“ชันโรงไม่มีเหล็กใน เด็กเลี้ยงได้ แล้วในหมู่บ้านของเด็ก ๆ ก็มีแหล่งอาหารมากมายที่จะทำให้ชันโรงผลิตน้ำผึ้งอย่างต่อเนื่อง จึงมีการวางแผนหารือร่วมกันที่จะพัฒนาการเลี้ยงชันโรงให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือเป็นหลักสูตรทางเลือกให้กับน้อง ๆ ที่ต้องการทำเป็นอาชีพ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครอบครัวของเด็ก ๆ ขาดรายได้ยาวนาน”
อาจารย์รัตนา รุ่งสิริสกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จังหวัดราชบุรี เล่าถึงแนวทางพัฒนาหลักสูตรสำหรับน้อง ๆ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นทางเลือก ทางรอด หรืออาจเป็นรากฐานของการสร้างอาชีพยั่งยืนให้กับเด็ก ซี่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากขาดแคลนโอกาส รวมถึงต้องเผชิญความยากลำบากรอบด้านจากวิกฤตที่กินเวลายาวนานกว่าสองปี
“ย้อนไปช่วงก่อนโควิดมาถึง ที่บ้านปันบุญ ตำบลตะนาวศรี ซึ่งดูแลโดยครูสมโชค ปัญญาวรพงศ์ น้อง ๆ กลุ่มนี้จะใช้เวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ และปิดภาคเรียน มารวมตัวกันเรียนทอผ้ากะเหรี่ยงด้วยกี่เอว เป็นงานฝีมือที่ใช้ทั้งทักษะ ฝีมือ ความประณีต และความอดทน โดยกว่าจะได้ออกมาเป็นผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ขณะเดียวกันก็มีหลักสูตรอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นรำกะเหรี่ยง อันเป็นช่องทางที่ช่วยให้น้อง ๆ มีรายได้เสริมจากการแสดงไปพร้อมกับการเรียนหนังสือ แต่พอเกิดโรคระบาด ผ้าทอก็ขายยากขึ้นเพราะมีราคาค่อนข้างสูง ขณะที่การรำซึ่งเคยมีงานจ้างเป็นประจำก็ต้องหยุดไป”
“ยิ่งครอบครัวน้อง ๆ ส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้าง ก็เหมือนว่าหนทางหารายได้ของพวกเขายิ่งตีบตัน แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จากเดิมที่สูงอยู่แล้วก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก”
ระดมกำลังคนพื้นที่ฝ่าวิกฤต ดันหลักสูตรเลี้ยง ‘ชันโรง’
‘ชันโรง’ เป็นแมลงขนาดเล็กจัดอยู่ในจำพวกเดียวกับผึ้ง ตัวเล็กกว่าผึ้งโพรง แต่สามารถเก็บน้ำหวานจากละอองดอกไม้และเกสรมาเป็นอาหารเช่นเดียวกัน ทั้งยังให้ผลผลิตเป็นน้ำผึ้งอีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงจะมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เนื่องจากเชื่อกันว่ามีคุณค่าโภชนาการสูงกว่า ทั้งยังมีปริมาณน้ำผึ้งต่อรังน้อยกว่า และหารังของชันโรงตามธรรมชาติได้ยาก
ทาง มจธ. ราชบุรี และผู้ใหญ่บ้านแมนรัตน์ ฐิติธนากุล ม. 11 บ้านคา ซึ่งเคยเข้ามาเรียนเรื่องเลี้ยงชันโรง กับทางทีมวิจัยพืชพื้นเมือง มจธ. ราชบุรี แล้วกลับไปรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อสร้างอาชีพ จึงเล็งเห็นร่วมกันว่า การ ‘เลี้ยงชันโรง’ จะเป็นทางออกให้กับน้อง ๆ กลุ่มนี้ ทั้งในด้านความปลอดภัย ความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร รวมถึงการเห็นช่องว่างของตลาดที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถสอดแทรกเข้าไปได้
“หลังหารือร่วมกัน จึงมีการวางแผนจัดอบรมเลี้ยงชันโรงให้กับเด็ก ๆ เริ่มจากเรียนรู้เรื่องวงจรชีวิตของชันโรง ระบบในรัง สภาพแวดล้อมและอาหารที่เหมาะสม วิธีเลือกสถานที่ตั้งรัง หรือวิธีการย้ายรัง จากนั้นทางทีมพี่เลี้ยงจะไปที่บ้านน้อง ๆ ทุกคนเพื่อช่วยจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเด็ก ๆ จะได้ชันโรงคนละ 1 รัง พอเริ่มเลี้ยงก็จะช่วยดูจนกว่าชันโรงจะขยายจำนวนจนเต็มรัง แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการสอนวิธีการเก็บน้ำผึ้งโดยละเอียด โดยชันโรงที่มอบให้เด็ก ๆ เราได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการอาสาสมัครการศึกษา ทุนบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง(Bee Park) มจธ. ราชบุรี และภาคเอกชนในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง ที่มอบทุนสนับสนุน”
การันตีรายได้ด้วยพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ปลายทาง
เมื่อพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร เด็ก ๆ จึงจะได้รับการติดตามใกล้ชิดในทุกกระบวนการ โดยเฉพาะในการเลี้ยงครั้งแรก เขาจะต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎี ก่อนลงมือปฏิบัติ เพราะแม้ติดตั้งรังแล้ว ผู้เลี้ยงก็ต้องเอาใจใส่คอยดูว่าตำแหน่งวางรังดีพอไหม อาหารพอหรือไม่ หรือในขั้นตอนเก็บน้ำผึ้ง ถึงชันโรงจะไม่มีเหล็กใน แต่เราก็ต้องใส่ชุดที่มีเนื้อผิวสัมผัสค่อนข้างลื่น เพื่อไม่ให้ชันโรงจำนวนมากมาตอม ซึ่งอาจเกิดอาจอันตรายได้
ส่วนในการพัฒนาเป็นอาชีพ เบื้องต้น สถาบันวิจัยพืช มจธ. ราชบุรี จะรับซื้อผลผลิตที่ได้จากชันโรงทั้งหมดที่เด็ก ๆ ทำได้ จึงตัดปัญหาในเรื่องการมองหาตลาดเพื่อจำหน่ายปลายทาง
“ทางสถาบันวิจัยเองมีการแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการสินค้าที่สูงต่อเนื่อง ตรงนี้คือช่องทางที่สามารถขยายต่อยอดได้ โดยนำผลผลิตของน้อง ๆ เข้ามาเติมในช่องว่างของตลาด แล้วสามารถวางแผนให้เกิดระบบคู่ค้าที่มีฝ่ายผลิตและรับซื้อได้ในระยะยาว
“สำหรับน้ำผึ้งจากชันโรงจะมีราคารับซื้ออยู่ที่ 1 พันบาท ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งอัตรามากน้อยของผลผลิตก็จะขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารของชันโรง โดยข้อดีอีกอย่างของชันโรงคือมีแหล่งอาหารหลากหลายกว่าผึ้งโพรง เราจึงสามารถสร้างแหล่งอาหารเพิ่มไว้ใกล้ ๆ รังเพื่อเพิ่มผลผลิตได้”
อาจารย์รัตนา กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มจากไป ทำให้รายได้ครอบครัวของเด็ก ๆ ยังคงลดลง หรือบางบ้านต้องว่างงานติดต่อกันเป็นแรมปี ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาจึงยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น สิ่งที่คณะทำงานคือ มจธ. และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำ จึงไม่เพียงดูแลใกล้ชิดในเรื่องการเรียน การปันอาหาร หรือช่วยเหลือในเรื่องสุขอนามัย แต่ต้องมองไปถึงการส่งเสริมให้เกิดอาชีพและรายได้ในระยะยาว โดยนอกจากการเลี้ยงชันโรง ทาง มจธ. ยังส่งเสริมให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมงานฝีมือเป็นของที่ระลึก เช่นตุ๊กตาจากงานผ้ากะเหรี่ยงทอมือ เพื่อจำหน่ายภายในพิพิธภัณฑ์ผึ้งซึ่งกำลังจะเปิด และจะต่อยอดไปถึงการขายออนไลน์อีกทางหนึ่ง