“ถึงโรงเรียนเรามีเด็กห้าร้อยกว่าคน แต่เราดูแลกันแบบครอบครัว…ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ครูทุกคนเรามีข้อตกลงร่วมกันว่าจะช่วยเป็นหูเป็นตา สังเกตติดตามและช่วยเหลือเด็กทุกทางที่ทำได้ ไม่ว่าเจอกับเงื่อนไขอะไร เด็กไม่มีเงิน ไม่มีรถ บ้านอยู่ไกล เดินทางลำบาก เราจะช่วยกันหาทางแก้ปัญหาให้ได้
“พวกเราคิดเหมือนกันว่า ครูต้องไม่ใช่แค่สอนหนังสือตามเวลา แต่เราต้อง ‘ฉุด’ ให้เด็กอยู่ในโรงเรียน และ ‘สร้าง’ ที่ทางให้เด็กมีตัวตนในระบบการศึกษา คือเรื่องแบบนี้ถ้าใครทำอยู่แค่คนเดียว วันหนึ่งเขาหมดแรงมันก็จบ แต่เราทำได้เพราะมีทีมที่ทุกคนมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน มันก็มีบ้างที่มีคนเหนื่อย หมดแรง หรือไฟมอดชั่วครู่ชั่วคราว ซึ่งคนที่เหลือก็จะช่วยเติมแรงเติมไฟให้กันได้ อย่างช่วงโควิด-19 เราเจอโจทย์ที่หนักขึ้น ก็มีโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดเข้ามารับช่วง นี่คือความหมายของการที่แต่ละคนยื่นมือมาคนละมือ ช่วยกันคว้า ผลัดกันจับ ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายเราจะเจอทางที่ทำให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นจนได้”
ครูธีระพล พงษ์พิมาย ในฐานะตัวแทนคณะครูโรงเรียนบ้านบาละ อำเภอกายัง จังหวัดยะลา กล่าวถึงการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาที่ทำต่อเนื่องมาแล้วเกือบสิบปี จนพูดได้ว่าแม้จะตั้งอยู่ในโซนพื้นที่สีแดง ห่างไกลจากเขตเมือง แต่ก็ไม่มีเด็กที่หลุดจากระบบกลางทางแม้แต่คนเดียว ทั้งยังมีการส่งต่อ ติดตามการเติบโตของน้องๆ กลุ่มนี้ไปจนถึงชั้นมัธยมปลายหรือระดับมหาวิทยาลัย
ถ้าวิถีไม่เปลี่ยน ความเสี่ยงก็ไม่มีทางหมดไป
แบบอย่างการทำงานของโรงเรียนบ้านบาละ สามารถบอกเล่าผ่านเรื่องราวของเด็กชายวัย 12 ปี อับดุลตอเละ บาการี หรือ ‘ตอเละ’ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านบาละ
ตอเละเป็นพี่คนโตของน้องๆ สี่คน มีพ่อกับแม่ที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างกรีดยางและตัดไม้แลกค่าแรงราววันละร้อยบาทตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน ราวเจ็ดโมงเช้า แม่ของตอเละจะขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับตอเละกับน้องไปส่งที่โรงเรียน ทำให้บางวันที่งานติดพัน ปลีกเวลามาไม่ได้ ตอเละจะไม่ได้มาโรงเรียน และมีหน้าที่ดูแลน้องๆ อยู่บ้าน
“เด็กกลุ่มนี้เราต้องจับสัญญาณให้พบโดยเร็วว่าเขามีความเสี่ยง หนึ่ง ขาดเรียนบ่อย สอง ไม่ร่าเริง สาม เวลาเรียนมักเหม่อลอย ไม่ตอบสนองกับครูหรือกับเพื่อน และสี่คือ เขาจะไร้แรงขับในการเรียน ไม่มีเป้าหมายอนาคต นี่คือสี่สัญญาณที่ต้องรีบช้อนให้ไวที่สุด เอาเข้ามาดูแล หาทางเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ได้ เพราะพอขาดเรียนบ่อย เขาจะเริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง ทักษะวิชาการไม่มี ทักษะสังคมถดถอย รู้สึกแปลกแยกเวลาอยู่ในโรงเรียน สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะหายไปเฉยๆ
“ครั้งแรกที่ตอเละหายไปคือตอน ป.4 เทอมแรก ก่อนหน้านั้นมีสัญญาณคือ เดือนหนึ่งๆ เขามาเรียนแค่สองสามวันแล้วก็ไม่มาอีก ครูก็คุยกัน ให้เพื่อนไปตามที่บ้าน เขาบอก ‘ผมต้องดูแลน้อง’ ถึงตรงนั้นเหมือนเราเจอทางตัน ก็มองว่าต้องคุยสามฝ่าย ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และเราที่เป็นครู อาศัยการพูดคุยเชิงลึก ไม่ใช่แค่ชวนให้กลับมาเรียน แล้วไม่ใช่คุยครั้งสองครั้ง แต่บางครั้งเทียวไปเทียวมาเป็นสิบครั้งจนแทบถอดใจ แต่ครูเราหลายคนก็ช่วยกันหาทาง เวียนเข้าไปบ่อยๆ เอาความจริงใจเป็นตัวตั้ง ให้ผู้ปกครองเชื่อว่าถ้ากลับมาแล้ว เรามีกระบวนการดูแล มีทางให้เขาไปต่อ หาทางออกด้วยกัน ไม่ได้พากลับมาแล้วทิ้งให้เขาต้องสู้คนเดียวลำพัง”
ฟื้นฟูทักษะวิชาการ+ปรับสภาวะจิตใจผ่าน ‘กิจกรรมทำขนม’
ตอเละกลับมาเรียนอีกครั้งในช่วง ป.4 เทอม 2 ระหว่างที่ไม่มาโรงเรียน ครูช่วยกันเอางานไปให้ทำ หาบทเรียนเสริมไปให้เป็นระยะ แต่อุปสรรคคือบ้านตอเละไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องมือการเรียนรู้ใดๆ เลย กลางวันทำงานเลี้ยงน้อง พอตกกลางคืนบ้านมืดสนิท มีเพียงแสงสลัวจากเทียนและตะเกียงเก่า
เส้นสายเล็กบางที่เกี่ยวตอเละไว้กับการศึกษาบ้าง คือไฟฉายคาดหัวที่แม่ใช้ส่องทางขณะกรีดยางทุกย่ำรุ่ง ที่ตอเละเอามาปรับใช้ทบทวนการอ่านการเขียน
“มันไม่ได้ผลหรอก ถ้าเราปล่อยให้เด็กทำการบ้านทบทวนบทเรียนในสภาพที่ไม่มีความพร้อมเลย’ ครูธีระพลกล่าว
กลุ่มครูจึงช่วยกันพัฒนาหลักสูตรพิเศษที่จะเชื่อมโยงให้เด็กกลับมา และไปต่อได้ ด้วยกิจกรรมที่ทั้ง ‘สนุก’ และ ‘อร่อย’ บนแนวคิดที่ว่าจะไม่เอาภาควิชาการมายัดเยียดให้เด็ก แต่จะนำกิจกรรมใกล้ตัว สนุกสนาน และเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพในอนาคตได้ มาสอดแทรกวิชาการคำนวณ ภาษา สร้างทักษะการคิด แก้ปัญหา หรือการวางแผนเข้าไป เพื่อให้เด็กอยู่กับการเรียนรู้ได้โดยไม่รู้สึกต่อต้าน
“เราสร้างกลุ่มฝึกทักษะอาชีพการทำขนมขึ้นที่โรงเรียน มีเครื่องมือ มีครูสอน เป็นบทเรียนที่กินได้ ได้ลงมือปฏิบัติ เห็นผลกันทันทีว่าเรียนไปเพื่ออะไร เด็กๆ ได้รู้จักเครื่องมือทำขนม ได้ชั่งตวงวัดคำนวณอัตราส่วนของส่วนผสม ต้องฝึกอ่านเขียนสูตรทำขนมต่างๆ จำและออกเสียงยี่ห้อผลิตภัณฑ์ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อไปซื้อของมาเติมได้ แยกชนิดได้ว่าแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน แป้งสาลี ต่างกันยังไง ใช้ทำอะไรได้บ้าง นี่คือกระบวนการที่ทำให้เขาได้เรียนภาษา คณิตศาสตร์ เพิ่มพูนทักษะสังคมโดยไม่รู้ตัวเลย
“ชีวิตของเด็กในพื้นที่ ถ้าไปเคร่งครัดอ่านเขียนท่องจำ เขาจะไม่รับ เพราะไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร แต่พอมีกิจกรรมเชื่อมโยงให้ แต่ละคนก็พัฒนาไปได้ในหลายมิติ อย่างตอเละ เขาทำเบเกอรี่เก่งมาก ทำได้ทุกอย่าง เค้ก คัสตาร์ด เมอแรง ชิฟฟอน รับจัดเบรกได้ แล้วเขาดีใจที่มีทักษะอาชีพติดตัว วันหนึ่งเอาไปต่อยอดได้ หาเงินได้ มีผลรับเป็นรูปธรรม”
วิกฤตโควิด-19 มาถึง ตอเละหลุดอีกครั้ง
กับภารกิจของครูที่ ‘เอื้อมมือออกไปเท่าไหร่ก็แทบคว้าไว้ไม่ถึงแล้ว’
ครูธีระพลเล่าว่า แม้จะมีกระบวนการเหมาะสมและคณะครูที่ทุ่มเท เมื่อผลกระทบจากโควิด-19 มาถึง รูปแบบปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไป
“รอบนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย ในช่วงโรงเรียนปิดยาวนาน ตอเละกับโรงเรียนขาดกันไปเลย เด็กไม่มีโทรศัพท์ ครูเข้าไปหาในพื้นที่ไม่ได้ ยังไม่นับว่าการจำกัดเวลาทำงานและการล็อกดาวน์ที่ทำให้ครอบครัวของตอเละแทบไม่มีรายได้อีก ถึงตรงนี้แม้ชื่อตอเละยังอยู่ที่โรงเรียน แต่ในทางทฤษฎีคือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปทั้งตัวแล้ว ถ้านับระยะเวลาก็ตั้งแต่ ป.5 ถึง ป.6 หรือเกือบ 1 ปีเต็ม
“เราคิดกันไปต่างๆ นานา ว่าจะช่วยกันประคองตอเละไว้ได้อย่างไร แล้วครูเราจะไหวแค่ไหน ภารกิจครั้งนี้เป็นงานที่หนักมาก มองไปไม่เห็นทางออกเลย แต่ขณะที่เรากำลังจะยอมรับกันแล้วว่า ครั้งนี้อาจจะสุดมือคว้าไว้จริงๆ ก็กลับมีมือที่มองไม่เห็นยื่นเข้ามา ซ้ำยังเป็นมือที่แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม…”
‘ห้องเรียนฉุกเฉินพร้อมเปิดประตูรับเด็กทุกคน แม้ไม่อยู่ในพื้นที่อำเภอนำร่อง’
เบญจา พรหมเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาละ กล่าวว่า การเข้ามาของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดยะลา ซึ่งนำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา คือจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาด้วยผลกระทบจากโควิด-19
“เราทราบว่ายะลามีเครือข่ายคณะทำงาน ค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่หลุดหรือมีความเสี่ยงหลุดจากระบบ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ข้อมูลที่ทราบคือเป็นการทำงานใน 4 อำเภอนำร่อง ซึ่งโรงเรียนเราไม่อยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ด้วยใจที่ตั้งมั่นแล้วว่าจะหาทางช่วยเหลือเด็กทุกทางที่ทำได้ จึงตัดสินใจนำเรื่องของตอเละส่งไปที่ อบจ.ยะลา คณะทำงานก็ลงพื้นที่ทันที ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมวางแผนช่วยเหลือในระยะยาว
“ด้วยขอบเขตการทำงานที่ครอบคลุมระดับจังหวัด ทั้งการตัดสินใจเรื่องต่างๆ การเดินทางเข้าออกพื้นที่สีแดง และเครือข่ายที่โยงใยจากทุกทิศทาง เบื้องต้นครอบครัวของตอเละจึงได้รับความช่วยเหลือด้านการประทังชีวิต พร้อมกับมีทีมงานที่มาช่วยออกแบบวิธีการ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ครูและทีมหนุนเสริมต่างๆ เข้ามาฟื้นฟูแผนการเรียนรู้ให้กับตอเละและน้องๆ ได้ เป้าหมายตอนนี้คือการประคองเด็กในภาวะวิกฤตก็จริง แต่โครงการยังมองไปถึงความเสี่ยงในระยะยาว พร้อมที่จะสนับสนุนทุกรูปแบบ เพื่อพาครอบครัวของตอเละให้ไปต่อได้ในอนาคต
“เป้าหมายของเราในฐานะครู คือเห็นเด็กอยู่ในระบบได้นานที่สุด และใช้การศึกษาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ แม้วันนี้เรายังมีจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบ และกลุ่มเสี่ยงกระจายในพื้นที่ต่างๆ แต่ผมเชื่อว่าเรามีครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูเต็มเปี่ยม มีเครือข่ายจังหวัดที่รวมพลังเข้มแข็ง นี่คือ ‘ความมั่นคง’ ทางการศึกษาที่จะจุดประกายให้การช่วยเด็กกลุ่มนี้” ครูธีระพลกล่าวทิ้งท้าย
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่ แต่การทำงานของคณะครูโรงเรียนบ้านบาละ ที่ทำร่วมกับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา พร้อมการเกิดขึ้นของ ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเด็กจังหวัดยะลา’ ได้กลายมาเป็นความหวังของตอเละกับน้องๆ รวมไปถึงเด็กเยาวชนคนอื่นๆ และเป็นกำลังใจให้คนยะลามีความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์…จะเป็นไปได้ในวันหนึ่ง