“การที่จะเดินเข้าไปโรงเรียนสักโรงเรียนหนึ่ง เพื่อชวนให้เขาทำอะไรสักอย่าง เขาก็จะเงยหน้าขึ้นมามองเราอย่างสงสัย และถามว่า ผู้อำนวยการเขตรู้หรือยัง? กระทรวงรู้หรือเปล่า? ที่คุณมาชวนพวกเขาทำจะต้องเพิ่มงานอีกไหม?”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล่าประสบการณ์ตรงเมื่อต้องเข้าไปเสนอไอเดียกับสถานศึกษา ที่ทุกครั้งความไว้ใจและเชื่อใจ คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ทุกโรงเรียนเห็นภาพร่วมกันว่าปลายทางคืออนาคตที่ดีของเด็กนักเรียน และไม่ว่าการเดินทางนี้จะพบอุปสรรคอะไรทุกฝ่ายจะพร้อมฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน
แน่นอนว่าความเชื่อมั่นทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย “ความเชื่อใจ”
วัฒนธรรมความเชื่อใจ
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก ครู นักวิจัย และนักการศึกษา ผู้เชื่อในการเรียนรู้อย่างมีความสุขและระบบการศึกษาแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ เจ้าของผลงาน ‘Finnish Lessons 2.0’ หนังสือถอดรหัสการศึกษาฟินแลนด์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “ความคิดที่พลิกโฉมโลกได้” ในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งฟินแลนด์ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก
ฟินแลนด์ได้รับความสนใจหลังแสดงให้เห็นผลสัมฤทธิ์อันโดดเด่นผ่านคะแนนสอบ PISA ทั้งที่มีคาบเรียนสั้น ไม่มีการทดสอบวัดมาตรฐานระดับชาติ และไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก
แต่ฟินแลนด์ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ยกย่องครูให้เป็นอาชีพที่มีสถานะทางสังคมสูง และบ่มเพาะ “ความเชื่อใจ” ในระบบการศึกษา อันเป็นหัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จ
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก กล่าวว่า วัฒนธรรมความเชื่อใจมีอยู่ในสังคมของฟินแลนด์ แต่ระบบการศึกษาที่ฟินแลนด์เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด จนเห็นได้ว่าผู้บริหาร พ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งรัฐ นักการเมือง และชนชั้นนำในสังคม ต่างยินยอมพร้อมมอบความเชื่อใจให้ครูได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดูแลชั้นเรียน ออกแบบหลักสูตร และประเมินการเรียนรู้ของเด็ก
การที่โรงเรียนตัดสินใจเรื่องหลักสูตรเองตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติสองด้าน คือ
- ดึงให้โรงเรียนและครูหันมาคิดและลงมือหาสิ่งที่โรงเรียนของพวกเขาควรทำ กระบวนการนี้กลายเป็นรูปแบบที่มีความหมายมากที่สุดต่อการพัฒนาวิชาชีพและการพัฒนาโรงเรียน
- เกิดการทดลองหนทางที่แตกต่างในการให้การศึกษาและเน้นความสามารถของครู มากกว่าจะสร้างรูปแบบมาตรฐานที่มุ่งให้ทำตามกันทั้งระบบ
แน่นอนว่าความไว้ใจนี้จะไม่เกิดขึ้นได้ถ้าขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของครู ซึ่งครูฟินแลนด์ต้องสำเร็จปริญญาระดับสูงซึ่งมีการวางมาตรฐานอย่างระมัดระวังตลอดระบบการศึกษา และระบบการผลิตครูของฟินแลนด์ที่มีอัตราแข่งขันสูงจึงจริงจังอย่างยิ่งกับการฝึกสอนนักศึกษาครูอีกด้วย
กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ชวนมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยโดยเฉพาะการส่งมอบความเชื่อใจในบริบทที่การบริหารจัดการมาจากกระทรวงส่วนกลางที่เป็นแบบการรวมศูนย์และมีลักษณะแบบบนลงล่าง (Top-Down)
“การให้นโยบายหรือการออกแบบโครงสร้างทั้งหมดมาจากส่วนกลาง ที่คาดหวังว่าทุกพื้นที่จะสามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการที่ส่วนกลางมอบให้ได้เหมือนกันหมด แต่ปรากฎว่าอาจไม่ใช่อย่างนั้น” ดร. อุดม กล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามการจายอำนาจไปยังพื้นที่ผ่านทั้งพระราชบัญญัติทางการศึกษา หรือโครงการต่าง ๆ เช่น การทำ Sandbox ใน 8 จังหวัด, การสร้างนวัตกรรมในระดับจังหวัด หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ทั้งหมดยังมีข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการที่ต้องพยายามให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง
จึงอาจจำเป็นที่คนกลางที่ท้องถิ่นให้ความไว้ใจ ต้องเข้าไปสร้างการประสานเครือข่ายความไว้ใจให้เกิดขึ้นจริงในการพัฒนาระบบการศึกษา ที่เชื่อมระหว่างส่วนกลางไปยังพื้นที่ แม้กระทั่งการทำงานของ กสศ. ที่จะให้โรงเรียนเป็นคนตัดสินใจเอง
“เราเข้าไปถามโรงเรียนว่าสนใจจะทำไหม? เราไม่top-downเพราะว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีอยู่ 30,000 กว่าแห่ง มันทำพร้อมกันไม่ได้ เพียงแต่ว่าวิธีการเชิญชวนหรือเลือกโรงเรียนเราก็ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าถ้าเขาร่วมกระบวนนี้แล้วเนี่ยเด็กๆจะได้อะไร? ระบบของโรงเรียนที่ดีขึ้นอย่างไร? อันนี้ก็เป็นลักษณะของการทำงานกับคุณครูที่อยู่ในระบบโรงเรียนอยู่แล้ว”
ตอนนี้มีโรงเรียนกว่า 700 โรงเรียนที่เป็นกลุ่มแรกในการขับเคลื่อนให้อีก 20,000 กว่าแห่งขยับตาม หรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ริเริ่มโครงการไว้แล้ว เมื่อต้องย้ายก็จะนำแนวคิดเดียวกันไปทำที่โรงเรียนอื่น ๆ ด้วย แต่สิ่งสำคัญคือโครงการที่ทำทั้งหมดส่วนกลางจะต้องเข้าใจ และยอมรับกับแนวทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป
ดร.อุดม อธิบายต่อในส่วนที่ 2 ของการสร้างความเชื่อใจในระบบการศึกษาของไทย คือการผลิตครูที่สร้างความเชื่อใจให้กับชุมชน ผ่านโครงการครูรักษ์ถิ่น ที่ กสศ.จัดทำขึ้นเพื่อวางรากฐานครูรุ่นใหม่ให้เป็นครูต้นแบบที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่แท้จริง และสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้
“เรามองว่าครูใหม่ไม่ใช่เพียงครูมาบรรจุใหม่ แต่เรามองว่าใครที่จะมาเป็นครูในอนาคต เราก็พยายามที่จะไปหาเด็กที่มีใจรักอยากเป็นครูจริงๆ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการคัดเลือก แล้วก็ไปเรียนตามหลักสูตร 4 ปี สิ่งที่สำคัญก็คือว่าน้องๆเหล่านี้จำเป็นต้องรู้ว่าโรงเรียนปลายทางที่เขาจะไปทำงานด้วยอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะว่าเขาจะต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชน เขาต้องไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจตั้งแต่แรก แบบเป็นลูกเป็นหลานของคนในชุมชนนั้นๆ”
ดร.อุดม ทิ้งท้ายวัฒนธรรมความเชื่อใจ ที่ได้จากหนังสือ In Teachers We Trust ที่เขียนโดย ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก ทำให้เราได้เรียนรู้การสร้างความไว้วางใจที่ต้องเป็นเรื่อสากลของคนทั้งโลก เพราะว่าระบบทุกอย่างต้องอาศัยความเชื่อใจทั้งจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน ในหนังสือก็ใช้คำว่าเป็นวัฒนธรรม ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาในการสร้าง และในส่วนของงานที่ทาง กสศ.ทำอยู่ก็ต้องสร้างความเชื่อใจนี้ให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไปสู้เป้าหมายเช่นกัน