การประชุม Creative in Education Submit 2023 หรือ CES 2023 เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการจัดเสวนาที่รวมผู้คนทั้งในและนอกแวดวงการศึกษาทั่วโลกมาแบ่งปันไอเดีย มุมมอง และประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผูกโยงกับแนวทางการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่อแชร์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต
หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ผู้ฟังหลายคนไม่อยากพลาดคือเซสชั่นของ Bill Lucas ตัวแทนจาก Global Institute of Creative Thinking หนึ่งในคณะผู้จัดงานที่มาพูดถึงความเป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน ซึ่งครอบคลุมไปถึงนโยบาย งานวิจัย และแนวทางปฏิบัติมากกว่าแง่มุมเดียวในหลากหลายประเทศ
ในทอล์กครั้งนี้ บิลได้สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมในวันที่ 23 และรีแคปให้เราฟังอีกครั้ง รวมทั้งยกกรณีศึกษาเรื่องการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์จากโรงเรียนหลายแห่งในหลากทวีปทั่วโลก
บุคลากรทางการศึกษาในประเทศอื่นทำอย่างไรให้เด็กๆ และผู้ใหญ่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้ เราขอพาไปหาคำตอบจากทอล์กครั้งนี้
แบบจำลองการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
ในทอล์กนี้ บิลจะสรุปประเด็นของเสวนาที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมุ่งเน้นสำรวจเรื่องความเป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน และจะครอบคลุมไปถึงเรื่องนโยบาย การวิจัย และแนวทางปฏิบัติอันหลากหลาย เขาจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาเรื่องการนำพาความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์กับกาเรเรียนรู้ในหลายประเทศ ทั้งชิลี แคนาดา ไอร์แลนด์ เวลส์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
บิลจะนำเสนอแบบจำลอง 12 มิติว่าด้วยความก้าวหน้าใน 3 แกนหลักของนโยบาย การวิจัย และแนวทางปฏิบัติ โดยเริ่มเล่าการทำงานกับ Stéphan Vincent-Lancrin รองหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและการวัดความก้าวหน้า ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ OECD รวมถึง Anna Craft ผู้อยู่ในกลุ่มที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ พวกเขาช่วยกันสร้างแบบจำลองความคิดสร้างสรรค์สำหรับโรงเรียนโดยเฉพาะ และ OECD ได้กรุณาเผยแพร่แบบจำลองนี้จนมันเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทั้งในลอนดอน ซิดนีย์ รวมถึง 35 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนำโมเดลไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเอง และเขารู้สึกเป็นเกียรติที่เราจะได้เห็นความคืบหน้าของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆ
“งานบางส่วนของกลุ่ม OECD คือฉายสปอร์ตไลต์ไปยังหลักสูตร วัฒนธรรม และการออกแบบหลักสูตร” บิลย้ำ และบอกว่าในอนาคตจะมีการประเมินในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น และเน้นว่า เขาจะให้ความสำคัญกับภาวะความเป็นผู้นำ (ด้านความคิดสร้างสรรค์) มากขึ้น เพื่อที่เขาจะได้ถอดบทเรียนเพื่อแบ่งปันกับโลกต่อไป
บิลยกตัวอย่างประเด็นในเสวนาของ Andreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ OECD ว่า ความท้าทาย (ของการนำแนวทางการคิดสร้างสรรค์ไปใช้) ในตอนนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องความแออัดของหลักสูตรและการขาดการประเมินแล้ว มันคือการนำไอเดียไปใช้จริงและการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ทรัพยากร และการจัดทำคำแนะนำระบบการเรียนรู้ตามระดับ (System Level Guidance)
“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำแนะนำระบบตามระดับนั้นเรากำลังก้าวหน้าไปมาก Brooking Institution ติดตามสิ่งนี้อยู่ และเท่าที่ผมตรวจดูล่าสุด เขตอำนาจศาลทางการศึกษา 21 แห่งบอกว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรระดับชาติหรือระดับรัฐแล้ว เช่นในหลักสูตรของออสเตรเลียและแคนาดา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพและความรอบรู้”
อีกหนึ่งแบบจำลองที่ทำให้การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นเทรนด์ทั่วโลก คือการนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้กับการแก้ปัญหาและวัฒนธรรมในสังคมอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Local Industrial Cultures) อย่างในไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่ครีเอทีฟมาก เช่นเดียวกับเวลส์ที่มีโรงเรียนมากกว่า 700 แห่งใช้แบบจำลองนี้ ทำให้พวกเขามีความมั่นใจและเชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บิลกำชับว่า แบบจำลองและกรณีศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงแผนที่นำทางที่แสดงความคืบหน้าทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่สร้างสรรค์จากทุกคน
ในมุมของการโฟกัสหลักสูตร บิลยกตัวอย่างของรัฐอัลเบอร์ตาในแคนาดา ซึ่งผู้กำหนดนโยบายการศึกษาได้จัดทำแผนเพิ่มขีดความสามารถของหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ เทียบกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงไปวิชาหลักอื่นๆ หรือเมืองโบลตันในประเทศอังกฤษ ก็มีการจัดทำเว็บไซต์ชื่อ Creativity Exchange เพื่อเป็นสถานที่ที่รวมทรัพยากรการสอนอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้
บิลยังสนใจว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่จะต้องหยุดเมื่อ ‘เสียงระฆังดัง’ หรือไม่ “คุณต้องย้ายจากวิชาภูมิศาสตร์ไปสู่งานศิลปะที่ดูไร้สาระอย่างเห็นได้ชัดจริงหรือ” เขาส่ายหน้า แล้วบอกว่าจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับผู้สอนที่จะจัดการเรียนรู้ให้สร้างสรรค์ในบริบทของโรงเรียนอย่างไร
“แต่เดิมแล้ว แนวคิดนี้มาจากการศึกษาแบบสายอาชีพ แต่ เป็นแนวคิดที่มองว่า ชีวิตบางแบบและวิธีการมองโลกบางวิธี เหมาะสมกับการสอนบางประเภทเท่านั้น ถ้าคุณอยากสอนให้ใครสักคนให้อยากรู้อยากเห็น คุณจะทำยังไงล่ะ คุณจะทำให้พวกเขาอยู่ในกฎแล้วคอยบอกว่าคำตอบคืออะไรเหรอ ผมว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้น”
อีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโมเดลการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แบบใหม่ คือมีผู้ขับเคลื่อนจากองค์กรภายนอกโรงเรียนที่เติมความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิพากษ์ให้คนในระบบการศึกษาได้
บิลยกตัวอย่างหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่เขามองว่ายอดเยี่ยมมาก บทเรียนนี้เกิดจากปัญหาที่ใหญ่ น่าสนใจ ท้าทาย ซึ่งสามารถเชิญชวนให้คนในโรงเรียน นักเรียน และผู้สนใจการเรียนรู้ทุกวัยนั้นมีความฝันใหญ่ และสามารถครุ่นคิดถึงการเรียนการสอนแบบใหม่ได้ นั่นคือบทเรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไฟไหม้ใหญ่ในลอนดอน
“นี่คือบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ผมชื่นชม คนที่เคยเรียนประวัติศาสตร์ลอนดอนอาจจะเดาได้ว่าเป็นบทเรียนอะไร มันคือบทเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1966 ซึ่งมีไฟไหม้ใหญ่ในลอนดอน แต่ถ้าเกริ่นว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดในปีนั้น ผมคงไม่สนใจ แต่สิ่งที่ผมสนใจคือทำไมไฟจึงลุกลามจนโหมไหม้มากกว่า
“Cooms County Infant School มีบทเรียนประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ที่รุ่งโรจน์ที่สุด มันเกิดขึ้นด้วยแนวคิดเล็กๆ ในห้องเรียนห้องหนึ่งที่มีคนถามว่า ทำไมเราไม่สร้างลอนดอนขึ้นมาใหม่แล้วจุดไฟเผาเสียเลยล่ะ แน่นอนว่าพวกนักเรียนคุยกันในวงแคบๆ เพราะมันเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย และทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ต้องกรอกแบบฟอร์ม ปรากฎว่าเรื่องนี้กระจายไปยังหูของเด็กคนอื่น พ่อแม่ของพวกเขา ที่บอกว่า เฮ้ เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ หลังจากนั้น ลอนดอนทั้งเมืองก็ถูกสร้างขึ้นในสนามหญ้าของโรงเรียน และพอกำลังจะจุดไฟ เสียงของเด็กๆ ก็เตือนไว้ว่าคอยดูทิศทางลมก่อน (นี่คือบทเรียนที่) เรารู้ว่าเริ่มต้นจากตรงไหนและจะดำเนินไปในทิศทางไหน เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าทึ่ง”
สิ่งที่น่าสนใจจากกรณีนี้คือเด็กๆ มีส่วนร่วมในการออกแบบบทเรียนอันสร้างสรรค์ด้วย บิลยกตัวอย่างอีกกรณีของ James จากโรงเรียนประถมของมหาวิทยาลัยดแคมบริดจ์ ซึ่งเล่าให้เขาฟังถึงการทำงานร่วมกันในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ล้วนมีรูปแบบที่แตกต่าง เขายกตัวอย่างว่านักเรียนเองก็มีสภาความคิดสร้างสรรค์ (Student Creativity Councils) ที่ตั้งขึ้นมาเอง
“เด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในห้องเครื่องของเรือเท่านั้น แต่พวกเขากำลังอยู่บนสะพานแห่งการเรียนรู้ของตัวเอง”
ทลายขอบเขตของการเรียนรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์นั้นไร้ขอบเขต อีกกรณีหนึ่งที่บิลยกขึ้นมาพูดคือโรงเรียนประถมธรรมดาๆ แห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษในเมืองอีสต์บอร์น ที่นั่นเป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่จำกัดแต่มีครูใหญ่ที่ไม่ธรรมดา เพราะเขาเห็นว่าเมื่อมองข้ามรั้วโรงเรียนออกไป เขาเห็นพื้นที่ขนาด 100 เอเคอร์ที่เป็นดินแดนทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ
“แล้วทำไมเราไม่ทำให้มันเป็นส่วนขยายของโรงเรียนเราเสียเลยล่ะ” บิลตั้งคำถามเช่นเดียวกับครูใหญ่ สภาที่นั่นก็เห็นด้วย พวกเขาจึงสร้างโครงสร้างที่ดินที่ดีกว่าเดิม กำจัดฝูงควายเอเชียออกจากแผ่นดิน และนำสัตว์บางชนิดที่เด็กๆ อาจจะอยากเห็นเข้ามาเลี้ยง เป็นประสบการณ์หนึ่งในหลักสูตรที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีดูแลสัตว์เหล่านั้น
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์นี้ส่งผลถึงการประเมินผลด้วย บิลบอกว่า เราทุกคนกำลังก้าวไปสู่ยุคที่เรามองวัตถุประสงค์ของการประเมินผลให้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการประเมินที่เคยทำมา เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ประเมินผลการเรียนจากผลลัพธ์ที่ได้จากการท่องจำสิ่งต่างๆ “แต่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกที่ผู้เรียนจะเป็นผู้ดูแล (Curator) ความสำเร็จของตัวเอง” เช่น การประเมินผลผ่านสิ่งประดิษฐ์ของเด็กๆ หรือการประเมินตามจุดแข็ง
“เราจำเป็นต้องบูรณาการทั้งหมดนี้เข้ากับโลกที่ซับซ้อนของเรา (…) เราไม่ได้ต้องการวิศวกรที่ยอดเยี่ยมหรือนักคิดผู้สร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่(เราต้องการให้เด็กๆ)คิดเหมือนนักวิทยาศาสตร์ด้านความคิด หรือนักคณิตศาสตร์ด้านความคิด เป็นคนที่ออกกำลังกายความคิดของตัวเองตลอดเวลา และนั่นเป็นทักษะสำคัญที่เราต้องมีในหลักสูตรทั่วไป”
บิลทิ้งท้ายว่า เขารู้สึกยินดีและรู้สึกมีสิทธิพิเศษเป็นอย่างมากที่ได้ทำงานกับเพื่อนร่วมงานในห้องประชุมนี้ หนึ่งในทีมทำงานกำลังพัฒนาแหล่งการเรียนรู้อย่างมืออาชีพ เป็นเว็บไซต์ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าบางอย่างกลับเข้าไปในระบบการศึกษา ทำให้เกิดการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ของผู้คน และเขาตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะเห็นว่าอนาคตของการศึกษาทั่วโลกจะเป็นอย่างไร