“โรงเรียนของเราเคยประสบปัญหาเด็กไม่สนใจ ไม่มุ่งมั่นที่จะเรียนหนังสือ เด็กบางคนมีความรู้สึกว่าการศึกษาไม่สำคัญ จะมาเรียนหรือไม่เรียนตอนไหนก็ได้ มีเด็กขาดเรียนจนห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่จัดการเรียนการสอนไม่ได้ ก็เลยพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดโอกาสให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกอะไรก็ได้ ทำให้พวกเขากล้าพูดกล้าเล่าถึงสิ่งที่อยู่ในใจออกมา”
ครูสมโภช พิมสอน ครูผู้มีวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แห่งโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า เมื่อห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กทุกคนไว้วางใจว่าสามารถเล่าเรื่องที่คับข้องใจ หรือเรื่องอะไรที่ไม่สามารถเล่าให้คนอื่นๆ ฟังได้ ความตึงเครียดจากปัญหาที่เคยมีก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลง
โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ คือหนึ่งในโรงเรียนโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่าโรงเรียน TSQP ซึ่ง กสศ. และภาคี กำลังร่วมกันขับเคลื่อนเป็นขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQM (Teacher and School Quality Movement) ที่แสดงให้เห็น Movement ยกระดับขึ้นไปขั้นกว่าคำว่าโครงการ หรือ Program
ครูสมโภชสะท้อนว่า เรื่องราวของห้องเรียนที่เปลี่ยนไป ได้ถูกเด็กๆ นำไปบอกเล่ากันปากต่อปาก จนในที่สุดก็ไปถึงหูของเด็กที่ไม่ค่อยอยากมาเรียน และทำให้เด็กกลุ่มนี้ เริ่มอยากมาเห็นห้องเรียนที่เปลี่ยนไปด้วยตัวเอง ในที่สุดก็เริ่มเกิดความไว้วางใจ อยากเล่าเรื่องของตัวเองบ้าง
“ห้องเรียน ควรจะเป็นพื้นที่ที่สามารถรับฟังปัญหาของเด็กทุกคน ปัญหาทุกเรื่องราว โดยไม่สร้างความอึดอัด ด้วยการบอกว่าใครทำผิดหรือคิดผิด ห้องเรียนของเราจะไม่รีบด่วนตัดสินใคร แต่ปล่อยให้มีโอกาสเล่าและเสนอทุกความคิดเห็น
“เมื่อเด็กกล้านำเรื่องราวต่าง ๆ และปัญหามาเล่า ห้องเรียนก็เริ่มกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ในการช่วยกันหาทางออก ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ทิ้งให้ใครต้องเผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง นี่คือวิธีเรียกเด็กที่ไม่อยากมาเรียนให้กลับมาหาเรา กลับมาเรียนหนังสือ”