‘พะเยา’ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน
ABE The Series ‘ตัวแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ลดความเหลื่อมล้ำ EP.1

‘พะเยา’ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน

กลไกการทำงาน ‘จังหวัดพะเยา’ บูรณาการเชิงพื้นที่ คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

จังหวัดพะเยา มีโจทย์การทำงานกับเด็กเยาวชนพิการทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยมุ่งสานต่อภารกิจ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)’ โดยองค์การยูเนสโก พัฒนาการเรียนรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มุ่งลดการเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ สวัสดิการ และการบริการสุขภาพ ผ่านการแลกเปลี่ยนทุนทรัพยากรและการทำงานระหว่างหน่วยงานในจังหวัด อาทิ อบจ. กศน. ศูนย์การศึกษาพิเศษ วางแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านการสำรวจความสนใจและจัดกิจกรรมบนฐานความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 

การรวมภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด ทำให้เกิดการระดมทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน นำสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาขึ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ ให้เหมาะสม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การจัดตั้ง ‘ศูนย์การศึกษาพิเศษ 26 แห่ง’ เป็นแหล่งเรียนรู้ในอำเภอต่าง ๆ โดยจัดทำหลักสูตร Upskill-Reskill ที่ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิต รับประกาศนียบัตร และเข้าศึกษาต่อได้ที่มหาวิทยาลัยพะเยา

นอกจากนี้ยังมี ‘โมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคม’ โดยชักชวนภาคเอกชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเด็กเยาวชนจากศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ฝึกทักษะอาชีพ และรับเข้าทำงานเป็นลำดับ 

สำหรับการศึกษานอกโรงเรียนหรือการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.อำเภอเมืองพะเยา ได้ลงพื้นที่ค้นหา สำรวจความต้องการ และรับนักเรียนผู้พิการ 1,466 คนที่สนใจ เข้าเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย ตามแนวทางการส่งเสริมอาชีพบนพื้นฐานการศึกษาตามอัธยาศัย

การทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่สู่การเป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ นั้นทำให้จังหวัดพะเยาสามารถจัดตั้ง ‘กองการศึกษาจังหวัด’ ขับเคลื่อนกลไกโดยศึกษาธิการจังหวัด กศน. เทศบาลเมืองพะเยา ร่วมระดมทรัพยากรและงบประมาณ กำหนดวาระประชุม และวางแผนดำเนินงานที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงติดตามผลงานเป็นระยะ มีการจัดทำ Website ที่เชื่อมโยงข้อมูลการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกแห่งในจังหวัด เพื่อสนับสนุนการผลักดันส่งต่อกลุ่มเป้าหมายให้ถึงมือนวัตกรชุมชน ที่จะพาไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะทาง   

และนอกจากนี้ยังมีการดูแลสุขภาพด้วยกิจกรรม Workshop ส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยมีโรงพยาบาลเวชชารักษ์ จ.ลำปาง ช่วยประเมินสุขภาพกายไปจนถึงสุขภาพใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเก็บข้อมูลสำหรับวางแผนการดูแลช่วยเหลือ และจัดกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการในระยะยาว

การฝ่าอุปสรรคและแรงหนุนเสริม

เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของพะเยาเป็นภูเขา อุปสรรคสำคัญของการขยายการทำงานให้เต็มพื้นที่จังหวัด จึงเป็นเรื่องการเดินทาง ตลอดจนงบประมาณ และเวลาการทำงานที่ไม่ตรงกันของบุคลากร คณะทำงานจึงใช้วิธีกระจายลงพื้นที่ตามความสะดวกเรื่องเวลาและระยะทาง จากนั้นนำข้อมูลกลับมาจัดประชุมออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนสังเคราะห์ และวางแผนทำงานในขั้นตอนต่อไป

อีกหนึ่งความท้าทายของคณะทำงานคือ การพบเจอกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังไม่อาจสรุปได้ถึงความต้องการ หรือแรงบันดาลใจในการศึกษาและการประกอบอาชีพ คณะทำงานกองการศึกษาจังหวัดได้ใช้วิธีเสริมแรงด้วยองค์ความรู้ และกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย จนกลุ่มเป้าหมายพบสิ่งที่สนใจ จากนั้นจึงผลักดันให้ไปต่อ โดยมีหน่วยงานเฉพาะทางพร้อมส่งต่อ-รองรับ โดยไม่เร่งรัดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังพร้อมปรับเปลี่ยนแผนงานไปตามความสนใจที่อาจเปลี่ยนแปลงในระหว่างทาง

และท้ายที่สุด คณะทำงานจังหวัดพะเยาได้เสนอว่า แรงหนุนเสริมที่จังหวัดพะเยาต้องการจาก กสศ. มากที่สุด คือ ‘ต้นแบบการทำงานที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย’ หรือ ‘หลักสูตรเฉพาะทาง’ ที่จะช่วยส่งเสริมให้งานที่ทางจังหวัดทำอยู่แล้ว มีประสิทธิภาพและไปต่อได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่ง กสศ. เองจะช่วยหนุนเสริมข้อเสนอดังกล่าวไปอย่างต่อเนื่อง

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) แก้จุดเจ็บ เย็บจุดขาด “อยากให้การศึกษาเป็นแบบไหน ให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ”