จังหวัดพิษณุโลก มีฐานทุนจากการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มาเป็นเวลา 2 ปี ในขณะที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำงานต่อเนื่องกับ กสศ. ภายใต้โครงการ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างหน่วยงานในจังหวัดที่เข้มแข็ง มีภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขยายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ซึ่งเปรียบเหมือนตาข่ายรองรับเด็กเยาวชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อมีรายงานเคสเด็กยาวชนสุ่มเสี่ยง จังหวัดพิษณุโลก จะมีคณะทำงาน ‘ผู้จัดการรายกรณี’ (Case Manager: CM) พร้อมลงพื้นที่ติดตามทันที พร้อมขุดลงไปถึงรากของปัญหาและเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่น ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม หรือดำเนินการเรื่องเบี้ยยังชีพคนชราหรือผู้พิการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงมุ่งจัดทำฐานข้อมูลบนแพลตฟอร์มมาตรฐาน ที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึง-นำไปใช้-ส่งต่อกันได้รวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทันต่อความต้องการ ไม่สะดุดขาดตอนระหว่างทาง เป็นข้อมูลที่สดใหม่ มีอายุใช้งานยาวนาน และเป็นข้อมูลชุดเดียวที่ใช้ร่วมกันได้สะดวกยิ่งขึ้น
ความเข้มแข็งของเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ทำให้เกิดนวัตกรรมการทำงานแบบ ‘One Stop Service’ โดยเมื่อค้นพบกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาเร่งด่วน ‘ผู้จัดการรายกรณี’ สามารถส่งเรื่องถึงมือหน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมวิเคราะห์ปัญหา ค้นหารูปแบบวิธีการทำงาน และแจ้ง Time Line การให้ความช่วยเหลือทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวได้ทันที หลายกรณีเด็กกลุ่มเสี่ยงรอดจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายและผู้ปกครองมีความมั่นใจว่า ‘ผู้จัดการรายกรณี’ จะดูแลให้บุตรหลานอยู่ในโรงเรียนได้จนจบการศึกษา และมีการส่งต่อข้ามช่วงชั้น ข้ามโรงเรียนเป็นลำดับ
‘แผนงานต่อไป’ และ ‘แรงหนุนเสริม’
ขณะนี้เครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เตรียมพร้อมกับการเดินหน้าจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล เชื่อมโยงสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เพื่อช่วยกันดูแลรองรับเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในและนอกระบบ ด้วยพลังความร่วมมือที่สร้างฐานจากระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน โดยต้องการการหนุนเสริมจาก กสศ. ในการจัดเวทีสัญจรและกิจกรรมประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นการรับรู้และการมีส่วนร่วมยิ่งขึ้นจากคนในพื้นที่