โอกาสเสี่ยงหลุด ‘90 : 100’
“มีเด็กยากจนด้อยโอกาสราว 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ต่อสู้ชีวิตและฝ่าฟันอุปสรรคทางการศึกษาอยู่ตามลำพัง ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปโดยไม่แทรกแซงช่วยเหลือ โอกาสที่เขาจะไปต่อได้มันแทบจะมองไม่เห็นเลย”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และที่ปรึกษาคณะทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ถอดประสบการณ์ลงพื้นที่จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วย ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ หรือ ‘Area Based Education’ (ABE) ที่ใช้ข้อมูลจากระบบ iSEE ของ กสศ. ร่วมกับคณะทำงานเครือข่ายจังหวัดและ อสม. ท้องถิ่น สำรวจค้นหาเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุด เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือดูแลให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป
“ประเด็นสำคัญจากการลงพื้นที่บอกเราว่า ถ้าทุกอย่างเดินไปตามทางของมันโดยไม่มีใครยื่นมือไปช่วย เด็ก 1.9 ล้านคนนี้จะมีโอกาสเสี่ยงหลุดกลางคันมากถึง 90 : 100 เลยทีเดียว”
ปัจจัยเสี่ยงซ่อนลึก ในความ ‘ยากจน – ด้อยโอกาส’
เมื่อพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ ที่ทำให้เด็กไปต่อไม่ได้ โดยมากคนมักนึกถึงแค่ปัจจัยเดิม ๆ คือความจน การขาดแคลนทุนการศึกษา หรือทัศนคติครอบครัวที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการพยายามประคองลูกหลานไว้ในระบบ จนเมื่อลงไปหน้างาน ได้เข้าไปสู่ชีวิตของเด็กแต่ละคน ผ่านการเยี่ยมบ้าน พูดคุย ติดตามไปดูกิจวัตรประจำวันของเขา เมื่อนั้นจะเข้าใจเลยว่าเด็กเสี่ยงหลุดที่แต่ละพื้นที่ที่หาเขาจนพบแล้วช่วยกลับมา เขาและครอบครัวต้องเผชิญปัจจัยที่มากกว่ามิติความจนอย่างไร และมีความซับซ้อนของปัญหาซึ่งมากไปกว่าแค่ไม่มีเงินหรือขาดแรงจูงใจในการเรียน
“เพราะจากที่พบ เกือบ 100 % ของเด็กกลุ่มนี้เห็นความสำคัญของการศึกษาและมีใจอยากเรียนต่อทั้งนั้น
“การลงไปพบเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ กทม. พิษณุโลก ราชบุรี ขอนแก่น จนถึงยะลา ได้สะท้อนปัญหาเชิงลึกว่า บนผิวหน้าของปัญหาที่เคลือบฉาบด้วยภาวะตกงาน รายได้ลด หรือไม่มีรายได้เลย เราสามารถเชื่อมโยงไปหาปัจจัยที่ไม่เคยมีใครหยิบพิจารณาอย่างจริงจัง เรามีครอบครัวที่อาศัยในเพิง ในกระต๊อบ ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีเลขประจำตัวสิบสามหลัก หรือมีเด็กมากมายที่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ เป็นคนกลุ่มน้อย พิการ เผชิญความรุนแรงในครอบครัว ปัจจัยที่ว่ามานี้ล้วนไม่เอื้อให้เด็กเรียนหนังสืออย่างราบรื่น เราเห็นแต่ความเปราะบางที่รายล้อมชีวิตหนึ่ง ครอบครัวหนึ่งเอาไว้ ทั้งแน่นหนา และเหนี่ยวรั้งจนแม้เด็กย่างเท้าไปถึงบันไดการศึกษาได้แล้ว แต่ท้ายที่สุดเขาก็จะไม่มีทางไต่พ้นหล่มหลุมขึ้นมาได้
“ความยากจนเรื้อรังแต่เดิม ทับถมด้วยเวลาอีกกว่าสองปีเต็ม ๆ ของวิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจเอาลูกหลานออกจากโรงเรียน เพราะเขาเห็นแล้วว่าการจะอยู่ในระบบให้ถึงปลายทางแทบไม่มีทางเป็นไปได้ เลยคิดว่าหยุดมันเสียกลางทางเถอะ จะได้ไม่เสียเงิน เสียเวลา
“เรากำลังพูดถึงอุปสรรคใหญ่โตที่มีชื่อว่า ‘รายจ่ายทางการศึกษา’ ซึ่งคิดเฉลี่ยตกราว 17,000 บาท ต่อคนต่อปี เงินจำนวนนี้ไม่มีทางเลยที่คนตกงานไม่มีรายได้เป็นปี ๆ จะหามาจ่ายได้ อย่าลืมว่านอกจากเด็กเกือบสองล้านคนแล้ว ยังมีสมาชิกในครอบครัวเขาอีกไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ ที่ได้รับบาดแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตกไปอยู่ในหลุมมโหฬารของภาระหนี้สิน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ดังนั้น อีกนานเท่าไหร่ไม่รู้เลย ที่เขาจะมีอาชีพมีรายได้อีกครั้ง …เมื่อพิจารณาผ่านประเด็นนี้ แน่นอนว่า ‘การศึกษา’ ย่อมถูกลดความสำคัญลงเป็นลำดับท้าย ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
‘ผู้ดูแลรายกรณี’
ตามติด 1.9 ล้านคน
คลี่ 1.9 ล้านปมปัญหา
นานาปัญหาซ้อนทับเหล่านี้กำลังบอกว่า เรามี 1.9 ล้านรูปแบบปัญหา ซึ่งจะหวังพึ่งพาการแก้ไขจากโครงสร้างระบบเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่การออกแบบวิธีดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ต้องมองให้ทะลุผ่านมิติเดิม ๆ
แงะ แกะ คุ้ยออกมาให้พบแก่น ว่าแต่ละครอบครัวเผชิญความยากลำบากอย่างไร โดยต้องข้ามพ้นการทำงานเชิงปริมาณ ที่เคยยึดติดกับการใช้วิธีเดียวในการจัดการทุกปัญหาไปให้ได้
อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหาร กสศ. ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่พื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบมีเหมือนกัน คือคนทำงาน ‘ด่านหน้า’ ซึ่งไม่เฉพาะครูที่คอยติดตามเด็ก แต่ยังมีกลุ่มอาสาสมัครแฝงตัวในชุมชน ตั้งต้นทำงานด้วยข้อมูลจากระบบ iSEE ที่ช่วยระบุพิกัดของเด็กยากจนด้อยโอกาส แล้วจึงเข้าไปค้นหาตัวตนเด็ก เมื่อพบแล้วจึงขุดไปถึงราก ถึงครอบครัว และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ฉุดรั้งให้เด็กหลุดจากการศึกษา
หนึ่งในการทำงานของพื้นที่ต้นแบบที่ช่วยเด็กทั้งในและนอกระบบได้อย่างต่อเนื่อง จนเด็กกลับมามีที่ยืนและพร้อมไปต่อบนเส้นทางการศึกษา คือการใช้ ‘ผู้ดูแลรายกรณี’ หรือ Case Manager (CM) ลงติดตามชีวิตและครอบครัวของเด็ก เพื่อคลายปมปัญหาเชิงลึกจนเห็นแก่น ก่อนส่งต่อข้อมูลให้คณะทำงานร่วมกันวิเคราะห์ และออกแบบวิธีการช่วยเหลือเป็นลำดับ
“ผู้ดูแลรายกรณีคือผู้เผยภาพของเด็กที่มีชีวิตในสวนยาง ในวัด เด็กที่ผู้ปกครองพาไปขอทานตามตลาด ซ่อนตัวเงียบเชียบรอความช่วยเหลืออยู่ตามซอกหลืบเล็ก ๆ ในสังคม ซึ่งหากมองผ่านสายตาระบบโครงสร้างส่วนกลาง เราจะไม่มีวันหาเขาพบ แล้วตัวเด็กหรือครอบครัวเองก็ไม่มีโอกาสเลยที่จะเข้าถึงข้อมูลและกลไกความช่วยเหลือ เพราะเขาไม่มีสิทธิ์ ไม่รู้ว่าจะต้องไปหาใคร เป็นภาวะที่ถูกสังคมกันออกไปจากสิทธิพื้นฐานโดยสิ้นเชิง จนท้ายสุดก็ยิ่งห่างไปจากระบบการศึกษา และหลุดไปอย่างถาวร ต้องเวียนว่ายในวังวนของความยากจนด้อยโอกาสอย่างโดดเดี่ยวลำพังอยู่ตรงนั้น
“ถ้าจะลงให้ถึงรากของความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาในเชิงรายละเอียด เราต้องพึ่งพาผู้ดูแลรายกรณีกลุ่มนี้ แล้วเมื่อมีข้อมูลที่ครบทุกด้านทุกมิติ เราถึงจะสามารถหาทางดึงเขาออกมาจากปัญหาได้ทีละน้อย อีกประการหนึ่งคือการติดตามเด็กต่อเนื่องด้วยคนในพื้นที่ที่ทำงานด้วยหัวใจ มันจะเกิดสายใยของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ ความผูกพันที่ผู้ดูแลเองก็อยากเห็นเด็กไปได้ถึงฝั่ง ส่วนเด็กกับครอบครัวเขาก็มั่นใจว่าการดูแลจะดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีการทอดทิ้งกลางทาง”
‘กระจายอำนาจ’
