ในวันที่เรายังไม่สามารถพูดได้ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ทุนและโอกาสยังเป็นสิ่งสำคัญ
ในสังคมที่โอกาสมาไม่ถึงทุกคน ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ในประเทศสิงคโปร์ อาจจะมีสมมติฐานที่ชัดเจนในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเขาเชื่อว่า ‘โชค’ เป็นตัวกำหนดต้นทุนชีวิต
“ผมเชื่อว่าจัดเริ่มต้นของทุกอย่างนั้นมาจากโชค โชคในที่นี้คือการสุ่ม ไม่ใช่กฎแห่งกรรม”
ยกตัวอย่าง การที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาจนกับอีกคนที่เกิดมารวย ตรงนี้คือ ‘โชค’
ในบทความ ‘รวยแรนดอม : เมื่อ ‘โชค’ คือปัจจัยหลักที่ตัดสินว่าใครจะรวย’ จากเว็บไซต์ The Momentum อธิบายเรื่องโชคในทางเศรษฐศาสตร์ไว้ว่าโชคขั้นแรกนั้นตัดสินชีวิตเรามาตั้งแต่ลืมตาดูโลก บริบทของครอบครัวของเด็กคนหนึ่งที่เกิดมา และกำหนดว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป มีกำลังทรัพย์ส่งเสียเรามากแค่ไหน เป็นเรื่องของโชคล้วน ๆ
ยังไม่รวมโชคชั้นที่สอง นั่นคือความแรนดอมของโอกาสที่จะรวย ซึ่งใช้งานวิจัยหาคำตอบว่าปัจจัยใดที่ทำให้ใครคนหนึ่งร่ำรวยกว่าอีกคนหนึ่งอย่างมหาศาลโดยใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์ สิ่งที่น่าประหลาดใจคือคนที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดกลับไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด (แต่มักจะฉลาดกว่าค่าเฉลี่ย) แต่เป็นคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก
สำหรับอาจารย์ณัฐวุฒิ ทั้งโชคและโอกาสรวมกันเป็นต้นทุนและความสำเร็จชีวิต
“ถ้าคุณโชคไม่ดีเกิดมาจน ชีวิตคุณแย่ โอกาสที่จะส่งความแย่ต่อไปเรื่อย ๆ ก็มีมากโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่ถ้าตอนเด็กคุณดี โอกาสที่คุณจะดีก็มีมาก นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อ”
“เพราะโชคมันมากับโอกาส และความสำเร็จในชีวิตมันมีทั้งสองปัจจัยนี้ แต่ในความเป็นจริงคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่ อาจจะมองว่ามันมาจากความพยายามมากกว่า พูดง่าย ๆ คือถ้าเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันจะมาจากความพยายามหมดและโชคแทบจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จเลย เราก็ไม่ต้องแคร์คนอื่นที่เขาจนกว่าเรา ถ้าคุณไม่มีก็แปลว่าคุณไม่ได้พยายาม แสดงว่าคุณขี้เกียจ นั่นคือปัญหาของสังคมอย่างหนึ่ง

และถ้าต้นทุนชีวิตมันเป็นโชค คนในสังคมก็ต้องทำอะไรสักอย่างให้คนที่โชคไม่ดีมีโอกาส”
คำพูดของอาจารย์ คือปัจจัยสำคัญของการพูดคุยถกเถียงประเด็นที่ว่า ปัจจัยที่จะเอื้อให้กับการให้ทุนการศึกษากับเด็กที่ขาดโอกาสมีอะไรบ้าง ทำไมเด็กบางคนถึงไม่อยากได้ทุน ทุนการศึกษาเหมือนกับต้นทุนการศึกษาหรือเปล่า
และทุนโดยเฉพาะทุนการศึกษาคือหนึ่งในการทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ “ความพยายามอยู่ที่ไหน”
ไม่ลงเอยด้วย “ความพยายามก็ยังอยู่ที่นั่น”
อาจารย์เคยพูดไว้ว่าการศึกษาคือสิทธิมนุษยชน อยากให้ขยายความตรงนี้
ผมเชื่ออย่างนั้นและไม่ใช่ผมคนเดียวที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน นั่นมันเป็นเพราะว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้
สมมติถ้าเราเชื่อว่าการศึกษามาจากความพยายามอย่างเดียว คุณรวยแปลว่าคุณทำงานหนัก คุณถึงมีเงินเพื่อจ่ายให้ลูกมีการศึกษาดี ๆ ได้ แต่ถ้าคุณจน แปลว่าพ่อแม่คุณขี้เกียจ ถึงได้เป็นอย่างนี้ ถ้าเรามีความคิดอย่างนั้น
คุณก็อาจจะมีความเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว สมควรแล้วที่คุณเรียนไม่สูงนั่นเพราะคุณไม่ได้ พ่อแม่คุณไม่ได้พยายาม คุณถึงไม่ได้เข้าสู่การศึกษาที่ดี นี่เป็นการเชื่ออีกอย่างไปเลย
แค่ฟังอย่างนี้เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ เพราะในความเป็นจริงคนเราเลือกเกิดไม่ได้ โดยเฉพาะความคิดว่า คนหนึ่งควรได้รับการศึกมากกว่าอีกคน ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนพัฒนาได้ มีชีวิตที่ดีได้ การศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากถึงมากที่สุดของ social mobility (การขยับตัวไต่ระดับขึ้นทางสังคม)
แต่ถ้าจุดเริ่มของคนเราไม่เท่ากัน และเราอธิบายได้แค่ว่าเพราะ ‘โชค’ ทำให้เกิดความไม่เท่ากัน เช่นนั้นแล้ว อย่างน้อยเราก็ควรจะเท่าเทียมกันในเชิงโอกาส ไม่ว่าเขาจะพยายามหรือไม่ก็ตาม
ต้องทำให้ทุกคนมีโอกาส นี่คือเป้าหมายของนโยบายสาธารณะ
แล้วการศึกษาที่เท่าเทียม หน้าตามันเป็นยังไง โดยเฉพาะในบริบทของไทย
จริงๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ปัญหานี้เป็นกันทั่วโลก เพราะในนิยามของผม การศึกษาเป็นสิทธิ เป็นพื้นฐาน ในเชิงเศรษฐศาสตร์ควรจะเป็น public good หรือสินค้าสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อยกเว้น (non-excludable) แต่ปัญหาคือการศึกษาไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ยกตัวอย่าง โรงเรียนที่รัฐจัดให้ ซึ่งมีจำนวนห้องจำกัด แล้วถ้าคุณเกิดในต่างจังหวัดที่โดยเฉลี่ยแล้วโรงเรียนคุณภาพดีมีน้อยกว่า โอกาสมันจึงไม่เท่ากับเมืองใหญ่อื่นๆ และไม่เท่ากับกรุงเทพฯ อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นในนิยามของการศึกษา แม้จะเป็น public good มันจึงไม่ใช่ในความหมายนั้นจริง ๆ เพราะมีความไม่เท่าเทียมหลายอย่างเกิดขึ้น อันนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นปัญหาทั่วโลก
ของไทยเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความไม่เท่าเทียมกันสูง โรงเรียนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทรัพยากรไม่เท่ากัน ครูไม่เท่ากัน การเรียนการสอนไม่เท่ากัน ฯลฯ
การศึกษาที่เท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่มียากมาก ๆ ยกตัวอย่าง พ่อแม่ในกทม. ก่อนจะพาลูกเข้าโรงเรียน หลายคนศึกษาหาข้อมูลก่อน หน้าตาของความเท่าเทียมทางการศึกษาจึงไม่อยู่ในสมการนี้เลย
เราไม่สามารถพูดได้ว่า บ้านอยู่ตรงไหน ก็เอาลูกเข้าโรงเรียนที่นั่น มันไม่แตกต่างกัน เพราะจริง ๆ แล้วมันแตกต่างกันมาก
แต่ตอนนี้เราพูดถึง supply side หมายถึงสิ่งที่รัฐให้ไม่เท่าเทียมกัน แต่เราเองก็มี demand side ด้วยคือความต้องการของพ่อแม่ ถึงแม้จะเท่าเทียมกันจริง ๆ แต่เราก็อยากให้ลูกได้ดีกว่า ส่งลูกเรียนพิเศษก็ส่ง มันจึงมีความไม่เท่าเทียมกันทั้ง demand และ supply เลยเป็นปัญหาโลกแตกว่าเราจะมีการศึกษาที่เท่าเทียมได้มั้ย โลกสวยหรือเปล่า แต่เราก็ต้องพยายามที่ทำให้มันใกล้จุดนั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สิ่งที่อาจจะเข้ามาช่วยให้มันใกล้มากขึ้นคือทุน ถ้าพูดเรื่องทุนการศึกษา สิ่งแรกที่อาจารย์นึกถึงคืออะไร
ต้องพูดในฐานะของคนที่ไม่เคยได้รับทุน สำหรับตัวผมเอง ทุนการศึกษาคือทุนสำหรับคนอยากเรียน มีความสามารถในการเรียน แต่มีอะไรสักอย่างในเชิงการเงิน (finance) ที่ทำให้เขาไม่สามารถทำหรือเรียนได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม อันนี้คือความหมายของทุนจริง ๆ นะ คือเขาอยากจะไปไกลขึ้น ดีขึ้น เพิ่มศักยภาพในตัวเอง เค้ามีแรงบันดาลใจ มีความทะเยอทะยาน แต่มันมีกำแพงกั้น แล้วทุนเป็นตัวที่จะทุบกำแพงนี้ออกไป นั่นคือนิยามของทุนการศึกษาตามที่ผมเข้าใจ
แล้ว ‘ทุนอุดหนุน’ ตอนนี้มีทุนเรียนฟรี 15 ปีจากรัฐบาล อาจจะมีทุนอุดหนุนจาก กสศ. ให้เด็กยากจน แต่ในทุนนั้นมันมีข้อท้าทาย มีเงื่อนไขบางอย่างที่เข้ามา เช่น ถ้าเด็กคนนั้นจะได้ทุน ต้องบ้านไกล ต้องพิสูจน์ว่ายากจนจริง ๆ ขาดค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน อาจารย์คิดว่าปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ควรจะเป็นเงื่อนไขของทุนการศึกษา
ผมคิดว่าค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร มันแล้วแต่ว่าเราอยู่ระดับไหนของการศึกษาด้วย สำหรับเด็กมาก ๆ ประถม อนุบาล การให้ทุนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเรียนเก่ง มันยากจริง ๆ เพราะนี่คือช่วงปฐมวัยของเขา สเตจนี้จึงควรเป็นทุนที่ให้โอกาส ถ้าเขายากจน ไม่สามารถมาเรียนได้ ก็ควรเป็นทุนเพื่อที่ขจัดอุปสรรคนั้นเพื่อให้เขาสามารถมาเรียนได้
ผมคิดว่าตรงนี้ในเชิงเงื่อนไขที่ กสศ.ทำอยู่ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกทำกัน มันตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาตัววัดอะไรสักอย่างด้วย และการวัดก็ทำได้ยาก แต่การวัดด้วยระยะทางจากบ้านไปโรงเรียน รายได้ของครอบครัว ผมว่าโอเค
ในแง่ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม อะไรเป็นข้อท้าทายในการที่ทำให้เด็กหรือครอบครัว ลังเลว่าจะรับทุนอุดหนุนดีไหม
ในเชิงของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ต้องดูว่ามันมีปัญหาตรงไหนบ้าง เช่น คนเราส่วนใหญ่ชอบอะไรที่ง่าย เร็ว สุข มากกว่าการลงทุนความสุขในอนาคต เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัวผมมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่นิยามของทุน แต่อยู่ที่ทุนน่ะพอมั้ยที่จะกระตุ้นให้เขาทำในสิ่งที่ควรจะทำ
นี่เป็นสิ่งที่ผมคุยกับ กสศ. มาเรื่อย ๆ ว่าจะทำยังไง ทุนพอมั้ยสำหรับการให้เด็กยากจนยังมาเรียนอยู่ ถึงแม้มันจะมีเงื่อนไขว่าเขาต้องมาเรียนนะ ไม่งั้นไม่ได้ทุน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ เด็กไม่อยากมาด้วยตัวเอง หรือพ่อแม่อาจรู้สึกว่า ถ้าไปเรียน กว่าจะได้ต้นทุนคืนกลับมาช่างนานเหลือเกิน ให้ลูกมาช่วยทำงานที่บ้านดีกว่า เห็นผลเร็วกว่าเยอะเลย
เพราะปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องจัดการ?
ก็พอเข้าใจได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราคือคนที่ยากจนมาก ๆ และคนที่มีหนี้สินมาก ๆ เขาจึงมองแค่ระยะสั้นได้เพียงอย่างเดียว ระยะไกลมองยากมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่การลงทุนในตอนนี้มีโอกาสที่จะได้ทุนกลับมามาก ๆ
กสศ. เองพยายามออกแบบทุนที่จัดสรรการอุดหนุน โดยการหาข้อมูลคร่าว ๆ คือให้ครูช่วยตรวจสอบฐานะ ความยากจนของเด็ก มีการประชุมคณะกรรมการ มีหน่วยที่ลงพื้นที่และให้ครูส่งข้อมูลเด็กกลับมา อาจารย์คิดว่าขั้นตอนแบบนี้เป็นพื้นฐานหรือเปล่า
ตรวจสอบความยากจนนี่เป็นพื้นฐานของ conditional cash transfer (การส่งต่อทุนอย่างมีเงื่อนไข) ของหลาย ๆ ประเทศ มันก็จะมีอคตินิดหน่อยตรงที่ว่าคุณครูช่วยเด็กหรือเปล่า ถ้าเด็กไม่มาก็ไม่ได้ทุนนะ อีกส่วนโรงเรียนก็อาจไม่อยากดูไม่ดี มีการเปลี่ยนนู่นนี่นิดนึงเพื่อให้มันดูดีขึ้น พอมันมีแรงจูงใจตรงนั้น ไม่ใช่แค่นักเรียน ผู้ปกครอง โอกาสที่ครู ที่โรงเรียนจะมองแค่ระยะสั้นก็มีสูงเช่นเดียวกัน
ตรงนี้เรายังทำงานวิจัยกันอยู่เยอะ เพื่อหาคำตอบว่าเราจะพิสูจน์ยังไงว่าเด็กยากจนจริง ๆ ทำเพื่ออนาคตของเด็กจริง ๆ ไม่ใช่แค่ระยะสั้น

อาจารย์คิดว่าทุนการศึกษามันเท่ากับต้นทุนทางการศึกษามั้ย
อย่างที่ผมบอกคือ โชคเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าใครจะว่าอะไรก็ตาม โชคเป็นตัวกำหนดต้นทุนชีวิต ผมอาจจะเชื่อเรื่องกรรมในชาตินี้ตรงที่ถ้าทำดีก็มีโอกาสได้กลับคืนมา แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อว่ากฎแห่งกรรมเป็นตัวอธิบายว่าทำไมคนเกิดมาจน เกิดมารวย ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นโชค โชคในที่นี้คือการสุ่ม ที่ไม่ใช่กฎแห่งกรรม ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็ถูกต้องตรงที่ว่าถ้าคุณโชคไม่ดีเกิดมาจน ชีวิตคุณแย่ โอกาสที่จะส่งความแย่ต่อไปเรื่อย ๆ ก็มีมากโดยเฉพาะในการศึกษา แต่ถ้าตอนเด็กคุณดี โอกาสที่คุณจะดีก็มีมาก นี่แหละคือสิ่งที่ผมเชื่อ
ต้นทุนชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก และถ้าต้นทุนชีวิตมันเป็นโชค คนในสังคมก็ต้องทำอะไรสักอย่างให้คนที่โชคไม่ดีมีโอกาส
คำว่าโชคมันตามมาด้วยโอกาสใช่มั้ย
ใช่ เพราะโชคมันมากับโอกาส และความสำเร็จในชีวิตมันมีทั้งสองปัจจัยนี้ แต่ในความเป็นจริงคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่ อาจจะมองว่ามันมาจากความพยายามมากกว่า เพราะฉะนั้นคนที่รู้สึกอย่างนั้น ก็อาจจะรู้สึกเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปใส่ใจกับคนที่ชีวิตไม่ได้ดีเท่าเรา พูดง่าย ๆ คือถ้าเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันจะต้องพยายามหมด เราก็ไม่ต้องแคร์ ถ้าคุณไม่มีก็แปลว่าคุณไม่ได้พยายาม นั่นคือปัญหาของสังคมอย่างหนึ่ง
ทุนการศึกษาเสมอภาค ที่มองเห็นด้าน socio economic หรือประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนบริบทของเด็ก โรงเรียนต่าง ๆ อาจารย์คิดว่าการวางระบบที่ดี ทั้งการคัดกรอง ตรวจสอบ จะทำให้โมเดลของทุนเสมอภาคดีขึ้นหรือไม่ ในการพิจารณาและมองเห็นแง่มุมต่าง ๆ
