ณ โรงเรียนในฝันของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการโปรตุเกส การพัฒนาความเป็นเลิศต้องมาคู่กับการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์

ณ โรงเรียนในฝันของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการโปรตุเกส การพัฒนาความเป็นเลิศต้องมาคู่กับการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์

ความท้าทายประการหนึ่งในโลกการศึกษา คือหลักสูตรและโครงสร้างอันเข้มงวด ที่ทำให้กิจกรรมการคิดแบบปลายเปิดและสร้างสรรค์ถูกละเลยอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งยังบีบให้ผู้เรียนต้องดิ้นรนเพื่อความสำเร็จทางการศึกษาที่วัดผ่านการสอบ ระบบการศึกษาที่จัดลำดับความสำคัญให้ยึดผลการประเมินเหล่านี้เป็นมาตรฐานหลัก มักนำไปสู่การสืบทอดวัฒนธรรมการ ‘เรียนเพื่อสอบ’ โดยที่ผู้สอนเน้นนำเสนอติวเนื้อหาสำหรับสอบโดยเฉพาะ จนไม่เหลือเวลาในห้องเรียนสำหรับการเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่าง หรือปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีจินตนาการ ทั้งที่ 2 สิ่งนี้ต่างเป็นส่วนผสมสำคัญของการศึกษาที่สมบูรณ์รอบด้าน

ฌูเวา คอสตา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของโปรตุเกส ควบตำแหน่งศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโนวา (Universidade Nova) กรุงลิสบอน ผู้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อไรก็ตามที่คนในสังคมถกเถียงกัน เกี่ยวศักยภาพของ ‘ทักษะคิดสร้างสรรค์’ ในระบบการศึกษา เรามักตกเป็นเหยื่อของการคิดแบบตรรกะวิบัติที่เรียกว่า ‘False Dichotomies’ หรือ ‘ทวิบถเท็จ’

João Costa (ภาพ: CES 2023’s Official Website)

อธิบายง่ายๆ เช่น คนเรามักเผลอคิดว่าการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข อาจส่งผลให้หลักสูตรนั้นๆ ขาดความเอาจริงเอาจัง บ้างก็เชื่อการสนับสนุนความหลากหลาย อาจทำให้โรงเรียนสูญเสียความเป็นเลิศไป สมมุติฐานที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางเลือกแบบผิดๆ เหล่านี้ ได้สร้างภาพลวงให้เรารู้สึกว่าต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถทำให้ทั้ง 2 เป้าหมายเป็นจริงได้พร้อมๆ กัน เพราะเราสามารถสร้างหลักสูตรที่มุ่งเน้นทั้งความสุขและความมานะบากบั่นของผู้เรียนไปพร้อมกันได้ เช่นเดียวกับการที่สถานศึกษาสามารถสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเป็นเลิศทางวิชาการเสมอไป

การที่เราหันหน้ามาพูดคุยกันเรื่องทักษะการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณในการศึกษา คือโอกาสที่เราจะสามารถทลายภาพจำเดิมๆ เหล่านี้ ฌูเวาได้กล่าวเปิดการประชุมด้วยการเสนอ 11 เหตุผลสำคัญที่เราควรปฏิรูประบบการศึกษา ด้วยการโปรโมตทักษะคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ โดยแตะไปยังหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ความท้าทายในการนำนโยบายมาใช้จริงในชีวิตประจำวันของครูและนักเรียน รวมถึงการริเริ่มของรัฐบาลโปรตุเกสในการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

1. การปะทะกันของภาพจำ ‘นักเรียนดียุคเก่า’ และ ‘นักเรียนดียุคใหม่’

หากพูดถึงภาพจำของนักเรียนในอุดมคติตามขนบของยุคก่อน เรามักนึกถึงผู้เรียนที่มีบุคลิกนิสัยสงบเสงี่ยม ไม่โต้ตอบ (Passive) แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้รอบด้านและมีการแข่งขันที่สูง อย่างไรก็ดี ผู้เรียนแบบที่เราคาดหวังในฐานะผลลัพธ์จากการศึกษา คือผู้ที่มีความคิดริเริ่มและรู้จักลงมือทำ (Active) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ทักษะและลักษณะนิสัยที่บ่มเพาะได้จากการกดดันให้เด็กทำตัวนิ่งเงียบเรียบร้อยในห้องเรียนอยู่ตลอดเวลา

การปลูกฝังความสร้างสรรค์และทักษะการคิดนอกกรอบนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก การกระตุ้นนักเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองออกจากความคาดหวังเดิมๆ ที่ล้าสมัยนี้ ฌูเวายกตัวอย่างความพยายามของโปรตุเกส ในการสร้างเครื่องมือที่สนับสนุนการคิดแบบสร้างสรรค์และทักษะในการแก้ปัญหาของนักเรียน ซึ่งจะกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรแกนกลางที่เด็กๆ ชาวโปรตุเกสจะได้ใช้เรียนในอนาคตอันใกล้

2. เหล่านักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าก่อน

ลองนึกถึงนักวิทยาศาสตร์หรือนักปรัชญาจากยุคโบราณ อย่างกาลิเลโอ โสกราตีส หรือเพลโต เจ้าของหลักการแนวคิดที่ยังปรากฏในตำราเรียนจนถึงทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของคนเหล่านี้ ก็จะรู้ว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จจากการท่องจำเนื้อหาที่มีคนสอนมา แต่เป็นความใคร่รู้ของพวกเขาต่างหาก ที่นำพาพวกเขาไปสู่การตั้งคำถามที่แปลกใหม่ หรือทำการทดลองทฤษฎีใหม่ๆ ฌูเวาคิดว่าการที่โรงเรียนเน้นการฝึกให้ผู้เรียนทำชิ้นงานคล้ายกันซ้ำๆ เรียนหนังสือแบบรูทีน และสอนแบบท่องจำ คือการทำลายจิตวิญญาณแห่งวิทยาศาสตร์เอง

โสกราตีส (ซ้าย) และเพลโต (ขวา) ในภาพจิตรกรรม The School of Athens

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้และควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือการเพิ่มและพัฒนาบทบาทของ ‘วิทยาศาสตร์การทดลอง’ ในห้องเรียน ผ่านการมอบหมายชิ้นงานให้ทำในห้องแล็บและการส่งเสริมไอเดียที่แปลกใหม่นอกกรอบ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การเปิดใจเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก พยายามเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ และทำใจยอมรับได้เมื่อไม่ได้คำตอบที่เราต้องการในทันทีนี่แหละ คือพื้นฐานในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

3. ปัญหาในการสืบค้นข้อมูลในยุคใหม่

แม้ว่าตอนนี้เราจะอาศัยอยู่ในยุคแห่งภาวะ ‘ภูเขาข้อมูลถล่ม’ (Avalanche of Information) แต่เรากลับไม่สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งที่ถล่มลงมากับภูเขาข้อมูล ถือเป็นความรู้ได้โดยอัตโนมัติ เพราะสิ่งที่ปะปนมาด้วยคือข้อมูลที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือแม้กระทั่งเฟกนิวส์ที่ทำขึ้นอย่างจงใจ ลำพังเพียงการแปะข้อความคำพูดลงบนภาพของใครสักคนหนึ่ง ก็สามารถทำให้ผู้คนมากมายในโลกอินเทอร์เน็ตเชื่อว่าคนในภาพเป็นเจ้าของคำพูดนั้นๆ ได้ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ผู้มักถูกเอารูปถ่ายไปแปะข้อความคำพูดมากมาย แต่กว่าครึ่งของข้อความเหล่านั้นกลับไม่ได้มาจากเขาด้วยซ้ำ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรสร้างเครื่องมือและบ่มเพาะทักษะ ให้ผู้เรียนยุคใหม่สามารถป้องกันตัวเอง และแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ

Albert Einstein (Photograph: Arthur Sasse)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ภาพ: Arthur Sasse)

4. อุปสรรคในการจดจำบทเรียน

หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความจำของผู้เรียน โดยเฉพาะความสามารถในการจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปในระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบขณะเป็นนักเรียน เพราะในวันหนึ่งๆ นักเรียนต้องเรียนรู้ข้อมูลดิบมากมาย เพื่อให้ผ่านการสอบ และเมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำเหล่านั้นก็มักค่อยๆ จางหายไป กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ คือการมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลในเชิงรุก ผ่านการพูดคุยถกเถียง การสร้างสิ่งใหม่จากข้อมูลที่มี และการประยุกต์ใช้ข้อมูลกับสถานการณ์ใหม่ๆ หากบรรจุกิจกรรมเหล่านี้ลงในบทเรียน ก็มีโอกาสที่สูงมากที่สิ่งเรียนไปจะสามารถคงอยู่ในหน่วยความจำของเราในระยะยาว

5. จินตนาการเป็นสิ่งจำเป็นในการโอบรับความหลากหลาย

การโอบรับความหลากหลายมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิดการเลิกทาส นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนยุคแรกเริ่ม และคนทุกหมู่เหล่าที่พยายามขับเคลื่อนสังคมสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็ล้วนเป็นนักคิดเชิงสร้างสรรค์ผู้อยากเห็นโลกที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน ฉะนั้น ในขณะที่ผู้สอนกระตุ้นนักเรียนให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นที่พูดภาษาอื่นๆ หรือมีความพิการด้านร่างกายและ/หรือสติปัญญา พวกเขากำลังปลูกฝังให้ทั้งนักเรียนและตนเองรู้จักใช้จินตนาการไปด้วยว่า “ฉันสามารถทำอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้?”

6. การตั้งคำถามนั้นยากกว่าการหาคำตอบ

ความจริงประการหนึ่งที่เราเรียนรู้จากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)  โดยเฉพาะจาก Generative AI คือเราตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถตอบคำถามได้อย่างฉับพลันทันใจอยู่ในมือแล้ว ท้ายที่สุด คุณภาพของคำตอบจึงขึ้นอยู่กับว่าตัวเรารู้หรือไม่ว่าตัวเองต้องถามอะไร บทเรียนจาก AI บทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของความคิดสร้างสรรค์ในการศึกษา โรงเรียนจำเป็นจะต้องกระตุ้นสัญชาตญาณความใคร่รู้ในตัวเด็กขึ้นมาให้ได้ เพราะหากไม่มีสิ่งนี้ นักเรียนอาจไม่รู้วิธีการตั้งคำถาม พลอยทำให้พวกเขาขาดความใส่ใจในคุณภาพของคำตอบ หรือไม่อยากรู้คำตอบด้วยซ้ำ

7. จงให้คุณค่ากับ ‘กระบวนการ’

โรงเรียนส่วนมากมักจะจัดลำดับความสำคัญให้ผลลัพธ์และอัตราความสำเร็จของนักเรียนสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นการวัดผลไปที่คำตอบที่ถูกต้อง หรือคะแนนสอบสูงๆ จนน่าเสียดายที่ปัจจัยสำคัญ อย่างกระบวนการก่อนจะไปถึงคำตอบหรือผลคะแนนนั้นๆ มักถูกมองข้าม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นักเรียนควรถูกสอนให้รู้จักคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่แค่เพียงสามารถระบุได้ว่าอะไรคือขั้นที่จำเป็น แต่ยังต้องเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างขั้นตอนเหล่านั้นและเหตุผลของมัน เพื่อให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมปัจจุบัน ที่ให้คุณค่ากับทักษะการคิดและแก้ปัญหา

8. “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?”

เด็กๆ มักต้องเชิญหน้ากับคำถามนี้ จากผู้ใหญ่ที่มักมีชุดความคิดและความคาดหวังว่าจะได้รับคำตอบเป็นงานหรืออาชีพที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน จากนั้นเด็กๆ ก็จะได้รับการฝึกอบรมให้พร้อมสำหรับบทบาทเหล่านั้นต่อไป และทุกครั้งที่เราทำเช่นนั้น เราอาจกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันที่จำเป็น ในจะเผชิญกับความไม่แน่นอนของตลาดแรงงานในโลกอนาคต รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น กล่าวได้ว่าอาจถึงเวลาที่เราควรเริ่มหันมาบ่มเพาะความสามารถในการปรับตัวให้กับเยาวชนในระบบการศึกษาได้เสียที

9. ข้อผิดพลาดของเดคาร์ต

ด้วยแรงบันดาลใจจาก ความผิดพลาดของเดคาร์ต หนังสือที่เขียนโดย อันโตนิโอ ดามาสิโอ นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน-โปรตุกีส ฌูเวาอธิบายว่าถึงแม้แนวคิดของ เรอเน เดคาร์ต ที่ว่าจิตใจและร่างกายเป็นสสาร 2 อย่างที่แตกต่างและแยกเป็นเอกเทศจากกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อารมณ์มีความสำคัญและความเชื่อมโยงต่อกระบวนการตัดสินใจหนึ่งๆ ไม่น้อยไปกว่าเหตุผล ดังนั้น หากเราไม่ใส่ใจฝึกฝนทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน พวกเขาก็จะขาดทักษะในการตัดสินใจ

เรอเน เดการ์ต (โดย Frans Hals)

10. เพราะการได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้นซับซ้อนและอาศัยเวลา

หากมองในระนาบผิวเผิน ประชาธิปไตยอาจดูไม่เกี่ยวข้องกับทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์เลย แต่ทั้งสองแนวคิดนี้เหมือนและเชื่อมโยงถึงกันอย่างเหนียวแน่น ตรงที่ทั้งการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและทักษะการคิดอย่างสรรค์ ล้วนแต่อาศัยเวลา เวลาสำหรับการพูดคุยถกเถียง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และตระหนักได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาของตนเองอาจไม่ดีเท่ากับวิธีของอีกฝ่าย นี่คือกระบวนการที่ต้องใช้เวลา อันจะเห็นได้จากความจริงที่ว่า ถึงแม้ว่าเราจะสามารถสร้างนักเรียนเชี่ยวชาญด้านความรู้ แต่เรากลับไม่เคยฝึกให้พวกเขาตั้งคำถามกับความรู้ที่ได้รับไปเลย

11. เพราะเราทุกคนต่างเป็นมนุษย์

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่พบในสปีชีส์อื่นๆ คือ ‘ภาษา’ อาจมีสิ่งมีชีวิตอื่นใดที่ครอบครองวิธีการสื่อสารบางอย่าง แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ครอบครองสิ่งที่เรียกว่าภาษา นอกจากนี้ ความพิเศษของมนุษยชาติอีกประการ คือเราสามารถวิเคราะห์คุณค่าของศิลปะ วรรณกรรม และดนตรี ดังคำพูดที่ว่าเวลาจะหยุดลงเมื่อเรารู้สึกซาบซึ้งไปกับผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เหล่านี้ และนี่แหละคือสิ่งที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของ ‘เวลา’ที่เป็นดั่งน้ำที่หล่อเลี้ยงทักษะการคิดแบบสร้างสรรค์และคิดเชิงวิจารณ์

ในขณะที่เราค้นหาเส้นทางบนโลกดิจิทัลที่ซับซ้อนนี้ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในอนาคต ข้อเสนอที่โดดเด่นของฌูเวาเปรียบเสมือนข้อเรียกร้องต่อเหล่าผู้จัดการเรียนการสอน ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงคนในสังคมทั้งหลาย ให้ปรับมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาเสียใหม่

หลายเหตุผลที่เขานำเสนอล้วนแล้วแต่มีศักยภาพในการส่งเสริมความสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิจารณ์ ตั้งแต่การรับมือกับข้อมูลที่ผิด และการปรับตัวเพื่อรับมือกับความผกผันของตลาดแรงงานแห่งโลกอนาคต ได้สร้างภาพอนาคตที่ชัดเจนของระบบการศึกษาสร้างสรรค์ที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นถัดไป เพื่อตระเตรียมเยาวชนให้พร้อมกับทุกอย่าง ไม่เพียงแต่การสอบเท่านั้น แต่ยังพร้อมสำหรับยุคอนาคต ยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์