ปฏิรูปการคิด ปฏิรูปการศึกษา กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในงาน CES 2023

ปฏิรูปการคิด ปฏิรูปการศึกษา กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในงาน CES 2023

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Global Institute of Creative Thinking (GIoCT) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา (Centre for Educational Research and Innovation: CERI) การประชุม Creative in Education Summit 2023 หรือ ‘CES 2023’ ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อรวมพลังจากเหล่าแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางของการศึกษาทั่วโลก

การประชุม CES 2023 ประจำปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน โดยเน้นไปที่ประเด็นการนำร่องแนวทางการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Professional Learning on Creative Thinking (PLCT) ของ OECD

ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องจากหลากพื้นที่หลายวงการ ได้มารวมตัวกันในการประชุม เพื่อนำเสนอแนวคิดที่หลากหลายจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำจากหน่วยงานรัฐทั้งระดับประเทศและภูมิภาค ผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกของ OECD ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ต่างล้วนมีส่วนร่วมในบทการสนทนาอย่างกระตือรือร้น

ความสำคัญของทักษะคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ในระบบการศึกษา

ฌูเวา คอสตา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของโปรตุเกส ควบตำแหน่งศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโนวา (Universidade Nova) กรุงลิสบอน ได้ขึ้นบรรยายเป็นคนแรก โดยเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อไรก็ตามที่คนในสังคมถกเถียงกัน เกี่ยวศักยภาพของ ‘ทักษะคิดสร้างสรรค์’ ในระบบการศึกษา เรามักตกเป็นเหยื่อของการคิดแบบตรรกะวิบัติที่เรียกว่า ‘False Dichotomies’ หรือ ‘ทวิบถเท็จ’

João Costa (ภาพ: ANTÓNIO PEDRO SANTOS)

อธิบายง่ายๆ เช่น คนเรามักเผลอคิดว่าการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข อาจส่งผลให้หลักสูตรนั้นๆ ขาดความเอาจริงเอาจัง บ้างก็เชื่อการสนับสนุนความหลากหลาย อาจทำให้โรงเรียนสูญเสียความเป็นเลิศไป สมมุติฐานที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางเลือกแบบผิดๆ เหล่านี้ ได้สร้างภาพลวงให้เรารู้สึกว่าต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถทำให้ทั้ง 2 เป้าหมายเป็นจริงได้พร้อมๆ กัน เพราะเราสามารถสร้างหลักสูตรที่มุ่งเน้นทั้งความสุขและความมานะบากบั่นของผู้เรียนไปพร้อมกันได้ เช่นเดียวกับการที่สถานศึกษาสามารถสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเป็นเลิศทางวิชาการเสมอไป

การที่เราหันหน้ามาพูดคุยกันเรื่องทักษะการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณในการศึกษา คือโอกาสที่เราจะสามารถทลายภาพจำเดิมๆ เหล่านี้ ฌูเวาได้กล่าวเปิดการประชุมด้วยการเสนอ 11 เหตุผลสำคัญที่เราควรปฏิรูประบบการศึกษา ด้วยการโปรโมตทักษะคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ โดยแตะไปยังหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ความท้าทายในการนำนโยบายมาใช้จริงในชีวิตประจำวันของครูและนักเรียน รวมถึงการริเริ่มของรัฐบาลโปรตุเกสในการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

เหตุผลประการแรกอ้างอิงถึงการปะทะกันระหว่างภาพจำของนักเรียนที่ดี ‘แบบเก่า’ และ ‘แบบใหม่’ เขาเปรียบเทียบนักเรียนในอุดมคติตามขนบที่ถูกคาดหวังให้สงบเสงี่ยม ไม่โต้ตอบ (Passive) และแข่งขันสูง ซึ่งขัดกับคุณสมบัติของผู้เรียนที่ดีในยุคสมัยปัจจุบัน  ที่ควรจะมีความคิดริเริ่มและรู้จักลงมือทำ (Active) ฌูเวาสริมว่าปัจจุบันโปรตุเกสกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกเครื่องมือทางการศึกษาที่จะเข้ามาสนับสนุนการคิดเชิงสร้างสรรค์และทักษะในการแก้ปัญหาของผู้เรียน โดยวางเอาไว้ให้เป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรแกนกลางที่กำลังจะถูกนำมาใช้จริง

เหตุผลประการถัดมา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักคิดที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น กาลิเลโอ โสกราตีส หรือเพลโต เนื่องจากชื่อเสียงของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาเหล่านี้ ล้วนเป็นผลผลิตจากความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น เขาย้ำเตือนถึงโทษของวิธีการเรียนการสอนในปัจจุบัน ซึ่งเน้นไปที่วิธีท่องจำและกระบวนการเรียนรู้แบบรูทีน ว่านี่คือสิ่งที่ทำลายจิตวิญญาณความใคร่รู้และทักษะในการแก้ปัญหาของเยาวชน

โสกราตีส (ซ้าย) และเพลโต (ขวา) ในภาพจิตรกรรม The School of Athens

เหตุผลที่ 3 โฟกัสที่ภาวะ ‘ภูเขาข้อมูลถล่ม’ (Avalanche of Information) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ฌูเวาเน้นย้ำว่าภาวการณ์ทะลักล้นของข้อมูลนี้ไม่เท่ากับการทะลักล้นของ ‘ความรู้’ ด้วย เพราะนี่คือยุคที่เราต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลผิดๆ และเฟกนิวส์ที่ปะปนมาข้อมูลอันมากมาย ทักษะการแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ จึงกลายมาเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน

ตามมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับความจำอันนับเป็นเหตุผลที่ 4 ฌูเวาแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่ผู้เรียนจะลืมข้อมูลมากมายที่เรียนรู้ในห้องเรียนไปได้ง่ายๆ และเสนอว่าการนำบทเรียนมาพูดคุยถกเถียงหรือนำมาใช้ในชีวิตจริง คือกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยบันทึกความรู้ของเราลงในหน่วยความจำระยะยาว

เหตุผลที่ 5 คือการเชื่อมโยงประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลาย (Diversity) และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน เมื่อเรานึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความหลากหลาย จะพบว่าเหล่านักคิดและนักปฏิวัติล้วนคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยการคิดนอกกรอบ ดังนั้น เราจึงควรเริ่มกระตุ้นให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนตั้งคำถามต่อวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมๆ และสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีส่วนในกระบวนการเรียนรู้

เราไม่มีทางจะไปถึงจุดที่ระบบการศึกษาสามารถโอบรับทุกความหลากหลายได้หรอก หากเราไม่เปิดใจรับวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้จินตนาการ และไม่เปิดใจที่จะเรียนและสอนด้วยวิธีที่ต่างออกไป

เหตุผลที่ 6 คือข้อสังเกตที่ว่า การตั้งคำถามอย่างเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่าการหาคำตอบที่ถูกต้องเสียอีก การส่งเสริมจิตวิญญาณความใคร่รู้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากในสถานศึกษา เพราะหากผู้เรียนไม่มีความสามารถในการตั้งคำถามที่ดี พวกเขาอาจไม่รู้สึกสนใจที่จะหาคำตอบให้กับสิ่งต่างๆ

เหตุผลที่ 7 คือเราควรให้ความสำคัญกับวิธีการมากกว่าผลลัพธ์ เพื่อสร้างนิสัยการคิดวิเคราะห์เชิงรุกและทัษกะการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน เพราะแท้จริงแล้วการได้มาซึ่งผลลัพธ์ อาจไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้เรียนเข้าใจความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของกระบวนการคิดที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้นๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้

สำหรับเหตุผลที่ 8 ฌูเวาเสนอว่าเราควรเลิกคิดถึงอนาคตของเด็กๆ โดยโฟกัสไปที่คำถามที่ว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ และควรหันมามุ่งเน้นการสร้างชุดทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ส่วนเหตุผลที่ 9 ของเขาให้ความสำคัญกับบทบาทของ ‘อารมณ์’ ที่สำคัญต่อการตัดสินใจพอๆ กับ ‘เหตุผล’

เหตุผลที่ 10 เชื่อมโยงแนวคิดประชาธิปไตยกับทักษะการคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน เนื่องจากกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างการพูดคุยถกเถียง อภิปราย หรือการทำความเข้าใจมุมมองที่หลากหลายล้วนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ในระบบการศึกษาหมุนรอบองค์ความรู้นี้ ผู้เรียนควรมีทักษะในจะตั้งคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลความรู้เหล่านี้ด้วย

เหตุผลสุดท้าย เน้นย้ำถึงเอกลักษณ์ของมนุษยชาติในการคิดค้นภาษาและวิเคราะห์คุณค่าของกับศิลปะ วรรณกรรม และดนตรี เช่นเดียวกับเวลาที่หยุดลงเมื่อเรารู้สึกซาบซึ่งในศิลปะ กระบวนการศึกษาเองก็ควรผ่อนปรนและหยุดพักบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อเว้นเวลาให้ผู้เรียนได้ปลุกความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ในตนเองขึ้นมา

โดยสรุป การบรรยายของฌูเวา คอสต้า สนับสนุนให้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา โดยใช้หลักคิดแบบองค์รวม นอกจากนี้ยังย้ำเตือนถึงความสำคัญของการคิดแบบสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ ในฐานะหัวใจหลักของการตระเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกสมัยใหม่

พลังของความคิดสร้างสรรค์

ในช่วงพาเนลถาม-ตอบของการประชุม ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านได้เข้าร่วมเป็นตัวแทนแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ร่วมรับความเสี่ยงจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ งานวิจัย และการกำหนดนโยบาย หนึ่งในนั้นคือ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (Equitable Education Fund) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อ ‘กสศ.’ (EEF)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ในทุกๆ ปี กสศ. ช่วยเหลือเยาวชนในวัยเรียนจากครอบครัวที่ยากจนกว่า 1.3 ล้านคนทั่วประเทศไทยให้สามารถเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ นอกจากนี้ กสศ.ยังให้ทุนการศึกษาให้กับนักเรียนหลายพันคนที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาและระดับวิชาชีพ เพื่อลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา ตลอดจนมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อกรุยทางสู่ ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’

ดร.ไกรยส ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการขยับขยายโอกาสให้แก่เยาวชน เขายกตัวอย่างถึงนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ.ว่า รูปแบบการศึกษายุคศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการท่องจำและนั่งนิ่งๆ ในห้องเรียนนั้น ไม่เพียงพอสำหรับเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการหลุดพ้นจากภาวะความยากจนที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และในมุมมองของเขา ความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบางเช่นนี้

โรงเรียน ผู้เรียน และผู้สอนที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญและยากจนที่สุด มักกลายเป็นคนกลุ่มท้ายๆ ที่จะได้รับวิทยาการต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครื่องมือในการเรียนรู้ที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างทักษะการคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณด้วย” ดร.ไกรยสกล่าว

(ภาพ: Mario Heller / Unsplash)

ดังนั้น เพื่อส่งมอบเครื่องมือที่จำเป็นในการนำทางเด็กๆ จากหมู่บ้านของพวกเขาเองสู่โลกการทำงานแห่งอนาคต กสศ.จึงทำมากกว่าแค่ช่วยเหลือทางการเงิน แต่ยังช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเข้าถึงชุดทักษะที่จำเป็นอย่างการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์

ด้วยประสบการณ์ในการร่วมมือกับโรงเรียนนับพัน ผู้สอนนับหมื่น และผู้เรียนนับแสนคนทั่วประเทศ กสศ.ยังคงเดินหน้าพัฒนาโปรแกรมฝึกอบรมครูที่มีประสิทธิภาพและรวมถึงหลักสูตรรูปแบบใหม่ หนึ่งในวิธีที่ได้ผลชะงัด คือกระบนการเรียนรู้ที่โอกาสให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันในลักษณะของโปรเจกต์ เช่น โปรเจกต์การขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงวิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์เข้ากับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่พวกเขาประสบ และปลูกฝังทักษะการคิดแบบผู้ประกอบการให้กับพวกเขา

อีกหนึ่งความท้าทายหลักประการหนึ่งที่ไกรยสได้เน้นย้ำถึง คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูและสถานศึกษา เขาเล่าถึงช่วงที่ตนเองเพิ่งริเริ่มนำงานของ OECD ไปปรับใช้กับกลุ่มผู้สอน สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายคนกังวลว่าวิธีการใหม่ๆ เหล่านี้จะนำมาปรับใช้จริงได้ยาก เนื่องจากปัจจุบัน อาชีพครูในประเทศไทยยังต้องรับภาระหนักด้านงานเอกสารและบทบาทหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากการสอน จนหลายครั้งการเรียนการสอนถูกจัดลำดับความสำคัญให้ต่ำกว่างานอื่นๆ เสียอีก

นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ แต่ทุกการเปลี่ยนผ่านล้วนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน กสศ.จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความกล้าหาญให้กับเครือข่ายโรงเรียนและครูผู้สอนว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังปรับตัวสู่ระบบใหม่

การสร้างระบบการศึกษาสำหรับอนาคต

ในฐานะผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ และที่ปรึกษาพิเศษด้านนโยบายการศึกษาของเลขาธิการทั่วไปที่ขึ้นตรงกับสำนักงาน OECD ในปารีส อันเดรียส ชไลเลอร์ คือแรงสนับสนุนสำคัญที่คอยวิเคราะห์และให้แนะนำด้านนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม ในระหว่างการประชุม เขานำเสนอกรณีศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ประเทศสมาชิก OECD ใช้ในการปลูกฝังความสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ลงในระบบการศึกษา

Andreas Schleicher (ภาพ: Christian Sinibaldi/The Guardian)

อันเดรียส ขึ้นต้นด้วยอ้างอิงถึงสำรวจที่ที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียนที่อายุ 15 ปีโดยเฉลี่ยนั้นต่ำกว่าเด็กที่มีอายุ 10 ปีเสียอีก แม้ปัจจัยทางพัฒนาการอาจมีผลต่อตัวเลขสถิตินี้ แต่อีกนัยหนึ่ง ความคาดหวังของระบบการศึกษาที่บีบให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ก็อาจมีส่วนทำให้ความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์ลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่พวกเขาอยู่ในระบบ

(ภาพ: Yan Krukau/Pexels)

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผมรู้สึกใจสลายที่ได้เห็นว่าเรากำลังสอนวิชาวิทยาศาสตร์เหมือนการเผยแพร่ศาสนา เราโน้มน้าวเยาวชนให้เชื่อในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และให้พวกเขาทำแบบฝึกหัด ก่อนจะลงเอยด้วยการทดสอบความจำ นั่นไม่ใช่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เลย หัวใจวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามกับหลักคิดของยุคสมัยต่างหาก” อันเดรียส กล่าว

อันเดรียสให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกับฌูเวา คอสตา เกี่ยวกับความท้าทายในการสืบค้นข้อมูลในโลกปัจจุบัน อันเนื่องมาจากปริมาณข้อมูลที่ล้นทะลัก ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการในการได้มาซึ่งความรู้ จากเดิมที่เพียงสังเคราะห์ข้อมูลจากตัวบท กลายเป็นตอนนี้เราต้องประกอบสร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเองอย่างรอบคอบ ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยทักษะการสืบค้นทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับ Growth Mindset ของนักเรียน ยังชี้ให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เชื่อว่าความฉลาดเป็นพรสวรรค์ที่พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในทางกลับกัน ผลสำรวจในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีผลคะแนน PISA ในระดับดี พบว่านักเรียนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ หากขยันเรียน นี่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง Growth Mindset กับอัตราความสำเร็จทางการศึกษาและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เรียน

จะเห็นได้ว่าทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการที่จะกระตุ้นทัศนคติและทักษะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขณะเดียวกัน เราอาจต้องพิจารณามุมมองที่เรามีต่อวิชาต่างๆ และความเกี่ยวข้องของวิชาเหล่านี้กับความสร้างสรรค์เสียใหม่ คนจำนวนมากมักเหมาเอาว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะสำหรับวิชาศิลปะเท่านั้น ทำให้พวกเขาเผลอละเลยความจริงที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ก็สำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

แม้อาจดูเหมือนเป็นมุมมองที่ซับซ้อน แต่อันเดรียสยืนยันว่าการวัดผลสัมฤทธิ์ของชิ้นที่อาศัยทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำให้และสมควรที่จะนำไปใช้จริงทุกวิชาที่มีสอนในโรงเรียน

ผู้นำทางของความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน นโยบาย งานวิจัย และวิถีปฏิบัติ

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม CES 2023 บิล ลูคัส ผู้อำนวยการของศูนย์การเรียนรู้ Centre for Real-World Learning (CRL) ของมหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ ควบตำแหน่งประธานกรรมการที่ปรึกษาของ GIoCT ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั่วโลก และเจาะลึกบทเรียนสำคัญที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารงานในโรงเรียน

Bill Lucas (ภาพ : https://www.churchtimes.co.uk/articles/2019/15-february/features/interviews/bill-lucas-education-adviser-winchester-cathedral)

สาระสำคัญของเนื้อหา คือโมเดลส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่ออกแบบมาเพื่อโรงเรียนเฉพาะ เรียกกันว่า ‘12 มิติของการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน’ (12 Dimensions of Creative Thinking in Schools) ซึ่งครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เช่น โฟกัสของหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร วัฒนธรรม วิธีการวัดผลสัมฤทธิ์ รวมถึงภาวะผู้นำในองค์กร ดังที่ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนได้พูดคุยลงลึกไปในบางมิติเหล่านี้แล้ว

บิลคาดการณ์ว่า แง่มุมหนึ่งของการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาที่จะได้ความสนใจมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะมีบทบาทที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลง ‘วิธีการวัดผลสัมฤทธิ์’

เราทุกคนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่มุมมองใหม่ของการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง และเปลี่ยนผ่านสู่โลกใบใหม่ ที่ผู้เรียนจะเป็นคนเลือกสรรจัดแจงความสำเร็จของตนเอง” บิลลงความเห็น

นับว่างาน CES 2023 ในปีนี้ ไม่เพียงแต่นำเสนอเสี้ยวส่วนหนึ่งของศักยภาพที่แหลมคม ของการส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนมากมายเข้ามาหารือข้อต่อรองด้านความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้จากแต่ละภาคส่วน เห็นได้ชัดว่าการจัดประชุมที่ด้วยความร่วมทรงพลังในครั้งนี้ ได้หว่านไถเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังลงในอนาคตของการศึกษาลง ด้วยความหวังว่า กระบวนการเรียนรู้ในอนาคตอันใกล้จะไม่ใช่เพียงวิถีปฏิบัติตามครรลองของสังคมเท่านั้น แต่จะเป็นดั่งการผจญภัยที่ผู้เรียนกำหนดได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง