“เหมือนระบบการศึกษาบังคับให้ครูต้องไปต่อสู้ ต้องแข่งกันเขียนโครงการนำเสนอ เพื่อแย่งชิงไขว่คว้างบประมาณที่มีอยู่น้อยนิด ทั้งที่ครูเองต่างรู้กันว่า ไม่ว่าโครงการผ่านได้งบเพิ่ม หรือจะโดนปัดตกไม่ได้รับพิจารณา สุดท้ายแล้วงบสำหรับโรงเรียนเล็ก ๆ ก็ไม่มีทางพออยู่ดี”
‘ครูเอ๋’ ดนยา ไชยน้ำอ้อม จากโรงเรียนบ้านกองม่องทะ สาขาบ้านสาละวะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เผยความรู้สึกต่อคำถามที่ว่า ครูต้องใช้ความพยายามแค่ไหน เพื่อจะมีทรัพยากรเพียงพอต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล
วันนี้ครูเอ๋เดินทางมาที่โรงเรียนซองกาเรีย ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี พร้อมนำงบประมาณจากเงินบริจาค กับเงินสมทบส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง มาจัดหาอุปกรณ์การเรียนและสิ่งของจำเป็นในงาน ‘ถนนครูเดิน’ ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิกระจกเงา จัดขึ้นเพื่อเป็น ‘ตลาดสื่อการศึกษา’ สำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดกาญจนบุรี
“จากบ้านสาละวะมาที่โรงเรียนซองกาเรียห่างกัน 45 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะเป็นถนนลาดชันลงจากเขาสูง หลายจุดชัน เป็นหลุมบ่อ ขับค่อนข้างยาก ถ้าไม่ใช้รถโฟร์วีลก็แทบไม่มีทางมาได้” ครูเอ๋บรรยายเส้นทางที่ผ่าน
ครูเอ๋เคยสอนในโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ประจำอำเภอ มีนักเรียนราว 2,000 คน ก่อนขอย้ายมาประจำที่โรงเรียนสาขา ซึ่งมีนักเรียน 105 คน ในชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6 กับครูอีก 8 คน จึงเข้าใจความแตกต่างระหว่างโรงเรียนสองขนาดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านงบประมาณการศึกษาที่ครูบอกว่าเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายหัวตามจำนวนนักเรียน เป็นปัจจัยสำคัญที่ยิ่งถ่างขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
“ที่เห็นชัดคือโรงเรียนขนาดใหญ่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งการเดินทาง ทรัพยากร และงบประมาณ ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและมีจำนวนนักเรียนน้อย โอกาสเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ของเด็กก็ยิ่งลดลงตามระยะทาง
“ตอนนั้นเราคิดว่าบางทีอาจทำประโยชน์ได้มากกว่า ถ้าลองไปอยู่ในโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ขาดแคลน พอไปอยู่ตรงนั้นเรายิ่งเข้าใจ ว่าความเหลื่อมล้ำจะไม่มีทางดีขึ้นได้ ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องเกณฑ์จัดสรรเงินอุดหนุนที่ยังคิดตามจำนวนนักเรียน หมายถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนเยอะ งบก็เยอะตาม การทำแผนของบประมาณ เบิกพัสดุ ขอใช้อุปกรณ์ หรือส่งครูไปอบรมพัฒนาศักยภาพ เราทำได้ทั้งหมด แต่พอเป็นโรงเรียนไซซ์เล็กมีเด็กร้อยกว่าคน ก็แทบไม่มีงบอะไรเลย ห้องเรียนไม่พอ อาคารทรุดโทรม เด็กต้องใช้อุปกรณ์การเรียนหรืออุปกรณ์กีฬาเก่า ๆ บางครั้งครูต้องช่วยกันเจียดเงินหามาเติมให้ หรือเวลาครูจะไปอบรม ไปประชุมนอกพื้นที่ ผอ. กับครูต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
“…สำหรับเราเอง วันนี้ยังพอพูดได้อยู่ว่า ‘ไม่เป็นไร’ แต่มันก็สะท้อนว่าเมื่อช่องว่างของโรงเรียนแตกต่างกันขนาดนี้ เราจะหวังให้เด็กพัฒนาศักยภาพทัดเทียมกันได้อย่างไร”
นอกจากงานสอนและดูแลเด็ก การเป็นครูโรงเรียนสาขายังทำให้ครูเอ๋ได้ช่วยโรงเรียนเรื่องระดมทุน จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงอาหารแห้งและสิ่งจำเป็นในชีวิตให้กับครอบครัวของเด็ก ๆ ด้วย โดยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่เข้ามาช่วยเติมเต็มล้วนมาจากภายนอก ซึ่งแน่นอนว่าที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีสมาคมผู้ปกครอง จึงเป็นภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาด้วยใจและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อช่วยให้โรงเรียนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้
“ปัญหาใหญ่คืออุปกรณ์การเรียนขาดแคลนและหายากมาก ส่วนใหญ่ต้องรอคนภายนอกหรือภาคเอกชนมาบริจาค เขาจะถามมาว่าเราขาดอะไร อยากได้อะไร เราก็แจ้งไป เขาก็จัดส่งมาให้ หรือบ้างก็สนับสนุนมาเป็นเงินให้เราจัดสรรเอง อย่างที่เรามางานวันนี้ก็เพื่อหาซื้อของ ปกติบางศุกร์สอนเสร็จ เราก็ลงมาในเมือง หาเสื้อผ้า หาอะไรขึ้นไปให้เด็ก ทำกันไปตามงบที่ได้”
แม้เป็นงานยากและต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างที่สุด หากครูเอ๋ยังเชื่อมั่นว่า การนำการศึกษาคุณภาพเข้าไปให้เด็ก ๆ คือหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพื่อให้คนรุ่นถัดไปมีหนทาง มีโอกาสมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ แนวทางหนึ่งของโรงเรียนจึงเป็นการเสริมทักษะและเปิดประสบการณ์อาชีพ ทั้งสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรสมัยใหม่ ผลักดันงานหัตถกรรมอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้มีช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ด้วยเชื่อว่ายิ่งโรงเรียนบ่มเพาะขัดเกลาเด็กตั้งแต่ยังเล็กมากเท่าไร อนาคตของชุมชนก็จะยิ่งเติบโตเข้มแข็งและทันต่อความเป็นไปของโลกภายนอกได้มากเท่านั้น
ครูเอ๋กล่าวว่า ที่ชุมชนสาละวะ ผู้คนยังใช้ชีวิตตามวิถีชาวบ้านดั้งเดิม พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่แทบไม่มีการศึกษา ถ้าจะหวังให้มีการดูแลเรื่องการศึกษาจากครอบครัวจึงเป็นไปไม่ได้เลย ภาระด้านการเรียนรู้ถือว่าอยู่ที่ครู 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นช่วงเช้าถึงเย็นที่เด็กอยู่โรงเรียน ครูต้องช่วยให้เด็กกอบโกยความรู้ให้มากที่สุด ส่วนเมื่อเด็กจบแล้วจะผลักดันให้เรียนต่อทุกคน โดยมีโรงเรียนบ้านกองม่องทะสาขาแม่ที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสถึง ม.3 รองรับ ครูกับ ผอ. ต่างช่วยกันหาทางระดมทุนเต็มที่ มีเรือนพักนอนและดูแลค่าใช้จ่ายให้หมด พอจบ ม.3 ก็ดันต่อไปที่โรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานระหว่างโรงเรียน โดยทุกฝ่ายคิดตรงกันว่าต้องให้เด็กได้เรียนต่อสูงที่สุดตามศักยภาพ
“มีเด็กส่วนหนึ่งที่รอดไปได้ และกลุ่มที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็หลุดไปบ้างระหว่างทาง เมื่อเราดันเด็กไปถึงจุดหนึ่ง เขาจะเริ่มอยากไปต่อด้วยตัวเอง เรียนรู้ว่าต้องหาทางดิ้นรนต่อไปยังไง เราเป็นครู ทำได้มากที่สุดคือต้องเติมเชื้อไฟความฝัน หาช่องทางให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น อย่างตอนนี้มีหน่วยงานที่สนใจมาช่วยกัน มีทุน กสศ. มีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำให้รุ่นน้องได้เห็นรุ่นพี่ไปเรียน แล้วเขาก็มีความหวัง โรงเรียนก็ต้องทำหน้าที่สื่อสารผู้ปกครองให้เข้าใจ เพราะแทบทุกบ้านไม่อยากให้เด็กไปเรียน เขาอยากได้เพียงแรงงานไปช่วยทำงานเร็ว ๆ เราก็ต้องไปคุยให้เข้าใจ ว่าการเรียนจะทำให้เด็กมีโอกาสมากกว่า คืออย่างน้อยเขาไม่มีเงินส่งลูกเรียน แต่ถ้าครูหาทุนให้ได้ มีค่าเทอมค่ายังชีพ ได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาก็ควรให้เด็กได้ออกไปมีทางเลือกในชีวิต
“ประโยคที่ได้ยินบ่อยคือ ถ้าลูกไปเรียนแล้วใครจะทำงานเลี้ยงครอบครัว คือเขาหวังให้ลูกทำงานเลี้ยงครอบครัวให้เร็วที่สุด จบ ป.6 จบ ม.3 เขาพอแล้ว มันก็เลยเป็นวงจรของการทำงานอยู่แถวบ้าน และคอยเลี้ยงน้องเป็นรุ่น ๆ ต่อไป หลายครั้งเลยรู้สึกเหมือนอกหัก ที่เราพยายามหาทุนให้จนได้ แต่พ่อแม่เด็กไม่เห็นความสำคัญเลย ไม่ยอมส่งลูกไปเรียนด้วยซ้ำ จนสุดท้ายเขาเอาลูกไปทำงาน เราก็ทำอะไรไม่ได้”
บ่ายแก่ฟ้าครึ้ม ก่อนฝนเตรียมเทลงมา แล้วเมื่อนั้นเส้นทางกลับไปยังโรงเรียนก็จะยิ่งอันตรายขึ้น ครูเอ๋ได้ทิ้งท้ายกับเราว่า “เกณฑ์จัดสรรงบประมาณถือเป็นประเด็นเชิงนโยบาย ซึ่งผู้บริหารประเทศหรือกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหาทางปรับเปลี่ยน เราเป็นครูผู้ปฏิบัติหน้าที่ใต้เกณฑ์กำกับของรัฐ ก็ได้แค่ทำงานของเราไป แล้วรอคอยว่าวันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้น”
หากถามถึงความรู้สึกเบื้องลึก ในฐานะครูโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลคนหนึ่ง ครูเอ๋สะท้อนว่า “ปัญหาที่ชัดที่สุดที่ต้องเจอคือเรื่องการเดินทางออกนอกพื้นที่ ไม่ว่าไปประชุม ไปอบรมอะไรต่าง ๆ เราต้องขับรถลงไปเอง หาที่พักเอง หลายครั้งใช้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเองทั้งหมด ทีนี้พอได้เห็นได้รับรู้ว่าครูจากโรงเรียนในตัวอำเภอหรือครูจากที่อื่น ๆ เขาสะดวกกว่า พร้อมกว่า มันก็มีแอบคิดบ้าง ว่าทำไมโรงเรียนขนาดใหญ่ อยู่ในเมือง และมีเด็กเยอะ ๆ เขาถึงดูแลกันดีจัง ขณะที่เราไปอยู่ไกล ๆ ก็อยากได้รับการดูแลบ้าง เพราะเราเองก็เป็นครูเหมือนกัน แล้วก็สอนเด็กนักเรียนในระดับชั้นเดียวกันด้วย”
เรื่องราวจากครูตัวเล็ก ๆ ผู้เป็นตัวแทนครูโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ชวนให้ย้อนกลับมามองและตระหนักร่วมกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่ครูและโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้จะได้รับความสำคัญ มองเห็นปัญหา และผลักดันสู่วาระการ ‘ปฏิรูปงบแก้เหลื่อมล้ำ’ เพื่อโอกาสทางการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตของคุณครู และเพื่อจะช่วยเปิดกว้างให้เส้นทางชีวิตของเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ มีทางเลือกมากขึ้น