แกะรอย ‘ยะลาเสมอภาค’ ‘บัณฑิตอาสาชุมชน’ เบื้องหลังความสำเร็จของการพาน้องกลับห้องเรียน

แกะรอย ‘ยะลาเสมอภาค’ ‘บัณฑิตอาสาชุมชน’ เบื้องหลังความสำเร็จของการพาน้องกลับห้องเรียน

ปี 2562 จังหวัดยะลา เริ่มงานกับ กสศ. ในฐานะ 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ โดยนำเอา ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ หรือ ‘Area Based Education’ (ABE) มาเป็นแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมตั้งต้นจากฐานข้อมูลของ กสศ. ในการสำรวจค้นหาเด็กเยาวชนลึกลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน และชุมชน ด้วยความมุ่งมั่นของเครือข่ายหน่วยงานในจังหวัดและอาสาสมัครท้องถิ่น จึงทำให้สามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา รวมถึงกลุ่มที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษากลางคัน ให้ได้เรียน ได้พัฒนาทักษะอาชีพ และต่อยอดถึงการประคองดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดให้อยู่ในระบบต่อไปได้ รวมทั้งสิ้นกว่า 2, 435 คน นับเป็น 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบของการทำงานที่แสดงให้เห็นความสำเร็จโครงการเชิงประจักษ์

สืบเนื่องถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมให้เด็กเยาวชนอีกจำนวนมาก เผชิญกับภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเฉียบพลัน จังหวัดยะลาได้ร่วมกับ กสศ. ในโครงการ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ นำรูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่มาใช้ ผ่านการประสานกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะ ‘ครู’ และ ‘บัณฑิตอาสาชุมชน’ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์เด็กเป็นรายคน จนทำให้โครงการสามารถช้อนเด็กในภาวะฉุกเฉินไว้ได้ 84 คน ก่อนนำมาสู่การออกแบบความช่วยเหลือดูแล ที่ ‘ต่อเนื่อง’ และ ‘ตรงจุด’       

 ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายความร่วมมือคนในจังหวัดที่เกาะเกี่ยว และไฟแห่งความมุ่งมั่นที่จุดติดแล้วในใจของคณะทำงานทุกฝ่าย ยังนำไปสู่การจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัดยะลา’ อันเป็นหมุดหมายในการหลอมรวมรักษาความเข้มแข็ง และขยายการทำงานให้เติบโตต่อไป

ขณะที่ กสศ. ได้เตรียมถอดบทเรียนความสำเร็จของจังหวัดยะลา เพื่อขยายผลสู่การทำงานในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะจุดแข็งของคณะทำงาน ที่มี Case Manager หรือ ‘ผู้จัดการรายกรณี’ ซึ่งฝังตัวใกล้ชิดอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 300 คน จึงติดตามความเปลี่ยนแปลงของเด็กได้ตลอดเวลา พร้อมปรับแผนดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม และทันท่วงที

มองผ่านบริบทพื้นที่ ต้นเหตุความยากจนหยั่งรากฝังลึก
‘ปัญหาที่อยู่อาศัย ขาดที่ทำกิน ไม่มีอาชีพ’

“การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลที่เป้าหมายตั้งต้นคือช่วยเหลือด้านการศึกษา กลับเผยให้เราเห็นถึงบริบทความยากจนในพื้นที่ ที่ครัวเรือนของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสร้อยละ 80 ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง ผู้ปกครองไม่มีอาชีพประจำ ส่วนใหญ่ปลูกเพิงพักอาศัยในป่ายาง รับจ้างกรีดยางได้เงินเป็นรายวัน ช่วงไหนยางผลัดใบหรือเป็นฤดูมรสุมก็ไม่มีรายได้จะส่งผลถึงการเรียนของเด็กโดยตรง ขณะที่อาชีพตัดยางยังกระทบถึงการไปโรงเรียนของเด็กด้วย เพราะวันไหนที่งานเยอะพ่อแม่กลับบ้านช้าก็ไม่มีใครส่งเด็กไปเรียน หรือบางบ้านไม่มีใครเลี้ยงน้อง พี่ทิ้งน้องไม่ได้ก็ต้องหยุดเรียนไปหนึ่งวัน”

