8 สิงหาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ภาพอนาคตการพลิกโฉมการศึกษาไทยเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ภายใต้การประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 17 โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ก่อนเริ่มเสวนาอย่างเป็นทางการ ดร.รังสรรค์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังเสวนาได้แสดงความคิดเห็นต่อการวิจัยเพื่อการศึกษา โดยมีคำถามว่า “ท่านคิดว่าการวิจัยมีส่วนสำคัญในการทำให้นโยบายการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงไร” กว่า 58.7 เปอร์เซ็นต์ของคำตอบ เห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
คำถามที่สองคือ “จากประสบการณ์ของท่านนั้น อะไรถือเป็นอุปสรรคในงานด้านนโยบายการศึกษาในการนำข้อมูลงานวิจัยมาเป็นส่วนประกอบ” ซึ่งคำตอบค่อนข้างหลากหลาย แต่ตัวเลือก ‘การขาดงบประมาณที่จะสนับสนุนงานวิจัยใหม่ ๆ’ และ ‘ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และมีคุณภาพ’ เป็นตัวเลือกที่มีผู้เลือกมากที่สุดในจำนวนเท่า ๆ กัน
คำถามถัดมา “ท่านเห็นด้วยกับการที่นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายจะเอาผลการวิจัยเหล่านี้ไปบูรณาการกับการกำหนดนโยบายในเรื่องต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด” โดยมีตัวเลือกทั้งหมด ได้แก่ ‘การจัดให้มีโต๊ะกลมผู้กำหนดนโยบายเสมอ ๆ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้’ ‘มีโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย’ ‘มีการสร้างช่องทางการสื่อสารอย่างชัดเจนระหว่างผู้วิจัยและผู้กำหนดนโยบาย’ ‘สร้างแรงจูงใจที่จะช่วยให้นักวิจัยจัดลำดับความสำคัญ’ ‘สร้างแรงจูงใจให้ผู้กำหนดนโยบายนำเอาการวิจัยมาใช้ในการตัดสินใจ’ ผลสำรวจส่วนใหญ่เลือกว่า ‘เห็นด้วยมากที่สุด’ ในทุกตัวเลือก
ต่อมา “ท่านเห็นว่านักการศึกษา ผู้บริหาร จะสามารถมีส่วนในกระบวนการวิจัยและให้ข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบายการศึกษาในกระบวนการต่อไปนี้ได้มากน้อยเพียงไร” ซึ่งคนส่วนใหญ่ตอบว่า ‘มากที่สุด’ ในทุกตัวเลือกเช่นเดียวกัน ได้แก่ ‘มีส่วนร่วมในการวิจัยและในการสำรวจ’ ‘ให้ข้อมูลย้อนกลับและข้อเท็จจริงที่ทราบแก่ผู้วิจัย’ ‘เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับนักวิจัย’ ‘รับเอาแนวคิดการสอนบนฐานงานวิจัย แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ ตลอดจนกรณีศึกษา’ ‘มีส่วนร่วมในเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้’
คำถามสุดท้าย “ในความเห็นของท่าน เรื่องใดในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่ต้องการวิจัยมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้” จากผลสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่เรื่อง ‘การออกแบบหลักสูตรและนวัตกรรม’ มาเป็นอันดับแรก 31.3 เปอร์เซ็นต์
รศ.ดร.พร้อมพิไล กล่าวว่า จากผลสำรวจทำให้เห็นว่า ผู้ที่ร่วมตอบคำถามตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้งานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเป็นอย่างมาก ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างมีทิศทาง เพราะการกำหนดนโยบายจำเป็นต้องอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ลงทุนไปนั้นถูกทางแล้ว
ในบริบทของประเทศไทยมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด และลงไปไม่ถึงในทุกภาคส่วน ซึ่งผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการสร้างพื้นที่หรือเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนโยบายกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ
มิติเวลาของงานวิจัย มองอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปัญหาในงานวิจัยของไทยคือ ‘ปัญหาวันนี้ วิจัยวันหน้า’ เมื่อวิจัยเสร็จ ปัญหาก็เปลี่ยนไปแล้ว และการวิจัยแต่ละแบบมีมิติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในแง่ของมิติเวลา กล่าวคือ งานวิจัยนั้นจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่า 1) เป็นการมองอดีตเพื่อเอามาใช้ในปัจจุบัน 2) มองปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้น และ 3) มองเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคต ซึ่งทั้งสามรูปแบบมีบทบาทแตกต่างกัน หากงานวิจัยให้น้ำหนักกับอดีตมากเกินไปจะทำให้ลืมปัจจุบัน หากมองแค่ปัจจุบันก็จะไม่เรียนรู้ปัญหาในอดีต และหากไม่มองไปถึงอนาคตก็จะไม่สามารถเตรียมความพร้อมขององค์ความรู้ได้ ดังนั้นการสร้างสมดุลในการวิจัยโดยใช้เวลาเป็นตัวตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนแรก
ส่วนที่สอง การสร้างกรอบความคิดเพื่อการทำวิจัยในหัวข้อต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและการทดลองใช้จริง แต่สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยของไทยยังมีค่อนข้างน้อยคือ ‘research for saying goodbye’ เพื่อจะรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ควรเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก เช่น เรามีความจำเป็นให้เด็กต้องเรียนทั้งวันหรือไม่ ถ้ามีการพิสูจน์แล้วว่าการเรียนแค่ครึ่งวันได้ผล การทำวิจัยเป็นเหมือนการสะสมตะกอนความรู้ของแม่น้ำสายหนึ่ง ถ้าไม่รู้ว่าอะไรที่ควรทิ้ง วันหนึ่งแม่น้ำสายนี้ก็จะตื้นเขิน และงานวิจัยจะไม่เกิดการขับเคลื่อน
ในมุมมองของ ดร.ไกรยส เห็นว่าแนวโน้มที่ปฏิเสธไม่ได้ในระดับนานาชาติคือ การกำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้เสียภาษีมั่นใจได้ว่า การทำนโยบายจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยแท้จริง และมีการบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอจะทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน
“การเลือกตั้งที่ผ่านมาสังเกตได้เลยว่ามีการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเยอะมาก มีทีมงานวิชาการของพรรคการเมืองต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาหาเราเพื่อที่จะเอาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ไปทำนโยบาย ต้องมีข้อมูลรองรับ ต้องมีผลการประเมินว่าใช้ได้จริง และอาจมีการทดลองนำร่องในบางพื้นที่ของประเทศไทย”
ดังนั้นเมื่อกระบวนการกำหนดนโยบายมีแนวโน้มการใช้ข้อมูลการวิจัยที่มากขึ้น ภาควิชาการจะต้องก้าวขึ้นมาเพื่อนำเสนอหลักฐานหรืองานวิจัยด้านการศึกษา และผลักดันไปสู่การกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต
การสื่อสารข้อมูลเชิงประจักษ์ จากนักวิจัยถึงผู้กำหนดนโยบา
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า เมื่อนักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยแล้ว ไม่เพียงต้องทำวิจัยให้สำเร็จลุล่วงเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึง ‘communication package’ เพื่อสื่อสารไปยังสังคมในวงกว้าง เช่น การขับเคลื่อนผ่านพลังชุมชนและสังคม ซึ่งจะต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ผ่านภาคประชาสังคม หน่วยงานของรัฐ หรือภาคธุรกิจ
รศ.ดร.พร้อมพิไล กล่าวต่อในประเด็นเดียวกันว่า การสื่อสารงานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย จำเป็นต้องอาศัย ‘มืออาชีพ’ ในการทำงานสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย ในส่วนของการทำวิจัยร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติงานจริง สิ่งสำคัญคือต้องพูดคุยให้เข้าใจเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นการสื่อสารในระหว่างกระบวนการทำงาน อย่างไรก็ตาม การสื่อสารกับคนแต่ละกลุ่มจะต้องมีวิธีในการย่อยข้อมูลงานวิจัยให้กระชับและสื่อสารออกไป ซึ่งเป็นทักษะที่อาจารย์และนักวิจัยควรได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน เพื่อส่งต่อข้อมูลสำคัญให้ผู้กำหนดนโยบายตอบรับและสามารถนำไปใช้ต่อได้
นอกจากนี้ รศ.ดร.พร้อมพิไล กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในระดับโลกได้เปิดให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการศึกษาของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งวิธีการสื่อสารจะต้องเหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่มด้วย
ดร.ไกรยส ในฐานะตัวแทนหน่วยงานที่ขับเคลื่อนประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มองว่าหัวใจหลักคือเด็ก เยาวชน คุณครู และโรงเรียน ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ กสศ. ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นหลักฐานจากหน้างานจริง การทำงานของ กสศ. จะต้องทราบปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจึงจะกำหนดทิศทางการทำงานได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่านโยบายและงานวิจัยที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาไม่ใช่งานทางด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างงานวิชาการด้านสุขภาพ จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ เศรษฐศาสตร์ และงานวิชาการอีกหลากหลายด้าน
“เมื่อต้องสื่อสารพูดคุยกับกลุ่มผู้กำหนดนโยบายอย่างนักการเมืองหรือพรรคการเมืองต่าง ๆ เราจะเริ่มต้นด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ก่อน และพยายามศึกษาข้อมูลที่ลึกลงไปในระดับพื้นที่ เวลาไปสภาหรือต้องไปพูดคุยกับ สส. จากจังหวัดไหน เราก็จะเตรียมข้อมูลของจังหวัดนั้นไปให้เขาดูเพื่อให้เข้าใจบริบท” ดร.ไกรยส กล่าวถึงวิธีสื่อสารโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์
ผู้จัดการ กสศ. เล่าด้วยว่า ทุกครั้งที่ กสศ. ลงพื้นที่ก็จะนำเอาเรื่องราวสภาพปัญหา และแนวทางแก้ไขไปสื่อสารให้ผู้กำหนดนโยบายฟัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา และนำข้อเสนอข้อมูลที่ตรงจุด หลังจากนั้นจะเป็นการหาแนวทางว่าจะร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ต้องมีเครื่องมืออะไร หน่วยงานไหนเกี่ยวข้องบ้าง จะสามารถบูรณาการหลายหน่วยงานเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้คือการนำงานวิชาการไปสู่การกำหนดนโยบายได้จริง
ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า กสศ. ลงทุนเรื่องข้อมูล และลงทุนกับการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ เพราะเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น คนในพื้นที่จะรู้ดีที่สุด ดังนั้นก่อนที่จะทำข้อเสนออะไรก็จะพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพื้นที่ก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการตัดสินใจอย่างดีที่สุดเช่นเดียวกัน
สร้างเครือข่ายการทำงาน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิด
ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนในระดับบัณฑิตศึกษา รศ.ดร.พร้อมพิไล พบว่า งานวิจัยที่นิสิตนักศึกษาผลิตออกมาส่วนใหญ่มักไม่ถูกนำไปใช้ กลายเป็นงานวิจัยที่ถูกเก็บไว้บนหิ้ง ดังนั้นหากมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบก็จะช่วยให้นิสิตสามารถเป็นผู้ช่วยวิจัยและสร้างองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับ ดร.ไกรยส หยิบยกประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับภาครัฐมาแบ่งปันในวงเสวนาว่า จุดสิ้นสุดของกระบวนการทำวิจัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำนโยบาย
“หลายครั้งที่เรามีผลงานวิจัยที่ดีมากและสามารถนำไปใช้ได้ แต่พอเริ่มไปคุยกับหน่วยงานรัฐบางแห่งก็อาจติดระเบียบข้อบังคับบางอย่าง หรือติดขัดด้านงบประมาณ ทำให้ยากที่จะผลักดันข้อเสนอจากงานวิจัยไปสู่การกำหนดนโยบาย”
ดร.ไกรยส กล่าวเสริมว่า กระบวนการผลักดันงานวิจัยสู่การกำหนดนโยบาย ต้องอาศัยทักษะสำคัญ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการงานวิจัย (research management) ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานนี้ นอกจากจะช่วยให้นักวิจัยกำหนดโจทย์ได้ จะต้องช่วยให้นักวิจัยไปมีส่วนร่วมกับผู้กำหนดนโยบายตั้งแต่ต้น และ 2) การมีเครือข่าย (network) เพื่อหารือทำความเข้าใจและหาแนวทางผลักดันนโยบายการศึกษาโดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการกับผู้กำหนดนโยบายให้ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันมากที่สุด
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาด้านการศึกษา และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนโยบายด้านการศึกษาต่าง ๆ เสมือนเป็นการหยอดเมล็ดพันธุ์ทางความคิดไว้ตามที่ต่าง ๆ ที่ควรจะเติบโตได้ ฉะนั้นการทำงานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อม ๆ กัน
ปัจจัยสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาไทย
ช่วงหนึ่งของการเสวนา มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมฟังเสวนาเพิ่มเติมว่า “ในกรณีของประเทศไทย ปัจจัยสำคัญใดที่ควรจะพิจารณาเพื่อพลิกโฉมการศึกษา” ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าควรพิจารณาเรื่องของบุคลากร ดร.รังสรรค์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวขยายความคำว่า ‘บุคลากร’ ว่าควรจะรวมไปถึงบุคลากรงานวิจัย เนื่องจากบุคลากรเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการองค์ความรู้ของงานวิจัยด้วยเช่นกัน
ดร.ไกรยส ให้ความเห็นว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการศึกษาได้คือ กระบวนการนโยบาย ซึ่งทุกฝ่ายเราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ อีกประการหนึ่งคือการทำงานร่วมกับคนทุกระดับของกระบวนการทำนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนราษฎร หรือกระทั่งผู้กำหนดทิศทางงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นหากเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางนโยบาย จะทำให้เข้าใจสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งนี้ นโยบายการศึกษามีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงมาก หากทำงานร่วมกับกลไกเหล่านี้ได้ก็จะสามารถพลิกโฉมการศึกษาอย่างยั่งยืนได้
รศ.ดร.พร้อมพิไล สะท้อนจากผลสำรวจจากผู้ร่วมฟังเสวนาว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘คน’ ซึ่งหมายถึงคนทุกระดับ และผู้บริหารเองก็ควรมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นประโยชน์ของการวิจัยในการขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลล้นหลาม แต่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์หรือบุคลากรในทุกระดับเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายยุคใหม่ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1) ข้อมูลสนับสนุน (data ecosystem) 2) การเอาข้อมูลไปทำให้เกิดประโยชน์ (research ecosystem) 3) การขับเคลื่อนนโยบาย (policy ecosystem) และ 4) การนำไปปฏิบัติจริง (implementation ecosystem) ซึ่งประเทศไทยมีข้อมูลค่อนข้างมาก แต่ยังขาดการต่อยอด จึงไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันเวลา และไม่เกิดการนำไปใช้ในทางปฏิบัติจริง
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า การออกนโยบายภายใต้กรอบความคิดว่า ‘ตอบสนองความต้องการของตลาด’ นักเศรษฐศาสตร์แรงงานกำลังเตือนว่าเป็นนโยบายที่ผิดอย่างมาก เพราะในอดีตประมาณ 50 ปีที่แล้ว ตลาดแรงงานจะค่อนข้างนิ่ง แต่ปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 5 ปี ตลาดแรงงานจึงไม่มีความแน่นอน อีกประการหนึ่งคือ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เป็นต้นมา ไทยเน้นการส่งออกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราต้องหันมาพัฒนาคนให้มากขึ้นตามกลไกโลก
“การศึกษาเป็นสิ่งที่มีพลังมาก ถ้าพลาดนิดเดียวจะกลายเป็นลิ่มที่ตอกคนให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ไม่มีความผิดพลาดใดร้ายแรงเท่าการจัดการศึกษาที่เหลื่อมล้ำอีกแล้ว”
รศ.ดร.พร้อมพิไล ย้ำถึงคีย์เวิร์ดสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ คือ ‘IMPACT’ ตัวแรกคือ Information คือหลักฐานที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย ซึ่งแม้เราจะมีข้อมูลมาก แต่ถ้าไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบข้อมูลเหล่านั้นก็จะไม่มีความหมาย นำไปสู่ตัวที่สองคือ ‘Management’ หรือการจัดระเบียบข้อมูล ต่อมา ‘Partnership’ การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังต้องมี ‘Assessment’ การประเมิน โดยใช้หลักฐานหรือข้อพิสูจน์เพื่อประเมินว่าอะไรดีและอะไรที่ไม่ควรทำ นอกจากนี้จะต้อง ‘Change’ อะไรที่เคยทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ จะต้องเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไป เพื่อที่จะนำไปสู่การ ‘Transfrom’ หรือการปฏิรูปอย่างยั่งยืน
สุดท้าย ดร.ไกรยส ฝากทิ้งท้ายว่า เราจำเป็นจะต้องมีการลงทุนกับโครงสร้างและระบบนิเวศการเรียนรู้ การเชื่อมโยงข้อมูลในระบบการศึกษาทุกวันนี้ยังต้องการการลงทุนอีกมาก ทั้งทางด้านไอที คน รวมถึงการเชื่อมโยงระบบ เพื่อให้เกิดการวิจัยที่มีคุณภาพ การสร้างเครือข่ายนักวิจัยทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงต่าง ๆ ให้มีการเชื่อมโยงบูรณาการการทำงานได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าด้านการลงทุนที่จะมีผลต่อไปในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
นอกจากนี้ในกระบวนการจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัย มีการกำหนดตายตัวในกรอบ 12 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำงานวิจัย หากต้องการให้งานวิจัยมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อโจทย์ของนโยบายนั้น กระบวนการงบประมาณควรต้องปรับเปลี่ยน
ประเด็นสุดท้ายคือ การประเมินผล หลายครั้งที่นโยบายสาธารณะไม่ได้พ่วงไปกับการประเมินผล ซึ่งในอนาคตควรมีการกำหนดมาตรฐานการประเมินผลของโครงการต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อจะทำให้ไม่เกิดความผิดพลาดซ้ำกับที่ผ่านมา และจะทำให้การทำงานวิจัยพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นไป