เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปร่วมกับภาคีภาคธุรกิจ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล มูลนิธิเอสซีจี บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นต้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และการเตรียมความพร้อมในการพัฒนานวัตกรรมการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษา และระดมความคิดเห็นต่อแนวคิดการใช้นวัตกรรมการเงิน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวต้อนรับและฉายภาพข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบตัวเลขเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 3-18 ปี พบว่ามีเด็กกว่า 1.02 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมทั้งมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกมากถึง 2.8 ล้านคน ซึ่งครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ใต้เส้นความยากจน
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้นอกจากจะต้องกำหนดมาตรการค้นหาและพาเด็กจำนวน 1.02 ล้านคน กลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาหรือการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการกำหนดมาตรการป้องกันเด็กอีก 2.8 ล้านคน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะการเริ่มต้นด้วยการป้องกันจะเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ซึ่งจะได้ผลและยั่งยืนมากที่สุด
ข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ กสศ. เริ่มติดตามตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 จำนวน 168,307 คน พบว่ามีเด็กได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปีการศึกษา 2563 จำนวน 134,760 คน คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 33,547 คน หลุดออกจากระบบการศึกษาต่อ
ในปีการศึกษา 2566 นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษกลุ่มนี้สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาผ่านระบบสอบคัดเลือก TCAS จำนวน 21,921 คน คิดเป็น 12.46 เปอร์เซ็นต์ และอีก 112,839 คน หรือ 67.54 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบ โดยอาจเป็นไปได้ว่าเด็กอาจไม่ได้เรียนต่อและออกไปประกอบอาชีพ หรือเรียนต่อโดยไม่ผ่านระบบ TCAS
“เพราะความยากจน ทำให้เราอาจต้องสูญเสียเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพ” ดร.ไกรยส กล่าว พร้อมกับอธิบายต่อว่า องค์การยูเนสโกได้ประเมินว่า หากประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Dropout ได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1.7 เปอร์เซ็นต์ และหากนักเรียนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ จะช่วยสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ด้วยเหตุนี้แนวคิด ‘ปวงชนเพื่อการศึกษา’ หรือ ‘All for Education’ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นมาได้
ดร.ไกรยส ได้ยกตัวอย่างแนวคิด All for Education Partnership ที่ภาคธุรกิจมาร่วมกับ กสศ. เพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าว โดย กสศ. จะทำหน้าที่ช่วยชี้เป้ากลุ่มเป้าหมาย และร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมกับขยายผลนวัตกรรมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอกลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนี้
- ชุดข้อเสนอแก้ไขปัญหา Asymmetric Information
- แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการลงทุน (Outcomes Fund เพื่อการศึกษา)
- การส่งเสริมการออก Social Bond เพื่อการศึกษา
- การหักสัดส่วนรายได้หรือกำไรเพื่อการศึกษา
- ชุดข้อเสนอสร้างแรงจูงใจ (incentive) เชิงสมัครใจและเชิงบังคับ
- การใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
- มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่บริษัทจดทะเบียน
- สถานประกอบการมีส่วนร่วมพัฒนากำลังคน
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับบทบาทภาคธุรกิจ
คุณสุธาสินี ศุภศิริสินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน กลุ่มเซ็นทรัล ได้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการยกระดับการศึกษา เพื่อให้การศึกษาเกิดความเสมอภาค จากที่ ดร.ไกรยส ได้ฉายภาพให้เห็นรายได้เฉลี่ยหลังสำเร็จการศึกษาของเยาวชนไทยตลอดช่วงชีวิต ที่พบว่ามีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 20,920 บาท ซึ่งเป็นช่วงรายได้ที่ไม่เสียภาษี อย่างไรก็ตาม คุณสุธาสินีระบุว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ จึงเล็งเห็นว่าครูเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องรวมการพัฒนาบุคลากรครูเข้าไปด้วย หากครูตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก็จะสามารถเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภาพรวมการศึกษาทั้งระบบได้ และจะนำไปสู่การพัฒนาคนให้มีรายได้มีมากขึ้นจนถึงเกณฑ์ภาษี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ
ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้มีส่วนร่วมกับการส่งเสริมงานด้านการศึกษา โดยคุณสุธาสินีเล่าว่า มีการจัดอบรมและสนับสนุนบุคลากรครู เปิดมุมมองครูให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นย้ำว่าครูคือกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ
“อีกกลไกสำคัญคือพ่อแม่ แต่เรายังเข้าไม่ถึงกลุ่มพ่อแม่ กลไกเดียวที่เราเข้าถึงตอนนี้ก็คือระบบครู เซ็นทรัลจึงพยายามที่จะช่วยพัฒนาครู ให้เขาเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ” คุณสุธาสินีกล่าว
ทางด้านตัวแทนจาก บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ระบุว่าทางบริษัทมีโครงการให้ทุนการศึกษา รวมถึงฝึกทักษะทางด้านบัญชี เทคโนโลยี และส่งเสริมความรู้ทางธุรกิจให้กับบริษัท มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ โดยมองว่าสิ่งที่ภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยได้มี 2 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก ต้องสร้างเครือข่ายให้กับภาคเอกชน เพราะมีหลายองค์กรที่อยากเข้ามาช่วยเหลืองานด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่ยังเริ่มต้นไม่ถูก ดังนั้นหากมีการสร้างเครือข่ายและบอกต่อเรื่องราวกันจะสามารถช่วยเหลือได้อีกมาก
ถัดมาคือต้องมีการติดตามผลได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการไปนั้นมีส่วนช่วยให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร เช่น โครงการที่เคพีเอ็มจีทำอยู่จะพยายามขอเข้าไปเยี่ยมชม ติดตามผลทุก 3 เดือนว่าเป็นอย่างไรบ้าง การจัดการทางการเงินดีขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดขยายผลให้กับชุมชนอื่นต่อไป
นวัตกรรมการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ในการประชุมได้มีการนำเสนอแนวคิดด้านนวัตกรรมการเงินและโมเดลตัวอย่างโดยที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งได้ช่วยขยายความว่านวัตกรรมการเงินเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น สามารถออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์คนที่อยากจะใช้งานได้ อยู่ที่ว่าเรามีปัญหาอะไรที่อยากจะแก้ไขก็สามารถที่จะออกแบบกลไกทางการเงินในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์และท้องถิ่นร่วมกันทำโมเดลนวัตกรรมทางการเงินแก้ปัญหาในประเทศตนเอง ซึ่งการทำงานลักษณะนี้เป็นการสร้าง partnership ในระยะยาว ทำให้สามารถวางแผนได้ดียิ่งขึ้น กล้าที่จะทำงานที่มีความท้าทายมากขึ้น
สำหรับ กสศ. มีการทดลองใช้เครื่องมือนี้อยู่บ้าง เช่น การออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเครื่องมือทั่วไปที่บริษัทต่างๆ ใช้ ซึ่งต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทางสังคม และมีความโปร่งใสในวิธีการใช้เงิน ซึ่งจะต้องมีการนำเงินส่วนนี้เก็บไว้ในบัญชีแยก เพื่อทำให้มั่นใจว่าเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อโครงการด้านสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงมีการรายงานความก้าวหน้าและแผนการใช้เงินเป็นระยะ เพื่อที่จะเบิกเงินนี้ออกมาใช้งานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการ Zero Dropout ที่ดำเนินงานร่วมกับบริษัท แสนสิริ
ภาพรวมความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการ Zero Dropout ระยะ 2 ปีแรก ครอบคลุมเด็กแทบทุกช่วงวัย รวมถึงมีการพัฒนางานเชิงข้อมูลและสร้างกลไกจังหวัดที่รวมศูนย์ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันขับเคลื่อนงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งกลไกจังหวัดทำให้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่าเมื่อ กสศ. ถอนตัวออกไปแล้วการดำเนินงานจะยังสามารถขับเคลื่อนต่อได้
นอกจากนี้มีการอธิบายถึงรูปแบบโครงการที่จ่ายเงินตามผลลัพธ์ที่จะดำเนินการ โดยมีภาคเอกชนแบ่งรับความเสี่ยงโครงการ เริ่มจากผู้ให้บริการไปจับมือกับภาคเอกชน พัฒนาโครงการร่วมกัน ทำงานร่วมกันกับ กสศ. และผู้ประเมินผลลัพธ์โครงการเพื่อคัดเลือกตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ เมื่อดำเนินโครงการไปแล้วผู้ประเมินจะติดตามดูแลว่าเป็นอย่างไร หากไม่เป็นไปตามเป้าก็สามารถปรับการทำงานได้
การใช้งบประมาณตามโมเดลลักษณะนี้จะแตกต่างกับการให้ทุนแก่ผู้ให้บริการเพื่อนำไปดำเนินโครงการเองโดยขาดการติดตาม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการจ่ายเงินตามผลลัพธ์ที่เป็นไป
โครงการเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Thailand Zero Droupout
โครงการป้องกัน ลดความเสี่ยงเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา จากข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาประมาณ 1.02 ล้านคน โดยอยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) กว่า 300,000 คน คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของเด็กนอกระบบ จึงนำไปสู่ ‘โครงการครูนางฟ้า’ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงเยาวชนที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
โครงการนี้ทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา สถานพยาบาล และหน่วยงานในท้องถิ่น ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ในการบำบัดและเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่มีความเสี่ยง ซึ่งโครงการจะจัดอบรมครูนางฟ้าในโรงเรียนต่างๆ ให้มีทักษะดูแลช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่เด็กนักเรียน โดยในปี 2565 ได้รับทุนจากกองทุน Bkind ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ ในการขยายผลไปยัง 4 โรงเรียนนำร่องในเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรมในจังหวัดนราธิวาส สิงห์บุรี และนครปฐม
โครงการสร้างทักษะในการประกอบอาชีพ
ในกลุ่มเปราะบางอย่างนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ มีเพียง 1 ใน 10 ที่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาลจึงได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาอาชีพดูแลผู้สูงอายุ’ อาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ จัดอบรมเรื่องนี้ให้กับเด็กที่มีฐานะยากจน กำพร้า ท้องไม่พร้อม เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีไปพร้อมกัน
ส่วนกลุ่มเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ในปี 2566 มีเยาวชนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9,103 คน คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนในสถานพินิจ ‘โครงการอบรมเยาวชนในสถานพินิจเพื่อการประกอบอาชีพ’ จึงได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคีต่างๆ ฝึกอาชีพที่หลากหลายและทักษะต่างๆ ให้เยาวชนในสถานพินิจ จังหวัดอุดรธานี ให้สามารถส่งต่อไปทำงานยังสถานประกอบการเพื่อสร้างอาชีพและรายได้
โครงการส่งเสริมเยาวชนกลุ่มพิเศษ
ปี 2565 ผู้พิการกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการศึกษาถึงเพียงชั้นประถมศึกษา และมีผู้พิการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังขาดโอกาสในการจ้างงาน ทาง Vulcan Coalition จึงได้ริเริ่ม ‘โครงการจ้างงานผู้พิการเพื่อเป็น AI’ โดยมีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะผู้พิการในการทำหน้าที่เป็น AI Trainer ช่วยจัดเตรียมข้อมูลในการพัฒนา AI ให้มีความคิดและเข้าใจภาษามนุษย์ โดยปัจจุบัน Vulcan มีพันธมิตรให้การสนับสนุนโครงการมากกว่า 60 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน
โครงการเหล่านี้ทาง กสศ. ได้นำเสนอให้กับภาคเอกชนที่มาร่วมประชุมและให้ร่วมกันระดมความเห็นว่าจะมีการร่วมมือกันพัฒนาและขยายผลอย่างไร พร้อมทั้งมองหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะโอกาสในการพัฒนา ‘กองทุน’ หรือ ‘กลไกการเงิน’ ที่สนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายร่วมกันตามที่ได้นำเสนอ
คุณสุธีตา ชุณหรัศมิ์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชน มูลนิธิยุวพัฒน์ นำเสนอ 4 วิธี ดังนี้
- ควรมีการแชร์คอนเนกชันระหว่างหน่วยงาน
- ควรมีการแชร์กลุ่มเป้าหมายในโครงการที่แต่ละองค์กรทำอยู่ เช่น กลุ่มเด็กพิเศษ หรือเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น เพื่อให้ได้พิจารณาว่ากลุ่มเป้าหมายใดเหมาะกับองค์กร
- ควรแชร์วิธีการสร้างโครงการ เช่น โครงการให้ความรู้ด้านการเงินกับเด็กๆ ซึ่งสามารถแบ่งเด็กออกเป็นหลายช่วงวัย การแชร์วิธีการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การให้ความรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด
- ควรมีวิธีและช่องทางการแชร์ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เลือกสรรคนที่จะมาอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสม โดยอาจเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์ หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อส่งสารไปให้ถึงกลุ่มที่ต้องการบอกกล่าว
นอกจากนี้ตัวแทนจากภาคเอกชนต่างๆ เห็นตรงกันว่า ต้องมองที่องค์กรตนเองก่อนว่าต้องการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายใดจึงจะเข้ามาขับเคลื่อนงานเป็นภาคีกัน ทั้งนี้จากการระดมความเห็นกันในกลุ่มย่อยเห็นร่วมกันในเรื่องการสนับสนุนการศึกษาแบบครบวงจร ไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายในการทำงานจะเป็นเด็กที่เสี่ยงหรือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วก็ตาม สุดท้ายเด็กควรจะต้องมีอาชีพและมีรายได้ตามความต้องการของเด็ก
นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยควรจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มาก เพื่อให้ครอบคลุมถึงคนส่วนใหญ่ พร้อมกับต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพชั้นสูงด้วย