ตัวแทนคณะทำงานสังคมสงเคราะห์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ระบุสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา ก่อนอธิบายภาพสถานการณ์ช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่า แม้แต่ในสังคมเมือง การปิดโรงงานกิจการต่าง ๆ ยาวนานเนื่องจากมีผู้ป่วยทยอยติดเชื้อต่อกันเป็นทอด ซึ่งบางแห่งปิดนานกว่าสองเดือน ทำให้หลายครอบครัวไม่มีรายได้ สุดท้ายจึงตัดสินใจให้ลูกหลานหยุดเรียนทั้งชั่วคราวและถาวร

“ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 หรือ ม.3 พอเจอโควิด เด็กเริ่มออกไปช่วยที่บ้านทำงาน พอมีรายได้ขึ้นมาก็กลัวว่าถ้ากลับไปเรียนต้องเจอภาระเรื่องเงินอีก กลุ่มนี้พอจะตามกลับมาเรียนทีแรกเขาก็ปฏิเสธ อยากทำงานมากกว่า ดังนั้นการช่วยเหลือเด็กเรื่องการศึกษา เราต้องมองประเด็นการช่วยเหลือครอบครัวเขาให้มีรายได้ร่วมด้วย”

‘บัณฑิตอาสา’ เบื้องหลังความสำเร็จของการพาน้องกลับห้องเรียน

นุสรีน สาระกุล นักวิชาการการศึกษา อบจ. ยะลา และคณะกรรมการ เลขานุการโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาจังหวัดยะลา กล่าวว่า แนวทางการทำงานเชิงพื้นที่ตั้งแต่ปี 62 ทำให้จังหวัดยะลาเกิดการวางระบบที่เชื่อมต่อกันในท้องที่ กระจายอำนาจกำกับดูแลตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จนถึงชุมชนขนาดเล็กห่างไกล

“คณะทำงานเราจะลงทุกตำบล ทุกพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ลงไปบอกถึงความจำเป็นของการทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษา พร้อมสร้างความตื่นตัวให้คนพื้นที่ในวงกว้าง ข้อดีของเราคือมี ‘บัณฑิตอาสา’ อยู่ในทุกหมู่บ้าน เป็นคนพื้นที่ที่ทุกคนรู้จัก สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกครัวเรือน ส่วนหนึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องจากงาน ABE ปีแรก ทำให้มีบัญชีรายชื่อเด็กจาก กสศ. ให้ลงสำรวจข้อเท็จจริง ว่าเด็กอยู่ในพื้นที่กี่คน หลุดจากระบบจริงกี่คน บัณฑิตอาสาเหล่านี้เป็นกลไกที่ช่วยให้เราได้ข้อมูลดิบรวดเร็วและแม่นยำ และหลังลงเยี่ยมทุกเคส เราได้ข้อมูลที่ลึกลงไปอีกว่าปัญหาของแต่ละบ้าน แต่ละคนคืออะไร จากนั้นพอเอาชื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการความช่วยเหลือ ก็เป็นบัณฑิตอาสากลุ่มนี้เอง ที่คอยตามติดแต่ละเคสว่ามีปัญหาอุปสรรคเร่งด่วนอะไรที่ต้องจัดการ หรือในระหว่างทางเด็กและครอบครัวมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง”

เลขานุการโครงการ ฯ เผยว่า กำลังใจสำคัญที่ทำให้คณะทำงานมีแรงลงพื้นที่อย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย คือข้อมูลที่แต่ละคนลงใจลงแรงเพื่อให้ได้มานั้น แสดงผลลัพธ์ให้เห็นแล้วว่า การบากบั่นลงหน้างานไปถามคำถามซ้ำ ๆ หรือทำเรื่องเดิม ๆ ไม่รู้กี่หน ได้ทำให้พบเด็กที่ประสบภาวะวิกฤตจริง ๆ ทั้งยังแน่ใจได้ด้วยว่า น้อง ๆ เหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการจริง ๆ

“การทำงานที่มันมีแอคชัน มีความเคลื่อนไหวตามมา ทำให้ในกระบวนการคัดกรองปีถัดมา เรามีเด็กที่เดินเข้ามา อบจ. ด้วยตัวเองทั้งที่ไม่มีชื่อในฐานข้อมูล เพราะเขาอยากเรียนต่อแต่ที่บ้านไม่มีเงินส่ง หรือบางคนก็หลุดจากระบบไปแล้วอยากกลับเข้าเรียนอีกครั้งแต่ไม่รู้จะหันไปทางไหน แล้วเขาเห็นจากเพื่อนพี่น้องคนอื่นว่าโครงการช่วยได้จริง”

‘สภาการศึกษาจังหวัด’ สานต่อภารกิจลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

ดร.ระเด่น สะมะแอ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากวันที่ยะลา ได้เป็น 1 ใน 20 จังหวัดโครงการ ABE และเริ่มวางรากฐานการทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ต่อเนื่องถึงการประคองกลุ่มเสี่ยงหลุดจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ ความร่วมมือของ กสศ. ได้ทำให้เกิดเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดซึ่งประกอบด้วยคนทุกภาคส่วน จนนำมาสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในปีแรก กับ 3 อำเภอต้นแบบ และเพิ่มเติมการทำงานในพื้นที่อำเภอเมือง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 และด้วยแนวทางที่วางไว้ ทำให้ทางจังหวัดสามารถประคับประคองเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบ ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อีกจำนวนหนึ่ง

ถึงวันนี้จังหวัดยะลามองไปยังย่างก้าวถัดไป ในการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมขยายพื้นที่ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ผ่านนโยบายการจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ เพื่อสานต่อภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาว ด้วยชุดคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดที่เป็นความร่วมมือของเทศบาล อาสาสมัครชุมชน และมีคณะกรรมการจัดหาทุนที่จะระดมกำลังจากชาวยะลาทุกคน

“ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เป็นสารตั้งต้น ทั้งในด้านการวางแนวทางทำงาน และความร่วมมือจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ซึ่งคอยเติมเต็มให้การทำงานของสภาการศึกษาจังหวัดมั่นคงยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าโอกาสที่เด็ก ๆ ได้รับในครั้งนี้ ไม่เพียงจะสร้างประโยชน์กับแค่ตัวเด็ก ครอบครัว หรือชุมชนของเขา แต่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการแก้ไขปัญหาการศึกษาในระดับประเทศ สำหรับยะลาเมื่อเราตั้งหลักทำงานได้แล้ว การขยายผลจากนี้จะไม่หยุดเพียงแค่ในจังหวัด แต่เราจะนำโมเดลที่เกิดขึ้นนี้ไปประสานทำงานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ต่อไป”

สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือหนทางกระจายความเสมอภาคทางการศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กล่าวว่า การถอดองค์ความรู้จากการทำงานของจังหวัดยะลา ทำให้เห็นกลไกการช่วยเหลือเด็กทั้งกลุ่มยากจนถาวร กลุ่มเสี่ยงหลุดในภาวะวิกฤต และกลุ่มที่หลุดจากระบบมาแล้ว ว่าสาเหตุต้นตอปัญหาคืออะไร แล้วหากจะช่วยให้เขาไปต่อได้ จะมีวิธีการอย่างไร สามารถสร้างกลไกดูแลเป็นรายคนได้ลึกแค่ไหน เพราะนี่คือกรณีตัวอย่างที่ กสศ. จะนำมาสรุปข้อค้นพบเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด รวมถึงการทำงานที่เชื่อมกับอาสาสมัครชุมชนในฐานะผู้ดูแลรายกรณี ที่ไม่ใช่แค่พาเราไปพบตัวเด็ก แต่ยังต้องมีการติดตามดูแลช่วยเหลือเด็กไปตลอดเส้นทางการศึกษา

“ยะลาจะเป็นต้นแบบการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ ในการดูแลเด็กด้อยโอกาส ซึ่งทำให้เห็นว่าหลายข้อแม้เรื่องปัญหาการศึกษาที่เคยติดขัด แต่เมื่อลงไปในระดับท้องถิ่นแล้วเขาทำได้ เราเห็นตัวอย่างที่จับต้องได้เลยว่าระบบการศึกษาเมื่อดูแลด้วยคนในพื้นที่ เขาสามารถจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน เข้าถึงได้เร็ว เข้าใจทุกมิติและแก้ไขตรงจุด ซึ่งในอนาคตจากนี้ไม่เกินสิบปี ผมเชื่อว่าการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จะเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และช่วยกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาไปยังทุกพื้นที่ของประเทศได้จริง”