เชื่อมโยงคนทั้งจังหวัดร่วมสร้างความเสมอภาค
ความสำเร็จของพื้นที่ต้นแบบ ทำให้สังคมได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงร่วมกันอีกประการว่า คนตัวเล็ก ๆ ทุกคนในสังคม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเด็กฟื้นคืนกลับมาได้ โดยนอกจาก ‘ผู้ดูแลรายกรณี’ แต่ละจังหวัดยังแสดงให้เห็นถึงวิธีออกแบบการ ‘กระจายอำนาจ’ อันเป็นการดึงเอาจุดเด่นทางบริบทสังคมของแต่ละพื้นที่ มาใช้แก้ปัญหา และเป็นวัตถุดิบในการวางแผนทำงานด้านการศึกษาในระยะยาว
“เรามีจังหวัดยะลาที่มี CM เข้มแข็งมากกว่า 300 คน ช่วยกันผลักดันให้ ‘แผนงานจัดการรายกรณี’ หรือ Case Management System (CMS) ซึ่งเป็นงานของ อบจ.ยะลา ทำได้อย่างต่อเนื่อง ลึกซึ้ง และประสบผลสำเร็จในเชิงคุณภาพ โดย อบจ.ยะลา ถือเป็นกลไกหลัก ในการประสานเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ ในจังหวัด ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นการแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของการเมืองระดับท้องถิ่น
“หรือที่ขอนแก่น มีภาคราชการสี่กระทรวงหลัก ทั้งกระทรวงศึกษา ฯ มหาดไทย สาธารณสุข และ พม. ซึ่งสอดร้อยทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ลื่นไหล โดยนำจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาใช้ จนแก้ปัญหาของเด็กได้ครอบคลุมและตรงจุด
“ส่วนที่พิษณุโลกมีกลไกภาคประชาสังคมโดดเด่น รวมไว้ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทำงานสูง มีความเข้าใจลักษณะพื้นที่ มีใจอยากทำงานช่วยเหลือเด็ก และมองเห็นรายละเอียดยิบย่อยของปัญหาได้ชัดเจน ผู้มากประสบการณ์กลุ่มนี้เองที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการรวมกลุ่มตั้งเป็นองค์กร มูลนิธิ และเป็นศูนย์กลางในการดึงความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ในจังหวัด มาช่วยกันแชร์องค์ความรู้ แบ่งปันข้อมูล จนเกิดการทำงานที่แผ่ขยายเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ พร้อมรองรับเด็กเยาวชนทุกกลุ่ม ทุกปัญหา
“กลไกจังหวัดที่ร้อยรวมเป็นกลุ่มก้อนนี้ คือเครื่องมือ คืออาวุธ และเป็นพลังการทำงานที่ทำให้โอกาสไปต่อที่น้อยนิดของเด็ก ๆ กลับมีทางเลือกทางรอดเพิ่มขึ้น โดยจากเคยต่อสู้เพียงลำพังบนความเสี่ยงที่อัตรา 90 : 100 วันนี้ผมสามารถพูดได้ว่า กลไกจังหวัดจะช่วยให้โอกาสหลุดจากระบบของเด็กทั้ง 1.9 ล้านคน ลดเหลือเพียง 50 : 50 เท่านั้น นั่นเพราะการทำงานของจังหวัดต้นแบบได้มองผ่านความคิดชุดใหม่ โดยเอาเด็กและครอบครัวเป็นที่ตั้ง แล้วจึงค่อยออกแบบความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามมา และจากผลสำเร็จใน 4 – 5 จังหวัดนี้ ทำให้เรากล้ามองถึงความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระยะยาว
“‘จุดแข็ง’ ของแต่ละท้องถิ่น จะเป็นต้นทุนนำทางให้เรา แล้วด้วยวิธีนี้ ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดสามารถดำเนินตามรอยได้ทันที และพึ่งพาตนเองได้ เพียงทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันวิเคราะห์ออกแบบว่าแต่ละจังหวัดมี ‘คน’ หรือ ‘หน่วยงาน’ ใดที่พร้อมเป็นเจ้าภาพ พร้อมเป็นแกนประสานรวบรวมพลังภายในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ส่วนกลาง หรือคนภายนอกมาคิกออฟ”
ถ้าปล่อยเด็กหลุดต่อไป เท่ากับเรากำลังทำลายสิทธิด้านการศึกษาครั้งใหญ่ และตัดโอกาสของประเทศทางอ้อม
ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนต้องรับรู้ร่วมกันว่าเด็ก 1.9 ล้านคนอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งบนเส้นทางการศึกษาที่ตีบตันนั้น เด็กบางคนต้องไปทำงานล้างไส้หมูทั้งคืนแล้วไปเรียนตอนเช้า บางคนไปขายนม ขายมาลัย ขายดอกไม้อยู่ตามสี่แยก บางคนไปเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงแพะในทุ่ง บางคนทำงานในโรงไม้และอาศัยอยู่ที่นั่น ต้องเรียนออนไลน์ท่ามกลางเสียงเลื่อยไฟฟ้าที่แผดดังตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางคนเสียสละให้น้องเรียน ตัวเองออกไปทำงานถอนหญ้าทั้งวันในสวนในไร่ หรือบางคนยอมเป็นขอทาน เพราะต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวโดยไม่มีทางเลือก
และในหมู่มวลเด็ก ๆ เหล่านี้ มีทั้งคนที่ ‘รู้’ และ ‘ไม่รู้’ ว่าการตัดสินใจออกจากระบบการศึกษากลางคันนั้น หมายถึงชีวิตของเขากำลังถอยเท้าก้าวกลับไปสู่วงจรความยากจนในครอบครัว ที่ส่งจากปู่มาถึงพ่อ ส่งจากพ่อมาถึงตัวเขา แล้ววันหนึ่งข้างหน้า ตัวเขาเองก็จะส่งผ่านไปยังทายาทรุ่นถัดไป โดยไม่มีใครรู้ได้เลยว่า …ความยากจนนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อไร
ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่า สามปัจจัยที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ได้แก่
1.เริ่มกระบวนการทำงานทุกจังหวัดตามรอยพื้นที่ต้นแบบ โดยใช้ CM ลงลึกในชุมชนผ่านข้อมูลจาก iSEE แล้วสร้างระบบจัดการรายกรณีที่ส่งต่อเด็กได้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง
2.กระจายอำนาจในมิติต่าง ๆ เช่นการศึกษาหรือสาธารณสุข ให้ไปถึงท้องถิ่น
3.เร่งค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดช่วงรอยต่อการศึกษา โดยเฉพาะในชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 ให้พบ แล้วหาแนวทางประสานสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกส่งต่อเด็กระหว่างเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัด
นอกจากนี้สำหรับเด็กที่กำลังเจอกับวิกฤตชีวิต วิกฤตการศึกษา จะต้องมีแนวทางช่วยเหลือให้พ้นจากภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ทำงานหนักเกินกว่าวัย ได้อยู่อาศัยในสถานที่ปลอดภัย มีอาหารการกินเหมาะสม และเข้าถึงสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต และการเรียนหนังสือ
“แน่นอนว่างานจะสัมฤทธิ์ได้ ต้องไม่ใช่เพียงกระทรวงเดียวหรือหน่วยงานเดียวลงมือทำ แต่เราต้องร่วมมือกันทั้งหมด ทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยในสังคม บนพื้นฐานที่ว่าถ้าปล่อยเด็กหลุดต่อไป เท่ากับเรากำลังทำลายสิทธิด้านการศึกษาครั้งใหญ่ และตัดโอกาสของประเทศทางอ้อม เพราะอย่าลืมว่าไม่ใช่แค่ช่วยเด็ก 1.9 ล้านคนนี้แล้วความยากจนด้อยโอกาสจะหมดไปทันที แต่ในปีการศึกษา 2565 นี้ ยังมีเด็กอีกราว 4 – 5 แสนคน ที่มีโอกาสหลุดจากระบบกลางทางตามมาอีก ดังนั้นเราต้องทำทุกทาง ทั้งสร้างระบบดูแลช่วยเหลือส่งต่อ สนับสนุนงบประมาณการศึกษา และสอดส่องติดตามเก็บข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงในทุก ๆ ระยะ ถ้าขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โอกาสที่เด็กจะได้ไปต่อบนเส้นทางการศึกษา ได้รับการศึกษาที่ดีอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า หรือวันหนึ่งจะไม่มีใครหลุดจากระบบออกมาอีก ก็คงเกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด”