ลงมือดั่ง HOPE ใช้หัวใจแบบ GRIT พาเด็กๆ ก้าวผ่านความรู้สึกอยากยอมแพ้
โดย - นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

ลงมือดั่ง HOPE ใช้หัวใจแบบ GRIT พาเด็กๆ ก้าวผ่านความรู้สึกอยากยอมแพ้

เพราะโควิดจึงทำให้อะไรหลายๆ อย่างหยุดชะงัก แม้แต่เรื่องการเรียนรู้ของเด็กก็ไม่เว้น ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยในหลายภาคส่วนได้ออกแบบนวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อหยุดยั้งวิกฤตนี้ วันนี้นีทอยากจะชวนทุกคนมาพูดคุยวิธีการช่วยเหลือเด็กๆ ในเรื่อง “จิตใจ” เมื่อต้องเจอภาวะการเรียนถดถอย 

ช่วงเรียนออนไลน์ เด็กๆ อาจจะรู้สึก “ฉันเรียนไม่รู้เรื่อง” “ฉันไม่เข้าใจ” และออกมาเป็นผลลัพธ์ว่า “ฉันทำการบ้านไม่ได้” “ฉันจำเนื้อหาที่เรียนไม่ได้” “ฉันตอบคำถามคุณครูไม่ได้”

หากเด็กมีความรู้สึกหรือต้องประสบกับคำว่า “ทำไม่ได้” บ่อยๆ เขาอาจจะรู้สึกแย่กับตนเอง และมีสัญญาณที่จะยอมแพ้ง่ายๆ เช่น “ขอการบ้านง่ายๆ ได้ไหม ยากขนาดนี้ฉันทำไม่ได้” “ฉันจะไม่พยายามกับมันอีกแล้ว เพราะไม่ว่าอย่างไรฉันก็ไม่มีทางเรียนรู้เรื่อง” 

สถานการณ์แบบนี้ ในจิตวิทยาเราเรียกกันว่า LEARNED HELPLESSNESS หากจะอธิบายง่ายๆ มันคือ การที่เด็กๆ เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่า “ฉันทำไม่ได้” บ่อยๆ จนพวกเขายอมจำนน ไม่คิดที่จะสู้หรือพยายามแล้ว ไม่ว่าสิ่งที่เจอจะเป็นเรื่องเก่าหรือเป็นเรื่องใหม่ แต่นีทต้องออกตัวไว้ก่อนนะคะว่า เด็กๆ ทุกคนอาจจะไม่ได้มีระดับความยอมจำนนเท่าที่นีทอธิบายไว้นะคะ เด็กบางคนอาจจะมีน้อย คือ มีอิดออดบ้าง มีบ่นๆ ว่าทำไม่ได้บ้าง หรือเด็กบางคนมีแบบปานกลาง ก็คือเพิ่มระดับความบ่น รู้สึกยอมแพ้บ่อยขึ้น หรือเด็กบางคนมีมาก คือ ไม่ทำการบ้านแล้ว เป็นต้นค่ะ 

แล้วเราจะช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังรู้สึกอยากยอมแพ้ยอมจำนน (มากและน้อย) อย่างไรดี

นีทลองนั่งนึกคำต่างๆ ในจิตวิทยา แล้วคิดว่า มีอยู่ 2 คำ ที่น่าจะตอบคำถามนี้ได้คือ “HOPE” และ “GRIT” ซึ่งก่อนที่เราจะมาพูดถึงวิธีการ เทคนิคต่างๆ เรามารู้จัก 2 คำนี้กันก่อนดีกว่า 

คำว่า “HOPE” หรือความหวัง ที่เราคุ้นชินกันคือ เราหวังว่าชีวิตมันจะดีขึ้น แต่ความหวังในทางจิตวิทยามันหมายถึง การที่เรารู้ว่าตนเองมีเป้าหมายอะไร อยากได้อะไร ต้องการอะไร หรืออยากทำอะไร (โดยมีการวางแผนไว้) และเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าเราจะทำมันได้ 

ส่วนคำว่า “GRIT” หรือความเพียร คำนี้แปลได้ตรงตัวค่ะ คือ การที่เราพยายามเพื่อเป้าหมายหรือสิ่งที่เรามุ่งมั่นอย่างเต็มที่ โดยไม่ยอมแพ้ เราพร้อมอุทิศทุกแรงกายทุกหยาดเหงื่อเพื่อให้มันสำเร็จ (พูดภาษาบ้านๆ คือ ตายเป็นตาย ฉันก็จะทำให้ได้) ซึ่งก็มีคนทำงานวิจัยเกี่ยวกับ 2 ตัวนี้แล้วพบว่า ทั้ง Hope และ Grit มีส่วนช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น และช่วยให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นด้วย 

ถัดมาค่ะ เมื่อเรารู้แล้วว่า ทั้ง HOPE และ GRIT นั้นมีความสำคัญต่อเด็กๆ และน่าจะช่วยให้เด็กๆ ผ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ แล้วเราจะสอนเด็กอย่างไรดี เพราะหากเราแค่พูดกับเด็กเฉยๆ ว่า

  • ลูกต้องไม่ยอมแพ้นะ 
  • ลูกต้องวางแผนในการเรียนนะ
  • ลูกต้องเชื่อว่าลูกทำได้ 
  • ลูกต้อง…

มันอาจจะไม่ได้ช่วยเด็ก หรือคำพูดเหล่านี้อาจจะไปกดดันเด็กๆ มากขึ้นด้วย นีทจึงมีกลยุทธ์เด็ดมานำเสนอ คือ ลงมือดั่ง HOPE ใช้หัวใจแบบ GRIT โดยนีทต้องขอบอกก่อนนะคะว่า กลยุทธ์นี้ผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญมาก โดยทุกครั้งก่อนที่เราจะเริ่มใช้กลยุทธ์ ลงมือดั่ง HOPE ใช้หัวใจแบบ GRIT นีทอยากจะขอให้ผู้ใหญ่ทุกท่าน 

  • มีความใจเย็น ไม่โมโหง่าย
  • รู้สึกว่าเราคือผู้ช่วยหนึ่งเดียวของเด็กๆ
  • อย่าคิดว่าทำไมเด็กถึงทำไม่ได้ ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงไม่เข้าใจเด็ดขาด

เพราะ 3 สิ่งนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัยให้เรากับเด็กขณะใช้กลยุทธ์นี้ค่ะ 

ซึ่งอุปกรณ์ที่เราจะนำมาใช้กลยุทธ์นี้คือ กระดาษ A4 หรือ ครึ่ง A4 โดยให้เราเขียนคำเตรียมไว้ตามภาพได้เลยนะคะ มีด้วยกันอยู่ 4 คำค่ะ ซึ่งมีวิธีการใช้ดังนี้

Hope ฉันหวังว่า……………….เป็นช่องที่ให้เด็กกับเราพูดคุยกันว่า ปัญหาเรื่องการเรียนในช่วงนี้มีอะไรบ้าง แล้วเลือกมา 1 เรื่องที่อยากจะแก้ไข หวังว่าตนเองจะทำได้ดีมากขึ้น (พอเรื่องแรกทำได้ดีแล้ว ค่อยเป็นเรื่องต่อไปนะคะ)

Help เป็นช่องที่เราให้เด็กคิดว่า เรื่องนี้เขาสามารถทำได้เองไหมนะ หรือว่าเขาต้องการผู้ช่วย 

Heal หัวใจ……….. เป็นช่องที่เรามาพูดคุยกันว่า หากตอนที่เรากำลังแก้ปัญหาแล้วเรารู้สึกไม่โอเค อยากจะยอมแพ้แล้ว เราจะบอกกับตนเอง หรือให้กำลังใจอย่างไรดีนะ (อาจจะเป็นคำสั้นๆ หรือยาวๆ ก็ได้นะคะ โดยในครั้งแรกๆ ผู้ใหญ่อาจจะนำในเรื่องนี้) 

Happen เป็นช่องที่หลังจากเราทำกิจกรรมเสร็จแล้ว เราจะลองมาคิดดูว่า แล้วเราทำมันได้มากแค่ไหน โดยถ้าเรารู้สึกว่าทำมันได้มาก ก็ระบายสีช่องนี้เยอะหน่อย

ตัวอย่าง

“ลูกของเราทำการบ้านเลขไม่ได้ คือ พอเจอโจทย์ยาวๆ เช่น 5+ ((3/4*16) + (3/7 *21)) ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” มันจึงถึงเวลาของการใช้กลยุทธ์ ลงมือดั่ง HOPE ใช้หัวใจแบบ GRIT โดยเราอาจจะชวนลูกคุยว่า 

แม่: คือหนูไม่รู้ใช่ไหมคะ ว่าจะทำข้อนี้อย่างไร
ลูก: ใช่ค่ะ มันยาวไปหมด จนไม่รู้ว่าหนูต้องทำตรงไหนก่อน 
แม่: ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นเรามาเขียนที่ช่อง Hope ฉันหวังว่า ฉันจะทำเลขข้อนี้และข้ออื่นๆ ได้ นะคะ 
แม่: แล้วลูกคิดว่า หนูอยากทำเอง หรือต้องการให้แม่ช่วย หรือพ่อช่วยดีคะ วงกลมได้เลย

(ลูกวงกลมว่า ให้แม่ช่วย)

แม่: โอเค เดี๋ยวแม่จะช่วยสอนหนูนะคะ แต่แม่มีคาถาหนึ่งในเวลาที่หนูทำโจทย์เลขพวกนี้นะคะ หากหนูรู้สึกว่า ยากจังเลย ให้บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรๆ อย่าตกใจ เริ่มทำในวงเล็บเล็กก่อน เดี๋ยวก็แก้ได้ นะคะ

พอลูกทำเลขข้อนี้เสร็จแล้ว เราก็ลองให้เขาคิดว่า เขารู้สึกว่าตนเองทำได้มากขึ้นไหม (ระบายสีในช่อง Happen เลย) และในการทำเลขข้อต่อไป เราอาจจะคุยกับลูกว่า

  1. ข้อต่อไป หนูอยากทำไปด้วยกันไหมคะ หรือหนูอยากลองทำเอง ซึ่งถ้าหากลูกตอบว่า อยากให้แม่ช่วยต่อ เราอาจจะสอนลูกอีกสัก 3-4 ข้อ เพื่อให้เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้น
  2. หลังจากผ่านไป 3-4 ข้อแล้ว ให้เราบอกลูกก่อนทำข้อต่อไปว่า งั้นข้อต่อไปลองทำดูนะคะ มันคล้ายๆ กับข้อที่เราทำมาแล้วเลย ติดตรงไหนถามแม่ได้ (พยายามค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลงค่ะ) 
  3. ขณะที่เรานั่งดูลูกทำการบ้าน หากเราเห็นลูกดูทำไม่ค่อยได้ เกาหัว ปากกาดินสอไม่ขยับเลย ลองถามลูกดูนะคะว่าติดตรงไหนไหม เดี๋ยวแม่ช่วย และสอนลูกอย่างใจเย็น
  4. หลังจากทำการบ้านเสร็จทั้งหมดแล้ว ลองให้ลูกคิดดูอีกครั้งนะคะว่า เขาทำได้มากขึ้นไหม โดยหากทำได้มากขึ้น ให้เขาระบายสีที่ช่อง Happen เพิ่มได้เลยค่ะ

นีทเชื่อว่า หากเราค่อยๆ สอนเด็กแบบนี้ เด็กจะเริ่มรู้สึกว่า ตนเองก็ทำการบ้าน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ได้ค่ะ ก่อนจะจากกันไป นีทขอมาสรุปเทคนิคให้ทุกท่านสักนิดนะคะว่า ในกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ สิ่งใดช่วยเพิ่ม HOPE และ GRIT ให้กับเด็กๆ ตามตารางนี้นะคะ

เพิ่ม HOPEเพิ่ม GRIT
การเขียน Hope ฉันหวังว่า เพราะช่วยทำให้เด็กๆ รู้ว่าเขามีเป้าหมายในใจอะไรที่อยากจะทำให้ได้การเขียน Heal หัวใจ เพราะเหมือนเป็นการให้คาถากับตนเองว่า เราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ 
การระบายสีช่อง Happen เพราะช่วยให้เด็กได้มองตนเองใหม่ ว่าฉันก็สามารถทำมันได้นะ และเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นทุกช่วงพฤติกรรมที่ทำงานชิ้นนั้น (ทั้งการทำเอง หรือมีคนสอน) เพราะมันคือความพยายามที่แสดงออกมาผ่านการกระทำ และการมีคนสอนนั้น จะช่วยทำให้เด็กรู้ว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่างไร ต้องแก้ตรงไหน ซึ่งพอรู้แล้ว เด็กจะตั้งใจทำมากขึ้น และไม่รู้สึกยอมแพ้

อ้างอิง :