‘ลำปาง’ หนึ่งในจังหวัดต้นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ABE-Area-based Education) ที่ กสศ. สนับสนุนการแสดงพลังเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ จากความพร้อมและต้นทุนที่มีด้วยการเชื่อมโยงทรัพยากรทั้งจังหวัดเพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา ทั้งยังผลักดันให้ประชากรทุกกลุ่มทุกช่วงวัยมีลู่ทางพัฒนาศักยภาพได้จนสุดทาง
ที่นั่นสามารถร้อยรวมเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงาน นำโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางที่เป็นฝ่ายประสานความร่วมมือคนทั้งจังหวัด จนจัดตั้งเป็น ‘สมัชชาการศึกษานครลำปาง’ นำองค์ความรู้และกระบวนการใหม่ ๆ ซึ่งตอบโจทย์สำคัญของการจัดการศึกษาเสมอภาค มีความสำเร็จและรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือการจัดการ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว’ ที่โดดเด่นด้วยการฝึกอบรมครูผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำและดึงความร่วมมือผู้ปกครอง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทำงานกับครูในศูนย์เด็ก
พัฒนาครูพี่เลี้ยงผู้อยู่ใกล้ชิดเด็ก ๆ
ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณะบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หัวหน้าโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดลำปาง เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีต้นทุนที่โดดเด่นด้านสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มีภารกิจในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ให้ได้มาตรฐาน โดยเริ่มต้นจากการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ และค่อย ๆ ขยายผลจนเต็มพื้นที่ทุกอำเภอ จนปัจจุบันเกิดเป็นเครือข่ายครูผู้ดูแลเด็ก ที่มีผู้ปกครองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลลูกหลานในช่วงโอกาสทองของชีวิต
สมัชชาการศึกษานครลำปางได้ทำงานร่วมกับ 13 อำเภอ ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สองปีแรกมุ่งเน้นสำรวจคัดกรองเด็กในเกณฑ์ยากจนด้อยโอกาส จากนั้นจัดทำระบบข้อมูลเพื่อพิจารณาความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล มีการส่งต่อระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เด็กเข้าถึงการดูแลที่ตรงจุด จากนั้นเตรียมแผนพัฒนาคณะครูผู้เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็ก มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมตามความต้องการของครู ผลักดันจุดเด่นให้เข้มแข็ง เสริมจุดที่บกพร่องให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีการประเมินพัฒนาการเด็กซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีหลักสูตรพัฒนาสถานศึกษาตามความต้องการของแต่ละ ศพด.
“เราไม่ได้คำนึงถึงแค่ครูและสถานศึกษา แต่ต้องเชื่อมโยงการพัฒนาให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเน้นว่าถ้าครูรู้ ผู้ปกครองก็ต้องรู้ โดยเฉพาะ 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF-Executive Functions) การส่งเสริมพัฒนาการผ่านการเล่น การสื่อสารเชิงบวก การฝึกวินัยเชิงบวก และความรู้ทางโภชนาการ ที่เราเน้นมากว่าผู้ปกครองและครูต้องพัฒนาเด็กให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน”
แกนนำความเปลี่ยนแปลงคนสำคัญของงานพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก คือ ครูมนเทียน สุริยะรังษี หัวหน้าสถานศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว และผู้นำเครือข่ายครูศูนย์เด็กเล็ก 13 อำเภอในจังหวัดลำปาง เล่าว่า หลังสำรวจความต้องการของคณะครูจนได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่จำเป็นด่วนที่สุดคือการพัฒนาครูพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นคนที่จะใกล้ชิดดูแลเด็กมากกว่าใคร สมัชชาการศึกษานครลำปางที่ทำงานร่วมกับ กสศ. ได้นำผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัย มาเติมเต็มในสิ่งที่ครูจำเป็นต้องรู้ ตามมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
“เราใช้การประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่าย ศพด. ใน 13 อำเภอ ดึงครูพี่เลี้ยงจาก 19 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สนใจเข้าฝึกอบรม มีนักวิชาการ กสศ. มาให้ความรู้ แนะนำว่าต้องวิเคราะห์บริบทของแต่ละศูนย์ หาสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือยกระดับ ทำอะไรก่อนหลัง และจะพัฒนาไปในแนวทางใด ซึ่งการอบรมทำให้ครูมีองค์ความรู้มากขึ้นในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แล้วพอครูมีองค์ความรู้ ก็สามารถถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองต่อได้”
‘อะไรที่ครูรู้ ผู้ปกครองต้องรู้’
ครูมนเทียน กล่าวว่า ผลลัพธ์ในการพัฒนาเด็กจะยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองและครูดูแลพัฒนาเด็กไปในแนวทางเดียวกัน โดย ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในการจัดการศึกษาคือตัว ‘ผู้ปกครอง’ เพราะถ้าโรงเรียนสอนเด็กอย่างหนึ่ง แต่พอกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่เลี้ยงดูไปอีกอย่างหนึ่ง เด็กจะเกิดความสับสน แล้วสิ่งที่โรงเรียนปลูกฝังลงไปก็จะไม่มีผลในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การออกแบบหลักสูตรเพื่อสื่อสารกับผู้ปกครองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจต่างกัน ดังนั้นการจัดประสบการณ์ต้องทำในรูปแบบองค์รวม สำรวจความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้วจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสอดรับกับพื้นฐานของเด็กและผู้ปกครองรายบุคคล
“ตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยคือตัวผู้ปกครอง เพราะเด็กอยู่กับเราไม่ถึง 8 ชั่วโมง แต่อีก 2 เท่าคือ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน เขาต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้าน ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องส่งต่อองค์ความรู้ไปถึงผู้ปกครอง ความท้าทายคือจะทำยังไงให้ผู้ปกครองเข้าใจเหมือนกับที่ครูเข้าใจ ซึ่งอย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนบริบทของแต่ละครอบครัวก่อน แล้วพยายามถ่ายทอด ‘สาร’ สำคัญว่า เด็กต้องรู้จักระเบียบวินัยแม้ในยามที่เขาไม่ได้อยู่ในโรงเรียน รู้ว่าจะเล่นเวลาใด ควรทำอะไรตอนไหน เรื่องนี้หากผู้ปกครองกับครูพัฒนาเด็กเป็นไปในทางเดียวกันได้ เด็กจะเข้าใจ รู้เรื่อง ว่าง่ายสอนง่ายมีเหตุมีผล”
“อย่างบางทีเด็กปิดเทอมไปนาน มาเจอกันตอนเปิดเทอม เรารู้เลยว่าช่วงเวลาที่ห่างหายไปเขากินข้าวไม่ตรงเวลา ดูแต่ทีวี ติดโทรศัพท์ บางคนไม่มีนมกิน น้ำหนักลด ก็ต้องมาปรับพฤติกรรมกันใหม่ ฉะนั้นกิจกรรมสื่อสารระหว่างครูและผู้ปกครองที่จัดขึ้นเป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสการขาดช่วงพัฒนาการของเด็กได้
“การจะเปลี่ยนผู้ปกครองให้เป็นผู้ช่วยเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เราต้องยอมรับว่าผู้ปกครองเขาไม่ได้มีความรู้เรื่องเด็กปฐมวัย และผู้ปกครองแต่ละคนล้วนมีพื้นต่างกัน บางคนทัศนคติเปิดกว้างพร้อมทำความเข้าใจ บางคนติดเลี้ยงลูกตามใจ เราจะพูดตรง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอย่าทำนะ ดังนั้นกลวิธีคือเราต้องสร้างพื้นที่สื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ว่าควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร ให้เขาตั้งมั่นบนฐานความคิดเดียวกันกับโรงเรียน ว่าถ้าเราเลี้ยงดูแบบไหน เด็กก็จะซึมซับและเติบโตขึ้นมาในลักษณะนั้น แน่นอนว่าผู้ปกครองทุกคนรักลูกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราฉายภาพจนเห็นได้ว่าทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงดูลูกให้ประสบผลสำเร็จ ส่วนใหญ่เขาจะเข้าใจและพร้อมพยายามไปด้วยกัน”
“แม่จ๋า หนูอยากไปโรงเรียน!!!”
เสียงน้อง ๆ บอกเล่าผ่านผู้ปกครอง ยืนยันถึงความสุข ความอบอุ่นใจ สิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงการจัดการที่มีประสิทธิภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว คือเสียงจากผู้ปกครองผู้เชื่อมั่นและไว้ใจในแนวทางการทำงานของศูนย์ โดยผู้ปกครองท่านหนึ่งเล่าว่า แต่ก่อนไม่เคยกำหนดระเบียบหรือบังคับอะไรลูกเลย เด็กตื่นตอนไหนก็พาไปโรงเรียนตอนนั้น แต่พอมาที่ศูนย์ ครูแนะนำว่าควรให้เด็กนอนและตื่นเป็นเวลา และให้มาถึงศูนย์ก่อนเวลาเพื่อทำกิจกรรมตอนเช้า
“แรก ๆ เรามาสาย ลูกก็งอแงไม่อยากเข้าเรียน แต่ครูเขาเข้าใจ มีจิตวิทยาที่ดี พาลูกเข้าห้องเรียนจนได้ แล้วพอผ่านไปสักอาทิตย์ เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เช้ามาลูกจะบอกว่า แม่รีบ ๆ หน่อย หนูอยากไปโรงเรียน เราก็พาไปส่งเร็วขึ้น บางทีข้าวไม่ได้กินไม่เป็นไร ซื้อไปเดี๋ยวครูดูแลป้อนให้ ยิ่งทุกอาทิตย์ผ่านไป ลูกยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้น กลายเป็นมีระเบียบ ร่าเริงแจ่มใส แต่ก็มีดื้อมีซนอยู่บ้าง ทางศูนย์เขาก็ชวนเราเข้าอบรม มีหมอ มีวิทยากรมาแนะนำว่าต้องดูแลลูกตอนอยู่บ้านอย่างไร จนเราเข้าใจว่าที่เขาดื้อ ร้องไห้เรียกร้องความสนใจ ทุกอย่างมีเหตุผล เราก็เอามาปรับการดูแลที่บ้านไปด้วย สิ่งที่ประทับใจมากคือ ครูผู้ดูแลเขาจะเหมือนเป็นแม่อีกคนหนึ่งเลย คือลูกเราไว้ใจคุณครูมาก และสำหรับคนเป็นผู้ปกครอง ถ้าลูกไว้ใจใคร เราก็ไม่มีคำถามไม่สงสัยอะไรแล้ว”
ด้านผู้ปกครองอีกท่านหนึ่งเล่าว่า ที่ศูนย์จะมีกิจกรรมกับผู้ปกครองบ่อย ๆ ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการกล้ามเนื้อ มีวิธีการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ว่าถ้าลูกมีปัญหาแบบไหนจะแก้ไขยังไง เช่นประเด็นร้องจะเอาโทรศัพท์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ผู้ปกครองหลายคนเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน ครูก็ชวนว่ามาปรับพฤติกรรมลูกกันใหม่ ทำ Mind Mapping ทำกิจกรรมร่วมกับครูเป็นรายคน เพราะแต่ละบ้านก็มีรายละเอียดต่างกันไป
“เป็นข้อดีของเราที่มีโอกาสเข้าร่วมในหลาย ๆ กิจกรรม ทำให้แต่ละครั้งที่เจอปัญหาเรารับมือได้ แล้วได้ปรับทัศนคติของเราด้วย จากเมื่อก่อนเคยเลี้ยงลูกด้วยการบังคับ แล้วเขาต่อต้าน เราก็เปลี่ยนเป็นการใช้เหตุผล มีวิธีการพูดในหลาย ๆ สถานการณ์เพื่อให้ลูกรับฟัง ให้ความร่วมมือกับเรา แล้วเราได้รู้จักของเล่นเสริมพัฒนาการใหม่ ๆ อย่างพวกตัวต่อ เราก็ให้เขาเล่นที่บ้านทำเหมือนที่โรงเรียน หรือเรื่องโภชนาการก็สำคัญ การอบรมทำให้เราเข้าใจว่าเด็กจะได้รับอาหารตามหลักโภชนาการอย่างไรได้บ้าง เราก็ปรับให้เขากินอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลัก และเหมาะสม”
ท้ายที่สุด หลักการจัดการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่นำไปสู่ผลสำเร็จในการดูแลเด็ก ๆ นั้น สามารถสรุปปัจจัยสำคัญได้ 3 ประการ คือ 1.เติมองค์ความรู้ให้กับครูพี่เลี้ยง 2.เหนี่ยวนำพลังหนุนเสริมจากองค์กรหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ และ 3.สื่อสารทำความเข้ากับผู้ปกครองเพื่อการดูแลเด็กให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยองค์ประกอบทั้งสามประการนี้ใช้ต้นทุนไม่มาก หากต้องอาศัยความร่วมมือและลงแรงทำงานที่จริงจัง ทั่วถึง และต่อเนื่อง
ซึ่งหลังจากนี้ บทเรียนจากเทศบาลตำบลบ่อแฮ้วที่เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมแล้ว ครูเทียนและสมัชชาการศึกษานครลำปางจะนำไปถอดบทเรียนเชิงลึก เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตร และนำไปขยายผลการทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป