ช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ออนแฮนด์ ออนดีมานด์ กลายเป็นช่องทางการเรียนรู้ของนักเรียนที่ไม่อาจเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้านทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่อาจเทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน
หลายพื้นที่พบปัญหาที่คล้ายกันคือสถานการณ์ “ความรู้ถดถอย” ตามมาด้วยปัญหาเรื่องการหลุดไปจากระบบการศึกษาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนหลายฝ่ายเริ่มเอาจริงเอาจังเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา
โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกตัวอย่างของพลังความร่วมมือในพื้นที่ ที่คนในพื้นที่เริ่มมองเห็นปัญหาและไม่อาจปล่อยให้โรงเรียนแก้ไขได้ตามลำพังนำมาสู่ความร่วมมือในท้องถิ่นที่เอาจริงเอาจังถึงขั้นลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน กำชับผู้ปกครองให้พาบุตรหลานกลับเข้าเรียนพร้อมกับการจัดชั้นเรียนพิเศษรองรับในช่วงที่ทางโรงเรียนยังไม่อาจเปิดการสอนได้ตามปกติ
รังสรรค์ โพธิจิญญาโน ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด เล่าย้อนให้ฟังถึงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้นว่าโรงเรียนมีนักเรียน 450 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ อนุบาล 2 ถึง ป. 6 ช่วงโควิด-19 ระบาดได้ปรับการเรียนมาเป็นระบบออนไลน์ ออนแฮนด์ และ ออนดีมานด์แล้วแต่นักเรียนจะสะดวกแบบใด ซึ่งดำเนินการมาได้ดีต่อเนื่องจนช่วงต้นเทอมสองจากเด็กที่หายไปไม่เข้าเรียน คนสองคนกลายเป็น 34 คน ทำให้เห็นว่าต้องหาทางเอาจริงกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ ประมงไม่ได้เอาใจใส่กวดขันให้บุตรหลานมาเรียน บางบ้านมีโทรศัพท์มือถือแต่ผู้ปกครองก็ไม่มีเวลามาดูแล บางบ้านมีมือถือเครื่องเดียวผู้ปกครองไปทำงานก็เอาไปด้วยกลับมาค่ำมืดเด็กก็ไม่ได้เรียน หลายครอบครัวก็บังคับลูกให้เรียนไม่ได้ หลายสาเหตุปะปนกันไป
“ตอนเด็กหายไปช่วงแรก ๆ ครูประจะชั้นจะมีข้อมูลตลอดเพราะเช็คชื่อในระบบ Q-info ทำให้รู้ว่าวันไหนใครขาดเรียนชั่วโมงไหน หรือเด็กบางคนเช็คชื่อต้นชั่วโมงแต่พอเรียน ๆ ไปก็หายไปตรงก็พยายามติดตามให้กลับมาเรียน แต่หลัง ๆ หลายคนเริ่มไม่กลับมาเรียน พอคนอื่นเห็นเพื่อนไม่มาก็ไม่มาบ้าง ติดต่อไปก็ติดต่อไม่ได้ ไม่มาส่งใบงาน ครูเคยลงพื้นที่ไปคุยกับผู้ปกครองเขารับปากว่าจะช่วยกวดขันให้ลูกกลับมาเรียนแต่ก็ทำไมได้”
ทางคณะกรรมการสถานศึกษาจึงนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางท้องถิ่นได้พูดคุยกับนายกเทศมนตรี ก็เห็นว่าปัญหานี้ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน นำรายชื่อเด็กทั้ง 34 คนที่หายไม่มาเรียนมาให้ทางสมาชิกเทศบาล ผู้นำชุมชนช่วยดูว่าบ้านอยู่ที่ไหนแล้วก็กำหนดวันที่จะยกทีมลงไปพูดคุยกับผู้ปกครองให้เขาพาลูกหลานกลับมาเรียน
