เพราะ ‘โรงเรียน’ ไม่เพียงเป็นพื้นที่ต้นทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หากโรงเรียนทุกแห่งยังเป็นเสมือน ‘พื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน และชุมชน’
ภายหลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลจนพบว่า โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันนยายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีภารกิจเหนี่ยวนำความร่วมมือและความช่วยเหลือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม จึงดำเนินการรวบรวมสิ่งของและทรัพยากรต่าง ๆ พร้อมนำส่งถึงโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเปิดเทอมใหม่นี้
จากที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา จัดกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาส’ และ ‘ถนนครูเดิน’ โดยเป็นการรับและส่งต่อทรัพยากรด้านการศึกษา อาทิ คอมพิวเตอร์ สื่อการสอน เสื้อผ้าชุดนักเรียน รวมถึงของใช้ที่จำเป็น เพื่อคัดแยกก่อนลำเลียงไปยังพื้นที่ปลายทางที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘สิ่งของเหลือใช้ทุกชิ้นสามารถสร้างประโยชน์ได้’ ซึ่งในวาระการเปิดเทอมที่มาถึง กสศ. กับมูลนิธิกระจกเงา จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นเป็นโอกาสพิเศษ สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย โดยเน้นรวบรวมอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์สำนักงาน โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อนำไปส่งต่อให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ
‘ทิรัตน์ ผลินกูล’ หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนเวียงเทิง (เทิงทำนุประชา) อำเภอเทิงจังหวัดเชียงราย ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘แบ่งต่อคาราวาน’ อันเป็นปฏิบัติการเติมของใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังสถานการณ์น้ำเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
“ทีมงานมูลนิธิจะช่วยรีสตาร์ทพื้นที่ โดยเน้นที่การฟื้นฟูโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น สำหรับนำไปใช้ดูแลคนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเติมทรัพยากรด้านการศึกษาตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะนักเรียน โต๊ะครู ตู้และชั้นเก็บสิ่งของ จนถึงอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน สำหรับโรงเรียนที่ประสบภัย เพื่อรองรับกับการเปิดเทอมใหม่ เพราะหลายโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม ส่วนใหญ่จะสูญเสียสิ่งของไปเกือบทั้งหมด หรือส่วนที่เหลืออยู่ก็เสียหาย ต้องใช้เวลาซ่อมแซมจนไม่ทันวันเปิดเทอม
“อีกหนึ่งทรัพยากรจำเป็นที่หลายโรงเรียนต้องใช้คืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากนำเครื่องไปส่ง ทีมงานธนาคารโอกาสยังเข้าไปส่งต่อและช่วยซ่อมแซม อัพเกรดเพิ่มแรมคอมพิวเตอร์ที่ทำงานช้าให้ใช้งานได้ดีขึ้น เครื่องไหนเสียหายใช้การไม่ได้ก็จะช่วยดูแลซ่อมแซมตามอาการ เพื่อให้ทั้งครูและนักเรียนมีเครื่องมือสำหรับใช้ในการเรียนการสอน โดยในช่วง 3 วัน ทีมคอมพิวเตอร์เพื่อน้องสามารถดูแลซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ของครูและนักเรียนไปแล้วกว่า 100 เครื่อง”
หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สิ่งของที่เตรียมไว้ในกิจกรรมถนนครูเดิน รวบรวมขึ้นผ่านการเก็บข้อมูลสำรวจจากโรงเรียนต่าง ๆ จัดทำเป็นกูเกิลฟอร์มให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนกรอกความต้องการ ก่อนนำข้อมูลที่ได้รับมาจัดเตรียมและระดมสิ่งของให้ตรงกับความประสงค์ของโรงเรียนแต่ละแห่งให้ได้มากที่สุด
“กิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินที่จัดขึ้นครั้งนี้ มีโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในอำเภอเทิงและพื้นที่โดยรอบ แสดงความประสงค์เข้ารับบริจาคสิ่งของประมาณ 20 แห่ง ทั้งนี้สิ่งของที่นำมาจัดเตรียมไว้แม้ประเมินด้วยสายตาแล้วจะมีจำนวนไม่น้อย แต่เชื่อว่าในความเป็นจริง สิ่งของทั้งหมดก็ยังไม่เพียงพอต่อความจำเป็นและความต้องการของแต่ละโรงเรียนด้วยซ้ำไป ดังนั้นการรับบริจาคและนำส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงยังเป็นปฏิบัติการที่ยังไม่สิ้นสุด จนกว่าจะแน่ใจว่าแต่ละโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ได้เต็มประสิทธิภาพ
“โดยหลังกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินที่อำเภอเทิงสิ้นสุด ทีมงานกระจกเงาจะประชุมกันเพื่อวางแผนการช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมระยะยาว ด้วยทราบดีว่าโรงเรียนหลายแห่งยังขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ อีกจำนวนมาก ขณะที่ผลพวงจากกิจกรรม ทำให้มูลนิธิกระจกเงาและโรงเรียนในพื้นที่ได้ทำความรู้จักกันโดยตรง จึงสามารถเป็นต้นทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อประสานความต้องการและความช่วยเหลือในระยะยาว ซึ่งทางมูลนิธิกระจกเงาจะยังเปิดรับบริจาคสิ่งและอุปกรณ์ด้านการศึกษาที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง จากทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน และทุกคนที่มีความประสงค์ และจะประสานกลับมายังโรงเรียนเพื่อนำสิ่งของมาเติม เพื่อให้การฟื้นฟูพื้นที่ดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดช่วง”
‘โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของนักเรียน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน”
ผอ.ไมตรี ยาละ ผู้อำนวยการโรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ อ. เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เปิดเทอมนี้ โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ด้วยเชื่อมั่นว่า ‘โรงเรียนคือพื้นที่แห่งโอกาสของนักเรียน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน’
“เปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง พื้นที่บางส่วนของโรงเรียนยังไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เพราะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องวางแผนจัดการเรียนการสอนให้ดำเนินไปได้ โดยห้องเรียนหรือชั้นเรียนที่ได้รับความเสียหาย อาจต้องปรับแผนการเรียนและพื้นที่ เช่นไปใช้ห้องสมุด หรือพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ที่ใช้งานได้เป็นห้องเรียนชั่วคราว
“ขณะที่สิ่งของที่ลำเลียงมาถึงโรงเรียนตั้งแต่ช่วงที่น้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งของยังชีพ ตอนนี้หลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น สิ่งที่พื้นที่ต้องการจริง ๆ จะเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมโรงเรียน รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่เสียหายไปกับน้ำท่วม อย่างที่โรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ เราได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะไม่ว่าอุปกรณ์ดนตรีของวงดุริยางค์ ห้องเรียนวิชาดนตรีของโรงเรียน ห้องเรียนวิชาคหกรรม อุปกรณ์การเรียนวิชาช่าง เหล่านี้ล้วนเสียหายทั้งหมด ซึ่งเราได้รายงานต้นสังกัดคือ สพฐ. และได้รับการยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะได้รับการดูแลและซ่อมแซม เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยตอนนี้ทางโรงเรียนนต้องทำงานแข่งกับเวลา พยายามซ่อมแซมและเคลียร์สิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน เและเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนวางใจว่า โรงเรียนจะยังเป็นนพื้นที่แห่งโอกาสของเด็กทุกคน”
ผู้อำนวยการโรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่โรงเรียนเป็นแหล่งความรู้ เป็นพื้นที่บ่มเพาะประสบการณ์ และเป็นที่พึ่งของชุมชนมาตลอด ดังนั้นต้องแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนจะยังคงรักษาความเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสามารถดูแลเด็ก ๆ ได้เสมอ
“เรื่องนี้คือประเด็นสำคัญมากสำหรับเปิดเทอมนี้ ที่โรงเรียนของเราต้องเป็นที่พึ่งสำหรับชุมชน ต้องสามารถฟื้นฟูดูแลตัวเองได้จากภัยพิบัติ และเข้มแข็งพอที่จะเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้นสิ่งของที่ได้รับการบริจาคเข้ามา จะถูกนำไปจัดสรรสำหรับเด็ก ๆ และครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง และในฐานะผู้บริหารโรงเรียน จากนี้จะมองถึงความเป็นไปได้ทุกทางที่จะทำให้การจัดการเรียนกลับสู่ภาวะปกติ จะใช้เงินบริจาคมาซ่อมแซมและดูแลโรงเรียนให้คุ้มค่าที่สุด โดยถึงแม้งบประมาณจะไม่เพียงพอ ก็จะพยายามบริหารจัดการการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ ให้กลับมาใช้งานได้ แม้ต้องเข้าไปคุยกับร้านค้าวัสดุก่อสร้างว่าขอเชื่อค่าวัสดุอุปกรณ์ไว้ก่อน โดยใช้เครดิตความเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรือใช้สถานะความเป็นคนท้องถิ่นก็จะยอมทำ เพราะคาดการณ์แล้วว่ากว่าจะได้รับงบประมาณมาใช้จ่ายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องรองบประมาณของปี 2568 ซึ่งคงไม่ทันกับสถานการณ์อย่างแน่นอน”
ในช่วงท้าย ผอ.ไมตรี ระบุว่าตอนนี้ที่โรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ ได้ซ่อมแซมห้องดนตรี ห้องกีฬา ห้องพละศึกษา จนเกือบกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว ส่วนโรงครัว โรงอาหาร ยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู เพื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ตุลาคม และกลับมาพร้อมใช้งานทันเปิดเทอมใหม่ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้