1 โรงเรียน 3 ระบบ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ กาญจนบุรี

1 โรงเรียน 3 ระบบ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ กาญจนบุรี

การสร้างพื้นที่ที่เด็กในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยเรียนร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดอัตราการออกกลางคัน  โดยการจัดการเรียนการสอนมีความคล้ายกับการเรียนแบบโฮมสกูล

กลุ่มเป้าหมาย :  เด็กตกหล่น ออกกลางคัน และกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

สลายปมในและนอกระบบตอบโจทย์ชีวิตจริงเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
– นำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาเรียนใน “โครงการ นรอ.ให้โอกาส” 
-การจัดสวัสดิการให้กับเด็ก นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบซ้ำ เช่น ให้ทุนการศึกษา โดยโรงเรียนเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิยุวพัฒน์
-พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มเป้าหมาย 
– มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย เน้นทักษะอาชีพ  โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยการอาชีพ และจัดทวิศึกษาให้เด็กมีวุฒิ ปวช.และม.6 
-เน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จากครู บุคลากร และชุมชน กลายเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก

ดร.นุชนาถ สอนสง 
ผู้อำนวยการโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์

“สถานศึกษาต้องมีหน้าที่หล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจ ทำให้นักเรียนทุกคนเห็นว่าทางเลือกของการศึกษาไม่ได้มีแค่ทางเดียว แต่ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่พร้อมให้โอกาส…เพราะสำหรับคนคนหนึ่งแล้ว ถ้าถึงวันที่เขาต้องการโอกาส แต่หันไปทางไหนก็มืดไปหมด ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

เกรียงศักดิ์ ศรีบุญเรือง 
หัวหน้ากองบริหารงานวิชาการ “ห้องเรียนออนไลน์” และหัวหน้าโครงการติดตามเด็กที่หลุดออกนอกระบบ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์

“ทุกโรงเรียนจะเจอภาวะการเรียนรู้ถดถอยเหมือนกันหลังช่วงโควิด เด็กนักเรียนบางกลุ่มไม่อยากกลับเข้าเรียนในระบบ เราก็เลยออกแบบ “ห้องเรียนออนไลน์” สำหรับรองรับกลุ่มนี้ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา  เคยไปเยี่ยมบ้านพบว่าเด็กบางคนไม่มีเงินไปเรียน บางคนถูกผู้ปกครองทอดทิ้ง  เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้คุณครูว่าเด็กบางกลุ่มต้องการวุฒิการศึกษาเพื่อไปทำงานหรือมีโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิต เราต้องให้โอกาสเขา   ความยืดหยุ่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กกลุ่มนี้”

“รูปแบบการเรียนที่มีทางเลือก โรงเรียนวางแนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2550 เราทำมานานและยังทำต่อเนื่องมาตลอด เด็กที่ติดบางวิชาหรือออกไปทำงานแล้ว สามารถกลับเข้ามาสู่ห้องเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน คือเราทำตั้งแต่ตอนที่ระบบออนไลน์ยังไม่สะดวกขนาดนี้ จนเวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้การจัดการศึกษาทางเลือกทำได้ง่ายขึ้น” ดร.นุชนาถ สอนสง ผู้อำนวยการโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ เล่าถึงความก้าวหน้าของโมเดลการศึกษา ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ 

โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์เคยเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่ในปี 2564 จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตระหนักได้ว่า ระบบการศึกษาออนไลน์สามารถทำอะไรได้มากกว่าการสอนผ่าน Zoom หรือ Google Meet หรือการแจกใบงานให้นักเรียนนำกลับไปทำ แต่เทคโนโลยีของระบบออนไลน์ยังช่วยได้มากในเรื่องการจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนทุกคน 

“ช่วงโควิด-19 ภารกิจใหญ่ของเราคือ ต้องจัดการศึกษาให้ได้ เรามีการเยี่ยมบ้าน สำรวจความพร้อมของนักเรียน และพบว่ามีเด็กที่หลุดไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจ บางคนต้องไปทำงาน เราก็เลยกลับมาคุยกันว่า เด็กที่หลุดออกไปหรือค่อย ๆ ห่างจากการเรียนรู้ไปทุกที จะทำยังไงให้เขากลับมาเรียนได้”

ทางโรงเรียนจึงเกิดแนวคิดที่จะทำห้องเรียนออนไลน์ที่ไม่ใช่เพียงการสอนแบบเรียลไทม์ แต่เป็นห้องเรียนที่รวบรวมเอาเนื้อหาในแต่ละสาระวิชามาจำแนกและจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการเรียนรู้ แล้วแขวนไว้ในระบบออนไลน์ในรูปแบบ ‘บทเรียนสำเร็จรูป’ เพื่อให้ครูและนักเรียนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนทบทวนซ้ำได้ หรือเรียนจากที่ไหน เวลาใด ก็ได้เช่นกัน 

ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัย ทางโรงเรียนมีการวางแผนปูแนวทางร่างหลักสูตรไว้แล้ว โดยย้อนดูจากบทเรียนและประสบการณ์ที่โรงเรียนเคยทำมา ว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง และควรจัดการศึกษาอย่างไร แต่หลักการหนึ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญคือต้องไม่เพิ่มภาระครู

จาก ‘ห้องเรียนวันศุกร์’ สู่นวัตกรรมสร้างโอกาสรองรับเด็กหลุดออกนอกระบบ

กล่าวโดยสังเขป พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุไว้ว่า การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ 1) การศึกษาในระบบ 2) การศึกษานอกระบบ และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดหนึ่ง หรือจะจัดทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนสะสมทั้งในรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบ และไม่ว่าจะเป็นการสะสมผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมถึงสามารถเทียบโอนผลการเรียนจากการฝึกอาชีพหรือประสบการณ์การทำงานได้

ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อลงรายละเอียดในวงเล็บ 2 มีการขยายความไว้ว่า “การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม”

ข้อความตามในวงเล็บ 2 นี้เอง ที่นำมาสู่ความตั้งใจจะทลายกรอบจำกัดของการศึกษาเพียงรูปแบบเดียวที่โรงเรียนมีอยู่ เพื่อสร้างโอกาสสำหรับเด็กที่หลุดออกกลางคันและเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งแต่ปี 2555 โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ เริ่มดัดแปลงพื้นที่ของห้องเรียนหนึ่งในอาคารหลังเก่า ให้เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนตกค้าง ซึ่งครูแต่ละรายวิชาจะเวียนกันมาสอน พร้อมสอบวัดประเมินผล และออกวุฒิการศึกษาให้ เมื่อผู้เรียนเก็บหน่วยกิตได้ครบตามหลักสูตร

ดร.นุชนาถ ระบุว่า จาก ‘ห้องเรียนวันศุกร์’ ที่จัดขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่คงเหลือหน่วยกิตตกค้างจนไม่สามารถจบการศึกษาได้ ทำให้โรงเรียนมองเห็นความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษาในหลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่ได้ขยายผลจริงจัง จนกระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ในปี 2564

“พอเจอโควิด เราพูดได้เลยว่าช่วงเวลานั้นเด็กนักเรียน 400 คน ในทุกระดับชั้นของโรงเรียน ทุกคนคือกลุ่มเสี่ยงที่พร้อมหลุดจากระบบได้ทุกเมื่อ ดังนั้นภารกิจใหญ่ของโรงเรียนคือ จะต้องจัดการศึกษาให้เด็ก ๆ ไปต่อได้ ประสบการณ์ที่โรงเรียนสั่งสมมาทั้งหมดจึงต้องนำมาใช้ เราเริ่มด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อดูความพร้อมเด็กเป็นรายคนว่าเหมาะจะเรียนรู้ในรูปแบบใด แล้วกลับมาหาวิธีจัดการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งเริ่มทำใบงานจัดการศึกษาแบบออนแฮนด์ (on-hand) ควบคู่กับทดลองให้ครูหาทางสร้างพื้นที่เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ 

“การเรียนออนไลน์นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนพร้อมกันทุกคน เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องเวลา เครื่องมืออุปกรณ์ เด็กบางคนต้องตามพ่อแม่ไปอยู่ที่อื่น บางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีมีใครช่วยดูแล บางบ้านก็มีอุปกรณ์สื่อสารเพียงเครื่องเดียว ไอเดียที่เราคิดกันขึ้นมาจึงเป็นการผลิต ‘บทเรียนสำเร็จรูป’ แล้วเอาไปแขวนไว้ในห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเรามองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ที่สุด ทั้งช่วยให้ผู้เรียนเรียนซ้ำได้ หรือเรียนจากที่ไหน เวลาใดก็ได้” 

จนเมื่อวิกฤตโควิด-19 ซาลง แต่สถิติเด็กหลุดออกนอกระบบยังคงสูงขึ้น รวมถึงเด็กกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางโรงเรียนจึงเริ่มทบทวนถึง ‘การจัดการศึกษาที่เหมาะสม’ ตามความจำเป็นของผู้เรียนแต่ละคน โดยต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ว่าด้วยการจัดการศึกษา 3 ระบบ แล้วนำโจทย์ที่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่ต้องเจอมาเป็นฐานการออกแบบหลักสูตร คือเรื่องสภาพปัญหาความยากจน ด้อยโอกาส ครอบครัวแหว่งกลาง ขาดความเข้าอกเข้าใจ รวมถึงปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนในช่วงผลัดเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงของการหลุดจากระบบทั้งสิ้น

สานพลังภาคี ร่วมสร้าง ‘พื้นที่แห่งโอกาส’

ดร.นุชนาถ กล่าวว่า เมื่อมีเด็กหลุดจากระบบ การจะนำกลับมาต้องพิจารณารอบด้าน ว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรโดยไม่ยึดติดรูปแบบใดตายตัว ดังนั้นกว่าจะได้หลักสูตร โรงเรียนต้องใช้เวลาศึกษาสภาพปัญหา ทำความเข้าใจบริบทพื้นที่ เตรียมความพร้อมครู รวมถึงสื่อสารให้ความรู้กับผู้ปกครอง ชุมชน กรรมการสถานศึกษา และออกไปเรียนรู้จากหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกพื้นที่

“การจะทลายกรอบจำกัดเดิม ๆ ไปสู่การศึกษาที่มีทางเลือก เราต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีฐานความเข้าใจชุดเดียวกันก่อน คณะครูและผู้บริหารจึงต้องตระเวนศึกษาดูงาน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานแวะเวียนมาให้ความรู้ โดยเฉพาะศูนย์การเรียน CYF เจ้าของนวัตกรรม ‘นครพนมโมเดล’ มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน สมาคมการจัดการศึกษาโดยองค์กรชุมชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี สมาคมสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี คณะทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

“การสนับสนุนของหน่วยงานเหล่านี้ทำให้คณะครูของเราเชื่อมั่นว่า เราสามารถจัดการศึกษาที่มากกว่าระบบเดียวได้ เพราะเราเห็นบทเรียนต้นแบบ เห็นกระบวนการ วิธีการ เข้าใจระเบียบข้อกฎหมาย เห็นความเป็นไปได้ของการทำงานที่จะไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับบุคลากรของโรงเรียนในระยะยาว และเห็นเป้าหมายร่วมกันว่า การช่วยเด็กเพิ่มขึ้นสักคนหนึ่ง ให้เขาได้เรียน ได้เข้าถึงโอกาส นั่นหมายถึงเรากำลังเปลี่ยนแปลงอนาคตของเขา ของคนรอบตัวเขา และของสังคมที่เขาจะเติบโตขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในวันข้างหน้า”

เมื่อนั้นเอง แนวทางปฏิบัติเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน ในชื่อ ‘การจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กตกหล่น ออกกลางคัน และกลุ่มเสี่ยง’ ของโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จึงปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และพร้อมเดินหน้าอย่างเป็นระบบ โดยขับเคลื่อนด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1. พัฒนาข้อมูลสารสนเทศ มีระบบดูแลช่วยเหลือและระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) เพื่อจำแนกกลุ่มเป้าหมายเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กออกกลางคัน ก่อนกำหนดแนวทางค้นหาติดตามที่ใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งข้อมูลของเด็กทุกคนที่ชัดรอบด้านจะทำให้โรงเรียนทราบปัญหา ตำแหน่งที่อยู่ของเด็ก ประวัติการรับทุน และแนวโน้มความเสี่ยงต่าง ๆ

2. พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม ด้วยแนวทาง ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 15 ให้มีทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

3. พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามบริบทชีวิต และสอดคล้องกับยุคสมัย โดยเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้วจะต้องได้รับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามบริบท ตั้งแต่การจัดการเรียนรู้แบบ on-hand ผ่านใบงาน มีห้องเรียน on-demand ที่ออกแบบการเรียนรู้เฉพาะกลุ่ม และนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ ‘ห้องเรียนออนไลน์’ ที่ครูทุกกลุ่มสาระวิชาช่วยกันพัฒนา ‘บทเรียนสำเร็จรูป’ ขึ้น แล้วนำไปแขวนไว้ในเว็บไซต์แยกตามกลุ่มสาระ มีบทเรียน แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ที่นักเรียนเลือกเข้ามาเรียนได้ทุกเวลา และครูสามารถติดตามการเข้าเรียนได้

นอกจากนี้ การวัดประเมินผลยังปรับเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่น สามารถเทียบโอนจากสภาพการณ์และสถานการณ์จริง เช่น เด็กมีประสบการณ์ทำงานช่าง งานค้าขาย หรือปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ก็นำมาเทียบประเมินได้กับรายวิชาเพิ่มเติม คือวิชาทักษะอาชีพ วิชาพื้นฐานธุรกิจ และวิชาเกษตร

4. พัฒนากลไกภาคีเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ที่ประกอบด้วยหน่วยงานสาธารณสุข ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่พร้อมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งร่วมค้นหาติดตามนักเรียน ร่วมวางแผน ตัดสินใจ ผ่านการประชุมร่วมกันตามวาระ

การศึกษาที่มี ‘ทางเลือก’ ไม่ใช่แค่พาเด็กกลับห้องเรียน แต่ต้องป้องกัน ‘เหตุเวียนซ้ำ’

ผู้อำนวยการโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการพาเด็กกลับมาเรียนมากที่สุด คือ ผู้ปกครอง ซึ่งการสื่อสารและลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสม่ำเสมอ คือกลไกเชื่อมต่อที่ทรงพลังที่สุด เพราะปัญหาใหญ่ที่ทำให้เด็กหลุดออกไปคือครอบครัว ถ้าคณะทำงานสามารถออกแบบการศึกษาที่หลากหลาย และเอื้อต่อการใช้ชีวิตในรูปการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองพร้อมสนับสนุน และช่วยให้โรงเรียนบรรลุเป้าหมายในการพาเด็กกลับมาได้สำเร็จ

“การจะจัดการศึกษาที่มีทางเลือกได้ เราต้องมองให้เห็นสภาพรอบตัวเด็กและผู้ปกครอง ต้องทำความเข้าใจและขุดลึกลงไปจนพบลักษณะของปัญหาที่แต่ละครอบครัวต่อสู้อยู่ ทั้งความยากจน ภาระการหาเลี้ยงชีวิต ความเปราะบางในความสัมพันธ์ หรือลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย อย่างเด็กบางคนหลุดไปเพราะไม่ถนัดเรียนในห้องเรียน บางคนต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง บางคนเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว บางคนต้องผ่านช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่วัยรุ่น ก็อาจมีหลงทางไปบ้าง 

“สำหรับเราในฐานะสถานศึกษา ต้องเป็นหลักยึดให้เขาได้ ว่าเมื่อไหร่ที่พร้อมกลับมาเรียน อยากได้วุฒิการศึกษา อยากเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์เพื่อเอาไปยกระดับพัฒนาชีวิต เขาจะสามารถมองเห็นและกลับเข้ามาในพื้นที่โรงเรียนได้เสมอ

“การศึกษาที่มีทางเลือกจึงไม่ใช่แค่ค้นหาแล้วพาเด็กกลับมาสู่ห้องเรียน เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่า เขาต้องกลับมาเจอกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เคยผลักให้เขาหลุดไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วสุดท้ายเหตุการณ์ก็เวียนซ้ำ ดังนั้นก่อนจัดการศึกษา เราต้องรู้พื้นฐานว่าเด็กหลุดออกไปเพราะอะไร ความต้องการของเขาคืออะไร และผู้ปกครองต้องการการสนับสนุนจากโรงเรียนในเรื่องใดบ้าง”


ที่มา : เพราะการศึกษาไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียว รู้จักโมเดล ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ สร้างพื้นที่แห่งโอกาสที่โรงเรียนไหนก็ทำได้