เรียนต่อที่ไหน จบแล้วจะได้งานที่เหมาะกับตัวเองหรือไม่ เชื่อว่านี่คงเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตติดอันดับความคาใจของเหล่าวัยรุ่นที่สุดคำถามหนึ่งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีสถานการณ์โรคระบาดกระหน่ำซ้ำ การเลือกเรียนสายอะไรว่ายากแล้ว เรียนจบไปจะตอบโจทย์ตลาดงานและหัวใจตัวเองหรือไม่ยิ่งปวดหัวกว่า
วันนี้เราจึงขอนำพาไปรู้จัก ‘Career Readiness’ หรือระบบประเมินทักษะความสามารถ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ก้าวต่อไป เดินเส้นทางไหน อย่างน้อยการได้รู้จักตัวเองอย่างเป็นระบบมากขึ้นก็เหมือนการมีเข็มทิศที่เที่ยงตรง ให้สามารถเลือกเดินต่อไปได้บนเส้นทางไม่สับสน ที่สำคัญก็คือยังสามารถช่วยร่นระยะเวลาเพื่อให้สามารถเรียนและทำงานได้เร็วขึ้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยเหลือไม่ให้เด็กส่วนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ขณะเดียวกันยังสามารถเข้าสู่โลกของการทำงานเพื่อเติมเต็มพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้ครอบครัวได้ พร้อมกันนั้นยังตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ไปจนถึงระดับประเทศที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะตรงเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ตลาดงานที่มีความต้องการสูง
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ระบบ Career Readiness เองก็กำลังอยู่ในช่วงที่กับเผชิญความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เข้ามาอย่างถาโถม รวดเร็ว และฉับพลัน ไม่ว่าด้วยปัจจัยจากเทคโนโลยีใหม่ๆหรือสถานการณ์โควิดที่ทำให้โฉมหน้าของตลาดงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การออกแบบ Career Readiness เพื่อเป็น ‘เข็มทิศที่แม่นยำ’ จึงมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกันในสถานการณ์ ณ ขณะนี้
ทำความรู้จัก Career Readiness
“เราออกแบบการติดตามพัฒนาการของนักเรียนตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาจึงเกิดเป็นระบบ Career Readiness ขึ้น เพื่อใช้ประเมินทักษะความสามารถของนักเรียนชั้น ม.3 ว่า มีความพร้อมหรือความถนัดในการประกอบอาชีพอะไร อยากเรียนต่อสาขาอะไร มีทัศนคติและองค์ความรู้อย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการวางแผนในกลุ่มโรงเรียนหรือกลุ่มจังหวัดได้ อีกด้านหนึ่งจะเป็นตัวช่วยให้นักเรียนสามารถเลือกอาชีพหรือแผนการเรียนที่สอดคล้องกับความถนัดด้วย”
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อธิบายถึงที่มาและเป้าหมายของการมีระบบ Career Readiness ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือช่วยประเมินให้เห็นทั้งภาพแคบและกว้าง เพื่อนำไปสู่การวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกันระหว่างคนและงาน โดยมีนักเรียนเป็นหัวใจสำคัญของงานนี้
“ในส่วนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะสำรวจและเก็บข้อมูล มีการทำแบบประเมินความพร้อมทักษะในอาชีพต่างๆให้กับนักเรียนในทุกจังหวัด ติดตามการเติบโตของบุคคลตั้งเเต่เป็นเด็กเล็กไปจนถึงจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน Career Readiness เปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยแนะเเนวให้นักเรียนรู้ว่ามีความถนัดในทักษะด้านใด จะได้มองเห็นแนวทางอาชีพของตนเองได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเรียนอยู่ในระบบเป็นเวลานานๆ เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อกลุ่มนักเรียนที่ยากจน ซึ่งหากออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของเขา โอกาสที่จะออกกลางคันโดยไม่มีงานรองรับหรือต้องไปทำงานที่ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ มีช่องทางพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เร็ว และที่สำคัญคือพึ่งพาตนเองได้ กลุ่มอาชีพของนักเรียนที่ กสศ. ดูแล มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มอาชีพระยะสั้น (short term) หรืออาจเป็นรูปแบบการให้ทุนแก่ชุมชน เพื่อนำไปฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนในพื้นที่นั้นๆในระยะสั้น วิธีการนี้จะทำให้นักเรียนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมี online platform ที่สามารถเพิ่มการเรียนรู้ทางเลือกให้สะดวกและรวดเร็วโดยทำไปพร้อมกันกับการฝึกอาชีพในหน้างาน เพื่อให้เขาทำงานได้จริง เช่น อาชีพเกี่ยวกับการเกษตร งานฝึกฝีมือช่าง กลุ่มอาชีพการท่องเที่ยว แม้การแพร่ระบาดโควิดจะส่งผลกระทบต่อการฝึกงานจริงบ้าง แต่ช่องทางออนไลน์ก็เป็นส่วนเสริมได้ไม่ว่าการเรียนหรือการทำงานที่สร้างรายได้จากที่บ้านได้
Career Readiness ในอนาคต ต้องสร้าง ‘ซุปเปอร์เป็ด’
“จากข้อมูลทางเศรษฐกิจพบว่า เราต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีไปอีกหลายปี ทำให้นักเรียนในกลุ่มยากจนที่ กสศ. ดูแล จะก้าวเข้าสู่ตลาดเเรงงานในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจก็จะปรับตัวโดยมองว่าคนเป็นภาระ จะมีการลดต้นทุนคนหรือต้นทุนคงที่เพื่อลดความเสี่ยงต่อธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจจึงมีการเลือกคนเพื่อลดต้นทุน”
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า สิ่งที่ระบบ Career Readiness เองก็ต้องออกแบบให้สอดรับคือสภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด 19 ทำให้มีการปรับตัวในหลายอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารตามสั่งในหมู่บ้านปรับตัวมาขายออนไลน์มากขึ้น หมายความว่า จะมีบางงานที่หายไป มีบางงานเข้ามาแทนที่ และมีบางงานที่เลิกใช้คนในระบบของงาน
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดเป็นแบบแหก 2 ด้าน คือธุรกิจที่ไม่ปรับตัวอาจไปไม่รอด และธุรกิจที่ไปรอดจะมีการปรับตัวเร็ว ดังนั้น เเรงงานต้องมีความพร้อมเพื่อปรับตัวไปกับธุรกิจ เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง จบมาแล้วใช่ว่าจะได้งานทำทันที เเรงงานจะโดนประเมินอย่างเข้มข้น ไม่ใช่แค่ดูวุฒิการศึกษาหรือใบปริญญา แต่รวมถึงทักษะที่มีอยู่ต้องยืดหยุ่นไปกับธุรกิจของเขาด้วย ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะมีแรงงาน ไปรอดแค่กลุ่มเดียว คือเเรงงานที่มีความรู้หลายด้าน
“ต้องเป็น ‘ซุปเปอร์เป็ด’ รู้ทุกเรื่องและรู้ว่าควรดึงความรู้มาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของงานในตอนนั้นอย่างไร อาจเกิดงานแบบกลุ่ม job innovation คือเเรงงานที่สร้างงานแปลกที่คนอื่นไม่ทำกัน เช่น รับจ้างอ่านหนังสือให้ฟัง เป็นต้น แต่แรงงงานที่เหลืออยู่เป็นลำดับท้ายๆ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ส่งผลให้คนรายได้น้อยสู้กับสภาวะเเวดล้อมด้วยความลำบาก เเรงงานกลุ่มนี้ก็จะมีเงินในการลงทุนด้านการศึกษาให้รุ่นลูกน้อยลง การส่งเสริม lifelong learning จึงใช้ได้กับกลุ่มคนที่มีต้นทุนในการลงทุนด้านการศึกษาสูง แต่จะทำให้คนที่ไม่พร้อมโดนกดลงไปเรื่อยๆ ทุนมนุษย์ก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยก็จะถูกบีบให้ไปทำงานเอาตัวรอด แต่ไม่ได้เป็นงานที่สร้างทุนมนุษย์เพื่อต่อยอดไปประกอบอาชีพอื่น”
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรายได้น้อย เวลาน้อย การฟูมฟักเด็กๆในครอบครัวก็ยิ่งมีความลำบาก จึงเกิดเป็นภาระของโรงเรียน หากโรงเรียนในชุมชนเป็นโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม ทรัพยากรในการจัดการเรียนรู้ก็จะต่ำ ยิ่งทำความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ
“โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าขึ้น อาชีพยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว เราอยู่ในโลกที่หมุนเร็วกว่าเมื่อก่อน 20 เท่า คือหากน้องๆก้าวเข้าสู่ตลาดเเรงงาน ในชีวิตของน้องอาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพอย่างน้อย 4 ครั้ง เวลาเตรียมความพร้อมของนักเรียนจึงไม่ใช่การเตรียมไปสู่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่เป็นการเตรียมให้น้องๆมีความพร้อมในการปรับตัวในโลกของงาน และสามารถทำงานในสายอาชีพที่เกิดขึ้นในเวลานั้นได้” ดร.เกียรติอนันต์ ให้คำแนะนำกล่าว
‘ซูปเปอร์เป็ด’ นอกห้องเรียนก็สร้างได้
“ด้วยสถานการณ์เรียนและงานในยุคนี้ เราควรหันกลับมามองสถานศึกษาของเรา ว่ามีความพร้อมแค่ไหนในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่ ‘ตลาดแรงงานที่ไม่มีอาชีพที่ถาวรแล้ว’ โรงเรียนหรือสถานศึกษาถูกสร้างขึ้นภายใต้สมมติฐานชุดทักษะเฉพาะอาชีพใดอาชีพหนึ่ง โรงเรียนหรือสถานศึกษาควรปรับโครงสร้างการเรียนการสอน และเสริมทักษะในหลายๆด้านให้กับนักเรียน แล้วตั้งโจทย์ให้นักเรียนได้ใช้ทักษะทั้งหมดที่เรียนมาแก้ไขปัญหา นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ทักษะหลายๆอย่างพร้อมกัน เพื่อให้เราสามารถร่วมกันสร้าง Career Readiness ของคนไปด้วยกันได้”
นิก อชิร รวีวงศ์ Creative Brand Manager ประจำ Fastwork ให้ความเห็นต่อสถานการณ์แรงงานที่ต้องเผชิญในอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตต่อการศึกษายุคปัจจุบันว่า จำเป็นต้องตั้งหลักให้ดี เพราะการเสริมทักษะการเรียนรู้ไม่ใช่มีเเค่ในห้องเรียน หรือมีรูปแบบการเรียนที่ทางสถานศึกษากำหนดอย่างเดียวอีกแล้ว แต่เด็กยุคนี้สามารถเรียนรู้จากสื่อต่างๆได้มากขึ้น เช่นทางออนไลน์ อย่าง youtube หรือ platform อื่น ประเด็นจึงขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถนำมาฝึกทักษะและหาเเนวทางใหม่ๆในการประกอบอาชีพได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้มีอาชีพแปลกๆเกิดขึ้นทุกวัน หากสามารถเอามาปรับให้เข้ากับความถนัดหรือสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติมก็จะต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นที่เหมาะสมกับกับสิ่งที่น้องๆยุคนี้กำลังเผชิญได้
‘สวัสดิการ’ ยังความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความยืดหยุนหรือการคิดนอกกรอบและการลงทุนในเรื่องการพัฒนาทักษะจากการศึกษาทางเลือกต่างๆ เป็นสิ่งที่ กสศ.พยายามคิดเช่นกัน เพื่อทำให้ Career Readiness ครอบคลุมมากขึ้น จึงมีการทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่คัดเลือกนักเรียนเพื่อฝึกทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และลงรายละเอียดไปถึงทักษะด้านอารมณ์ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ที่ผ่านมามีคำถามว่า ทำไมการให้ทุนการศึกษาจึงไม่เพียงพอในการลดความเหลื่อมล้ำ แล้วต้องมี Career Readiness เป็นเครื่องมือด้วย การให้ทุนแก่เด็กที่ด้อยโอกาสอาจช่วยได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่ในระยะยาวการให้ทุนอย่างเดียวอาจจะไม่พอ จะต้องแก้ทั้งระบบเพื่อปรับไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ และปรับทัศนคติของสังคม เช่น อยากเรียนอะไรก็สามารถเรียนได้ สามารถเข้าถึงการเรียนที่มีคุณภาพได้ มีรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่นสามารถเรียนไปทำงานไปด้วยได้ เป็นต้น
“ในการทำให้สังคมไทยพัฒนาทุนมนุษย์ไปได้ร่วมกัน เราได้แต่หวังว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือเด็กที่ยากจนให้ไม่ต้องดิ้นรนมากเกินไป นั่นคือมีการผลักดันการเข้าถึงสวัสดิการ เพราะจะช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงและการศึกษามีความเสมอภาคมากขึ้น” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย