‘สมุทรสาคร’ จังหวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพฯ หากเดินทางด้วยรถยนตร์คงใช้เวลาเดินทางเพียง 50 นาทีเศษ แต่หากกล่าวถึงบริบทเฉพาะตัว ที่นี่ คืออีกพื้นที่หนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ อันมีพื้นฐานมาจากความหลากหลาย ไม่ว่าด้วยเรื่องสังคมวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
ด้วยความเป็นเมืองชายทะเล สมุทรสาคร คือเส้นทางออกทะเลจากปากแม่น้ำท่าจีน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บ่งบอกว่าเคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีชาวจีนนำเรือสำเภามาจอดเทียบท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเค้ารางของภาพเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ ปากแม่น้ำยังมีเรือจอดเทียบท่า มีการทำประมงที่คึกคักตั้งแต่ระดับประมงพื้นบ้านไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันหากมองไล่ไปตามแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านตอนกลางของจังหวัดตลอดกว่า 70 กิโลเมตร และแตกแขนงออกไปเป็นโครงข่ายลำคลองกว่า 170 สาย ก็จะพบเห็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรและท่องเที่ยว เป็นภาพของวิถีชีวิตก็ดูแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับกรุงเทพแม้จะห่างกันเพียงไม่ถึงร้อยกิโลเมตร
“ต้นทุนของสมุทรสาคร คือทรัพยากรบุคคลที่มีองค์ความรู้หลากหลาย เราเป็นทั้งเมืองเกษตร เมืองอุตสาหกรรม เมืองประมง นี่คือแหล่งทุนทางปัญญาที่พื้นที่มี เรามีผู้บริหารพื้นที่ระดับจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก และเรามีภาคเอกชนหรือสถานประกอบการในพื้นที่จำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ด้วย แต่ถึงแม้เขามีตำแหน่งว่าง เรากลับไม่มีเด็กไปเข้าทำงาน คำถามคือเด็กๆในสมุทรสาครหายไปไหน”
อาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้คลุกคลีกับการศึกษาในพื้นที่มานาน ได้กล่าวถึงโจทย์ในที่เขามองเห็น พร้อมกันนั้นยังค่อยๆคลี่ให้เห็นภาพฉากต่อไป เขาอธิบายว่า การหายไปของเด็กในพื้นที่มีหลายรูปแบบ แบบแรกคือการไปเรียนต่อในกรุงเทพ เพราะไปได้ง่ายด้วยมีระยะทางที่ใกล้กันมาก ในแง่หนึ่งนี่ก็คือภาพสะท้อนเส้นทางการเดินไปตามหลักสูตรการศึกษาแบบเดิม เรียนหลักสูตรการศึกษาแกนกลางไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ผ่านไปตามลำดับชั้น เพื่อไปศึกษาต่อหรือทำงานในเมืองเพราะมีแหล่งงานที่ตอบโจทย์กว่าในพื้นที่บ้านเกิด อาจมีบ้างที่บางคนกลับมาประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ แต่เมื่อมีระยะห่างหรือไม่รู้ว่าทุนในพื้นที่อยู่ตรงไหน ก็ทำให้พลาดโอกาสที่จะใช้ต้นทุนที่พื้นที่มีเสริมศักยภาพของตัวเองต่อไป
“ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่หายไป คือกลุ่มที่ยังไม่พร้อมเข้าไปทำงาน อาจด้วยทักษะส่วนตัวของเขา แม้จะมีแหล่งงานในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ หากสามารถเพิ่มศักยภาพให้ครูผู้สอน จัดหาเครื่องมือที่พร้อม ทำงานร่วมกับชุมชนและเอกชน ชักชวนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ตั้งแต่แรก เชื่อว่าจะทำให้เกิดความรักต่อจังหวัด จูงใจให้สามารถกลับมาทำงานที่บ้านได้ มีงานที่รองรับอยู่ อย่างเอกชนที่มาร่วมให้ทุนนักเรียน แม้ไม่ใช่ทุนที่ผูกมัดว่ารับทุนไปต้องกลับมาทำงานบริษัทหรือโรงงานของเขา แต่เป็นการเปิดทางให้รู้จักกัน สร้างความประทับใจเบื้องต้นหรือสร้างเป็นความผูกพันให้เกิดขึ้นเกิดจากพื้นที่”
นี่คือไอเดียที่ อาคม และเครือข่ายต่างๆในสมุทรสาครกำลังออกแบบร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ภาวะการเรียนรู้ถดถอยยิ่งปรากฏชัดขึ้น เนื่องจากการศึกษารูปแบบเดิมไม่สามารถสนองตอบต่อปัญหาได้ทัน จึงทำให้องคาพยพต่างๆในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ชุมชน และเอกชน ต่างมาร่วมมือกันหาทางออกให้กับเด็กๆ
“คงเป็นที่ทราบกันดีว่า สมุทรสาคร เจอวิกฤตโควิดเป็นจังหวัดแรกๆและหนักมาก ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ หลายฝ่ายจึงมาคิดร่วมกันถึงวิธีการที่เด็กจะได้เรียนรู้ แทนที่จะหยุดเรียน แล้วไม่ได้เรียนเลยเป็นปี จะทำอย่างไรให้เด็กได้พัฒนาการเรียนรู้ต่อ เราแสวงหาความร่วมมือ ระดมความคิดจากหลายฝ่าย ไม่ว่ามูลนิธิสตาร์ฟิช กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา หรือยูนิเซฟ เพื่อสอบถามเขาว่ามีโมเดลหรือเครื่องมืออะไรมาช่วยในเรื่องภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเราได้บ้าง”
หลังได้รับการปรึกษาหารือกับเครือข่ายต่างๆมาระยะหนึ่ง อาคม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการออกแบบและทดลองปฏิบัติ โดยมีโรงเรียนในจังหวัดเข้าร่วมจำนวน 60 โรงเรียน ในการนำเครื่องมือของมูลนิธิสตาร์ฟิชไปดำเนินการนำร่อง ควบคู่กับการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าเพื่อประเมินการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากโมเดลที่กำลังทำกันอยู่
“ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงปิดเทอมและเรากำลังเตรียมการร่วมกับโรงเรียนต่างๆ หลังเปิดเทอมคาดว่าเมื่อมีการนำไปใช้จริงสักระยะ เราน่าจะได้กรณีศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ หรือมีโรงเรียนต้นแบบ” อาคม ระบุ
อาคม ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องมือของมูลนิธิสตาร์ฟิชที่นำมาใช้ จะเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกับกลุ่มต่าง กลุ่มแรกคือครู จะว่าด้วยการพัฒนาเรียนการสอน รวมไปถึง Mindset ให้เข้ากับภาวะที่ต้องสอนแบบออนไลน์ การปรับตัวต่อเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อาคม บอกว่า เขาต้องการเห็นครูที่สามารถออกแบบการเรียนการสอนและวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคลได้ โดยเฉพาะเรื่องหลักๆคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาเด็ก พร้อมกันนี้จะมีเครื่องมืออุปกรณ์จากสตาร์ฟิชลงมาสนับสนุนครูด้วย
“ต้องยอมรับว่า แม้โควิดจะทำให้ครูต้องเปลี่ยนมาใช้การสอบรูปแบบออนไลน์ แต่ในความจริงตลอด 2 ปีมานี้ ครูส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถปรับแผนการสอนให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคของดิจิตอลได้ เคยสอนคาบละ 50 นาที ก็สอนเท่าเดิมแบบเดิม เพียงแต่ย้ายไปสอนในอินเตอร์เน็ท เรียนแบบนี้แม้แต่เราเองอยู่หน้าจอ 15 นาทีก็ทนไม่ได้แล้ว ปัญหาก็คือหากความเปลี่ยนแปลงของครูและหลักสูตรช้า เด็กก็ต้องเรียนแบบเดิมไปตลอดทั้งปี ความถดถอยก็จะตามมาเรื่อยๆ ความอยากเรียนรู้ อยากรับฟังก็จะน้อยลงตาม”
ส่วนการทำงานในกลุ่มที่สอง คือ การให้ชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนการศึกษา และกลุ่มที่สาม คือการเอาเครื่องมือที่ออกแบบโดยครู ผู้ปกครอง ชุมชน ไปใช้กับนักเรียนตามโมเดลที่ออกแบบร่วมกัน
“เราไม่ได้บังคับว่าโรงเรียนไหนต้องใช้รูปแบบนี้ แต่วางเป็นโมเดลไว้เพื่อให้ทางโรงเรียนหยิบไปใช้ได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี เพราะทางผู้บริหารโรงเรียนคงเห็นสภาพปัญหาที่เกิดภาวะเรียนไม่ทันตามหลักสูตรหรือรับรู้ได้ถึงความถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดขึ้นจริง เราเจอโควิดมา 2 ปีแล้ว ผมคิดว่าเราต้องรีบหยุดยั้งภาวะนี้”
