โครงการสนับสนุนและพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จังหวัดพิษณุโลก เผยความรู้สึกจากใจอาสาสมัครและคณะทำงาน ผ่านการทบทวนผลดำเนินงานในรอบสองปี กับการคัดกรองเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาปีแรก 9, 579 คน ช่วยเหลือได้ 558 คน และปีที่สองอีกราว 8, 000 คน กับตัวเลขความช่วยเหลืออีก 1, 070 คน
พร้อมเดินหน้าสู่ปีที่สาม กับคำยืนยันว่า “แม้เจออุปสรรคหนักหนาสักแค่ไหน ก็จะขอก้าวต่อไปด้วยกัน”
“ถ้าไม่มี อสม. เราจะไม่มีทางได้เห็นตัวตนของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วชีวิตของเขาจะไม่ได้ขยับไปไหนเลย”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
“อาสาสมัครในพื้นที่ทำให้เราเข้าถึงเด็กและครอบครัวของเขาได้เร็ว จับปัญหาได้ตรงจุด จึงทำงานเชิงลึกและติดตามเด็กได้ตลอด นี่คือวิธีการที่เราสามารถนำเสนอทางเลือกที่เด็กและครอบครัวอาจไม่เคยนึกถึง แล้วมีเวลาให้เขาตกผลึกทางความคิด พร้อมที่จะรับความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับวิถีของเขา โดยไม่ใช่การนำเด็กเข้ามาสู่ระบบที่เราคิดแทนเขาว่าดีว่าเหมาะ ดังนั้นกับเด็กบางคนที่เขาอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเราในทีแรก พอวันหนึ่งที่เขาเปลี่ยนความคิด ต้องการที่พึ่ง เขาก็รู้แล้วว่าจะมาหาเราได้ตรงไหน
“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยบทบาทของ อสม. ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนที่ฝังตัวอยู่ในทุกหมู่บ้าน รู้จักเด็กๆ ทุกคน ในความรับผิดชอบที่หนึ่งคนต้องคอยดูแลอย่างน้อย 10-12 หลังคาเรือน ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตทุกด้าน พวกเขาคือคนที่ปิดทองหลังพระสำหรับการทำงานเรื่องเด็กนอกระบบเชิงพื้นที่ ถ้าไม่มี อสม. เราจะไม่มีทางได้เห็นตัวตนของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วชีวิตของเขาก็จะอยู่ที่เดิม ไม่ได้ขยับไปไหนเลย”
“เด็กที่ขาดโอกาส แต่เขาไม่รู้ต้องไปทางไหน พอเจอเราก็เหมือนทางเลือกในชีวิตเขาเปิดกว้างขึ้น”

สมพงษ์ ทับทิมทอง ครู กศน. อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
“สารภาพว่าครั้งแรกที่ กสศ.ติดต่อมา เรายังไม่พร้อมให้ความร่วมมือเท่าไหร่ เพราะงานในหน้าที่เราก็มีเยอะอยู่แล้ว จนได้ลงไปสำรวจเด็ก ก็ยิ่งพบว่าเป็นงานที่ยาก ไหนจะเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้น หรือข้อมูลในปีแรกที่ยังไม่ลงตัว เด็กบางคนอยู่ในรายชื่อ แต่เขาอยู่ในระบบก็มี แล้วเราคนเดียวต้องไป 19 หมู่บ้าน ไม่ใช่พื้นที่น้อยๆ เลย
“จนกลับมาวางแผนใหม่ เข้าหาผู้ใหญ่บ้าน ได้รับแนะนำอาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่มาช่วย จากนั้นเราก็เก็บข้อมูลได้เร็วขึ้น ได้พบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 17-19 ปี หลุดออกมาตั้งแต่ ม.ต้น เราก็ดึงเขาเข้ามาเรียน กศน. ให้เขาได้ฝึกอาชีพที่สนใจได้
“ดีใจที่ได้ช่วยให้เขากลับมาเรียน ได้มีวุฒิการศึกษาไปพัฒนาหน้าที่การงาน มีชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น นี่คือความสำคัญของการลงพื้นที่ ที่ทำให้เราพบเด็กที่ขาดโอกาส แต่เขาไม่รู้ต้องไปทางไหน พอเจอเราก็เหมือนทางเลือกในชีวิตเขาเปิดกว้างขึ้น”
‘ต้องทำให้เขารู้ว่าเราสนใจ ตั้งใจจะช่วยเขาจริงๆ’

เกษณีย์ พ่วงท่าโก อาสาสมัครในพื้นที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
“เราเป็นกรรมการหมู่บ้านอยู่แล้ว พร้อมทำงานในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ พอได้รายชื่อมาก็ลงไปสำรวจ มีเคสหนึ่งน้องจบ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ พ่อแม่แยกทางกัน เด็กไปช่วยแม่ทำงาน วันแรกที่เจอกัน ถามเขาว่าอยากเรียนต่อไหม แต่เหมือนเรื่องกลับมาเรียนหรือต้องการความช่วยเหลือไม่ได้อยู่ในความคิดเขาเลย เขาทำงานทุกวันจนเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่เรามองว่าเขาอายุยังน้อย ถ้าจะกลับไปในระบบก็ยังทำได้ ซึ่งตัวน้องก็ลังเล กลัวเข้าไปเรียนแล้วไม่จบ แต่เขาก็ขอเรียน กศน. เราก็ช่วยผลักดันเข้าไป จนได้วุฒิ ม.3 เราเห็นว่ามีโครงการในเครือข่ายให้ฝึกอาชีพต่อได้ แล้วเขาสนใจ ก็ผลักดันเขาไปต่ออีก
“ตอนนี้น้องได้ฝึกอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า รับงานมาทำที่บ้าน มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง แล้วยังเรียนต่อ กศน.ไปด้วย เราภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเขา ตั้งแต่ไปเจอกัน รู้จักกัน ได้ช่วยประสานติดต่อให้เขาเข้าถึงความช่วยเหลือที่หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันเชื่อมโยงเอาไว้ ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำงานที่เจาะลึกขนาดนี้ ต้องพยายามเข้าหาเขาให้ได้มากที่สุด สำคัญคือ ให้เขาสอบทานกับใจตัวเองว่าต้องการทางเลือกแบบไหน ส่วนเราก็ต้องแสดงให้เห็นว่าสนใจและตั้งใจมาช่วยเขาจริงๆ”
“แค่อยากเห็นพวกเขาได้ไปตามความฝันของตัวเอง ถึงงานหนักก็พร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ในปีต่อๆ ไป”

พรศิรินทร์ อ้วนวิจิตร อาสาสมัครในพื้นที่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
“ความประทับใจหนึ่งคือ เราเจอเด็กที่เขาเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่มีความฝัน มีความพยายาม แต่โอกาสที่รอคอยมันมาไม่ถึงสักที เคสหนึ่งเราไปพบน้องอยู่ตัวคนเดียว ทำงานส่งเสียตัวเองในร้านวัสดุก่อสร้างหลังเลิกเรียน เสาร์อาทิตย์ไปเป็นแคดดี้สนามกอล์ฟ จนเรียนจบเทคนิคชั้น ปวช. ใจน้องอยากเรียนต่อ แต่มันสุดกำลังของเขาแล้ว พอมาพบ ได้คุยกัน ทางของเขาก็เปลี่ยนไป ตอนนี้น้องได้เรียนต่อชั้น ปวส.แล้ว
“ตอนที่เขาพูดเรื่องอนาคตที่หวังไว้ แล้วรู้ว่าเราพอช่วยได้ เราเห็นแววตาของคนที่เขาไม่ได้รู้สึกตัวคนเดียวอีกแล้ว คิดว่าจากนี้ไปทุกสิ่งที่เขาอยากเป็นอยากไปมันเป็นไปได้ทั้งหมด นี่คือกำลังใจให้เราอยากทำต่อไป อยากเห็นเด็กได้เรียน ได้มีอาชีพต่อยอดชีวิต ได้ไปตามฝันของตัวเอง ถามว่าเป็นภาระที่หนักไหม…มันก็หนัก แต่เรายังพร้อมร่วมมือเต็มที่ในปีต่อๆ ไป”
‘ถ้าผลักภาระให้พ้นตัวไป อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร’

ลำไย อุดชาชน ครูโรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษา อาสาสมัครดูแลกลุ่มเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ
“ในฐานะครูโรงเรียนมัธยม เราอยู่กับเด็ก ได้รับรู้ปัญหาขั้นตอนก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะพ้นออกไปอยู่นอกระบบ จากการลงเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนเพื่อทำข้อมูล ที่ผ่านมาในพื้นที่มีเด็กหลุดปีหนึ่งเยอะมาก ก็คิดว่าต้องเข้าไปคลุกคลีกับปัญหาแล้วหาทางช่วยเด็กให้ได้เยอะขึ้น อย่างน้อยที่สุดต้องทำทุกทางให้เขามีวุฒิการศึกษาติดตัวไปก่อน ชีวิตจะได้มีทางไปมากขึ้น มันเหมือนเราทำงานด้วยคำถามในใจทุกวันว่า ถ้าผลักภาระให้พ้นตัวออกไป อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร
“สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ในพื้นที่โรงเรียนเรามีทางเลือกทางการศึกษาน้อย ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการเชื่อมโยงกับโรงเรียนสารพัดช่าง ให้เด็กได้เรียนระบบสองวุฒิการศึกษาทั้งสามัญและอาชีพ คือเราพอรู้ว่าเด็กหลายคนเขาอยากเรียนสายอาชีพ แต่ไม่มีเงินไปเรียนต่อในเมือง พอเรียนไปเรื่อยๆ ด้วยความที่การศึกษาไม่ตอบโจทย์ สักพักเด็กก็หลุดไประหว่างทาง ที่เราทำได้คือ ให้เขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น มันก็ช่วยให้เขามีโอกาสเรียนในสิ่งที่สนใจ จบไปแล้วก็มีโอกาสที่ดีในการทำงานมากขึ้น พอใช้ระบบอย่างนี้เด็กก็หลุดน้อยลงไปมาก”
“ตื้นตันใจที่เราเองมีส่วนทำให้คนคนหนึ่งเขาไปต่อกับชีวิตได้ในทิศทางที่ดีขึ้น”

สวรส มากดี ส.อบต. อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
“การส่งเด็กสักคนไปในทางที่เขาอยากไปได้ ทำให้เรายินดีว่าอย่างน้อยชีวิตเขาจะได้พบเจอในสิ่งที่สมควร มีสังคมตามช่วงวัย มีอนาคต มีอาชีพที่ใช้ดูแลตัวเอง มันคือการมอบโอกาสที่ในเบื้องหลังการทำงานบางครั้งเราต้องไปรับไปส่งกันเป็นร้อยกิโลเมตร หรือบางคนต้องไปเป็นผู้ปกครองแทนให้วันที่ส่งเข้าโรงเรียน พาเข้าหอพัก เป็นความใกล้ชิดดูแลกันนับแต่วันแรกพบ จนถึงวันที่เราเห็นเขาเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคิด บุคลิกภาพ ทัศนคติต่างๆ หรือแม้แต่ความใฝ่ฝันถึงอนาคต ก็ยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันใจที่มีส่วนทำให้คนคนหนึ่งเขาไปต่อกับชีวิตได้ในทิศทางที่ดีขึ้น”
‘ความทุ่มเทของคนทำงาน ทำให้เด็กได้เดินไปในทางที่เขาอยากไป’

ดร.สุเนตร ทองคำพงษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดพิษณุโลก
“การปรากฏตัวของเยาวชนกลุ่มนี้คือ ‘ความหวัง’ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศ วันที่เราพบจนถึงวันที่เขาลุกยืนด้วยตัวเองพร้อมความเข้มแข็งจากภายใน มันมีหลายมือที่เข้ามาโอบอุ้มเขาเอาไว้ เรามีเยาวชนกลุ่มแรกๆ ของโครงการที่เปิดให้เห็นเส้นทางที่จะเดินต่อในปีถัดๆ ไป พวกเขาช่วยให้เราได้บทเรียน ที่จะนำมาสร้างระบบป้องกันและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบที่ดี และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น
“เด็กหลายคนที่พบ เวลาเราถามว่าอยากเป็นอะไร จะไปทางไหน บางทีเขาบอกไม่ได้ เพราะกรอบประสบการณ์หรือภาพตัวอย่างในชีวิตเขามีแค่นั้น แต่การพูดคุยกับเขาจะทำให้เรารู้ ว่าเขามีอะไรมากกว่านั้น ไปได้มากกว่านั้น อสม.พื้นที่คือคนที่เข้าไปเสนอช่องทางที่แตกต่างซึ่งเขาไม่เคยเห็น ที่เขาไม่รู้ว่ามีอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขามีชุดความรู้ใหม่ มีพัฒนาการในชีวิต เขาจะมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตนอีกครั้ง สิ่งนี้เป็นความสวยงามที่เราชื่นชมผ่านกระบวนการเติบโตงอกงามในตัวเขา และคือความทุ่มเทอดทนของคนทำงานด่านหน้าที่ทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จได้”