กลุ่มเป้าหมาย : เด็กในชุมชนที่ไม่ต้องการเดินทางไปเรียนไกลบ้าน และอยากเรียนหลักสูตรการศึกษาที่อิงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติในพื้นที่
สลายปมในและนอกระบบ | ตอบโจทย์ชีวิตจริง | เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ |
-เด็กได้อยู่ใกล้ครอบครัว ไม่ต้องไปเรียนที่ไกลๆ ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ร่วมกัน กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างโรงเรียนกับชุมชน | -เน้นเรื่อง“ศาสตร์ของชุมชน” บ้านห้วยพ่านเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่ห้องเรียนมีขนาดใหญ่ที่สุดก็คือ ป่าไม้ แหล่งน้ำและวิถีชีวิตของคนในชุมชน | -ถ้าเรียนเก่งเด็กต้องเก่งทั้งห้อง ถ้าไม่เก่งก็ขอให้เป็นคนดี 1 มีจิตใจเป็นสาธารณะ 2 มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่3 รู้จักทำงานเป็นทีม 4 ช่วยเหลือกันและกัน -ครูเปิดพื้นที่ให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าที่จะถาม กล้าที่จะเรียน กล้าที่จะศึกษา เพื่อให้เด็กมีหลักคิด |
ลองนึกภาพตาม…ก่อนจะมี “ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน” จังหวัดน่าน ซึ่งมีนิยามต่อท้ายว่า “โรงเรียนชุมชน” นั้น การศึกษาของเด็กๆที่นี่เป็นแบบไหน
ก่อนปี พ.ศ. 2556 ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ทำให้เด็กๆ ต้องออกไปเรียนที่โรงเรียนประจำซึ่งห่างออกไปสองร้อยกิโลเมตร กว่าจะได้กลับบ้านทีก็ช่วงปิดเทอม พวกเขายังเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ อายุ 7 ขวบกันเท่านั้นเอง จากนั้นคนในชุมชนคิดว่าไม่ได้การละ เด็กต้องได้อยู่กับครอบครัวสิ วันหนึ่งพวกเขาได้มีโอกาสเจอกับคณะอาจารย์จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองของ กสศ. ที่นำแนวคิดสนามพลังบวกมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ) ที่ขอให้ชุมชนช่วยเล่าให้ฟังว่าที่นี่มีจุดเด่นอะไรบ้าง
คำถามนี้เปลี่ยนแปลงที่นี่ไปโดยสิ้นเชิง…การหันกลับมาทบทวนเรื่องทุนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้คำตอบว่า “ชุมชนเรามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มากเลย มีป่า มีน้ำ มีความมั่นคงทางอาหาร มีวัฒนธรรม” กลายเป็นที่มาของหลักสูตรที่เรียกว่า “มรดกห้วยพ่าน” ซึ่งนำมาบูรณาการเข้ากับทุกวิชาที่ สพฐ. กำหนดขึ้นมาได้หมด ที่สำคัญ…. “เรามีห้องเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งยึดเด็กเป็นหลัก เด็กเราชอบเรื่องอะไร เราจะเอาเรื่องนั้นเข้ามาสอน”
หลังจากนั้นเด็กที่นี่ก็ไม่ต้องจากบ้านไปเรียนที่ไหนไกลๆ อีกเลย
ผู้ใหญ่สมบูรณ์ ใจปิง
จุดเริ่มต้นที่ไม่ง่าย
แรงบันดาลใจในการจัดตั้งศูนย์การเรียนนี้ เกิดขึ้นจากสมัยก่อนลูกชายของผมไม่มีที่เรียนหนังสือ และถูกส่งไปเรียนที่จังหวัดน่าน ซึ่งห่างจากหมู่บ้านเกือบ 200 กิโลเมตร มีความยากลำบากมากในการเดินทางเพราะไม่มีรถ จึงมีความคิดจัดตั้งโรงเรียนขึ้น อยากให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ หากไม่มีศูนย์การเรียนแห่งนี้ ชุมชนห้วยพ่านก็มีโอกาสล่มสลายได้สูง เพราะเด็กต้องออกไปเรียนข้างนอกแล้วก็จะไม่กลับมา ดังนั้นการเปิดศูนย์การเรียน นี้จะทำให้ดึงเด็กกลับมาในชุมชนได้ เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงว่าอยู่ที่ไหนก็เรียนได้
การสร้างโรงเรียนช่วงแรกยอมรับว่าเหนื่อยและยากลำบาก เพราะผมเองก็จบแค่ ป.6 กว่าจะสร้างเสร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งใจจะทำให้ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนที่ยั่งยืนและเติมเต็มให้กับชุมชน
หลักสูตรการศึกษาที่อิงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ อย่างภาคเหนือเป็นพื้นที่หมู่บ้านบนดอยที่ขาดโอกาส เป็นพื้นที่ห่างไกล บางส่วนพ่อแม่ทำงานต่างจังหวัด ให้ลูกอยู่กับย่ากับยาย ไม่เหมือนอยู่กับพ่อแม่ บางครั้งก็ได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง บางครั้งมีเงินส่งบ้างไม่ส่งบ้าง เด็กไม่มีเงินก็ไม่ได้ไปเรียน
ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตรการศึกษาให้ชุมชน ซึ่งได้แก่ เรื่อง ดิน น้ำ ป่า วัฒนธรรมและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้ทุกคนรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชนที่แท้จริง โดยศึกษาจากป่าในชุมชนหนึ่งหมื่นกว่าไร่ เริ่มต้นจากการหาจุดร่วมของชุมชนให้เจอ แต่ทุกวันนี้กลับค่อยๆเลือนหายไปจากชุมชน สาเหตุหนึ่งเพราะเด็กถูกผลักดันให้ไปอยู่ในระบบการศึกษา คือใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนมากกว่าอยู่ที่บ้าน
