การเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นปรากฎการณ์ที่ทุกคนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “shock to the system” เพราะส่งผลต่อการปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการประกาศ lockdowns มาตรการ curfews หรือการกักตัวอยู่บ้าน ปิดโรงเรียน ซึ่งหากเรามองในมุมการศึกษา เราจะพบว่า สถานการณ์ในครั้งนี้ได้เปลี่ยน “วิถีการเรียน” ไปอย่างรวดเร็วและไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นครู เด็ก หรือผู้ปกครอง เพราะ “ครู” คงไม่เคยคิดว่า “ฉันต้องสอนแบบออนไลน์สลับออฟไลน์ไปด้วย” หรือ “ผู้ปกครอง” คงไม่เคยคิดว่า “ฉันต้องสอนหนังสือลูกไปด้วยและทำงานไปด้วย” หรือ “เด็ก” (เด็กในที่นี้จะอยู่ในช่วงชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษา) คงไม่เคยคิดว่า “ฉันต้องเรียนหน้าจอ แบบไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้คุยกับเพื่อน” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงจากโควิด
เพราะโควิดจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นโดมิโน
ก่อนที่เราจะมาพูดคุยกันว่า โควิดนั้นทำให้เด็กๆ LOSS อะไรบ้าง นีทอยากชวนทุกคนมาหาสาเหตุกันก่อนว่า “แล้วมัน LOSS ได้อย่างไร” ทฤษฎีหนึ่งที่นีทคิดว่า น่าจะอธิบายคำว่า “HOW” ของเรื่องโควิดในครั้งนี้ คือ ทฤษฎีที่ชื่อว่า Life course theory
Benner และ Mistry (2020) ได้อธิบาย Life course theory ไว้ว่า มันคือการอธิบายภาพใหญ่ว่า 1 เหตุการณ์ อย่างการเกิดโรคระบาดโควิดนั้น สร้างปัญหาหรือส่งผลกระทบอะไรต่อตัวเด็กบ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างเช่น
ผลกระทบทางตรงคือ วิถีชีวิตเด็กไม่เหมือนเดิม เด็กจำเป็นต้องใส่แมส ล้างมือบ่อยๆ หรือเด็กอาจจะกลัวว่า ฉันจะติดโควิดไหม ฉันจะเป็นโรคไหม ฉันจะตายไหม
ผลกระทบทางอ้อมคือ เจ้าสถานการณ์โควิดนั้นได้สร้างปัญหาให้คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ และในปัญหาของคนเหล่านั้นก็มีผลกับตัวเด็กด้วย เช่น
- ครู/โรงเรียน ถูกผลกระทบจากโควิด ทำให้สอนเหมือนเดิมไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอน ซึ่งมีผลต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ (เบื่อเรียนออนไลน์, เรียนแล้วเครียด) ทักษะทางด้านร่างกาย (เด็กอนุบาลไม่ได้เต้นประกอบจังหวะ, ไม่ได้ไปเรียนรู้/เล่นที่สนามเด็กเล่น ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่ค่อยได้วิ่ง ปีนป่าย หรือออกแรง)
- เพื่อน ถูกผลกระทบคล้ายๆ กับตัวเด็กเลย คือไปโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งส่งผลกับตัวเด็กคือ ไม่ได้เล่นกับเพื่อนก็ขาดทักษะทางสังคม การเล่นด้วยกัน การช่วยเหลือกัน การสื่อสาร
- พ่อแม่ อาจจะถูกผลกระทบหลายๆ อย่างจากโควิด เช่น ตกงาน มีความเครียด ซึ่งอาจจะมีผลต่ออารมณ์ของเด็กๆ ได้ เป็นต้น
ดังนั้น จากทฤษฎี Life course theory เราจะพบแล้วว่ายังมีอีก 3 LOSS ที่เด็กๆ ต้องเผชิญนอกเหนือจาก Learning Loss นั่นคือ
LOSS กาย การพลาดโอกาสในการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น การทำงานประสานกันของอวัยวะต่างๆ (การขว้างลูกบอล การวิ่ง การกระโดด การปีนป่าย) หรือเรื่องของการเจริญเติบโตและอาหารที่เด็กๆ ควรจะได้รับ
LOSS เพื่อน การพลาดโอกาสในการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะทางสังคม เช่น การเล่นด้วยกัน การเคารพและปฏิบัติตามกฎ การฝึกวินัยในห้องเรียน ทักษะการสื่อสารกับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือพฤติกรรม/บุคลิกภาพที่ช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เช่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พฤติกรรมการช่วยเหลือ การตัดสินใจ การจัดการกับความขัดแย้งในกลุ่มเพื่อน เป็นต้น
LOSS ใจ คือ การพลาดโอกาสที่จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยสร้างเสริมให้เด็กๆ มีความสุข หรือเด็กๆ อาจจะต้องเผชิญกับความเครียด ความเบื่อ และอารมณ์ทางลบต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงา/เบื่อ ที่ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเพื่อนคุย หรือกลัวกับจำนวนยอดผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
แม้ LOSS ก็ BUILD ได้
ถึงแม้ว่าเนื้อหาในบทความตั้งแต่ตอนต้นจนถึงตอนนี้จะดูเป็นเนื้อหาสาย Dark มืดมนนิดๆ ที่สะท้อนความจริงว่า เด็กๆ สูญเสียอะไรไปบ้าง แต่นีทยังอยากให้เราเชื่ออยู่ว่า ถึงแม้จะสูญเสียก็สร้างได้ ดังนั้นในช่วงท้ายของบทความนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีการสร้างเสริมพัฒนาการต่างๆ ที่เด็กๆ ถูกพลัดพรากไปจากโควิดนะคะ โดยเราก็มีอยู่ด้วยกัน 3 BUILD ค่ะ
BUILD ร่างกาย ด้วยกิจกรรม Mirror
เป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ชวนเด็กๆ หรือพี่ชวนน้องมาลองเลียนแบบท่าทางกัน โดยเราจะค่อยๆ ทำไปทีละท่า เช่น พี่ ยกแขนซ้าย (น้องทำตาม) 🡪 พี่ยกแขนขวา (น้องทำตาม) 🡪 พี่ยกขาซ้ายแล้วค้างไว้ (น้องทำตาม) เป็นต้นค่ะ
หรือหากในบางครอบครัวที่เด็กๆ อยู่กับปู่ย่าตายายที่อาจจะนำท่าทางเด็กๆ ไม่ไหว นีทก็จะขอปรับเกมเป็นแบบนี้ค่ะ คือ ให้ปู่ย่าตายายบอกท่าทางแล้วให้เด็กทำ เช่น นั่ง อาบน้ำ ซื้อก๋วยเตี๋ยว เตะบอล กินไอศกรีม ไปเล่นสนามเด็กเล่น เป็นต้นค่ะ (ป.ล. หากเราหมดมุกในการเล่น mirror นีทขอเตรียมของแถมไว้ให้คือ ให้เด็กทำงานบ้านค่ะ เพราะการทำงานบ้านก็ต้องขยับร่างกายและใช้ร่างกายในหลายๆ ส่วนพร้อมกันด้วยค่ะ)
BUILD สังคม ด้วยกิจกรรม Family-SAY
เป็นกิจกรรมที่เราทุกคนในครอบครัวหันมาพูดคุยกันและใส่ใจกันมากขึ้น เพื่อฝึกทักษะที่สำคัญในการเข้าสังคม หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
การตั้งกฎน้อยๆ ในบ้าน เช่น อาบน้ำก่อนกี่โมง, ใครมีหน้าที่อะไรในมื้ออาหาร เช่น ใครเตรียมจาน ใครล้างจาน ใครทำกับข้าว ใครเก็บโต๊ะ เป็นต้นค่ะ (ซึ่งกิจกกรรมนี้มีเพื่อให้เด็กๆ ยังคงได้สร้างวินัยต่อตนเองและการอยู่ร่วมกัน)
การขอ Need Help เป็นกิจกรรมที่เราชวนเด็กๆ ฝึกพฤติกรรมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการช่วยเหลือทางตรงผ่านการขอ เช่น แม่กลับมาบ้านเหนื่อยมาก ขอน้ำหน่อยได้ไหมคะ วันนี้พ่อทำงานเหนื่อยมาก นวดหลังให้พ่อหน่อย? และพฤติกรรมการช่วยเหลือทางอ้อม เช่น ฝึกให้เด็กๆ คิดว่า หากพ่อแม่กลับมาบ้านเหนื่อยๆ เราจะช่วยให้ท่านหายเหนื่อยอย่างไรดี แล้วลองให้เด็กๆ ทำเองโดยพ่อแม่ไม่ต้องขอ, หรือชวนเด็กๆ คิดว่า หากพี่เรากำลังเรียนหนังสือเครียดมาก เราควรจะทำตัวอย่างไรดี เพื่อไม่รบกวนพี่ แล้วให้เด็กๆ ปฏิบัติ (เกือบลืมไปแล้วค่ะ เมื่อเด็กๆ มีพฤติกรรมช่วยเหลือแล้ว เราก็อย่าลืมขอบคุณซึ่งกันและกันด้วยนะคะ)
BUILD ใจ 1 กิจกรรมแก้เบื่อ
เป็นกิจกรรมที่อยากจะชวนผู้ปกครองหรือพี่ๆ พาเด็กๆ ลองทำกิจกรรมพิเศษในบ้านของเราสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเพิ่มความสุข ความสนุกให้กับทุกคนในบ้าน ซึ่งจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นชวนกันเล่นเกม ชวนกันปลูกต้น หรือชวนกันทำอาหาร
สุดท้ายนี้ นีทเชื่อว่า ทักษะต่างๆ เป็นเรื่องที่เราสามารถสร้างเสริมได้ ดังนั้น หากช่วงนี้เด็กๆ ต้องพลาดโอกาสในการสร้างทักษะหรือพัฒนาการอะไรไป นีทก็อยากชวนให้คนในครอบครัวมาสร้างกิจกรรมง่ายๆ เพื่อ Build ร่างกาย สังคม และใจให้เด็กๆ กันนะคะ
อ้างอิง :
Benner, A. D., & Mistry, R. S. (2020). Child development during the COVID‐19 pandemic through a life course theory lens. Child Development Perspectives, 14(4), 236-243.
Bhamani, S., Makhdoom, A. Z., Bharuchi, V., Ali, N., Kaleem, S., & Ahmed, D. (2020). Home learning in times of COVID: Experiences of parents. Journal of Education and Educational Development, 7(1), 9-26.
Champeaux, Hugues; Mangiavacchi, Lucia; Marchetta, Francesca; Piccoli, Luca (2020) : Learning at Home: Distance Learning Solutions and Child Development during the COVID-19 Lockdown, IZA Discussion Papers, No. 13819, Institute of Labor Economics (IZA), Bonn
Rao, N., & Fisher, P. A. (2021). The impact of the COVID-19 pandemic on child and adolescent development around the world. Child development, 92(5), e738-e748.