เมื่อวันที่ 21 – 22 ก.พ. ที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลการวิจัยสำรวจทักษะความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15 – 64 ปี กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนทักษะพื้นฐานชีวิต (Crisis of Foundational Skills) อย่างรุนแรง กว่า 2 ใน 3 ของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างง่าย 3 ใน 4 ของเยาวชนและวัยแรงงานมีความยากลำบากในการใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่าย ๆ และกว่าร้อยละ 30 ขาดทักษะในการคิดริเริ่มเพื่อสังคมและความกระตือรือร้น โดยการขาดทักษะพื้นฐานดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP ประเทศไทยในปี 2565
แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มเยาวชนและแรงงานเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว วิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยที่เป็นเด็กเล็ก ทยอยสะสมความขาดทุนในทุนชีวิตมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน กสศ. จึงขอชวนทุกท่านร่วมทำความเข้าใจวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยชุดข้อมูลต่าง ๆ และงานวิจัยติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำตามช่วงวัยที่สำคัญ ที่สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ร่วมกับภาคีร่วมดำเนินงาน ดำเนินการศึกษาติดตามมาอย่างต่อเนื่อง
จุดเริ่มต้นของความขาดทุนในทักษะพื้นฐานชีวิต : ปัญหาการขาดแคลนทักษะพื้นฐานในเด็กปฐมวัย
จากการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ซึ่ง วสศ. ดำเนินการร่วมกับคณะผู้วิจัยที่นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมในทักษะพื้นฐานด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และความจำใช้งาน (Working Memory) ของเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 43,213 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2565 พบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening Comprehension) ในระดับที่น่ากังวล โดยมีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศกว่าร้อยละ 25 ที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวในระดับที่ต่ำมาก (เด็กสามารถตอบคำถามจากเรื่องราวที่ฟังได้อย่างถูกต้องไม่ถึงร้อยละ 25 หรือเพียง 1 ข้อหรือน้อยกว่า จากทั้งหมด 5 ข้อ) โดยเกือบทุกจังหวัดมีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังในระดับที่ต่ำมากสูงกว่าร้อยละ 15 (สีแดงเข้ม) และมีบางจังหวัด เช่น จังหวัดปัตตานี มีสัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวต่ำมากสูงถึงร้อยละ 77 ในทำนองเดียวกัน ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า มีจังหวัดจำนวนมากที่เด็กปฐมวัยมีระดับทักษะความพร้อมในการต่อรูปในใจ (Mental Transformation) ในระดับต่ำมากสูงกว่าร้อยละ 15 และมีเด็กปฐมวัยไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่มีระดับความพร้อมด้านความจำใช้งานในระดับต่ำมากเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจข้างต้นอีกประการหนึ่งคือ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลควบคู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ชี้ให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่าเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนที่มีเศรษฐฐานะสูงกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนเด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในระดับประถมศึกษาเสียอีก โดยทักษะทั้ง 3 ด้าน คือทักษะด้านความเข้าใจในการฟัง ทักษะการต่อรูปในใจ และทักษะความจำใช้งาน ถือได้ว่าเป็นทักษะด้านความเข้าใจทางภาษา (Literacy) และทักษะการคิดวิเคราะห์หรือเชื่อมโยงเหตุผล (Logical Reasoning) ที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาทักษะในระดับที่สูงกว่า เช่น ทักษะการอ่าน การทำความเข้าใจข้อความ ทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือทักษะทางดิจิทัล เมื่อเด็กได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นตามลำดับ หากเด็กปฐมวัยไทยยังคงมีปัญหาในทักษะพื้นฐานข้างต้น การต่อยอดสู่การพัฒนาทักษะขั้นสูงอื่น ๆ ก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น
จากความขาดแคลนทักษะพื้นฐานในระดับปฐมวัย สู่การขาดทักษะพื้นฐานในระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา
นอกจากวิกฤตทักษะในเด็กปฐมวัยแล้ว ผลการวิเคราะห์ข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตที่ลุกลามแพร่กระจายไปยังระดับการศึกษาต่าง ๆ โดยในระดับประถมศึกษา จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) พ.ศ. 2565 ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) พบว่าเด็กไทยที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 – 3 เกือบครึ่ง (ร้อยละ 48) มีทักษะการอ่านพื้นฐานไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กในระดับชั้นดังกล่าวควรทำได้ อาทิ การอ่านคำศัพท์ในเนื้อเรื่อง การเข้าใจความหมายตามตัวอักษร และการตีความ และมีเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 – 3 มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 58) ที่มีทักษะด้านการคำนวณพื้นฐานไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กระดับชั้นดังกล่าวควรทำได้ เช่น การอ่านตัวเลข จำแนกตัวเลข บวก และอนุกรมเลขพื้นฐาน โดยปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในเด็กที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะยากจน (สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ, 2566)
หากพิจารณาในระดับมัธยมศึกษา จากผลการประเมินนักเรียนในโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) พบว่ามีนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี กว่า 2 ใน 3 ที่มีทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจะสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างมีความหมาย เช่น การเข้าใจวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของผู้เขียนในบทความ หรือการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ (ร้อยละ 68.3 และ 65.4 ตามลำดับ) และกว่าครึ่งที่มีทักษะวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานในการเข้าใจและอธิบายปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป (ร้อยละ 53) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศ OECD กว่า 2 เท่า
วิกฤตทักษะนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทักษะ Hard Skills หรือทักษะเชิงความรู้หรือเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงทักษะ Soft Skills หรือทักษะทางอารมณ์สังคมที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกยุคปัจจุบันอีกด้วย จากผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness Survey) ใน 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ที่ วสศ. ดำเนินการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวมของประเทศ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 3 มีทักษะทุนจิตวิทยาเชิงบวก (หากล้มแล้วสามารถลุกได้) ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ทักษะความร่วมมือกัน อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่มีทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่เด็กในวัยดังกล่าวควรมี นอกจากนี้ ผลการประเมินยังบ่งชี้ว่า นักเรียนไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้เกิดการถดถอยในทักษะ Soft Skills ลดลงมากถึงร้อยละ 30- 50 และกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์นั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่มาจากครัวเรือนยากจน
ฝ่าวิกฤตทักษะทุกช่วงวัย ด้วยการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่มีคุณภาพและเสมอภาค
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ ที่หยิบยกมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ปัญหาการขาดแคลนทักษะพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการอ่าน ทักษะด้านดิจิทัล หรือทักษะทางอารมณ์สังคม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวกระจายอยู่ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงประชากรวัยแรงงานในสัดส่วนและขนาดความรุนแรงไม่ต่างกัน การที่ผู้ใหญ่จะมีทักษะการเข้าใจข้อความในการแก้ปัญหา จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านที่ดีตั้งแต่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทักษะการอ่านที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมต้องอาศัยพื้นฐานการฟังที่ดี ที่ควรได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ขณะที่ทักษะด้านดิจิทัลก็จำเป็นต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล ที่ได้รับการพัฒนาผ่านรายวิชาต่าง ๆ รวมทั้งรายวิชาคณิตศาสตร์ และการฝึกฝนทักษะด้านเหตุและผล อย่างทักษะการต่อรูปในใจ ในระดับปฐมวัย ในทำนองเดียวกัน ทักษะทางอารมณ์สังคมก็มิได้เกิดได้ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการบ่มเพาะ อบรม พัฒนามาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ก่อนจะผลิดอกออกผลในช่วงวัยทำงาน
ดังนั้น การที่ข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึง “วิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตทุกช่วงวัย” ดังที่นำเสนอมาข้างต้นนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย หากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมยังคงนิ่งเฉย และปล่อยให้วิกฤตนี้ลุกลามอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ประชากรวัยแรงงานและประเทศไทยในปัจจุบันเท่านั้นที่จะขาดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ แต่จะหมายถึงกำลังคนในวันข้างหน้าที่จะยิ่งมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก ในโลกอนาคตที่ทักษะและงานมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์มากขึ้น และมนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่อยู่เสมอ สามารถนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาเป็นส่วนเสริมในการต่อยอดองค์ความรู้ (Intelligence Augmentation) ของพวกเขาได้ การขาดทักษะพื้นฐาน เช่น การทำความเข้าใจข้อความ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะชีวิตอย่างทักษะอารมณ์สังคม ของคนส่วนใหญ่ในทุกช่วงวัย จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างมากสำหรับอนาคตของประเทศ
การแก้ปัญหาเพื่อฝ่าวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตทุกช่วงวัย จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่ขาดหายมิให้เป็นการขาดทุนสะสมที่จะทยอยสะสมขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาวะล้มละลายทางทุนชีวิตในวัยผู้ใหญ่ โดยควรมีการดำเนินมาตรการในแต่ละช่วงวัยที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเต็มที่ อาทิ การส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และการยกระดับทักษะการเลี้ยงดูเด็กเล็กของผู้ปกครองในกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่าสามารถพัฒนาทักษะความเข้าใจในการฟังและทักษะการต่อรูปในใจในเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ (Kilenthong et al., 2023) การจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะ Soft Skills ให้กับผู้เรียนในช่วงวัยต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้ารับการอบรมเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ (Upskill and Reskill) ซึ่งผลการวิจัยศึกษาของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามออกจากทักษะพื้นฐานชีวิตได้
นอกจากนี้ การวิเคราะห์และผลการศึกษาวิจัยยังช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีข้อมูลที่มีคุณภาพในการติดตามสถานการณ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย ที่จะคอยทำหน้าที่เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถวินิจฉัยโรคที่ซ่อนอยู่หรือติดตามสถานการณ์ของโรคที่มีอยู่ได้ และดำเนินมาตรการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่โรคจะลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากและสายเกินไปที่จะแก้ไขให้หายหรือทุเลาลงได้
เอกสารอ้างอิง
- Kilenthong, W. T., Boonsanong, K., Duangchaiyoosook, S., Jantorn, W., & Khruapradit, V. (2023). A Randomized Evaluation of an On-Site Training for Kindergarten Teachers in Rural Thailand. Working Paper.
- OECD (2023). PISA 2022 Results (Volume I): The State of Learning and Equity in Education, PISA. OECD Publishing. https://doi.org/10.1787/53f23881-en
- สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ (2566). รายงานฉบับสมบูรณ์ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. https://www.unicef.org/thailand/th/reports/การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย-mics-พศ-2565