กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมเวทีนโยบายระดับสูง ทิศทางการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Fostering Foundational Skills for a Sustainable Future of Thailand) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม World Ballroom B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอ ‘รายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565’ เป็นการวิจัยว่าด้วยประเด็น ‘ทักษะพื้นฐานชีวิต’ (Foundational skills) ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทย ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) และภาคีเครือข่ายในประเทศไทย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ในการประชุมเวทีนโยบายระดับสูง กสศ. ยังได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านการศึกษาและแรงงานเข้าร่วมการเสวนา การระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อยอดจากรายงานข้างต้นเพื่อหาแนวทางการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นการนำเสนอรายงานการวิจัยชิ้นนี้ของ กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายหลากหลายหน่วยงาน เพื่อนำข้อค้นพบ การทบทวนสถานการณ์ การสรุปงานในช่วง 2 ปี ของการทำงาน ก่อนการนำเสนอที่จะนำมาต่อยอดในเชิงนโยบาย ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติจริง เพื่อให้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
‘ทักษะพื้นฐานชีวิต’ เพิ่มขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันระดับโลก
การประชุมเวทีนโยบายระดับสูงในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกรอบแนวคิดและแนวทางการส่งเสริมทักษะพื้นฐานชีวิตในประเทศไทย เพื่อให้ภาพกว้างของรายงานการสำรวจในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายโคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก และ นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ให้ภาพกรอบแนวคิดและแนวทางเบื้องต้นของปัญหา การทบทวน และการสร้าง ‘ทักษะพื้นฐานชีวิต’ ในประเทศไทย
นางสาวธันว์ธิดาระบุว่า การสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย พ.ศ. 2565 เป็นการประเมินขีดความสามารถของเยาวชนและประชากรแรงงานไทยมากกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศเป็นครั้งแรก เสมือนการประเมิน ‘PISA วัยแรงงาน’ โดยความร่วมมือกับธนาคารโลก เพื่อสร้างมาตรฐานการประเมินระดับสากล รวบรวมประเด็นปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหรือส่วนต่าง ๆ จะได้นำไปปรับใช้ในเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่มรายได้และหลุดออกจากกับดักความยากจนอย่างยั่งยืน
ด้านนายมิยาโมโตะ เน้นยํ้าถึงความสำคัญของทักษะพื้นฐานชีวิตว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ เปรียบเสมือนการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เหมือนรากฐานตึกที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งทักษะทุนชีวิตไม่เพียงนำไปสู่การเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ แต่ยังรวมถึงการมีวุฒิภาวะของประชากรด้วย
ทั้งนี้ ทักษะพื้นฐานชีวิต (foundational skills) คือ ความสามารถด้านสมรรถนะที่เด็กและเยาวชน และประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี เพื่อเผชิญกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 อันประกอบไปด้วยลักษณะ 3 ประการคือ 1) พื้นฐาน (fundamental) 2) ก้าวหน้า (progressive) และ 3) ถ่ายทอดได้ (transformative)
การมีทักษะพื้นฐานชีวิตข้างต้นนั้น จะส่งผลต่อการทำงานในอนาคตด้วย โดยมี 3 องค์ประกอบดังนี้ 1) การอ่านออกเขียนได้ (literacy) 2) ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill) และ 3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill)
เมื่อนำกรอบแนวคิดทักษะพื้นฐานชีวิตมาใช้ในการสำรวจเด็กและเยาวชน และประชากรวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 15-64 ปี ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตด้านทักษะหลายอย่าง เหมือนที่พบในหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คือมีทักษะพื้นฐานชีวิตที่ ‘ตํ่ากว่าเกณฑ์’ ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐาน (ไม่ใช่เพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องทำความเข้าใจ ประเมิน วิเคราะห์ได้) การคำนวณอย่างง่าย รวมถึงการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้
นอกจากนี้ บริบทเบื้องหลังของวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิตของไทย วางอยู่บนปัญหา 3 ประการคือ 1) หลักสูตร/โปรแกรม/การเรียนรู้ ที่เน้นแนวทางที่ใช้แล้วได้ผล ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 2) ครู/อาจารย์ ไม่ได้รับการฝึกฝน ขาดทักษะการสอน และ 3) โอกาสในการเรียนรู้ โดยยังมีกลุ่มเปราะบางเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาส และเข้าไม่ถึงมาตรฐานการศึกษาที่เท่าเทียม
ทั้งนี้ จุดเริ่มของวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิต เกิดขึ้นตั้งแต่การเรียนรู้ในระดับปฐมวัย ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในช่วงวัยอื่น ๆ รวมถึงการเรียนรู้ในช่วงวัยแรงงาน ดังนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) เน้นบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงท้องถิ่น เพื่อการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
สุดท้าย นายมิยาโมโตะเน้นยํ้าว่า “ทักษะพื้นฐานชีวิต ช่วยให้คนสามารถเอาชนะความท้าทาย และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 ได้” หากประชากรมีทักษะดังกล่าวแล้ว จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศ และจากตัวเลขที่พบในหลายประเทศ การเพิ่มขึ้นของการอ่านออกเขียนได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ร่วมหาแนวทาง เร่งสร้างทักษะพื้นฐานชีวิต สู่การพัฒนากำลังคน
ในช่วงถัดมามีการเสวนา หัวข้อ ‘แนวทางการสร้างโอกาสทักษะพื้นฐานชีวิตสู่การพัฒนากำลังคน’ กสศ. ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนของไทยคือ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า และอดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นายวราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมนำเสนอแนวทางการสร้างโอกาสทักษะพื้นฐานชีวิตสู่การพัฒนากำลังคน หลังทราบจากรายงานในข้างต้นแล้วว่าคนไทยขาดทักษะพื้นฐานชีวิต และจะสามารถพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นได้อย่างไร
นายวราวิชญ์ จาก TDRI ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติในเชิงนโยบายว่า ทุกภาคส่วนต้องหันมาทำความเข้าใจปัญหาใจกลางที่เยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดทักษะพื้นฐานชีวิต เมื่อทำความเข้าใจแล้วจึงแปลงออกมาเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงต่อพื้นที่และบูรณาการกับทุกฝ่าย จัดลำดับความสำคัญของนโยบายสำหรับการปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สิ่งสำคัญมากที่สุดคือ การผลักดันให้ทักษะพื้นฐานชีวิตเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เพื่อให้เกิด
ด้าน ดร.แบ๊งค์ เห็นว่า รายงานฉบับนี้คือ รายงาน ‘3 ใช่’ คือออกมาใน เวลาที่ใช่ (right time) มีข้อถกเถียงที่ใช่ (right agrument) และข้อเสนอแนะที่ใช่ (right recommendation) แต่สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือ การตั้งโจทย์ถึงทิศทางการพัฒนา การมีมาตรการ และการผลักดันให้เกิดผล
ขณะเดียวกัน การเสริมทักษะพื้นฐานชีวิตเพื่อพัฒนากำลังคน ต้องมีความรัดกุมในเชิงนโยบาย เพราะจะต้องครอบคลุมแรงงานที่มีระดับทางทักษะแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทักษะในระดับกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มิฉะนั้นคนเหล่านี้จะหลุดออกจากตลาดงาน ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลง นำมาสู่ความเหลื่อมลํ้าในที่สุด
สุดท้าย ดร.แบ๊งค์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือ เสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้แก่แรงงานที่อยู่ในตลาดงานแล้ว และแรงงานที่กำลังเข้าสู่ตลาดงานในอนาคต ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการดำเนินการด้วยเงื่อนไข ‘การผูกมัดทางการเมือง’ (political commitment) เป็นวาระแห่งชาติที่มีความต่อเนื่อง มีกรอบเวลาชัดเจน ทุ่มเททรัพยากรที่ตรงกับสัดส่วนของปัญหา การกระจายอำนาจ การกระจายงาน จะต้องมาพร้อมกับการประเมินด้วย
ด้านศาสตราจารย์วุฒิสาร มองว่า ปัญหาทักษะของคนไทยไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นวิกฤตในการจัดการวิกฤต ซึ่งการสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตต้องมีทิศทางที่ชัดเจนก่อน และเชื่อมโยงไปกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ และต้องทำให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง
รองนายกฯ ยํ้า ‘สัญญาประชาคม’ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตให้คนไทย ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
ในเวทีการประชุมภาคบ่าย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. และ ดร.เอ็นเดียเม ดิออป (Dr.Ndiame Diop) ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประเทศบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวรายงานต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมเวทีนโยบายระดับสูงครั้งนี้ เพื่อเปิดงานการประชุมอย่างเป็นทางการ รวมถึงนำเสนอถึงความสำคัญของรายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565
ดร.ประสาร กล่าวรายงานต่อประธานในที่ประชุมว่า การพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ให้กลายมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษา พัฒนากำลังคน สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมทั้งคุณภาพและปริมาณ ดังนั้น 3 ภาคีคือ กสศ. ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกันเพื่อหาข้อค้นพบใจกลางปัญหาของการพัฒนากำลังคนของไทย ผ่านงานวิจัยคุณภาพและเป็นสากล เพื่อแปลงออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21
โดยรายงานฉบับนี้ได้เจาะลึกใจกลางปัญหาว่า คนไทยยังคงขาดทักษะพื้นฐานชีวิต ส่งผลให้ไม่สามารถปรับตัวต่อความท้าทายและความเปลี่ยนแปลง จำต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยทักษะที่ตนเองขาดหายไป ทั้ง 3 ภาคี จึงขอนำเสนอรายงานฉบับนี้ต่อรัฐบาล เพื่อเร่งลงทุนพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (learning culture) อีกทั้งลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และก้าวข้ามการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ด้วยการดำเนินนโยบายบนพื้นฐานข้อมูล (evidence base) จากรายงานฉบับนี้ ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาต่อนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลไทยและประเทศไทยได้
ด้าน ดร.เอ็นเดียเม กล่าวผ่านวีดิทัศน์เพื่อรายงานต่อประธานในที่ประชุม โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาการขาดทักษะพื้นฐานชีวิต และพร้อมให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลไทย รวมไปถึงภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย ในการผลักดันและเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิต ด้วยการนำข้อมูลเหล่านี้ไปดำเนินการทางนโยบาย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิต สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ รัฐบาลพร้อมนำรายงานวิจัยฉบับนี้ไปเป็น roadmap เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการพัฒนาคน ยกระดับรากฐานทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงในอนาคตอันใกล้นี้ ที่สำคัญที่สุดคือ การบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับคนไทยทุกคน และถือว่านี่คือ ‘สัญญาประชาคม’ เพื่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
เจาะลึกวิกฤตทักษะพื้นฐานชีวิต อดีต รมว.ศึกษาธิการโคลอมเบีย ร่วมแชร์ประสบการณ์
ภายหลังการเปิดงานอย่างเป็นทางการ นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก และ นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ได้นำเสนอรายงานอย่างเจาะลึกเพื่อให้รายละเอียด ซึ่งเป็นภาคต่อจากการประชุมในภาคเช้า โดยชี้ให้เห็นถึงกรอบแนวคิดและความสำคัญของทักษะพื้นฐานชีวิตของประเทศไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ขาดทักษะพื้นฐานชีวิตมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพที่ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เมื่อประชากรไม่สามารถติดทักษะพื้นฐานชีวิตได้ จะนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดช่องว่างด้านรายได้ระหว่างผู้ที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์และผู้ที่มีทักษะตํ่ากว่าเกณฑ์ กว่า 6,300 บาทต่อเดือน พร้อมนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า ประเทศไทยควรเร่งยกระดับทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่อรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ กสศ. ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวมาเรีย วิกตอเรีย แองกูโล (Ms.Maria Victoria Angulo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการการศึกษาเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมทักษะพื้นฐานชีวิตจากต่างประเทศ
มาเรียมองว่า โคลอมเบียในอดีตที่ผ่านมาประสบปัญหาวิกฤตประชากรขาดทักษะพื้นฐานชีวิตไม่แตกต่างจากประเทศไทยนัก จนกระทั่งได้ร่วมมือกับทางธนาคารโลกเพื่อหาข้อค้นพบและนำข้อมูลทั้งหมดมาปฏิบัติผ่านนโยบายด้านการศึกษา ในการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตนี้ คือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นเป็นหมุดหมายแรกของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ก่อนกระจายตัวออกไปในระดับชาติ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างแท้จริง มีการติดตามข้อมูล ออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ผู้เรียนและสร้างทักษะใหม่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การให้ ‘ครอบครัว’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตในประชากร ส่งผลให้โคลอมเบียสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตได้ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น
สุดท้ายนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวปิดการประชุมเวทีนโยบายระดับสูงว่า การจัดงานในครั้งนี้ช่วยให้ภาคีที่เกี่ยวข้องมองเห็นกรอบแนวคิดและวิธีการมากกว่าทฤษฎี เกิดการรวบยอดทางความคิดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในทางปฏิบัติได้ หากประเทศไทยต้องการให้เด็กทุกคนมีความเสมอภาคทางการศึกษา คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริม ‘ทุน’ ที่ทุกคนต้องมีเพื่อการพัฒนาที่ดีกว่าเดิม พร้อมขอบคุณความอนุเคราะห์จากภาคส่วนต่าง ๆ หากมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอ หรือแนวทางใด ๆ ในการปฎิบัติให้เกิดผลจริง ทาง กสศ. พร้อมรับและสนับสนุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
อ่านรายงานวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ได้ที่ คลิก