ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการเชิญชวนภาคีเข้ามามีส่วนร่วมในงาน ‘ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน’ เวทีภาคกลาง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566
ดร.ไกรยส ระบุว่า กสศ. เป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่มีพนักงานประมาณ 100 คนและไม่มีสาขาการทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้นในภารกิจของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ครอบคลุมการดูแลประชากรทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กปฐมวัยถึงการศึกษาภาคบังคับ จนถึงเยาวชนนอกระบบการศึกษา กลุ่มวัยแรงงาน และประชากรกลุ่มเปราะบาง ภายใต้โจทย์การทำงานที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงความเสมอภาคทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องร่วมมือกับเครือข่ายการทำงานทุกระดับ
“เป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนและประชากรกลุ่มเป้าหมายซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์และเข้าไม่ถึงโอกาสที่สุดร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ โดยข้อมูลปัจจุบันชี้ว่า มีเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาราว 2.5 ล้านคนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
“ด้วยจำนวนกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากกับภารกิจงานของหน่วยงานขนาดเล็ก ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 1.5 จากงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมดของประเทศ กสศ. จึงวางบทบาทการทำงานโดยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อระดมทรัพยากรและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ ส่งเสริมสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของวาระความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทวีคูณ (Multiplier Effects)
“ด้วยงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน กลไกที่เชื่อมโยงกันไว้ด้วยองค์ความรู้ ข้อมูลงานวิจัย นวัตกรรมด้านการศึกษาจาก กสศ. และพลังจากภาคี ไม่ว่าครู ผู้บริหารศึกษา รวมถึงเครือข่ายท้องถิ่น ทำให้เราสามารถสร้างแรงกระเพื่อม (High Impact) ไปถึงภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และสื่อสารมวลชน จนสามารถสร้างและกำหนดเป้าหมายเชิงพื้นที่ ที่กลุ่มเป้าหมายทุกระดับสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ บนฐานความหลากหลายของการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ และแต่ละกลุ่มปัญหา
“หลักการทำงานที่สำคัญของ กสศ. และภาคีในพื้นที่ จึงเป็นการสร้าง ‘ตัวแบบ’ ที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการชี้ ‘จุดคานงัด’ โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดผลสูงสุด รวมถึงการค้นหา ‘ผู้เปลี่ยนเกม’ (Game Changers) เพื่อประสานต่อการทำงานร่วมกับภาคี จนเกิดแนวทางการผสานองค์ความรู้แบบสหวิชาการที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทั้งในพื้นที่และขยายผลสู่วงกว้าง
“ปัจจัยสำคัญของการกำหนดจุดคานงัด คือเราต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และต้องหาต้นตอของความเหลื่อมล้ำให้พบ
ก่อนจะคิดหาวิธีจัดการกับปัญหาที่แตกต่างด้วยรูปแบบและปริมาณ ดังนั้นการจะทำให้เกิดขึ้นได้ เราจึงต้องการการมีส่วนร่วมของภาคี ในการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานและข้อมูลในพื้นที่ เพื่อช่วยให้เราทราบถึง ‘น้ำหนักของปัญหา’ และ ‘แรงที่มี’ และแน่นอนว่าการจะกดไปที่จุดคานงัดนั้นจำเป็นต้องใช้พลังที่มากกว่าคนคนเดียว หรือองค์กรใดเพียงองค์กรเดียว และต้องเลือกประเด็นที่เราจะสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อตอบสนองโจทก์การทำงานที่ซับซ้อน รวมถึงต้องช่วยกันสำรวจว่ายังมีประเด็นใดที่ถูกมองข้าม
“เวทีระดมความเห็นที่ กสศ. ชวนภาคีทุกฝ่ายมาร่วมกำหนดภาพของความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งนี้ เรามีโจทย์ที่การมองไปยัง ‘ฉากทัศน์’ (Scenario) หรือภาพจำลองอนาคตที่ทุกท่านอยากเห็นในปี พ.ศ. 2570 ว่าเราจะสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาอย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนและประชาชนทุกคนเข้าถึงเรียนรู้ได้ ด้วยการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นมีทางเลือก ไม่ว่าหลักสูตร การประเมินผล และสามารถทลายกรอบจำกัดของวาทกรรม ‘การศึกษาในระบบและนอกระบบ’ ให้หมดไป โดยการจะทำให้การศึกษาเดินทางไปถึงผู้เรียนได้มากขึ้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยการ ‘กระจายความเป็นเจ้าของ’ ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถช่วยกันทำงานผ่านกลไกและกระบวนการที่เป็นระบบ มีฐานข้อมูลและการติดตามดูแลที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน
“การสร้างหลักประกันโอกาสที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งได้เรียน หรือพัฒนาจนสุดทางตามศักยภาพตามความถนัดและความสนใจ เพื่อพาไปสู่เส้นทางการมีงานทำและเลี้ยงดูตัวเองได้ คือฉากทัศน์ที่เป็นคำถามตั้งต้น ว่าเราจะทำให้เกิดเป็นภาพความจริงได้หรือไม่ไม่ในปี พ.ศ. 2570 และวันนี้ พู่กัน ถาดสี และไอเดียนั้นอยู่ในมือของทุกท่านแล้ว
“ตลอดเวลาที่ผ่านมายังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่หลุดจากระบบการศึกษาและเข้าไม่ถึงการพัฒนาตนเอง งานที่เราทำร่วมกันจึงมีเป้าหมายในการป้องกันการหลุดออกจากระบบ โดยวางเส้นทางที่ต่อเนื่องเชื่อมกันนับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงวัยทำงาน ทั้งต้องตระว่าความยากจนด้อยโอกาสเป็นอุปสรรคสำคัญ ถ้าเราปล่อยให้เด็กมีวุฒิแค่ ป.6 รายได้เฉลี่ยสูงสุดของเขาจะอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท จบ ม.ต้นที่ราว 10,000 จบ ม.ปลายหรือ ปวช. ที่ราว 13,000 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ประชากรไทยอยู่ที่ 20,000 บาท ส่วนเป้าหมายของประเทศในการหลุดจากกับดักประเทศปานกลาง เป็นประเทศรายได้สูง จะต้องทำให้รายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศอยู่ที่ 38,000 บาทต่อเดือน จึงหมายถึงช่องว่างอีกร้อยละ 40 ที่เราต้องช่วยกันพาไปให้ถึง
“ที่ผ่านมา กสศ. และภาคี พยายามทำงานลดความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบว่ามีเด็กยากจนสะสมเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคน ในช่วงปี 2563 ถึง 2565 ในจำนวนนี้มีเด็กเยาวชนกว่า 1.9 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเกิดขึ้นของปัญหา ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ (learning loss) และนอกจากนี้ ผลจากการแพร่ระบาดยังทำให้เด็กติดโควิดประมาณ 700,000 คน มีเด็กกลุ่มหนึ่งต้องสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครอง หลายครอบครัวต้องประสบปัญหารายได้ต่อครัวเรือนลดลง ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
“ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่หดตัวลง ทำให้เด็กเยาวชนอีกจำนวนมากยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบ เรามีข้อมูลจากการเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของครูและคณะทำงานกว่า 400,000 คน ที่ทำให้ทราบว่ามีเด็กในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสร้อยละ 41 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ บางคนไม่รู้กระทั่งว่าพ่อแม่เป็นใคร น้อง ๆ เหล่านี้อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน หรือมีเยาวชนวัย 14- 15 ปีมากมาย ที่ต้องรับสภาพกลางวันไปเรียนกลางคืนออกไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินไปเรียน ซึ่งเราเชื่อว่าอีกไม่นานพวกเขาจะแบกภาระไว้ไม่ไหว และตัดสินใจออกจากโรงเรียน หรือมีผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตที่พบว่ามีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของตัวอย่าง จากปัญหาละเอียดอ่อนต่าง ๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยที่ทำให้เราทราบว่าการแก้ปัญหาด้านการศึกษา จะมองเพียงมิติด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้”
ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า ณ วันนี้ เด็กเยาวชนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยร้อยละ 15-20 ล่างสุดของประเทศ มีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าเพียงร้อยละ 5 ต่อรุ่น เป็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต่างกันถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของครอบครัวที่มีฐานะดีกว่า
ทั้งนี้เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้ศึกษาต่อร้อยละ 70 ได้กลายเป็นแรงงานนอกระบบ มีวุฒิการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยมต้น เป็นแรงงานไร้ฝีมือรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคนต่อไป นอกจากนี้ยังมีอัตราเพิ่มขึ้นของกลุ่มเยาวชนว่างงานนอกระบบ หรือ ‘NEET’ ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาและการฝึกอบรมใด ๆ (not in education all employment or training) โดยปัจจุบันมีอยู่ราว 1.39 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของเยาวชนทั้งประเทศในวัยเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือตัวเลขเด็กกลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้นร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลงร้อยละ 1.2 ต่อปี
“เรายังพบปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่อหัวแพงกว่าโรงเรียนใหญ่ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อหัวเท่ากัน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สาธารณูปโภค ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 1,155 แห่ง ครอบคลุมการดูแลเด็กเยาวชนเกือบ 1 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพขาดแคลนครูด้วยสาเหตุการโยกย้ายบ่อยและไม่มีครูมาบรรจุแทน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นไม่สอดคล้องกับโจทย์ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วนิยามของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ได้วัดที่ปัจจัยนำเข้าว่าเด็กทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่หมายถึงการทำให้เด็กเยาวชนในกลุ่มที่ด้อยโอกาสที่สุด ได้รับการสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากรได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น และทั้งหมดนี้คือข้อมูลทางวิชาการจาก กสศ. ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ในการวาดฉากทัศน์ที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในสามปีข้างหน้า หรือปี 2570 ว่าอะไรจะเป็นจุดคานงัดที่ทุกคนจะร่วมกันทำได้ องค์กรใดจะมีบทบาทในการทำงานส่วนต่าง ๆ หรืออะไรคือองค์ความรู้และข้อมูลที่จำเป็น แล้วเราจะวัดความสำเร็จจากงานที่ทำร่วมกันได้อย่างไร