เรื่องราวการดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากประสบการณ์อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ด้วยความร่วมมือกับสถานประกอบการในท้องถิ่น จัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีแบบ EEC Model Type A ที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้นักศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสถานประกอบการจริง แต่ยังการันตีการมีงานทำ 100% หลังจบการศึกษา
“เราได้วางเส้นทางสำหรับเด็กทุกคนจนถึงปลายทางไว้แล้ว นับแต่วันที่ค้นหาเขาจนพบ ให้เขาแน่ใจว่าการได้เข้ามาเรียนรู้พัฒนาตนเองในวิทยาลัยจะช่วยให้มีงานทำแน่นอน 100% เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงอนาคตตนเองโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือนำทาง”
วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนึ่งในสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งย่างสู่ปีที่ 3 ในปีนี้ ขณะที่วิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาทุนมาแล้ว 2 รุ่น ในหลักสูตร ปวส. (ทุน 2 ปี) รวม 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขายานยนต์ไฟฟ้า สาขาชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และสาขาการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อมุ่งตอบโจทย์การสร้างบุคลากรสายอาชีพเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
อาจารย์วิทยา แสนคำ ผู้รับผิดชอบโครงการ หัวหน้างานแนะแนว และอาจารย์แผนกชิ้นส่วนยานยนต์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า เป็นความตั้งใจของผู้อำนวยการนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.คนปัจจุบัน ที่ทราบถึงความสำคัญของ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ จากสถาบันเก่า ซึ่งได้ดูแลเด็กทุนรุ่น 1 จนเห็นผลลัพธ์ว่าทุนที่มอบให้กับเยาวชนที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้รับทุนได้จริง ทั้งนี้ไม่เพียงโอกาสในการเรียน แต่ยังต่อยอดถึงการทำงานสร้างอาชีพหลังจบการศึกษา
ร่วมมือสถานประกอบการในพื้นที่สร้างระบบ ‘ระบบทวิภาคี’ ที่เข้มแข็ง
อาจารย์วิทยาระบุว่า แรงสนับสนุนจากสถานประกอบการในท้องถิ่นทำให้เป้าหมายของโครงการไปได้ไกลกว่าแค่โอกาสในการศึกษาต่อ โดยตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการดูแลนักศึกษาทุน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีได้ทำ MOU กับสถานประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในพื้นที่อยู่แล้ว จนเมื่อเข้ามาร่วมโครงการจึงได้ลงนามข้อตกลงในสาขาวิชาอื่นเพิ่มเติม เช่น สาขาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ โดยใช้รูปแบบที่เรียกว่า EEC Model Type A ที่นักศึกษาทุกคนจะเรียนภาคทฤษฎีในวิทยาลัย 1 ปี และจะเข้าสู่กระบวนการฝึกงานในสถานประกอบการอีก 1 ปีเต็ม พร้อมได้รับค่าตอบแทน
“นอกจากได้รับประสบการณ์ฝึกงานเต็มเวลา ระบบทวิภาคีแบบ EEC Type A ยังครอบคลุมถึงการรองรับนักศึกษาฝึกงานเข้าทำงานต่อทันทีหลังเรียนจบตามความสมัครใจ นั่นคือ เราได้วางเส้นทางสำหรับเด็กทุกคนจนถึงปลายทางไว้แล้วนับแต่วันที่ค้นหาเขาจนพบ ให้แน่ใจว่าการได้เข้ามาเรียนรู้พัฒนาตนเองในวิทยาลัยจะช่วยให้มีงานทำแน่นอน 100% เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงอนาคตตนเองโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือนำทาง”
ผลกระทบจาก COVID-19 กับชั่วโมงเสริมพิเศษ ‘ติวเข้มภาคปฏิบัติ’
เช่นเดียวกับทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ การมาถึงของวิกฤตโควิด-19 ได้กระทบไปถึงการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี อันเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการควบคุมเข้มข้น ซึ่งอาจารย์วิทยายอมรับว่าเป็นปัญหาค่อนข้างหนักสำหรับนักศึกษาทุนรุ่น 3 หรือน้องปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาในปีการศึกษา 2564 นี้
“สำหรับนักศึกษาที่ขึ้นปี 2 ตอนนี้เราส่งเขาเข้าเรียนรู้ในสถานประกอบการแล้ว พร้อมการติดตามจากอาจารย์อย่างใกล้ชิด ในเรื่องการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 การประคองตนในสถานประกอบการ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ให้เต็มที่ ที่น่าห่วงคือนักศึกษาปี 1 ซึ่งเรียนผ่านระบบออนไลน์มาตั้งแต่เปิดเทอม เพราะต้องไม่ลืมว่าหัวใจของการเรียนสายอาชีพคือการลงมือปฏิบัติ นั่นทำให้ทางวิทยาลัยต้องเตรียมแผนรองรับ
“การเรียนอาชีวศึกษา เด็กต้องมีทักษะพื้นฐานแน่น ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เป็น และทำงานได้จริง ซึ่งเราไม่สามารถสอนได้ด้วยการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ทางวิทยาลัยจึงเตรียมแผนว่าในช่วงปลายเทอมจะมีการติวเข้มภาคปฏิบัติ โดยจะใช้วิธีแบ่งนักศึกษากลุ่มละ 5 คน สลับกันเข้ามาเรียน ให้เขาได้ลงมือทำ ได้จับเครื่องมือ ได้รับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงจุดประสงค์ของหลักสูตรมากที่สุด ก่อนออกไปเรียนรู้ในสถานประกอบการปีหน้า”
‘ลงพื้นที่คัดกรอง’ นำ ‘โอกาส’ ส่งถึงผู้สมควรได้รับ
จากประสบการณ์ลงพื้นที่ค้นหานักศึกษาทุนทั้ง 2 รุ่น ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวว่า ระบบคัดกรองที่ กสศ. กำหนดให้คณะอาจารย์ของวิทยาลัยลงพื้นที่ด้วยตนเอง คือจุดแข็งที่ทำให้ค้นพบนักศึกษาทุนได้ถูกคน ก่อนนำมาขัดเกลาให้ศักยภาพภายในพัฒนาอย่างเต็มที่
“เราได้พบว่า ‘ความจริงจะปรากฏอยู่หน้างาน’ หมายถึง บางครั้งเรื่องราวอาจคลาดเคลื่อนไปได้หากเราพิจารณาเพียงข้อมูลที่มาจากคำบอกเล่าของโรงเรียนหรือครูแนะแนวด้วยกัน แต่เมื่อเทียบกับการไปพบเป้าหมายเอง เราจะเห็นภาพรวมทั้งหมด เด็กบางคนไม่รู้ตัวว่าเขาอยู่ในข่ายความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ บางคนไม่เข้าใจเป้าหมายทุน หรือบางคนมีความสามารถ มีใจใฝ่เรียน แต่ทักษะการสื่อสารไม่ดี ทีมงานเราต้องมีเวลารับฟังสิ่งที่เขาต้องการบอก และใช้เวลาอธิบายให้เขาเข้าใจคุณลักษณะของทุน หรือปลายทางที่การศึกษาจะพาไปถึงได้หากเขาได้รับความช่วยเหลือ แล้วเมื่อนั้นเราถึงจะได้กรองจนพบเด็กที่เข้าเกณฑ์จริง ๆ คณะทำงานจึงต้องมุ่งความสำคัญไปที่การลงค้นหาเป็นลำดับแรก เพื่อให้โอกาสส่งถึงมือผู้รับถูกคน
“ประสบการณ์ทำงานกับนักศึกษา 2 รุ่น ทำให้เราได้เห็นเด็กคนหนึ่งตั้งแต่วันที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ผ่านขั้นตอนพิจารณาคัดกรอง นำเข้ามาฝึกฝนเรียนรู้ทักษะวิชาชีพในวิทยาลัย จนถึงวันนี้ที่เด็กรุ่นหนึ่งได้เข้าสู่สถานประกอบการไปเรียนรู้จากการทำงานจริงแล้ว แม้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่เรารับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขา เป็นความสำเร็จเบื้องต้นของโครงการที่จับต้องได้ ซึ่งเรามองว่าแนวทางการดูแลนักศึกษาทุนเช่นนี้จะช่วยให้วิทยาลัยทำงานได้ดียิ่งขึ้นกับนักศึกษารุ่นถัด ๆ ไป เพื่อไปให้ถึงปลายทางที่ กสศ. วางไว้ คือเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลนักศึกษาสายอาชีพเชิงระบบในระยะยาวต่อไป”