“เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถใช้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือช่วยดูแลน้อง ๆ กลุ่มเสี่ยงได้ โจทย์สำคัญในการทำงาน คือการตามหาและพาน้อง ๆ กลุ่มหนึ่ง เพื่อพาออกมาจากมุมอับด้วยการศึกษา การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะคอยช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นและเดินออกมาจากมุมเดิม ๆ ที่พวกเขายืนอยู่ ประคองให้กลับมีพลังในการเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาสนใจ มาเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างโอกาสให้ก้าวเดินต่อไปได้”
ชนะชล ภูจิตต์ทอง กรรมการผู้จัดการโครงการแนวทางชีวิตมั่นคง มองสู่อาชีพที่ยั่งยืน หน่วยการเรียนรู้บริษัท เคนเซนต์ จำกัด ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาปี 2566 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เล่าถึงเป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการ ก่อนจะเล่าอีกว่า
“พื้นที่ที่ขับเคลื่อนงาน เป็นพื้นที่ในเมือง เด็กนอกระบบที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นเด็กที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานไปตามตัวเมืองที่ทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานในเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ ที่มีการอพยพเคลื่อนที่อยู่เรื่อย ๆ โยกย้ายไปตามจุดที่มีการจ้างงาน พ่อกับแม่มาทำงานอยู่ในพื้นที่เพียงแค่ชั่วคราว เด็กกลุ่มนี้จึงมาจากหลากหลายชุมชนในพื้นที่เขตเมือง ส่วนใหญ่มาจากชุมชนแออัด ชุมชนที่ขยายมาจากเขตเมืองของจังหวัดขอนแก่น หลายคนมาอยู่รวมกันโดยที่ไม่รู้จักกัน
เราทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีอื่น ๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากคนในชุมชน เป็นผู้ที่มีความรู้ คุ้นเคยกับพื้นที่และสมาชิกในชุมชนดี และเข้าใจรูปแบบในการทำงานกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่
คำแนะนำจากภาคี ทำให้เราทราบว่า เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาที่พบเจอในพื้นที่ หลัก ๆ มีอยู่ประมาณ 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน แต่ยังพร้อมที่จะกลับเข้าไปเรียน กลุ่มที่ออกจากโรงเรียนโดยตั้งใจที่จะหางานทำ และกลุ่มที่ออกจากโรงเรียนเพราะปัญหาสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง มีปัญหาเรื่องยาเสพติด”
ชนะชล ระบุว่า โจทย์การทำงาน คือ การพยายามออกแบบการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนสำรวจปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เรื่องของปัญหาที่เด็กกลุ่มนี้เผชิญอยู่ ทรัพยากรในการเรียนรู้ และระบบนิเวศในพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก่อนที่จะสร้างการมีส่วนร่วม ให้เด็กที่มาร่วมกิจกรรมช่วยกันออกแบบสิ่งที่อยากเรียน และกิจกรรมที่อยากทำ
“เมื่อถามความคิดเห็นจากเด็ก ซึ่งโดยมากจะเป็นเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่จะตอบตรงกัน ว่า ชอบกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล โครงการของเราจึงคิดว่าน่าจะใช้กีฬาอย่างฟุตบอล มาเป็นส่วนหนึ่งของการดึงเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ หลังจากพบว่า เด็ก ๆ หลายคนที่มารวมกลุ่มกันเล่นฟุตบอล มีความคิดที่จะเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง มีความฝันและมีแนวคิดที่อยากตั้งทีม หรือสโมสรเป็นของตัวเอง หลายคนพยายามซ้อมอย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายว่าจะตระเวนไปแข่งขันกับกลุ่มต่าง ๆ
มื่อเห็นความตั้งใจของเด็ก ๆ ในโครงการ เราก็เริ่มมองหาโอกาสในการขยายผลการทำงาน มองหาช่องทางและความเป็นไปได้ต่อยอดเรื่องนี้ไปสู่อาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน หาช่องทางสนับสนุนความตั้งใจนั้น ด้วยการจัดกิจกรรมเสริมทักษะ เสริมความรู้ด้านการกีฬา เชิญโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้กับทีม เชิญนักเตะอาชีพที่เป็นไอดอลของน้อง ๆ จากสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด ซึ่งเป็นนักกีฬาที่เคยต้องออกจากการศึกษากลางคัน เรียนไม่จบ และหันมาเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง สามารถสร้างตัว ประสบความสำเร็จ จนก้าวเข้ามาสู่การเล่นฟุตบอลมืออาชีพได้ เป็นนักเตะของสโมสร มาเป็นวิทยากร และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ
เราพบอีกว่า ฟุตบอลมีส่วนช่วยดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางทั้งที่ใช้สารเสพติดและเลิกเรียนหนังสือได้ น้องคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาร่วมกับโครงการของเรา เป็นเด็กที่มีบาดแผลในใจจากครอบครัวแตกแยก ออกจากการศึกษากลางคัน มีประวัติใช้ยาเสพติด ตอนที่น้องคนนี้เข้ามาร่วมโครงการ เข้ามาร่วมกับทีมฟุตบอลใหม่ ๆ เขาเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวมาก แทบไม่เคยคุยกับใคร แทบไม่เคยยิ้ม
การตัดสินใจเข้ามาอยู่ในทีมของน้องคนนี้ และเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง กลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้น้องค่อย ๆ ถอยห่างออกมาจากกลุ่มเพื่อนในโลกสีเทาที่มีการใช้ยาได้ ทั้งจากภาระที่ต้องเดินทางไปแข่งขันในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดใกล้บ้าน ทำให้มีโอกาสได้ทบทวนตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา น้องคนนี้ทราบดีว่า เขาได้เดินมาถึงจุดที่ต้องเลือกว่า “จะใช้ยาเสพติด” ที่มีส่วนทำลายศักยภาพในการเล่นฟุตบอลของเขา หรือ “ตัดสินใจเลิก” และหันมาเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง
ปัจจุบันเขาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและมีรอยยิ้มมากขึ้น น้องบางคนในทีมซึ่งเคยตัดสินใจหันหลังให้โรงเรียน เริ่มคิดทบทวนตัวเองใหม่ และกลับไปเรียนหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้อง ๆ ทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นว่า จะสามารถใช้กีฬาเป็นเครื่องมือช่วยดูแลน้อง ๆ กลุ่มเสี่ยงได้”
กรรมการผู้จัดการ โครงการแนวทางชีวิตมั่นคงฯ เล่าอีกว่า เมื่อโครงการดำเนินมาถึงปลายปี ความตั้งใจ ความรู้ และทักษะด้านฟุตบอลที่น้อง ๆ มีเริ่มส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจน ทีมฟุตบอลของพวกเขา ไม่เพียงแต่ได้รับชัยชนะและรางวัลจากการแข่งขัน ทีมฟุตบอลของพวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น
“เราไม่ได้หยุดเพียงแค่ผลการแข่งขัน เราใช้โอกาสที่น้อง ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการจัดกิจกรรม “เข็มทิศชีวิต” มาขับเคลื่อนให้น้อง ๆ มีเครื่องมือที่เป็นเสมือนแผนที่และเข็มทิศ สร้างองค์ความรู้ที่ช่วยให้น้อง ๆ ตระหนักถึงเป้าหมายของชีวิต และมีคู่มือหรือวิธีการที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เราชักชวนให้น้อง ๆ วางแผนอนาคตจากศักยภาพที่มี
จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่มีสโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเอง แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง แต่ละปีมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลและฟุตซอลหลายรายการ มีคนที่สนใจวงการนี้มารวมตัวกัน จนเกิดระบบนิเวศที่เอื้อให้กลายเป็นทางเลือกของมืออาชีพที่หลากหลาย มีสโมสรฟุตบอล และฟุตซอล ให้น้อง ๆ เลือกสังกัดมากมาย และหากไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้เล่น ความรักและหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ ยังมีทางเลือกด้านอาชีพอื่น ๆ ไว้รองรับ
แผนสำรองที่เราพยายามช่วยให้น้อง ๆ มองเห็น คือ หากเป็นนักเตะอาชีพไม่ได้ ก็ยังสามารถพัฒนาตัวเองไปทำหน้าที่อื่น ๆ เช่น เป็นทีมจัดการแข่งขัน เป็นกรรมการในสนาม เป็นผู้จัดการทีม เป็นโค้ช ฯลฯ
“หากเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติมอย่างไม่หยุดนิ่ง ก็จะพบว่า วงการฟุตบอลสามารถสร้างอาชีพที่หลากหลายและก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงได้”
เสียงสะท้อนจากงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “แกะร่องรอยการเรียนรู้ : มีอะไรในเสียงนั้น” ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี 20-22 กันยายน 2567