ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้โจทย์ ‘พื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของวาระแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกัน’ บนเวทีระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน เวทีภาคกลาง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ระบุว่า พื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ จึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากที่สุดเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในเขต กทม. และทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ได้พยายามบริหารจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องจนมีผลลัพธ์ที่โดดเด่นในการแก้ปัญหาหลายด้าน
“ที่ผ่านมา กสศ. มีภารกิจหลักสองเรื่องสำคัญ คือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มและดำเนินมา เป็นความพยายามแก้ปัญหาโดยพุ่งเป้าไปที่การสร้างโอกาสสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเชื่อมกลไกการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นตัวแบบการทำงานที่ครอบคลุมลักษณะปัญหาที่หลากหลาย อาทิ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ห่างไกล ได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพจากสถาบันผลิตครูต้นแบบ เพื่อเป็นครูรุ่นใหม่ที่พร้อมกลับไปพัฒนาโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ของตนเอง เป็นการตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนครูและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ซึ่งปัจจุบันผลิตมาแล้ว 5 รุ่น
“หรือโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่เปิดโอกาสสำหรับเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีศักยภาพ ให้ได้ศึกษาต่อในการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังมีโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ผลักดันให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เข้าใจบริบทปัญหา เป็นผู้ผลิตและพัฒนาทักษะแรงงาน จนเกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้และเป็นต้นทางของแนวทางสร้างอาชีพที่มีชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นฐาน
“นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก เช่นการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ฯ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาหรือพัฒนาทักษะ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจ ในการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางการประกอบอาชีพตามความสนใจและความถนัด สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตต่อไป
กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กิจกรรมของ กสศ. ในช่วง 3 ปีแรก คือการเรียนรู้อย่างเป็นระบบผ่านการทำงานบนฐานข้อมูลบนพื้นฐานของความพยายามทำความเข้าใจกับปัญหา ข้อจำกัดและต้นทุนทรัพยากร รวมถึงความจำเป็นเฉพาะของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การทำงานดำเนินไปได้ตรงกับจุดประสงค์ของแต่ละภารกิจ กสศ. จำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากภาคีทุกฝ่าย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ซึ่งยังเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเชื่อว่าการได้รับฟังประสบการณ์จากคนที่ทำงานจริงอยู่ในพื้นที่ จะยิ่งช่วยเปิดความคิด ขัดเกลามุมมองให้แหลมคม และทำให้การทำงานร่วมกันในภาพใหญ่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ความร่วมมือที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าหลายฝ่ายมีความตั้งใจเดียวกัน ว่าเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยพยายามพุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่ขาดแคลนและด้อยโอกาสสุด 15% ล่างของประเทศ ด้วยโจทย์ดังกล่าวนี้เอง งานของ กสศ. และภาคีทุกฝ่ายจึงเป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งทำให้เราต้องการมุมมองและแนวคิดการทำงานที่หลากหลาย ต้องการคนที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ ต้องการคนที่ตกผลึกความคิดจากการลงมือปฏิบัติงานจริงที่สามารถคลี่คลายประเด็นและแนวทางที่ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ กำลังประสบ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ในภาคกลาง ซึ่งยิ่งมีรูปแบบปัญหาที่ซับซ้อนหลากหลายและมีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากพื้นที่อื่น กสศ. จึงยิ่งต้องการพลังและแนวทางจากทุกภาคส่วนอีกมาก
“เพราะเราเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอที่ได้รับฟังจากทุกฝ่ายจะสามารถสร้างกลไกในการปฏิรูปการศึกษา ที่จะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ และ ‘คานงัด’ ในการลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับทุกพื้นที่ในประเทศไทยในอนาคต”