‘ทุนเสมอภาค’ พาก้าวข้ามรอยต่อทางการศึกษา และจุนเจือครอบครัวยามจำเป็น
ครูกิตติศักดิ์ ชราธรรม โรงเรียนบ้านท่าประดู่ จ.ตราด

‘ทุนเสมอภาค’ พาก้าวข้ามรอยต่อทางการศึกษา และจุนเจือครอบครัวยามจำเป็น : ครูกิตติศักดิ์ ชราธรรม โรงเรียนบ้านท่าประดู่ จ.ตราด

“ทางโรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนแบ่งเงินออมจากทุนเสมอภาคฝากไว้ในธนาคาร ระหว่างนั้นใครจำเป็นต้องใช้ก็เบิกออกมาได้ แล้วพอจบชั้น ป.6 โรงเรียนจะคืนเงินให้ทุกบาททุกสตางค์ ถึงตรงนั้นเด็ก ๆ จะมีเงินก้อนสำหรับนำไปใช้เรียนต่อในชั้นมัธยม จึงบอกได้ว่าทุนนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยเด็กก้าวข้ามรอยต่อทางการศึกษา ทั้งยังช่วยอุดหนุนจุนเจือครอบครัวเด็กได้ในยามจำเป็น” 

ครูกิตติศักดิ์ ชราธรรม โรงเรียนบ้านท่าประดู่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เล่าถึงวิธีการที่โรงเรียนใช้จัดสรรทุน ‘ทุนเสมอภาค’ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) โดย กสศ. เพื่อให้ทุนทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในฐานะหลักประกันโอกาสซึ่งจะพาเด็ก ๆ ไปต่อโดยไม่สะดุดในการศึกษาชั้นสูงขึ้น      

“โรงเรียนบ้านท่าประดู่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ปีการศึกษานี้มีนักเรียนได้ทุนเสมอภาค 17 คน ความที่เราเปิดสอนชั้นนอนุบาลถึงแค่ ป.6 จึงมักกังวลกันว่าหลังจบการศึกษาแล้ว เด็กจะไปต่อได้แค่ไหน คือแม้ว่าในพื้นที่จะมีโรงเรียนมัธยมรองรับ และที่ผ่านมาเด็กเกือบทั้งหมดก็ผ่านต่อไปถึงชั้น ม.1 ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เด็กต้องเจอระหว่างทางนั้น มันมีเรื่องของค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอื่น ๆ ที่นโยบายเรียนฟรี 15 ปีครอบคลุมไม่ถึง การช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการจัดสรรทุนที่ได้รับให้เป็นเงินออมสำรองยามฉุกเฉิน จึงจำเป็นมาก ๆ และเป็นหนึ่งในวิธีที่ทางโรงเรียนคิดว่าจะช่วยต่อยอดการทำงานของทุนได้ดียิ่งขึ้น”

ครูกิตติศักดิ์สะท้อนภาพชีวิตครอบครัวเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะน้อง ๆ ทุนเสมอภาค หากยังรวมไปถึงเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่โรงเรียน ว่าผู้ปกครองของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างได้เงินเป็นรายวัน เท่ากับวันไหนที่ไม่มีงานจึงไม่มีเงิน ซึ่งหมายถึงวันนั้นจะไม่มีพอสำหรับค่าอาหารครบมื้อ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยว่าเด็กจะมีเงินมาโรงเรียน หรือมีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ แค่ไหน 

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ต้องอาศัยอยู่บ้านญาติ จึงคาดหวังไม่ได้เลยว่าเด็กจะได้รับการดูแลที่เหมาะสม หรือตัวเด็กจะมองเห็นความสำคัญของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างไร การมีอยู่ของทุนเสมอภาค จึงเป็นหนึ่งทางที่โรงเรียนจะพอช่วยประคับประคองเด็กได้ อีกทั้งสำหรับคนที่ไม่ได้ทุน โรงเรียนก็จะพยายามหาทุนอื่น ๆ มาเติมเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เสียโอกาสเรียนรู้ 

“อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือเส้นทางของเด็กที่พ้นจาก ป.6 ไปแล้ว เพราะการเรียนชั้นมัธยมก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าบำรุงการศึกษา หรือโรงเรียนที่อยู่ไกลออกไปจากบ้าน ก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มากขึ้น ส่วนอาหารกลางวันสำหรับชั้นมัธยมเด็กก็ต้องจ่ายเอง ทั้งหมดนี้เมื่อรวม ๆ กันแล้ว ถือเป็นอุปสรรคทั้งหมดที่อาจจะทำให้เด็กคนหนึ่งไปไม่ถึงปลายทางของการศึกษาภาคบังคับ และด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง ที่ทางโรงเรียนเลือกจะแนะนำให้เด็กมีเงินออม”

คุณครูผู้ดูแลนักเรียนทุนเสมอภาค บอกว่า ถึงโรงเรียนบ้านท่าประดู่เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่เด็กไม่ได้มีความพร้อมเท่าไหร่ แต่ถ้าจะว่าถึงความพยายามใฝ่รู้ใฝ่เรียนแล้ว ต้องบอกว่าน้อง ๆ ที่นี่ไม่ได้เป็นสองรองใคร เพราะเด็ก ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความใฝ่ฝันที่จะเรียนจบชั้นสูง ๆ เพื่อมีอนาคตที่ดี โดยเชื่อว่าการศึกษาคือเส้นทางที่จพาไปสู่อาชีพการงานที่มั่นคง สามารถดูแลตัวเอง ดูแลคนในครอบครัวได้                     

“เวลาที่ถามถึงความฝันหรืออนาคต เด็กส่วนใหญ่จะบอกเราว่า อยากเรียนจบให้สูงที่สุด เพื่อมีงานดี ๆ และได้เงินเดือนสูง ๆ ข้อมูลนี้ทำให้เราที่เป็นครูรู้สึกยินดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำทุกทาง เพื่อให้มีหลักประกันสักอย่างที่เขาจะสามารถต่อสู้กับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและการดำรงชีวิต ซึ่งเรายังเชื่อว่าการมีอยู่ของทุนเสมอภาคและทุนอื่น ๆ จะเป็นส่วนสำคัญของการประคองไฟฝันของเด็ก ๆ ไม่ให้มอดดับไประหว่างทางนั้น เพื่อที่เขาจะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัว ที่ใช้การศึกษายกระดับคุณภาพชีวิตได้สำเร็จ”