แน่นอนอยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าตอนนี้มีปัญหาตรงไหนบ้าง แต่ถ้าเราสามารถลดอคติจากการคัดกรองได้ ผมว่าก็สามารถพัฒนาในเชิงประสิทธิภาพได้ แต่ก็เป็นจากมุมของคนนอก มันมีแนวโน้มให้พัฒนาได้มากกว่านี้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทั้งเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เข้าใจการตัดสินใจของผู้บริหารต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เด็กที่ได้รับทุนคนหนึ่ง เขาจะรู้สึกมีคุณค่าต่อตัวเองมากขึ้นมั้ย
อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ทุนด้วย ผมว่าถ้าเป็นทุนของ กสศ. มันอาจเป็นตราบาปทำให้คนอื่นมองเขาว่า เป็นเด็กจนก็ได้ ซึ่งเป็นผลกระทบอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นทุนการศึกษาที่ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกก็อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่คนกลุ่มหลังอาจจะเสียใจทีหลังก็ได้ว่าทำไมตอนนั้นรับทุนแล้วต้องกลับมาใช้ทุนอีก 20 ปี มันมีหลายสเตจของชีวิต ตรงนี้มันคงจะพูดโดยรวมยากว่าเขาจะรู้สึกยังไง
เด็กที่ได้ทุนยากจน เขาน่าจะรู้สึกยังไง
ก็แล้วแต่ระดับ ถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ เขาอาจจะรู้สึกว่าที่ได้ทุนเพราะจน ก็ไม่น่าจะใช่ความรู้สึกที่ดีมาก หรือเด็กอาจจะไม่คิดก็ได้ ผมเคยเขียนเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติ บอกว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่อง diversity (ความหลากหลาย) มาก ๆ เด็กโรงเรียนนี้เขาไม่เคยเจอเด็กยากจนหรอก อาจจะได้เจอสัก 2-3 วันตอนไปทำงาน ไปช่วยเพื่อเพิ่ม CV ก่อนเข้ามหา’ลัย เพราะฉะนั้นโลกของเขาก็จะหยุดอยู่แค่ตรงนี้ คบเพื่อนบ้านรวย มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกัน แล้วเขาก็จะคิดว่าทุกความสำเร็จของเขามาจากความพยายาม โดยไม่คิดถึงโชคเลย ผมก็เลยเขียนไปว่า เป็นไปได้มั้ยถ้าจะมีทุนให้เด็กยากจนไปเรียนนานาชาติ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มโอกาสให้เด็กยากจนด้วย เพราะเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่การศึกษาอย่างเดียว มันยังมีเครือข่าย คุณรู้จักใครสำคัญมากกว่าคุณรู้อะไร จำได้ว่ามันมีกระแสตอบกลับมาว่าอยู่ไม่ได้หรอก เพราะว่าเด็กยากจนจะเจอเด็กรวยบุลลี่ ผมก็คิดว่าอันนี้คือสิ่งที่เขา concern เหรอเนี่ย จริง ๆ แล้วการให้ทุนให้เด็กไปเรียนนานาชาติ ผลประโยชน์ของเด็กรวยเด็กจนต่างหากที่ควรจะ concern มากกว่า
การที่เด็กคนหนึ่ง ได้ทุนแล้วไปต่อได้ เอาจริง ๆ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้ทุนหรือไม่ ทุนในรูปแบบเงินเพียงพอต่อการเรียนต่อตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า
ทุนเป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยกำจัดอุปสรรคของการอยากจะเรียนต่อแต่ไม่ได้เรียน แต่มันไม่ได้ช่วยเรื่องแรงกระตุ้น (motivation) ถ้าคุณไม่มีแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจอยู่แล้ว ทุนก็ไม่ได้ช่วยคุณตรงนั้นหรอก ทุนแค่ทำให้คุณมีโอกาส เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาส แต่คุณจะคว้าโอกาสนั้นมั้ย มันขึ้นอยู่กับตัวคุณ ซึ่งแต่ละคนก็มีความต้องการอื่น ๆ ไปอีกที่ทุนมันไม่เกี่ยว
นอกจากพ่อแม่ ครู มีคนอื่น ๆ หรือหน่วยไหนอีก ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการศึกษาของเด็ก
เท่าที่เข้าใจและทราบจากงานวิจัย นอกจากครู ผู้ปกครอง โรงเรียน ปัจจัยสำคัญที่เด็กจะไปต่ออันหนึ่งคือ role model เขามีมั้ย คนที่เขาอยากจะไปให้ถึงและเป็น เช่น เขาบอกว่าก่อนที่คุณจะไปถึงตรงนั้นได้ คุณต้องเรียน ต้องสอบเพื่อให้ถึงจุดที่ผมยืนอยู่ได้ เด็ก ๆ อยากทำตาม นั่นคือเขามี role model ที่ดี