จุดเด่นของแต่ละชุมชนมีความหลากหลายมาก ศูนย์การเรียนสามารถนำจุดเด่นเหล่านี้มาให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เขาได้ซึมซับและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน สิ่งเหล่านี้จะไม่หายไป ถ้าเราไม่เอาเรื่องใกล้ตัวชุมชนเข้ามาไว้ในการศึกษา ผมคิดว่าอีกไม่กี่ปีวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะหายไป
จุดเด่นของศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ผมมองว่าเป็นเรื่องหลักสูตรการศึกษาที่อิงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติเพราะชุมชนมีเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร เช่น จำนวนปลาอิงกับคณิตศาสตร์อย่างไร วิถีชีวิตไปตรงกับหลักสูตรด้านไหนเราก็นำมาประยุกต์ใช้ เรียกว่าปรับนิเวศในชุมชนให้เข้ากับระบบการศึกษา
เป้าหมายคือต้องเติมเต็มให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคม ซึ่งคำว่า “อยากเรียน” กับ “ต้องการจะเรียน” มีความหมายต่างกัน อยากเรียนคือเรียนให้จบแล้วไปทำอาชีพต่อ แต่ต้องการจะเรียนคือการศึกษาเรื่องต่างๆ ให้ถ่องแท้ว่าแก่นของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร
การศึกษาทางเลือก : หนทางที่ทุกคนต้องร่วมมือกันสร้าง
การศึกษาทางเลือกทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนและสามารถนำไปใช้กับชีวิตจริงได้ เด็กทุกคนมีโอกาสอยู่ใกล้กับครอบครัว คนในชุมชนก็ได้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ผมยกตัวอย่างกรณีเด็กบางคนที่พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด บางครั้งลำพังแต่อยู่กับญาติอาจจะคุยกันไม่ได้ อย่างน้อยมีพี่น้องคนในชุมชนช่วยกันแนะแนว ศูนย์การเรียนของเราคือให้ชุมชนเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษาของเด็ก
ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าระบบการศึกษาที่เด็กเรียนอยู่ เด็กอยู่กับพ่อแม่ไม่กี่ชั่วโมง ก็เอามาฝากครู มอบภาระให้ครูเป็นคนดูแล แต่การศึกษาทางเลือกที่เราทำอยู่ ทุกคนในชุมชนมีส่วนที่จะต้องช่วยกันดูแล ต้องช่วยกันรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย
นอกจากนี้ผมอยากเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งมีหลักประกันที่มั่นคงชัดเจนให้กับระบบการศึกษาทางเลือก ไม่ว่าจะเรื่องเงินสนับสนุน หรืออื่นๆ เพราะหากในอนาคตผมต้องวางมือก็ต้องมีคนพร้อมจะสานต่อ เพื่อไม่ให้ชุมชนต้องล่มสลายไป
ความท้าทายมีมากพอสมควร เพราะถูกมองว่าศูนย์การเรียนไม่สามารถพัฒนาเด็กได้ คือยังไม่ได้รับการยอมรับ อุปสรรคต่อมาก็คืองบประมาณสนับสนุน ผมคุยกับคณะกรรมการศูนย์การเรียนและคนในชุมชนว่า วิธีการบริหารจัดการเพื่อที่จะหาทุนให้กับศูนย์การเรียน คือเราจะหักเงินจากคนที่เข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนประมาณ 5-10% เพื่อนำเงินมาพัฒนาศูนย์การเรียน
ในขณะเดียวกันก็อยากให้ศูนย์การเรียนขึ้นตรงกับหน่วยงานของรัฐส่วนใดส่วนหนึ่ง อยากให้ช่วยสนับสนุนงบรายหัวให้กับเด็กบ้าง แท้จริงเด็กที่เรียนกับศูนย์การเรียนก็คือคนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งนั้น อย่างน้อยก็ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา ตอนนี้ผมก็ยังต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นบางส่วน ผมมองว่าในวันข้างหน้าถ้าไม่มีภาคเอกชนจะทำให้ศูนย์การเรียนมีปัญหามาก
โรงเรียนชุมชนไซส์เล็กกับภารกิจยิ่งใหญ่
สำหรับพี่น้องที่อยู่บนพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กมีส่วนสำคัญมาก จริงๆที่ไหนก็สามารถพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพได้ อยู่ที่การบริหารจัดการให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทให้มากที่สุด ดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเขามีวิชาอะไรให้มาสอน ทำเป็นหลักสูตร ความสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กก็คือชุมชนกับโรงเรียนเป็นอันหนึ่งอันเดียว ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ชุมชนได้ประโยชน์จากโรงเรียน โรงเรียนก็ได้ประโยชน์จากชุมชนด้วย