“วันนั้นไปกันทีมใหญ่ตั้งแต่นายกเทศบาลตำบลขนอม สมาชิกเทศบาล ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารโรงเรียน ครู ลงไปเคาะประตูบ้านพูดคุยกับผู้ปกครอง เพราะผู้นำชุมชนเขารู้ว่าบ้านไหนอยู่ตรงไหน ไปถึงนายกฯ ก็พูดกับผู้ปกครองให้เขาเห็นความสำคัญของการเรียน ไปจับมือสัญญาบอกเขาแกมบังคับว่าต้องพาเด็กกลับมาเรียน“
สำหรับเด็กกลุ่มนี้ประเมินแล้วว่าถ้าหากยังให้เรียนตามปกติก็อาจจะหลุดหายไปจากระบบอีก ทางคณะกรรมการสถานศึกษา เทศบาล และโรงเรียนจึงเห็นตรงกันว่าควรจะให้มาเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนเพื่อชดเชยความรู้ที่หายไปตอนหยุดเรียน ดีกว่าให้เรียนออนไลน์ หรือ ออนแฮนด์อยู่ที่บ้านเหมือนเดิม
รูปแบบห้องเรียนจะจัดคล้ายชั้นเรียนปกติชั้น ป.1-6 โดย มีมาตรการรักษาระยะห่าง มีอุปกรณ์ความปลอดภัย มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากเทศบาล ครูก็จะมาสอนเป็นเวลาครึ่งวันให้เด็กแต่ละชั้น ควบคู่ไปกับการสอนนักเรียนคนอื่นยังเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ และ ออนดีมานด์อยู่ที่บ้าน
ตอนนี้เปิดเรียนชั้นพิเศษมาได้ประมาณครึ่งเดือนเด็กทั้ง 34 คนกลับมาเรียนปกติทั้งหด ซึ่งทางผู้อำนวยการได้เน้นไปยังคุณครูว่า ให้เน้นการทำกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ อย่าใช้วิธีการพูดให้เด็กฟังเป็นชั่วโมงเพราะเด็กจะเบื่อไม่อยากเรียน และอย่าให้มีการบ้านกลับไป มีอะไรให้ทำให้เสร็จในชั้นเรียน โดยชั้นเรียนนี้ผู้ปกครองจะต้องมารับมาส่งเพราะไม่อยากให้เด็กต้องรวมกลุ่มกับกันเองจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อได้มากกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ปกครองให้ความเอาใจใส่มารับส่งบุตรหลานสม่ำเสมอ
อีกด้านหนึ่งทางโรงเรียนต้องเริ่มวางแผนให้เด็กกลุ่มนี้ได้ กลับมาเช็คเวลาเรียนเพราะไม่รู้ว่าเกณฑ์การเลื่อนชั้นจะเป็นอย่างไร ก็พยายามทำให้เขาพอมีเวลาเรียน มีงานส่ง มีชิ้นงานให้เห็นบ้าง เพราะตอนนี้ก็เหลือเวลาอีกแค่สองเดือนก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด หรือหากโรงเรียนยังเปิดไม่ได้ก็อาจจะเพิ่มชั้นเรียนให้เด็ก ป.1 เพิ่มเติมเพื่อให้เขามาเรียนเรื่องการอ่านการเขียนที่ตอนนี้กำลังมีปัญหาพอสมควรช่วงเรียนที่บ้าน
“เป็นความร่วมมือของทั้งชุมชนที่ต้องการเห็นลูกหลานมีอนาคตที่ดี เรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่หากไม่แก้ไข เด็กคนอื่นเห็นเพื่อนไม่เรียนได้ก็ไม่อยากเรียนบ้าง ทำตามกันมากขึ้นก็คุมไม่อยู่ทำให้ต้องเร่งมาช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ให้เขาหลุดไปสู่สิ่งไม่ดีเพราะพื้นที่ขนอมเป็นพื้นที่เปิดมีทั้งสิ่งดีไม่ดี การพาพวกเขากลับมาในระบบการศึกษาอย่างน้อยก็เป็นเกราะป้องกันให้กับพวกเขาไม่ก้าวไปสู่สิ่งไม่ดี” ผอ.รังสรรค์กล่าวทิ้งท้าย