขาหลัก ลาออกพอดี ทางโรงแรมเลยเรียกตัวเรากลับมาทำในฐานะพนักงานประจำ”
อุ้มเล่าว่างานด้าน Recreation เป็นงานเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสันทนาการและการบริการต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ และครอบครัวได้สนุกสนาน เพลิดเพลินระหว่างการเข้าพักในโรงแรม
“ส่วนใหญ่ผู้ที่มาพักในโรงแรมจะมาเป็นครอบครัว โรงแรมจึงมีแพ็คเกจครอบครัวด้วย จะเน้นสร้างจุดเด่นในเรื่องของกิจกรรมเด็ก ๆ ทำให้โรงแรมของเรามีกิจกรรมเยอะมาก นอกจากนี้หากมีผู้เข้าพักมาจัดกิจกรรม Team Building เราก็จะไปช่วยคิดกิจกรรมว่าร่วมทำอะไรได้บ้าง”
หลังจากที่อุ้มได้ทำงานในตำแหน่งนักสันทนาการมาร่วม 1 ปีแล้ว เธอบอกว่าตกหลุมรักงานนี้ เพราะนอกจากจะได้พัฒนาศักยภาพตัวเองตลอดเวลา ยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคง
“ตอนแรกชอบงานด้านสปา หรือมองไว้ว่าอาจจะทำงานเป็นไกด์ แต่พอได้มาทำงานด้านนี้ก็รู้สึกว่าชอบมากกว่าการทำสปาอีก ตอนนี้รายได้ก็ดี มีเงินเดือนพื้นฐานประมาณ 10,350 บาท และโรงแรมมีค่าบ้านพักให้ 2,500 บาท นอกจากนี้จะมี Service Charge ด้วย อย่างเดือนมกราคมมีรายได้รวม Service Charge แล้วประมาณ 37,000 บาท เดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 26,000 บาท ถ้าเฉลี่ยทั้งปี รายได้ต่อเดือนจะประมาณ 22,000-25,000 บาท”
นอกจากรายได้หลักแล้ว อุ้มบอกว่าเธอยังสามารถทำงานสร้าง ‘รายได้เสริม’ ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้แก่แขกผู้เข้าพักในโรงแรมได้อีกด้วย
“บางทีแขกที่เข้าพักในโรงแรมก็อยากหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลเด็ก ๆ ในช่วงเวลาที่เขาออกทริปทำกิจกรรม ซึ่งหากวันนั้นตรงกับวันหยุดของเรา ก็สามารถมาทำงานเสริมเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กได้ อาจจะพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะได้ค่าจ้างอยู่ที่ชั่วโมงละ 350 บาท เวลาทำงานก็ประมาณวันละ 2-5 ชั่วโมง ทำให้มีรายได้เพิ่มถึงวันละ 750-1,750 บาท”
ทุนพลิกชีวิต พาครอบครัวก้าวผ่านความยากจน

โอกาสทางการศึกษาของ กสศ. ที่เข้ามา ไม่เพียงพาอุ้ม-วรรณิสา ออกจากเกาะเล็ก ๆ มาเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะใหม่ในโลกกว้าง แต่ยังปูทางสู่การมี ‘อาชีพ’ ที่ช่วยให้เธอได้กลับมา ‘ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว’ ให้มี ‘ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น’ และสามารถสานฝันเส้นทางการศึกษาให้แก่น้องสาวตนเอง
“การได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เปลี่ยนแปลงชีวิตเราและครอบครัวอย่างมาก ทุกวันนี้ที่บ้านดีขึ้น เราก็ส่งเงินไปช่วยครอบครัวให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่มีตู้เย็น ตอนนี้มีตู้เย็นแล้ว เมื่อก่อนไม่มีแอร์ ร้อนมาก เพราะบ้านอยู่กลางทะเล ตอนนี้ก็ติดแอร์ให้แล้ว และยังซื้อเครื่องซักผ้าให้ด้วย แล้วก็มีต่อเติมปรับปรุงบ้านให้แข็งแรง พ่อแม่ก็สบายมากขึ้น ไม่ต้องทำงาน ตอนนี้พี่สาวก็เรียนจบแล้ว เราก็ทำงานแล้ว เหลือแค่น้องสาว ซึ่งเราก็ส่งเงินให้น้องได้เรียนต่อด้วย”
อุ้มบอกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของครอบครัวมาจากการได้รับ ‘โอกาส’ ที่มีคุณค่า หากวันใดที่สามารถยืดหยัดได้อย่างเข้มแข็งเพียงพอ เธออยากส่งต่อโอกาสให้กับคนที่ยังรอคอยเช่นเดียวกัน
“ถ้าสมมุติว่าวันหนึ่งเรามีศักยภาพมีทุนพอก็อยากมอบโอกาสให้กับคนที่เขาไม่ได้เรียน อยากช่วยให้เขาได้เรียนหนังสือ เพราะว่าชีวิตเขาอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม ได้เจอสังคมที่ดี ได้ทำงานดี ๆ ไม่ต้องลำบาก เหมือนอย่างตัวเราตอนเด็ก ๆ