สำหรับผม ผมไม่เคยเป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่เคยได้ทุน แต่ผมโชคดีที่เจอ role model ที่ดี เขาเป็นอาจารย์ และตอนนี้ก็เป็นเพื่อนกัน ซึ่งถ้าผมไม่มีตรงนั้น เรียนจบก็คงไปทำงานแบงค์ เพราะผมเรียนไม่เก่ง ผมว่า role model สำคัญมาก ๆ
แต่ role model หายากในสังคม
(พยักหน้า) ส่วนหนึ่งคือ role model เขามีต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกับเด็กที่ยากจน role model ที่ดีที่สุดคือจะต้องเป็นเด็กยากจนที่พลิกผันเปลี่ยนชีวิต ประสบความสำเร็จ เรามีโอกาสหมดถ้าคุณพยายาม แต่มันอาจจะไม่ได้การันตีว่าคุณจะมาอยู่ในจุดของผมได้
รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่โฟกัสกับชีวิตที่เป็นความสำเร็จนอกแผน เช่น เรียนไม่จบแต่ประสบความสำเร็จ ในก้อนความคิดนี้ อาจจะพูดถึงการมองหา role model ด้วย ว่ามันมีผลต่อความคิด หรือพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
เรามักจะเห็นคนที่ประสบความสำเร็จหรือว่าผ่านการ select มาเรื่อย ๆ เพราะเขามี characteristics อย่างนี้ แสดงว่า characteristics ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แล้วก็จะมุ่งไปให้น้ำหนักกับตรงนั้นเยอะมาก เช่น เรามอง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือคนอื่นที่เรียนไม่จบ เป็นผู้ประกอบการชื่อดัง แล้วก็ไปเข้าใจผิดว่าอันนี้เป็นคาแรคเตอร์สำคัญของคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ Survivorship Bias (อคติทางความคิด เกี่ยวกับสถิติของการอยู่รอด มาจากการที่คนเรามักจะให้ความสำคัญมากเกินไปกับคนที่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์อะไรสักอย่าง เเละเเทบจะไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยกับคนที่ไม่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์นั้น ๆ) บอกว่ามีอีกหลายคนที่ไม่ได้เรียนจบ แล้วไม่ได้ประสบความสำเร็จ แล้วก็หลุดออกจากระบบไป เป็นคนที่เรามองไม่เห็น เพราะเราเห็นแต่คนประสบความสำเร็จที่เรียนไม่จบ ส่วนคนที่เรียนไม่จบและไม่ประสบความสำเร็จเราไม่เคยมอง เพราะมันไม่ได้อยู่ในสายตาของเรา
ยังมีคนที่เรียนจบและประสบความสำเร็จอีกเยอะมาก เพียงแต่ว่าสื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนพวกนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดหวังอยู่แล้ว ทางสื่อก็เลยไปให้ความสนใจกับคนที่เรียนไม่จบแต่ประสบความสำเร็จมากกว่า มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดแต่ทำได้ เลยมีผลต่อความเชื่อ
ข่าว สื่อต่าง ๆ เอาแต่สัมภาษณ์คนที่เรียนไม่สูงมาก แต่ประสบความสำเร็จมาก อันนั้นก็เป็น bias ของสื่อ อันนี้มันบิดเบือนความเข้าใจว่าอะไรเป็นหลักสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ถ้าเราดู data โดยรวมจะเห็นได้ชัดว่า คนที่เรียนจบสูง มันจะมี skill premium คือรายได้จะมากกว่าคนที่เรียนไม่จบ โดยเฉลี่ยแล้วเยอะมาก

การที่เราเห็นแต่ role model แบบนี้ มีผลต่อความคิดหรือพฤติกรรมบวกหรือลบยังไงบ้าง
การมีrole modelมันดี เรียนรู้จากเขาว่ากว่าจะถึงตรงนี้ได้เขาผ่านอะไรมาบ้าง แต่ถ้าเขาไปดู role modelที่คาแรคเตอร์ของคนเหล่านี้ที่เรียนไม่จบ เรียนไม่สูง อันนั้นก็เป็นการดึงข้อมูลผิด ๆ มาใช้กับตัวเอง นั่นคือความน่ากลัวของ Survivorship Bias
การที่คนอยากมี secret source หรือมีฮาวทูที่นอกแผนแบบนี้ คือพฤติกรรมพื้นฐานเลยหรือเปล่า หรือจริง ๆ แล้วสภาพสังคมที่เขาเติบโตมาทำให้เขารู้สึกการเติบโตหรือการสำเร็จตามขั้นตอนมันช้าจัง เอาเข้าจริงจะสำเร็จหรือเปล่ายังไม่รู้เลยในสังคมที่โอกาสไม่ได้มีเท่ากันด้วย
ส่วนตัวแล้วผมว่าทั้งสองอย่าง โดยปกติแล้วต้องการความสุขเดี๋ยวนี้ ถ้าได้เดี๋ยวนี้ ยิ่งได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ส่วนหนึ่งเราก็อยู่ในสังคมที่รู้สึกว่าจะพยายามไปทำไม เพราะอย่างที่ผมบอก ในสังคมไทย who you know สำคัญกว่า what you know ในหลาย ๆ เหตุการณ์ นั่นก็มาจากต้นทุนชีวิตด้วย พอคนเราเริ่มรู้สึกสิ้นหวังเยอะ ๆ มีความไม่เท่าเทียมกันเยอะ ๆ แล้วความไม่เท่าเทียมกันก็เป็นสิ่งที่คนรวยส่วนใหญ่ justify ในความเหลื่อมล้ำ คนรวยบอกว่าคุณจนเพราะคุณขี้เกียจ คนที่อยู่ข้างใต้ก็บอกว่ารัฐก็ไม่ได้ช่วยอะไรเยอะ คนรวยก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมาเห็นใจอะไรถ้าเกิดมีทางลัดรวยเร็ว อย่างบิตคอยน์ คริปโต ก็ยอมเสี่ยง ต้นทุนเราไม่ได้เยอะอยู่แล้ว เสี่ยงก็ดี ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกอย่างนั้น
แต่ถ้าเรากลับมาดูจริง ๆ โดยแยกความสามารถออก แยกต้นทุนชีวิตออก เอารายได้ครอบครัวตอนเด็ก ๆ ออกไป จะพบว่า การมีการศึกษาที่ดีกว่าก็ยังมีผลต่อรายได้โดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้นเราควรจะปลูปฝังกับคนให้มากขึ้นว่าถ้าคุณเรียนสูง โอกาสที่คุณจะมีรายได้ที่ดีมันสูงกว่าที่คุณไม่เรียนเลย
การไปตาม secret source เพื่อที่จะรวยเร็ว ความเสี่ยงของการติดหนี้มันสูงกว่าเยอะ แต่ทำไมคนเราถึงไม่เลือกที่จะเรียนสูงทั้ง ๆ ที่หลักฐานมันบอกว่าถ้าคุณเรียนสูง โอกาสที่จะมีรายได้ที่ดีสูงกว่าคนที่ไม่ได้เรียนเลย คำอธิบายเรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กับที่ทำไมคนถึงซื้อลอตเตอรี่ เพราะโอกาสถูกมันน้อย แต่มันมีความเป็นไปได้ที่จะรวยมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับการต้องพยายามหลาย ๆ ปีเพื่อให้ได้ ‘ความสำเร็จแน่นอน’ ที่ไม่ได้มหาศาลขนาดนั้น นั่นก็เป็น bias ของคนว่าทำไมถึงอยากรวยเร็ว
แต่ผมพูดได้นะเพราะผมเรียนมาถึงขนาดนี้แล้ว ผมว่าผมเห็นความสำเร็จจากความพยายาม จากการเรียนได้ แต่คนอื่นที่ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของชีวิต มันยังเป็นความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาก็ทำให้คนมีต้นทุนสูงกว่าคนที่ออกกลางคัน หรือการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ แล้วในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการก้าวข้ามขีดความยากจน การพยายามทำให้ทุกคนมีต้นทุนทางการศึกษาที่เท่ากัน มีวิธีไหนที่เอื้อหรือไปถึงจุดนั้นได้ยังไงบ้าง
เราก็ต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่า ที่จริงการศึกษามันมี positive externality ด้วย คือในสังคมที่คนมีการศึกษาเยอะมันจะมีการพัฒนาอย่างอื่นที่มากกว่าสังคมที่คนมีการศึกษาน้อย ผมคิดว่าถ้าคนในสังคมมีการศึกษาที่สูงขึ้น โอกาสในการลงทุนอื่น ๆ โอกาสที่จะมีการพัฒนาก็น่าจะสูงกว่า ดูอย่างสิงคโปร์ เขาไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย มีอย่างเดียวคือการศึกษา แล้วพอเขายกระดับการศึกษาของทุก ๆ คน เราเห็นได้ชัดเลยว่ามีคนอยากมาลงทุน มีหลายอย่างที่ทำให้เขาเป็นหนึ่งในประเทศรวยที่สุดในโลก ถ้าโดยรวมแล้วถ้าระดับการศึกษาของทุกคนเพิ่มขึ้น มันมีแต่ได้กับได้มากกว่า
เพราะว่าการศึกษาคือการลงทุนอย่างหนึ่ง
ถูกต้อง
ในเชิงเศรษฐศาสตร์เรามองการศึกษาคือการลงทุนอยู่แล้ว เราเสียเงินที่เราควรจะทำได้ในขณะที่เรียนอยู่ เพื่อจะทำเงินได้เยอะขึ้นในอนาคต
อาจจะไม่ต้องเป็นเด็กยากจน แต่ชนชั้นกลางก็เจ็บปวดกับทุนเหมือนกัน มีเงื่อนไขผูกมัดเยอะแยะ อาจารย์เจอคนที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขผูกมัดมากมาย ปัญหาที่ตามมาจากตรงนี้มันคืออะไรบ้าง
ส่วนหนึ่งคือเด็กก็ไม่อยากรับทุน เขารู้ว่ามันมีเงื่อนไข จริง ๆ ทุนควรฟรีให้เขา โดยความหมายคือคุณควรจะดีใจ ไม่ควรมีอะไรทำให้คุณเสียใจที่ได้ทุน เพราะมันเป็น free opportunity ให้กับคุณ
ทุนส่วนใหญ่ในเมืองนอกไม่มีเงื่อนไขนะ อาจจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราที่มีเงื่อนไข เพราะเขารู้สึกว่าพวกนี้มันไม่ใช่การลงทุนของเด็ก ต่างจากเมืองนอกที่มองว่าทุนคือ individual investment เป็นโอกาสฟรี ๆ ในชีวิตของเขา แต่กลายเป็นว่าทุนของรัฐบาลไทยหรือประเทศกำลังพัฒนา มันเป็นการลงทุนของรัฐมากกว่าการลงทุนของเด็ก ลงทุนขนาดนี้ก็ควรต้องได้รีเทิร์นกลับมา แปลว่าต้องกลับมาทำงานชดใช้
การได้รับทุนที่มีเงื่อนไข ความ suffer ส่วนหนึ่งเพราะต้องกลับมาใช้ทุนอยู่ในระบบ
สาเหตุที่คนเสียใจที่ได้รับทุนไปคือเพราะโครงสร้างหลังจากนั้นไม่ได้เป็นโครงสร้าง ระบบที่เอื้ออำนวย ให้เขา fulfill ศักยภาพของเขา คือเราให้ทุนกับเด็กเพราะเราคิดว่าคนนี้มีศักยภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าเราไปลดศักยภาพที่เขาทำได้ เราเห็นได้เยอะมากเลย คนไทยเก่งกว่าผมเยอะแยะ เป็นพันเป็นหมื่น แต่ทำไมผม shine อยู่ตรงนี้ได้ เพราะผมไม่ได้รับทุน ไม่มีอะไรบั่นทอนศักยภาพของผม แต่คนที่เก่งหลายคน รับทุนไปก็ไปเป็นอาจารย์ มันมีอะไรในระบบทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย ท้อ ไม่มีโอกาส
ทุนต่างประเทศที่ไม่มีเงื่อนไข มีอะไรบ้าง
ทุนปริญญาเอกเกือบทุกที่เลย ผมก็เพิ่งได้ทุนจากสิงคโปร์มา ที่จะไปจ้างเด็กมาทำงานกับผมได้ คือทุนจ่ายเงินให้ฟรีมาทำงาน แล้วเขาก็ไปเพิ่มโอกาสของตัวเขาเองในอนาคต เป็นทุนเปิดโอกาสชีวิตของเขา ถ้าเขาอยากจะได้

สุดท้าย “เราใช้เงินซื้อการศึกษาได้” สำหรับอาจารย์ยังคงเป็นความจริงอยู่ไหม
อยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีเอกชนที่รู้ว่าเราสามารถหากำไรตรงนี้ได้ เช่น โรงเรียนนานาชาติต่าง ๆ นานา ที่เก็บค่าเรียนแพง ๆ เพราะเขารู้ว่ามีดีมานด์ โอกาสชีวิตหลังจากโรงเรียนนี้กับโรงเรียนที่ไม่ได้ดีเท่า ก็แตกต่างกันมาก
โดยอุดมคติเราต้องการที่จะให้การศึกษาเท่าเทียมกัน คุณภาพเท่าเทียมกัน ผมเคยถามคนที่มีลูกว่า สมมติโรงเรียนไทยมีทุกอย่างที่รร.นานาชาติมี แต่ไม่มีฝรั่งเลย เขาจะยังส่งเรียนรร.ฝรั่งมั้ย เขาบอกก็คงยังส่งอยู่ นั่นคือค่านิยมของเมืองไทยเหมือนกัน มีหลายปัจจัยมากที่ทำให้รู้สึกว่าคนเราอยากจ่ายเงินซื้อการศึกษา ซึ่งผมเข้าใจนะ แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าเกิดมีความเท่าเทียมจริง ๆ อย่างสแกนดิเนเวีย หลายคนก็คงอยากให้สังคมเป็นแบบนั้นมากกว่า
เอื้อเฟื้อภาพ : The Potential