-1-
โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นโรงเรียน ‘Stand Alone’ หรือโรงเรียนในพื้นที่สูงห่างไกลทุรกันดาร การคมนาคมสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่อาจยุบหรือควบรวมได้ แม้ปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2567) จะมีเด็กนักเรียนเพียง 23 คน แต่น้อง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านห้วยหินลาดในทั้งหมด ยังมีเด็กจากหมู่บ้านอื่น ๆ และตำบลใกล้เคียงมาร่วมเรียนด้วย
เพียงชั่ววูบไม่กี่วัน น้ำป่าได้หลากลงมาทำลายอาคารเรียนทั้งหมด เหลือไว้เพียงป้ายชื่อโรงเรียนที่พอเป็นหลักฐานยืนยันว่า ‘ที่นี่เคยมีสถานศึกษา’ ตรงที่แห่งนี้
กับเทอมใหม่ที่มาถึง ผู้อำนวยการ พงษ์พันธุ์ ซาเมาะ จึงต้องขบคิดอย่างหนักว่าจะพาเด็ก ๆ ไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างไร เมื่อมีข้อแม้มากมายให้จัดการ ด้วยอาคารเรียน ห้องพักครู ห้องธุรการ ห้อง ผอ. และบ้านพักครูหายไป ซึ่งเท่ากับว่าของทุกอย่างที่อยู่ข้างในนั้น ไม่ว่าโต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป สมุด หนังสือ เครื่องนอนเด็ก สื่อการสอน เอกสารทั้งหมด ไปจนถึงทรัพย์สินส่วนตัวของครู ก็สูญไปด้วยทั้งหมด
-2-
“พื้นที่เรียนรู้ชั่วคราวที่คิดไว้ คือจะต่อเติมอาคารชั่วคราวขึ้นก่อน ซึ่งเราได้ส่งเรื่องขออาคารน็อคดาวน์ไป แต่ถ้าไม่ทัน ช่วงเปิดเทอมก็จะอาศัยเรียนกันที่ศาลาใหญ่ตรงหมู่บ้านไปก่อน” ครูแอนเผยแผนรองรับช่วงเปิดเทอมใหม่
“ตอนนี้เรามีกระดานกับอุปกรณ์การเรียนบางส่วนแล้ว ถ้ามีพื้นที่ก็คงจัดการเรียนการสอนได้ ซึ่งเดี๋ยวเปิดเทอมจริงก็จะค่อย ๆ รู้ว่ายังขาดอะไร อย่างเรื่องเครื่องแบบนักเรียนและของใช้ส่วนตัวเด็กไม่ค่อยน่าห่วง เพราะบ้านเด็กโดนผลกระทบไม่มาก คือน้ำไปถึงแต่ไม่เหลือความแรงแล้ว เหมือนโรงเรียนลดแรงปะทะให้หมด”
ผอ.พงษ์พันธุ์บอกว่า “ขั้นแรกถ้ามีอาคารเรียนชั่วคราวแล้ว ก็จะลองดูว่าการเรียนการสอนแต่ละระดับชั้นจะทำกันแบบไหน ก่อนเปิดเราทำได้แค่เตรียมการไว้ แต่คิดว่าสภาพจริงตอนเปิดเทอมจะบอกได้มากกว่า ว่าปัญหาคืออะไร ต้องเติมจุดไหนก่อนจุดไหนทีหลัง
“ตั้งแต่เกิดเหตุก็มีความช่วยเหลือส่งมา ส่วนใหญ่ลงไปที่เด็กกับโรงเรียนก่อน เลยคิดว่าปัญหาของครูต้องถูกพูดถึงด้วย เพราะครูทั้งสี่คนปกติวันจันทร์ถึงศุกร์จะพักที่โรงเรียนกันหมด ข้าวของส่วนใหญ่จึงเก็บไว้ที่โรงเรียน และแน่นอนว่ามันไปกับน้ำหมดแล้ว นี่คือเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดนอกจากการฟื้นฟูพื้นที่โรงเรียนให้กลับมาจัดการเรียนการสอนได้ โดยเฉพาะพวกของใช้ส่วนตัว แล็ปท็อป เสื้อผ้า เพื่อรองรับทั้งด้านการใช้ชีวิตประจำวัน และสำหรับความพร้อมของครูในการจัดการสอน แล้วอีกอย่างที่จำเป็นคือโทรทัศน์สัก 4-5 เครื่อง ซึ่งครูต้องใช้เชื่อมต่อคอนเทนต์ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตมาให้นักเรียนเรียนรู้” ผอ.พงษ์พันธุ์ ระบุ
-3-
นอกจากเตรียมการรับเปิดเทอม ผอ.พงษ์พันธุ์ยังพูดถึงประเด็นสำคัญ คือการก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพราะแม้ข้อเท็จจริงบอกว่าเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากรุนแรงเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่มีใครบอกได้เช่นกัน ว่าภัยพิบัติแบบเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
“สภาพแวดล้อมโรงเรียนเป็นป่าทึบ มีแนวเขารอบ ๆ ที่มีลักษณะเป็นหินลาดทั้งหมด พอน้ำไหลลงมาเลยยิ่งเหมือนลาดเขาช่วยส่งให้น้ำเร็วแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือน้ำไหลผ่านลงจากช่องเขา แล้วที่ตั้งโรงเรียนก็เป็นจุดรับแรงปะทะพอดี”
“หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดู เขาบอกว่าร่องน้ำเดิมเปลี่ยนแนวไปแล้ว โอกาสเกิดน้ำป่าหลากแรงอย่างนี้อีกมีน้อยมาก แต่ยังไงเราก็ต้องคิดเรื่องการสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ พร้อมรองรับภัยพิบัติได้ทุกเมื่อ”
ผอ.พงษ์พันธุ์บอกว่า เบื้องต้นมีสมาคมสถาปนิกสยาม ช่างโยธา นักธรนีวิทยา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเข้ามาดูความเสียหาย วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งพื้นดิน ทิศทางน้ำหรือความเสี่ยงจากการเกิดมรสุม เพื่อเตรียมประเมินการออกแบบและงบประมาณสำหรับการสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ โดยจะตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมหรือเคลื่อนย้ายตำแหน่งเพื่อความปลอดภัย ก็อาจเป็นไปได้ทั้งสิ้น
“ต้นสังกัดคือ สพฐ. ยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนเรื่องการสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่อยู่แล้ว แต่กับการออกแบบการก่อสร้างพิเศษเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีมาก่อน เพราะเดิมเราจะสร้างโรงเรียนด้วยแปลนเดียวคล้าย ๆ กันหมด เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงมากขึ้น เพื่อต่อไปนี้เราจะทำให้ทุกโรงเรียนเหมาะสมกับระบบนิเวศ มีโครงสร้างและวัสดุที่ทนทาน ปลอดภัย ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือลดความเสี่ยงของการสูญเสียระยะยาวให้ได้มากที่สุด”
-4-
จากการสำรวจความเสียหายที่โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน กสศ. ได้นำข้อมูลมาออกแบบการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งเริ่มจาก ‘ระยะสั้น’ เพื่อเตรียมการสำหรับเปิดเทอมใหม่ โดยนอกจากสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูโรงเรียน และทุนช่วยเหลือสำหรับครูและบุคลากร ยังมีความร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาภายใต้โครงการธนาคารโอกาส ที่จะเร่งส่งเครื่องมือและสื่อการสอน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ซึ่งจำเป็นต่อการจัดการเอกสารและใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ทันกับการเปิดเรียนในเดือนพฤศจิกายน
ขณะที่การออกแบบสิ่งก่อสร้างและอาคารเรียนที่สอดรับกับสภาพแวดล้อม ถือเป็นอีกโจทย์หนึ่งของการทำงาน ‘ระยะยาว’ จากนี้จำเป็นต้องสำรวจโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อป้องกันความสูญเสียจากภัยพิบัติ เนื่องจากพื้นที่แต่ละแห่งนั้นมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน เช่นบางโรงเรียนเป็นพื้นที่อุทกภัย บ้างตั้งอยู่บนรอยเลื่อนหรือทางน้ำหลาก ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพดิน ทางน้ำ หรือสภาพทางธรณีวิทยาที่เหมาะสม