7 ทักษะแห่งอนาคต พา ‘ครู’ พ้นหลุมดำ ในยุคหลังโควิด-19

7 ทักษะแห่งอนาคต พา ‘ครู’ พ้นหลุมดำ ในยุคหลังโควิด-19

จากนี้ไปครูจะเผชิญกับอะไรบ้าง?

สถาบันผลิตครูควรต้องเตรียมครูอย่างไร?

…ในโลกหลังยุคโควิด-19 ที่แนวคิดเรื่องการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม

เมื่อการจัดการศึกษาในช่วงโควิด-19 สะท้อนว่า วันนี้เทคโนโลยีที่อยู่ในมือของทุกคนมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ ประเด็นสำคัญคือ รูปแบบในการเรียนรู้และกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากที่เคยทำกันมาตั้งแต่ศตวรรษก่อน

ทั้งหมดนั้นหมายความว่า วันเวลาของการเขียนกระดานชนวนจะไม่มีทางหวนกลับมา ส่วนการมีอยู่ของชอล์ก แปรงลบกระดาน กระดานดำ หรือไวท์บอร์ดก็กำลังจะหมดลง 

หากมองในแง่รูปแบบการจัดการศึกษาที่เอาผู้เรียนมานั่งรวมกันในห้องหนึ่งหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง แล้วใช้บทเรียนชุดเดียวกันถ่ายทอดให้กับทุกคนเหมือนกันหมด อันเป็นภาพที่ทุกท่านต่างคุ้นเคย จะพบว่าการศึกษาในลักษณะนี้กำลังค่อย ๆ ลดความสำคัญลงและอีกไม่นานคงเหลือสถานะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของระบบการศึกษาในภาพใหญ่เท่านั้น 

โฉมหน้าการศึกษายุคโพสต์โควิด

รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้วิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษาว่า หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โลกได้เคลื่อนผ่านสู่ยุค ‘Post Covid-19’ เต็มตัว พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่องสำคัญของระบบนิเวศทางการศึกษา (Ecosystem & Education) ได้แก่

หนึ่ง – การออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ (Curriculum Design & Instruction) ที่มุ่งสู่การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนรายคน (Tailored made to each student)

สอง – ระบบโรงเรียน (Schooling) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) และการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-learning Modules) มากขึ้น

สาม – กระบวนการจัดการศึกษา (Education Setting) ที่ขยายฐานจากโรงเรียน (School Based) สู่บ้าน (Home Based) ทำให้ผู้ปกครองจะมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับครูและโรงเรียน

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เรียกร้องให้ครูในปัจจุบันและอนาคต ต้องมี ‘ชุดทักษะใหม่’ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ครูต้องมีทักษะการ ‘หยิบฉวย’ และ ‘ออกแบบ’ การจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนได้เป็นรายคน รวมถึงทักษะสื่อสารสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เพื่อการจัดการศึกษาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้เรียน

แล้วครูควรทำอย่างไร?

รศ.ดร.ประวิตร ได้แนะนำ ‘หลัก 7 ประการ’ เพื่อนำพาครูให้ไปสู่ความท้าทายใหม่ หรือ ‘7 Research-Based Principles for Smart Teaching’ จากหนังสือ How Learning Works ที่สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 จากงานวิจัยระดับนานาชาติกว่า 1,000 ชิ้น และเป็นเครื่องมือสำคัญที่แวดวงการศึกษาประเทศอังกฤษใช้ ‘พาครูขึ้นจากหลุมดำ’ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกยุค Post Covid-19 ที่ระบบการศึกษาเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ทั้งยังเป็นหมุดหมายหลักของการออกแบบตัวชี้วัดและประเมินครูตามหลักเกณฑ์ PA (Performance Agreement) ที่ ก.ค.ศ. นำมาใช้ในปัจจุบัน

ทักษะ 7 ประการ สู่ความท้าทายใหม่

ชุดทักษะใหม่ หรือทักษะแห่งอนาคตที่ รศ.ดร.ประวิตร ระบุว่า “ครูในทุกวันนี้จำเป็นต้องมีและจะเป็นหัวใจสำคัญต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาในอนาคต” สรุปได้ดังนี้

1. จัดการความรู้เดิมของผู้เรียน ให้มีรากฐานรองรับองค์ความรู้ใหม่

ครูต้องสังเกต-สำรวจ-ตรวจสอบว่าชุดความรู้เดิมของผู้เรียนไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ใหม่ รวมถึงช่วยผู้เรียนปรับชุดความรู้เดิมให้ถูกต้องแม่นยำ สามารถนำมาใช้งานได้ในจังหวะเหมาะสม เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงรองรับองค์ความรู้ใหม่

2. จัดระเบียบความรู้ผู้เรียน เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ

ครูต้องช่วยผู้เรียนให้เชื่อมโยงองค์ความรู้แต่ละเรื่องเข้าด้วยกัน จนเกิดโครงสร้างของชุดความรู้ที่เป็นระเบียบและมีความหมาย เพื่อการนำมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์

3. จูงใจผู้เรียนให้มีแรงกระตุ้นในการเรียนรู้

ครูต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยชี้นำผู้เรียนให้ค้นพบ ‘คุณค่า’ และมองเห็น ‘เป้าหมาย’ รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงกระตุ้นที่จะพัฒนาตนเองจนบรรลุเป้าหมายปลายทาง

4. ขับศักยภาพภายในของผู้เรียนเป็นรายคน

ครูต้องช่วยผู้เรียนให้มี ‘สำนึกรู้’ ว่าการถือครองความรู้และการสั่งสมทักษะความชำนาญอันซับซ้อน เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาตนเอง หากเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ คือการบูรณาการ ‘ความรู้’ และ ‘ทักษะ’ เหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับศักยภาพภายในของผู้เรียนแต่ละคน จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

5. ป้อนผลสะท้อนกลับเพื่อยกระดับความท้าทาย

ครูต้องช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามระดับความท้าทายที่เหมาะสม โดยป้อนผลสะท้อนกลับในทุกการฝึกฝนปฏิบัติ ด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้เกี่ยวกับสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของตน และผลสะท้อนกลับต้องเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นทั้งข้อดี ข้อด้อย เพื่อการปรับปรุงพัฒนาตนเองต่อไปยังระดับความท้าทายที่สูงขึ้น

6. หล่อหลอมความฉลาดทางอารมณ์และทักษะสังคม

ครูต้องหล่อหลอมความฉลาดทางอารมณ์และทักษะสังคมของผู้เรียน โดยเฉพาะช่วงวัยสำคัญของพัฒนาการ จัดการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน พร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจ และตักเตือนผู้เรียนตามสถานการณ์ 

การเคลื่อนที่ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการโต้ตอบระหว่างผู้เรียน จะช่วยสร้างประสบการณ์ทางสังคม และทำให้ผู้เรียนเติบโตจากภายใน หรือเป็นการวางฐานของความคิดที่นำไปสู่การตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น

7. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็น ‘ผู้กำกับตนเอง’

ครูต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็น ‘ผู้กำกับตนเอง’ (self-directed learning) โดยสามารถประเมินความรู้และทักษะของตนเองกับเป้าหมาย เข้าใจข้อจำกัด เพื่อนำไปสู่การวางแผน หาแนวทาง ติดตามความก้าวหน้า และปรับกลยุทธ์การทำงานตามความจำเป็นโดยมีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ครูต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ ให้เครื่องมือค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียนกับครูและผู้ร่วมเรียนรู้อื่น ๆ รวมถึงให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ประเมินการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ทักษะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเหล่านี้ จะกลายเป็น ‘นิสัยทางปัญญา’ ที่ช่วยส่งเสริมผู้เรียนในการปรับปรุงสมรรถนะ และเพิ่มศักยภาพตนเองในระยะยาว หรือที่เรียกว่า ‘การเรียนรู้ที่ดำเนินไปตลอดชีวิต’


อ้างอิง:

How Learning Works, Copyright 2010, Susan A. Ambrose, Michael W. Bridges, Michele DiPietro, Marsha C. Lovett, Marie K. Norman

*ผู้สนใจเนื้อหาฉบับเต็มของ ‘7 Research-Based Principles for Smart Teaching’ จากหนังสือ How Learning Works ติดตามได้ที่ คลิก