ถ้าไม่ได้ทุนจาก กสศ. ก็คงจบแค่ ม. 3 แล้ววุฒิการศึกษา ม.3 อาจจะทำอะไรไม่ได้มาก ทำงานได้แค่วันละ 200-300 บาท พอแค่เลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น และไม่สามารถช่วยที่บ้านได้ ถ้าวันนั้นไม่ได้เรียน วันนี้ก็คงยังจมอยู่แค่ตรงนั้น ไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาเหมือนวันนี้”

สำหรับอนาคตต่อจากนี้ อุ้มบอกว่าจะตั้งใจทำงานและวางแผนเรื่องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยอาจจะใช้วิธีการเรียนออนไลน์และการเทียบโอนหน่วยกิต ซึ่งมองไปที่สาขาวิชาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เพื่อนำองค์ความรู้และทักษะมาเพิ่มเติมในการทำงาน
“อยากขอบคุณ กสศ. ขอบคุณอาจารย์ แล้วก็ขอบคุณครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ที่คอยสนับสนุนมาตลอด 5 ปี ขอบคุณที่ให้โอกาส อาจารย์ประทินช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ว่าขาดอะไรก็หามาให้
และสุดท้ายอยากขอบคุณตัวเองที่พยายามมาถึงวันนี้ แม้จะรู้ว่าอาจไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ก็พยายามตั้งใจเรียนให้ดี เพื่อให้ได้เกรดดี ๆ แล้วก็ขอบคุณในความอดทนเก่งของเรา แม้ต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ยากมาก เรียนเยอะมาก และทำกิจกรรมหนักมาก แต่เราก็ฝ่าฟันมาจนได้เห็นความสำเร็จในวันนี้”
สุดท้ายเมื่อถามว่า อยากฝากอะไรไปถึงเด็ก ๆ ที่อาจกำลังรู้สึกสิ้นหวังกับเส้นทางการศึกษาเพราะความยากจน อุ้มบอกว่า อย่าทิ้งการเรียนรู้หรือการศึกษาเป็นอันขาด เพราะ ‘การศึกษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ ไม่ให้จมอยู่ในวังวนเดิม’
“อยากบอกทุกคนว่า อย่าเพิ่งคิดว่าเราไม่มีทางได้ไปต่อหรือได้ใช้ชีวิตที่ดี ให้เราพยายามทำตัวเองให้ดี หาทางให้ตัวเองได้ก้าวขึ้นไป การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ได้เท่ากับคนอื่น ตามโลกทัน ได้ทำงานที่ดี และมีสังคมดี ๆ ไม่จมอยู่ที่เดิม ถ้าเรายังติดอยู่ในชุมชน สภาพแวดล้อมเดิม ๆ เราจะได้เห็นแค่ในละแวกตรงนั้น แล้วเราก็อยู่ไปอย่างนั้น ไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือก้าวไปเรื่อยๆ ดังนั้นอยากให้ทุกคนที่คิดว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว ให้คิดใหม่”
และนอกจากการศึกษาจะสำคัญแล้ว อุ้มเน้นว่า ‘คนที่ให้โอกาสทางการศึกษาสำคัญยิ่งกว่า’
“คนที่ให้โอกาสทางการศึกษา คือคนที่สำคัญมากและขาดไม่ได้เลย ถ้าสมมติว่าไม่มีคนให้โอกาสเหล่านี้ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ หรือพัฒนาตัวเอง ดังนั้นถ้าวันหนึ่งที่เราไม่มีภาระอะไรแล้ว ก็อยากจะส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้แก่คนที่ด้อยโอกาส ถึงอาจจะทำได้แค่เป็นทุนการศึกษาเล็ก ๆ ก็อยากสนับสนุนให้เขาได้รับสิ่งดี ๆ แบบเดียวกับที่เราเคยได้รับ”
ภารกิจหลักด้านหนึ่งของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. คือการช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ ด้วยงบประมาณจำกัด เราคิดค้นวิธีการลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ให้ถูกจุด เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าการเรียนรูปแบบไหน ที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มนี้มากที่สุด และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย
“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ในปีการศึกษา 2568 กสศ. ร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ เปิดรับสมัครเยาวชนยากจน ให้มีโอกาสเรียนต่อหลักสูตร ปวส./อนุปริญญา 2 ปี, หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ 1 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล ระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีทุนเรียน ปวส. สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) และทุน ปวส.2 ปี ที่ร่วมกับหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานระดับจังหวัด