SET: LEARNING@HOME จงเป็นนักเรียนตลอดชีวิต
แนะนำโดย นิ้วกลม

SET: LEARNING@HOME จงเป็นนักเรียนตลอดชีวิต

“จงเป็นนักเรียนตลอดชีวิต” ผมเคยเขียนหน้าแรกของสมุดบันทึกไว้แบบนั้น ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนปณิธานจากเดิม ‘นักเรียน’ คืออาชีพที่สนุกที่สุด ทำไมจึงบอกว่าเป็นอาชีพ ก็เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้เงินด้วยน่ะสิครับ

สำหรับผม เป้าหมายในการทำงานทุกวันนี้คือได้เรียนรู้ งานที่ทำแล้วขดหยักสมองมีร่องมากขึ้น เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต เพิ่มมุมคิดให้ตัวเอง คือการงานอันทรงคุณค่า แน่นอนว่าเงินก็อยากได้ แต่ถ้าเงินตรามาพร้อมความรู้เมื่อไหร่ งานนั้นจะเป็นการงานที่รักและทุ่มเทสุดหัวใจทันที

เหตุใดการเรียนรู้จึงสำคัญนัก

ผมคิดว่ามันคือแรงขับเคลื่อนชีวิต การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อสงสัยใคร่รู้ สิ่งนี้นำมาซึ่งความรู้สึกอัศจรรย์ต่อโลกและชีวิต ลองคิดดูว่าถ้าเราตื่นขึ้นทุกเช้าแล้วรู้สึกว่าวันนี้ไม่ต่างอะไรจากเมื่อวาน วานซืน และวันก่อนๆ ชีวิตจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายขนาดไหน 

ความสงสัยใคร่รู้ทำให้โลกใบเดิมกลายเป็นเรื่องน่าสนใจไม่รู้จบ มองฟ้าก็สงสัยว่าทำไมมันเป็นสีฟ้า มองต้นหญ้าก็อยากรู้ว่าทำไมต้องสีเขียว แล้วทำไมปลาว่ายน้ำ ขณะที่นกบิน ทำไมดินกินไม่ได้ แต่ผักที่งอกจากดินดันกินอร่อย และอีกมากมายไม่รู้จบ

ความสงสัยทำให้โลกน่าอยู่ เพราะมีเรื่องให้ค้นหา

หากการเรียนรู้สำคัญ แล้วเราจะเป็นนักเรียนตลอดชีวิตได้อย่างไร

1. คุณสมบัติสำคัญของนักเรียนคือความโง่

สำหรับผม นักเรียนที่ดีต้องตระหนักเสมอว่าตัวเองยังไม่รู้ เมื่อรู้ว่าไม่รู้เท่านั้นแหละ จึงมีโอกาสได้รู้ คนจำนวนมากไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ เพราะมีคำพูดติดปากว่า “รู้แล้ว” ความโง่คือบานประตูพาเราไปพบความรู้ใหม่ ความโง่คือความสนุก ไม่ต้องเก๊กว่าตัวเองทรงภูมิฉลาดล้ำ ความโง่คือความถ่อมตัว เปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับฟัง เป็นดังคำกล่าวจีนโบราณว่า “เมื่อศิษย์พร้อม ครูย่อมปรากฏตัว” ศิษย์ที่พร้อมที่สุดคือศิษย์ที่รู้ว่าตนโง่

การตระหนักถึงความโง่เป็นเรื่องเดียวกับ ‘หัวใจของผู้เริ่มต้น’ (Beginner’s Mind) ซึ่งตรงข้ามกับความเก๋าของผู้เชี่ยวชาญ มือใหม่ย่อมลงมือทำด้วยความไม่รู้สึกกดดัน กล้าคิดกล้าทำโดยไม่กลัวล้มเหลว พลาดไปก็เริ่มใหม่ เรียนรู้จากความผิดนั้น ที่สำคัญคือ สนุกกับการล้มลุกคลุกคลาน

หัวใจของผู้เริ่มต้นจะมองเห็นทุกสิ่งด้วยแววตาตื่นเต้น มิใช่เฉื่อยชา อ่านหนังสือเล่มใหม่ราวกับได้อ่านเป็นเล่มแรก ดูหนังเรื่องใหม่ราวกับเพิ่งเคยได้ดูหนัง เป็นเรื่องเดียวกับการไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ที่เคยรู้และประสบมา มิได้คิดว่าฉันรู้และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เช่นเดียวกับถ้วยชาที่มีชาเต็มถ้วยย่อมไม่อาจรับน้ำชาใหม่ลงไปในนั้นได้

เช่นนี้แล้ว ‘อาจารย์’ จึงพร้อมปรากฏกายขึ้นตลอดเวลา ทั้งที่เป็นคนและสรรพสิ่ง หากกินไข่พะโล้อร่อยแล้วเอ่ยถามแม่ค้าว่าทำยังไง ก็จะได้วิชาปรุงอาหาร หากเดินป่าแล้วเอ่ยปากถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ย่อมได้เรียนวิชาธรรมชาติและสัตว์ป่า มิเพียงเท่านั้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มด แมลง แสง คลื่น ล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์สอนสรรพวิชามากมายไม่รู้จบ

2. นักเรียนที่ดีย่อมมองเห็น ‘ห้องเรียน’ ทุกที่ทุกเวลา

อาวุธสำคัญของของนักเรียนคือเครื่องหมายคำถาม อะไร ทำไม อย่างไร ใคร ที่ไหน ฯลฯ หย่อนไปตรงไหนสถานที่แห่งนั้นก็จะถูกเนรมิตเป็นห้องเรียนทันที นักเรียนที่ดีต้องการกล้าถาม ซึ่งความกล้านี้เชื่อมโยงกับคุณสมบัติแรกนั่นคือ ไม่กลัวโง่

หากทำสิ่งเหล่านี้ได้บ่อยๆ รักษาคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ได้เสมอ ผู้นั้นย่อมบ่มเพาะ ‘ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ ขึ้นมาได้ แม้จะไม่มีครูประจำชั้นในชีวิตแล้ว ก้าวขาออกจากรั้วสถานศึกษาแล้วก็ตาม สิ่งนี้ทำให้นักเรียนคนนั้นไม่จบการเรียนรู้ไว้ในวินาทีที่ยื่นมือไปรับใบปริญญา ทว่ายังคง ‘เรียนต่อ’ ไปตลอดชีวิต

กล่าวในมิติเช่นนี้ ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาบนเส้นทางชีวิตจึงเป็น ‘บทเรียน’ สำหรับนักเรียนผู้ตระหนักตนว่าไม่ฉลาดอยู่เสมอ เขาทราบดีว่าจำเป็นต้องสอบผ่านวิชายากๆ ที่จะเข้ามาทดสอบไปตลอดทาง ผ่านวิชานี้แล้วก็จะเจอวิชาที่ยากขึ้นไปอีก การงาน ความสัมพันธ์ ความรัก ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความสับสน การดูถูกเหยียดหยาม หรืออะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นรายวิชาที่ผ่านเข้ามาในภาคการเรียนของแต่ละช่วงชีวิต

โลกมิได้มีเพียงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือวิชาต่างๆ ที่สอนกันในห้องเรียนเท่านั้น โลกใบกว้างยังมีวิชาอกหักศาสตร์ วิชาล้มเหลวศาสตร์ วิชาโดดเดี่ยวศาสตร์ หรือวิชาแตกสลายกลายเป็นงอกงามให้สอบผ่านอีกหลายเทอม นักเรียนที่ดีย่อมเรียนรู้จากเหตุการณ์ทั้งร้ายดีที่เกิดขึ้น เช่นกันกับในห้องเรียน ย่อมมีบางวิชาที่ไม่อยากเรียน แต่ในฐานะนักเรียนก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ เราอาจไม่ได้เกรดเอทุกวิชา แต่ถ้าตั้งใจจริงย่อมสอบผ่าน แม้ฉิวเฉียดก็เอาตัวรอดมาได้แล้วกัน

การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทักษะเช่นนี้สำคัญอย่างยิ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลงไวและเอไอกำลังจะครองเมือง มนุษย์จำเป็นต้องมีคุณสมบัติของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนแล้ววาง ต่อยอดจากสิ่งเก่า ปลูกเมล็ดพันธุ์ความรู้ใหม่ แตกกิ่งก้านสาขาความสนใจของตนเองขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

ต้นไม้ที่ไม่งอกงามคือต้นไม้ที่ตายแล้ว สมองที่ไม่งอกงามย่อมถดถอย ชีวิตที่เรียนรู้ตลอดเวลาคือการเติบโตไปสู่พื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่รู้จบ

นี่คือทักษะแห่งศตวรรษของพนักงานที่องค์กรใดก็ต้องการ ฉะนั้น ‘นักเรียน’ ในมิตินี้จึงเป็น ‘อาชีพ’ ที่ทำเงินได้ ดีไม่ดีจะมีแต่คนแย่งตัวให้ไปเรียนในสถานที่ของเขา แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่ารายได้และโอกาสคือ ความรู้สึกดีกับชีวิต การเรียนรู้มอบสิ่งนั้นให้กับเรา เมื่อรักการเรียนรู้เราจะรักโลกใบนี้และรักชีวิตไปพร้อมกัน เราจะพบว่าทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมาคือโอกาสในการค้นพบความอัศจรรย์ของโลกอีกครั้งและอีกครั้ง

สำหรับนักเรียนที่รักการเรียนแล้ว แทบจะมองไม่เห็นเส้นแบ่งระหว่างห้องเรียนกับสนามเด็กเล่นเลยด้วยซ้ำ

แน่นอน การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นย่อมมีการล้มลง ร้องไห้ เป็นแผลบ้างในบางคราว แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งเดียวกับการเรียนรู้เสียแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใด

น้ำตาและความทุกข์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

เช่นกันกับรอยยิ้มและความสุข

ผมเคยเขียนหน้าแรกของสมุดบันทึกไว้ด้วยประโยคเตือนใจตน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนปณิธานจากเดิม “จงเป็นนักเรียนตลอดชีวิต”