“การพัฒนามนุษย์ช่วงปฐมวัย ถือเป็นการลงทุนทรัพยากรในจังหวะและเวลาที่ถูกต้องที่สุด เพราะผลตอบแทนอันคุ้มค่าที่คืนกลับมา จะไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพของประเทศชาติที่เพิ่มขึ้น แต่หมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุดที่เราจะทำได้”
ผลทดสอบกลุ่มตัวอย่างราว 10 เปอร์เซ็นต์ของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศชี้ว่า ประเทศไทยมีเด็กเล็กช่วงวัยก่อนประถมศึกษาจำนวนมากมีทักษะการเรียนรู้อยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยเฉพาะความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง การต่อรูปภาพในใจ และความจำใช้งาน อันเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงแง่มุมหนึ่งจากผลลัพธ์ของงานวิจัยสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการประเมินปัญหา และเป็นข้อมูลตั้งต้นของการหาแนวทางพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยในภาพรวม
ในรายงาน TSRS ซึ่งคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีจุดประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย โดยใช้เครื่องมือประเมินที่พัฒนามาจาก Measuring Early Learning and Outcome: MELQO (UNICEF, 2012) ในการเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยที่เรียนอยู่ในระดับอนุบาล 3 จำนวน 43,213 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงปีการศึกษา 2562-2565
แบบทดสอบที่เป็นตัวอย่างในการนำเสนอ ได้แก่ การทดสอบความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening Comprehension: LC) ความพร้อมด้านการต่อรูปในใจ (Mental Transformation: MT) และความพร้อมด้านความจำใช้งาน (Working Memory: WM) ซึ่ง รศ.ดร.วีระชาติ ได้ฉายภาพให้เห็นขั้นตอนทดสอบว่า “สิ่งนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจ และช่วยให้คนทำงานในแวดวงการศึกษาใช้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยในอนาคต”
ความยากจนคืออุปสรรคต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย
รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า ผลลัพธ์การสำรวจโดยคณะวิจัย ไม่ได้มุ่งค้นหาเด็กที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนดีที่สุด แต่เป้าหมายสำคัญคือ ค้นหากลุ่มเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานให้พบ เพื่อประเมินสถานการณ์ และเดินหน้านำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแนวทางการทำงานกับเด็กปฐมวัย ร่วมกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่
“สิ่งที่แบบทดสอบกำลังบอก คือชุดทักษะที่เราต้องการให้เด็กแสดงให้เห็นนั้นไม่ใช่เรื่องยากและซับซ้อน แต่มันได้ยืนยันว่าถ้าเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการลงทุนด้านคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน เด็กจะเจอกับปัญหาอุปสรรคแม้ในการทำสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ และจะมีผลสืบเนื่องระยะยาวในขั้นถัดไปของการเรียนรู้
“จากตัวอย่างของชุดทดสอบที่ยกมา เราทดสอบความเข้าใจในการฟังเพื่อจับเนื้อหาใจความ ด้วยวิธีการให้เด็กฟังข้อความยาวประมาณ 3 นาที จากเทปที่บันทึกไว้ และให้ตอบคำถาม 5 ข้อ ส่วนความพร้อมในการต่อรูปในใจ เราให้เด็กลองประกอบชิ้นส่วนจากภาพ 4-5 ภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงกันกับภาพตัวอย่าง และในการทดสอบความจำใช้งาน เราใช้วิธีที่เรียกว่า digit span memory คือจะมีตัวเลขตั้งแต่ 2-10 หลัก หรืออาจมากกว่านั้น ปรากฏให้เห็นบนจอ 10 วินาที แล้วเราจะปิดจอภาพ ก่อนป้อนคำถามให้เด็กระบุตัวเลขที่เพิ่งมองเห็น โดยต้องตอบแบบทวนตัวเลขจากหลังไปข้างหน้า (backward) จะเห็นว่าวิธีทดสอบทั้งหมดต้องการมุ่งไปยังการรับรู้ ทำความเข้าใจ จินตนาการ หรือความจำระยะสั้น อันเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรมีติดตัว ผ่านการเรียนรู้และทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ
“อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า เมื่อเราเจาะจงไปที่คะแนนเด็กปฐมวัยที่อยู่ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด จากกลุ่มตัวอย่างราว 500 คนในแต่ละพื้นที่ จะพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ ‘ไม่พร้อม’ (Low-readiness children) หรือทำคะแนนใน 3 ชุดทดสอบ ได้ไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นสัญญาณความน่ากังวลเกี่ยวกับความพร้อมของเด็กๆ ในการเรียนต่อระดับประถมศึกษา”
รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า ถ้าดูเพียงภาพรวมของผลสำรวจทุกด้าน เราอาจเห็นว่าความพร้อมของเด็กโดยรวมดูเหมือนไม่มีปัญหา หากเมื่อพิจารณาย่อยลงไปในแต่ละการทดสอบ สิ่งที่ชวนให้วิตกกังวลจึงเผยให้เห็น โดยผลทดสอบความเข้าใจในการฟังที่ทุกพื้นที่สำรวจได้ผลลัพธ์เป็น ‘สีแดง’ ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงมีสัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ จำนวนสูงมาก ขณะที่ผลทดสอบการต่อรูปในใจและความจำใช้งาน ที่แม้ไม่เป็นสีแดงทั่วทุกพื้นที่เท่าทักษะการฟัง แต่ ‘สีชมพู’ ที่ปรากฎกระจัดกระจายบนกราฟจำลองรูปแผนที่ประเทศไทย ก็แสดงแนวโน้มให้เห็นว่า ยังมีเด็กที่ทำคะแนนทดสอบได้น้อยหรือทำไม่ได้เลยในเปอร์เซ็นต์ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน
“ความกังวลจากผลสำรวจดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอที่เราจะชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่มาคุยกัน ว่าพวกเราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษา และช่วยส่งเสริมการดูแลบุตรหลานให้กับผู้ปกครองได้อย่างไร คือถ้าเรามองว่าเด็กไปโรงเรียนทุกวัน ได้ฟังครูอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ แต่ผลลัพธ์จากการฟังยังอยู่ในระดับต่ำมาก หรือการทดสอบความจำใช้งานที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไม่ได้รับการกระตุ้น (Stimulation) ให้ได้คิดหรือลงมือทำด้วยตัวเองอย่างเพียงพอ นั่นหมายความว่าวิธีการที่เคยทำๆ กันมาอาจถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน
“นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจผู้ปกครอง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ประสบภาวะขาดแคลนทางอาหาร กับกลุ่มที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว พบว่าสัดส่วนของเด็กปฐมวัยในครอบครัวที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร มีโอกาสขาดความพร้อมสูงกว่าและทำคะแนนได้ต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตอกย้ำว่าความยากจนคืออุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย
รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า ถึงแม้คณะวิจัยจะยังจำแนกสาเหตุที่ชี้ชัดไม่ได้ว่าการขาดความพร้อมนั้นเกิดจากอะไร เป็นการขาดสารอาหาร หรือขาดเวลาในการทำกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ ขาดความรู้ในการทำกิจกรรมกระตุ้นที่เหมาะสม หรือเป็นเพราะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขาดคุณภาพ อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์จากงานวิจัยก็ได้สะท้อนว่า ปัจจัยทุกอย่างล้วนมีส่วนซ้ำเติมให้เด็กขาดพัฒนาการที่เหมาะสม ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของ TRSR จึงเป็นการสำรวจและจัดการข้อมูล เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ยกระดับครูในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ และอีกประเด็นหนึ่งที่ยังได้รับการพูดถึงน้อยมาก คือการเข้าไปพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูร่วมกับผู้ปกครอง
ยกระดับคุณภาพห้องเรียนปฐมวัยด้วย On-Site Training
รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า ผลจากงานวิจัย TSRS มีส่วนอย่างมากต่องานยกระดับคุณภาพการศึกษาเด็กปฐมวัย โดยหนึ่งประสบการณ์สำคัญที่ควรกล่าวถึง คือการอบรมครูปฐมวัยแบบ On-Site Training ที่เน้นการฝึกปฏิบัติตามแนวทางที่เจาะจง (High Scope ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์) พร้อมมีแผนการสอนที่ละเอียดประกอบ ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความเข้าใจในการฟังและการต่อรูปในใจ
“ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 มีการนำหลักสูตร On-Site Training ไปทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานวิจัยแบบ randomized control trial หรือการทดลองแบบสุ่ม โดยมี ‘กลุ่มทดลอง’ และ ‘กลุ่มควบคุม’ โดยใช้วิธีจับสลากเชิญครูจากโรงเรียนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฝังตัวเป็นกลุ่มทดลองในศูนย์อบรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจัดให้ครูเหล่านี้ทำกิจกรรมเติมทักษะที่หลากหลายโดยเจาะจงวิธีการและผลลัพธ์ จากนั้นจึงนำผลลัพธ์มาทาบวัดกับครูจากกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าอบรม หรือกลุ่มควบคุม ว่ามีความแตกต่างอย่างไร
“ผลปรากฏว่า ครูจากโรงเรียนในกลุ่มทดลองมีค่าของการสอนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในทุกการทดสอบ ซึ่งถือว่าตรงตามสมมติฐานที่คณะวิจัยพยากรณ์ไว้ เนื่องจากในการทำกิจกรรมแบบ plan do view หรือเป็นการจัดชั้นเรียนตามคำแนะนำ ครูได้ส่งเสริมให้เด็กวางแผน มีการเล่นและทำงานกิจกรรมร่วมกัน และในขั้นสุดท้ายเด็กจะต้องสะท้อนผลด้วยตัวเอง ทำให้เด็กในความดูแลของครูในกลุ่มทดลอง ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทักษะด้านการฟังและใช้ภาษาตลอดเวลา ผลทดสอบจึงออกมาว่า เด็กกลุ่มนี้มีทักษะทั้งสองด้านที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“อีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำควบคู่กันคือ ให้ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และส่งเสริมให้เด็กยืมนิทานกลับไปให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟังที่บ้าน แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนในห้องเรียน ซึ่งเมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งแล้วทำการวัดผล พบว่า เด็กมีทักษะด้านความเข้าใจในการฟังและต่อรูปในใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“บทเรียนที่ได้จากงานวิจัยนี้ถือว่าสอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลก ว่าการพัฒนาครูในพื้นที่ห่างไกลหรือครูที่ไม่มีทักษะสูงมาก ถ้าเราชี้ชัดเจาะจงในเป้าหมาย กระบวนการ มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ พร้อมมีแผนการสอนรายวันและรายสัปดาห์กำกับ จะเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ครูพัฒนาทักษะการสอนได้ดีขึ้น และเกิดผลลัพธ์กับเด็กเร็วขึ้น”
ส่วนการยกระดับการดูแลในครอบครัว รศ.ดร.วีระชาติ เผยว่า จากผลสำรวจที่ชี้ว่ามีครัวเรือนราว 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่มีหนังสือนิทานอยู่ที่บ้าน อันเป็นผลสืบเนื่องต่อมาว่ามีผู้ปกครองกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่เคยอ่านหนังสือให้เด็กฟังเลย ซึ่งบ่งบอกว่าหลายครอบครัวขาดความพร้อมและยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของกิจกรรมการอ่าน สิ่งที่ตามมาคือการทดลองทำงานใน 8 จังหวัด ของคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ กสศ. ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและทำกิจกรรมกับเด็กและผู้ปกครอง เพื่อสร้างความมั่นใจและพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมในครอบครัว ซึ่งผลลัพธ์จากกิจกรรมจะประเมินในช่วงปี 2567
ผู้อำนวยการสถาบัน RIPED กล่าวถึงก้าวย่างต่อไปของงานวิจัย Thailand School Readiness Survey ว่า หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการทำความสะอาดข้อมูล (data cleaning) จัดทำรายงานผล ส่งต่อข้อมูล และประชุมแนะแนวทางการใช้ประโยชน์จาก TSRS ในระดับจังหวัด เพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในแต่ละพื้นที่ โดยทีมวิจัยและ กสศ. ยินดีที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับจังหวัดต่อไป