เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว จัดประชุมพิจารณากลั่นกรองแบบเสนอชื่อทุนการศึกษาโครงการก้าวเพื่อน้องปีที่ 4 และทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน ร่วมกันเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกน้อง ๆ ที่สมัครขอรับทุนการศึกษา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่เสียสละเวลามาช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง และทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง กระบวนการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในภารกิจร่วมกันหยุดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยในปี 2567 โครงการก้าวเพื่อน้องได้เดินทางต่อเนื่องมาถึงปีที่ 4 จากการระดมทุนของมูลนิธิก้าวคนละก้าวที่จัดกิจกรรมวิ่ง “ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็ก ๆ ภาคกลาง” รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต สนับสนุนของที่ระลึก รวมรายได้ทั้งสิ้น 3,385,800 บาท ซึ่งจะถูกนำมาใช้สนับสนุนทุนการศึกษาส่งเสริมเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้เรียนต่อ ม.ปลาย – ปวช. ต่อเนื่อง 3 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องชดใช้ทุน ได้จำนวน 20 คน
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ทุนก้าวเพื่อน้อง เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะหลุดมากที่สุดหลังเรียนจบการศึกษาภาคบังคับชั้น ม.3 โดยพบว่าภายหลังวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนไม่ถึงล้านคนมาแตะสูงสุดที่ประมาณ 1.3 ล้านคน แม้หลังการระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่า เด็กลุ่มนี้จำนวนมากยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก สภาพบ้านทรุดโทรม ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันช่วยคัดกรองเพื่อค้นหาว่าเด็กคนไหนที่มีศักยภาพและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้สามารถไปต่อได้ เด็กจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคัดกรองในวันนี้ จะสามารถก้าวข้ามวงจรความยากจนข้ามรุ่นด้วยโอกาสทางการศึกษา
“จากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่า หากพ่อแม่ของนักเรียนยากจนพิเศษในประเทศไทยมีการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ระดับประถมศึกษา รุ่นลูกก็จะจบแค่ประถมศึกษาถึงประมาณ 50% ความพยายามในการช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ หลุดออกจากกับดักความยากจนด้วยการศึกษา คือสิ่งที่ กสศ. พยายามบอกกับภาคเอกชนและทุกฝ่ายในสังคมไทยเสมอว่า ถ้าเราอยากเป็นประเทศรายได้สูงเราอยากจะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องพยายามทำลายกับดักความยากจนด้วยการศึกษาที่เสมอภาคให้ได้ ต้องพยายามหยุดวงจรที่ทำให้เด็กหายไปจากระบบการศึกษา โดยจากการสำรวจพบว่านักเรียนที่จบชั้น ม.3 ซึ่งมีประมาณ 1.6 แสนคน เมื่อนำเลข 13 หลักของเด็กกลุ่มนี้ไปชนกับเลข 13 หลักของนักเรียนในปีถัดไป พบว่ามีประมาณ 33,000 คนหายไปจากการศึกษาโดยเฉลี่ยแทบทุกปี หรือคิดเป็น 20%ของเด็กกลุ่มนี้ หรือ 1ใน 5 ที่ทยอยหายไป และเมื่อถึงระดับ ม.ปลาย เข้ามหาวิทยาลัยก็หายไปอีกเกือบ 90% เด็กยากจนและยากจนพิเศษ เรียนต่อมหาลัยเพียงแค่ 12% คือประมาณ 1 ใน 10 คน
“ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อปีสูงมากกว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาทของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หากเราป้องกันเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาหรือตามเขากลับมาสู่ระบบการศึกษาได้ ก็จะนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า แรงงานที่ใช้วุฒิประถมศึกษา จะมีรายได้เฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงานถึงอายุ 60 ปีประมาณเดือนละ 9,000 บาท ถ้ามีวุฒิ ม.3 จะขยับเป็น 10,000 บาท ขณะที่หากมีวุฒิ ม.6 หรือเทียบเท่า รายได้จะอยู่ที่ 13,000 บาท หากมองไปภาพใหญ่กว่านั้น คือมีวุฒิปริญญาตรีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ รายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ราวเดือนละ 27,000 บาท การป้องกันวงจรความยากจน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาก่อนภาคบังคับขั้นพื้นฐานได้ จะช่วยให้ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น และจะส่งผลกระทบ ไปถึงอีกหลายมิติ”
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า แม้เด็กเยาวชนที่ได้รับทุนก้าวเพื่อน้องจะมีจำนวนไม่มากในแต่ละปี แต่การทำงานครั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังเพียงช่วยเหลือเด็กแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในระยะยาว กสศ. และ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ต้องการยกระดับความช่วยเหลือให้เป็นโมเดลต้นแบบ ที่ช่วยกระตุ้นให้คนรู้ว่ามีปัญหาต่าง ๆ อยู่ในความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังต้องการการระดมความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสร้างความเชื่อมั่นว่าเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่นเดียวกับที่มูลนิธิก้าวคนละก้าว หรือโครงการซูเปอร์จิ๋วส่งต่อความฝันให้น้องได้เรียน ซึ่งทั้ง 2 โครงการคือ ตัวอย่างของการระดมทุนทางสังคมที่เรียกว่า Social Finance ที่ภาคธุรกิจจัดบริการเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษา
“กสศ. ได้ระดมความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ โดยใช้นวัตกรรมการระดมทุนที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และต้องบอกว่าการระดมทุนผ่านช่องทางนี้ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศไทย และยังพบว่าการบริจาคเพื่อการศึกษาและใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า มีตัวเลขบริจาคจริง ๆ อยู่ที่ 6.5 แสนคน คิดเป็น 17% ของผู้ที่เสียภาษี กสศ. เชื่อมั่นว่าทุกหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมาร่วมกันในวันนี้ จะสามารถสร้างแรงเหนี่ยวนำสังคมให้เห็นความสำคัญและช่วยดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ในอนาคต และเชื่อมั่นว่า การพิจารณาทุนในวันนี้ จะสามารถช่วยให้น้อง ๆ นักเรียนยากจนพิเศษ ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาและหลุดไปจากทุนก้าวเพื่อน้อง จะสามารถเข้าถึงช่องทางทุนอื่น ๆ และมีเส้นทางการศึกษาต่อเนื่องได้ และหวังว่าผู้ทรงคุณวุฒิจากจากทุกภาคส่วน ที่เสียสละเวลามาช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียน จะนำเรื่องราวของที่ได้อ่านไปช่วยกันค้นหาและพัฒนาข้อเสนอแนะทางออกที่ยั่งยืนของน้อง ๆ กลุ่มนี้ต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าว
ขณะที่ นายนพพร สุวรรณรุจิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกนักเรียนเพื่อรับทุนการศึกษาทุนก้าวเพื่อน้อง กล่าวว่า ความสำคัญในการเชิญภาคส่วนต่าง ๆ มา ช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง นอกเหนือจากการกระจายการรับรู้ให้ภาคส่วนต่าง ๆ รับทราบปัญหาแล้ว กสศ. ยังได้ใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการคัดเลือกนักเรียนทุนให้กับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายชัดเจน คือ ค้นหาเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2566 มีเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดช่วงชั้นไม่ต่ำกว่า 2.00 และไม่ได้ศึกษาต่อหรือมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ศึกษาต่อเนื่องด้วยความยากจนด้อยโอกาส และอยากเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพในปีการศึกษา 2567 เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียร มีจิตสาธารณะ เป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการกีฬา ด้านวิชาการหรือวิชาชีพ ไม่มีพฤติกรรมที่จะเป็นอุปสรรคต่อการรับทุน เช่น ติดยาเสพติด
“ในปีนี้ มีรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสิ้น 294 รายชื่อ กระจายตามภาคต่าง ๆ โดยมี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 203 คน ภาคเหนือ 60 คน ภาคกลาง 13 คน และภาคใต้ 18 คน โดยในจำนวนนี้นอกจากจะเติบโตมาในครัวเรือนฐานะยากจนแล้ว หลายคนต้องอยู่ในสภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ เชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน ที่แม้จะมีมุมมองและประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่ทุกท่านจะมีสายตาที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือมองหาเด็กที่เหมาะสมที่จะได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด”
ด้านคณะผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วน เช่น รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากมาช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการคัดกรอง ได้อ่านเรื่องราวของนักเรียนแต่ละคนก็รู้สึกตื้นตันใจ วันต่อมาได้แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กของ กสศ. ที่ระบุว่า “เด็กยากจนจะเริ่มทยอยหลุดจากระบบการศึกษาช่วง ม.ต้น หลุดมากสุดช่วงรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 กระทั่งถึงอุดมศึกษาจะหลุดถึงเกือบ 90%” ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาให้ความเห็นเรื่องนี้หลายคน และได้เชิญชวนให้แต่ละคนหันมา บริจาคเงินเพื่อการศึกษามากขึ้น
“มองว่าถ้าทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ออกไปผ่านคนที่รู้จักในเฟซบุ๊ก และดำเนินการอย่างโปร่งใส ทำให้เงินที่บริจาคไปถึงเด็กจริงๆ ก็เชื่อว่าจะมีผู้สนใจบริจาคเพิ่มขึ้น หลายคนที่ชอบบริจาคให้วัดหรือโรงพยาบาลอาจจะต้องพิจารณาช่วยเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง เพราะแท้จริงแล้วปัญหาเด็กยากจน ก็เป็นปัญหาสำคัญที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันดูแลเช่นกัน”
นอกจากนี้ อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ผู้จัดการงานสื่อสารมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากที่ได้อ่านเอกสารของผู้ที่ผ่านการคัดกรอง พบว่า 90% ของผู้ที่ผ่านการคัดกรอง เป็นเยาวชนที่มีหลักคิด แม้จะมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเรื่องสถานะความยากจน แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นในการศึกษา
“แม้หลายคนจะไม่รู้ว่า หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับแล้วจะไปทางไหนต่อ แต่ทุกคนก็มีเข็มทิศและความพยายามในการมองหาโอกาสว่า ช่องทางไหนที่ช่วยให้สู้ต่อไปได้ และบรรลุเป้าหมายสูงสุด เพื่อที่จะมีสถานะการทำงานที่มั่นคงและสามารถดูแลครอบครัวตัวเองได้ในอนาคต จึงมองว่าผู้ที่ผ่านการคัดกรองทุกคน ควรที่จะได้รับทุนสนับสนุนให้ไปต่อแม้จะไม่ได้รับทุนนี้ หากทุนนี้ยังมีข้อจำกัด หน่วยงานอื่นทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ หรือภาคีที่เกี่ยวข้องควรจะช่วยกันหาช่องทางระดมทุนเพื่อดูแลเพิ่มเติม และสามารถช่วยเด็กทุกคนให้ได้มากที่สุด”
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับทุนตามโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ “ทุนก้าวเพื่อน้อง” ปีการศึกษา 2567 คลิก
ร่วมบริจาคกับ กสศ. คลิก