อาคม กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการดึงทุนจากอยู่ในพื้นที่โดยนำชุมชน เอกชน ภาคประชาชนเข้ามาช่วย จะตอบโจทย์การศึกษาของพื้นที่ได้จริง เพราะแต่ละโรงเรียนเผชิญภาวะถดถอยต่างกัน และเด็กแต่ละคนภาวะการเรียนรู้ก็ไม่เท่ากัน ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนแบบยึดจากเด็กเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมาโรงเรียนต่างๆอาจเคยมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือบ้าง ครั้งนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสตาร์ฟิชที่มีความพร้อมกว่าการที่โรงเรียนดำเนินการเอง ปัจจุบันไม่ใช่แค่เด็กไม่มีเครื่องมือเท่านั้น ครูเองยังประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน เมื่อมีหน่วยงานที่มีเครื่องมือ มีประสบการณ์ มีทักษะที่เกิดประโยชน์กับโรงเรียนก็จะช่วยรัฐด้านการศึกษาได้
“ปลายทางของการศึกษาโมเดลใหม่ ผมมองว่า ไม่ได้หมายถึงการที่ เด็กต้องไปเข้าทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ แต่คือการเปิดช่องทางเอาไว้ให้ได้รู้จักกัน ซึ่งในอีกทางหนึ่ง หากวันหนึ่งเขาโตขึ้นมาอยากเป็น SMEs อยากไปเป็นผู้ประกอบการเอง แล้วเขารู้จักทุนในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นก็จะรู้ศักยภาพของตัวเองในการนำไปต่อยอดได้ เช่น รู้จักแหล่งวัตถุดิบดีๆ จะแปรรูปอย่างไร หรือทำตลาดอย่างไรก็ทำเองได้หมด”
ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ อาคม มองว่า การจัดการศึกษาลักษณะนี้ก็มีส่วนเข้าไปช่วยไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเร่งด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด การชวนสถานประกอบการในพื้นที่มารับรู้ปัญหา นำไปสู่การมอบทุนต่างๆ ซึ่งในช่วงโควิด เราพบว่าหลายครอบครัวเกิดปัญหาชะงักงันทางเศรษฐกิจรุนแรง การที่สถานประกอบการเข้ามาสนับสนุนเรื่องทุนในจึงทำให้เด็กจำนวนหนึ่งไม่หลุดออกจากระบบ ความเหลื่อมล้ำจึงลดลงได้บ้าง
“ถามว่าแรงสนับสนุนที่เราอยากได้เพิ่มมีไหม เอาที่ภาครัฐก่อน เอาเข้าจริงด้วยภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าคงไม่สามารถนำมาลงทุนในการศึกษาเพื่อช่วยได้ทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่า คือการที่ภาคราชการมาร่วมมือบูรณาการเพื่อวางเป้าหมายอนาคตในจังหวัดของตัวเองร่วมกัน มาช่วยกันลงมือขับเคลื่อนโอบอุ้ม บางหน่วยงานอาจไม่อยู่ในภาคการศึกษาก็จริง แต่ก็ช่วยได้ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะหลังจากนี้อาจต้องใช้แรงงานหรือต้องการเด็กที่กำลังจบการศึกษามาช่วยกันทำงาน
“อีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ต้องช่วยเหลือเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องทำให้อินเตอร์เน็ทสามารถเข้าถึงได้จริง ไม่ว่าที่บ้านหรือโรงเรียน เพราะต่อให้มีเครื่องมือใดๆ แต่ถ้าไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นความเหลื่อมล้ำอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน ผมเห็นภาพนโยบายว่ามีอยู่ แต่ความครอบคลุมจริงยังไม่มี อีกส่วนคือภาคธุรกิจ เอกชนในพื้นที่แม้จะเริ่มเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการในสมุทรสาคร ส่วนภาคธุรกิจจากภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท ผมคิดว่าอาจช่วยหนุนเรื่องแพ็คเก็จด้านการศึกษาเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาได้ ถ้าองคพยพเหล่านี้ขยับมากขึ้นผมเชื่อว่าจะสามารถช่วยเด็กให้เข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากกว่านี้ครับ” อาคม สรุปทิ้งท้าย