การศึกษาและโรงเรียนส่งผลหรือมีความหมายต่อเยาวชนหรือนักเรียนอย่างไร หากพวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางอนาคตที่คาดเดาได้ยากและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ
คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่เรียบง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีความซับซ้อน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เรากำลังเผชิญหน้ากับพลังแห่งเทคโนโลยีและวิกฤตภาวะโลกรวน สถานการณ์เหล่านี้กำลังทดสอบว่าระบบการศึกษาและการเรียนการสอนได้ถูกพัฒนามาเพื่อรับมือและติดอาวุธให้ทุกหน่วยชีวิต ทั้งนักเรียน ครู สถาบันการศึกษา นักการศึกษา หรือผู้ออกนโยบายมากน้อยแค่ไหน
โรงเรียนปรับตัว นักเรียนและครูก็ปรับตัวมากกว่าในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติเป็นผู้สรรสร้าง คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ทำงานด้านการศึกษาทั่วโลกพยายามเฟ้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ ทั้งในระดับโครงสร้างและระดับจุลภาค เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นให้กับนักเรียนนักศึกษา
หากเราสามารถปลูกฝังการใช้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจจะได้เห็นเมล็ดพันธุ์ที่ก้าวทันโลกและเติบโตงอกงาม เนื่องจากพวกเขาผ่านการศึกษาที่อนุญาตให้พวกเขาคิดและใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระ
ศาสตราจารย์สรือ จรงยิง (Professor Shi Zhongying) คณบดีภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยซิงหวา ประเทศจีน และศาสตราจารย์ฮิลลารี เครมิน (Hillary Cremin) หัวหน้าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ได้นำเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอในเสวนา ‘บ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์สำหรับการเรียนรู้ทางวิชาชีพ: ปรับใช้กรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพของ OECD ผ่านความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์สู่บริบทท้องถิ่น’ (Embedding Creativity in Professional Learning: Adapting The OECD Professional Learning Framework through Creativity And Critical Thinking to Local Contexts) ในงาน Creativity in Education Summit 2023 ไว้อย่างน่าสนใจ
เราจะทลายวาทกรรมที่อยู่ยั้งยืนยงเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ ระบบการสอบที่โหดหิน หรือวิธีการสอนแบบเน้นความรู้ด้านวิชาการเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร และที่สำคัญไปกว่านั้น คือเราจะค่อยๆ ถอยห่างจากการศึกษาแบบที่ยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง แนวคิดในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) หรือแนวคิดสมัยใหม่ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนแบบประชาธิปไตยได้อย่างไร นักเรียนจึงจะได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
บริบทของจีนและการแนวทางในการปฏิรูปทางการศึกษา
เราดำรงอยู่ในยุคแห่งข้อมูลมหาศาลและความเรืองอำนาจของปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นผู้คนจึงมีสิทธิเสพข้อมูล ข่าวสาร หรือเลือกสรร ‘ความจริง’ มากมาย
ศาสตราจารย์สรือกล่าวว่า หลายคนพูดเสียด้วยซ้ำว่าเรากำลังจะเดินเข้าไปสู่ยุคหลังความจริง (Post-truth) ที่มนุษย์สามารถกลายเป็นทาสของข้อมูลข่าวสารที่มากล้น ดังนั้นหากปราศจากความคิดเชิงวิพากษ์ เราอาจจะไม่สามารถรักษาแนวความคิดหรือสถานะของตัวเองเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ
ประเทศจีนได้บังคับใช้ระบบการศึกษาที่ออกโดยคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมนิวนิสต์จีน (Central Committee of the Communist Party of China) และสภาแห่งรัฐในปีพ.ศ. 2528 และกำลังเผชิญกับภารกิจที่จะต้องปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ผ่านการปฏิรูปการศึกษา และตั้งเป้าหมายหลักด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น เด็กต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีทักษะความสามารถที่นำไปใช้ได้จริง
มหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีนจึงได้อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัยให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ช่วยจัดหาทุนในการวิจัย หรือแม้กระทั่งเปิดคอร์สด้านความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับเด็ก เช่น คอร์สระบบนิเวศ หรือการปรับใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ในขณะที่โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาก็เริ่มที่จะขยับขยายหลักสูตรในทิศทางของตนเอง มีอิสระในการออกแบบมากขึ้น เช่น มีคอร์สด้านชุมชนที่หลากหลายมากขึ้น ให้ความสำคัญกับความต้องการของนักเรียนมาเป็นอันดับแรก หรือมีโมเดลการเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดด้านการวิจัยเป็นตัวตั้ง
“ดินที่จะต้องใช้เพาะปลูกความคิดในการตั้งคำถาม ความรู้ที่น่ารู้ หรือทักษะเชิงวิพากษ์ของนักเรียนประถมและมัธยมศึกษาเริ่มมีมากขึ้น รอยต่อระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษากับมหาวิทยาลัยก็แข็งแรงขึ้นเพราะเด็กได้เรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry-based approach) ในชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา” ศาสตราจารย์สรือกล่าว
แต่จีนเองก็ประสบข้อท้าท้ายด้านการศึกษาที่คล้ายคลึงกับประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศอื่น นั่นคือ การศึกษาของจีนยังคงติดอยู่กับขนบธรรมเนียมเดิมๆ วิธีการมองการศึกษาที่ล้าสมัย หรือผลกระทบจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่อาจจะชะลอการเติบโตด้านความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ของเด็กในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา
“จีนยังติดกับธรรมเนียมในการให้คุณค่ากับระบบการศึกษามาตั้งแต่ยุคโบราณ และครอบครัวก็คาดหวังว่าการศึกษาจะเข้ามาช่วยบ่มเพาะให้ลูกตัวเองประสบความสำเร็จในระดับปัจเจก และมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นได้
“แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดที่ว่าทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความรู้คุณภาพสูงได้ จึงเกิดการแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความขับเคี่ยวกันสูง
“ในฐานะอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ผมมักจะรู้สึกว่าเด็กไม่ค่อยมีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงปัญหา พลังในการอยากสำรวจ ความคิดเชิงนวัตกรรม หรือทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่เข้ามหาวิทยาลัยมาได้ผ่านการแข่งขันที่เข้มข้น” ศาสตราจารย์สรือกล่าว
ประเด็นเหล่านี้เริ่มน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ และในพื้นที่ชนบทบางแห่งทางด้านตะวันตกของจีนหรือโรงเรียนด้อยคุณภาพ เราก็ยังเห็นปรากฏการณ์การเรียนการสอนที่เน้นความเป็นวิชาการอย่างแพร่หลาย
และถึงแม้ว่านักการศึกษา นักวิจัย หรือผู้ออกนโยบายจะลองสำรวจความเป็นไปได้ที่จะบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับนักเรียนด้วยวิธีการต่างๆ แต่ศาสตราจารย์สรือก็ยังกล่าวว่า มีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก คือการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการบ่มเพาะนักเรียนในด้านนี้เพื่อต่อยอดไปถึงคุณค่าระดับปัจเจก ระดับสังคม และระดับชาติ การสอบได้คะแนนสูงหรือเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำยังคงเป็นภารกิจหลักของโรงเรียนอยู่
ประเด็นที่สอง คือการขาดความเข้าใจในคอนเซ็ปของการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับเด็ก ครูยังไม่สามารถเข้าใจนัยยะสำคัญของการสอน ว่าเมื่อนำแนวคิดลักษณะนี้ไปปรับใช้กับนักเรียนแล้ว จะวัดผลหรือพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร
บางคนคิดว่าเป็นเป้าหมายที่สูงส่งเกินเอื้อม และความคิดเชิงวิพากษ์ก็ให้ผลลัพธ์ในเชิงลบและไม่มีคุณค่ามากพอที่จะต้องสอนนักเรียน แต่ในขณะเดียวกันครูก็ไม่มีความมั่นใจมากพอที่จะปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับเด็กในคาบเรียนที่ยังต้องยึดหลักสูตรตามขนบอยู่
และประเด็นสุดท้าย คือการขาดแคลนข้อมูลและการสนับสนุนจากระบบการประเมินที่ทำให้ครูแต่ละคนไม่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์หรือบ่มเพาะความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับนักเรียนได้
ดังนั้นข้อท้าทายเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อท้าทายที่นักการศึกษาทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาที่การปฏิรูปการศึกษานั้นต้องปรับไปตามบริบทพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายสูง
“เราสามารถช่วยสนับสนุนและช่วยบริการให้ระบบการศึกษาทำงานในประเด็นเหล่านี้ได้สะดวกมากขึ้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการจัดตั้งการประชุมด้านการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ของ OECD และการพัฒนากรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อบ่มเพาะและประเมินความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์
กรอบคิดนี้ได้รับการออกแบบมาอย่างดีพร้อมกับเกณฑ์การจัดการที่ชัดเจน 10 ข้อ โดยแต่ละข้อมีการระบุจุดมุ่งหมายและแผนการปรับใช้ที่จับต้องได้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางและการทำงานที่แข็งแรง” ศาสตราจารย์สรือกล่าว
เขายังเสริมอีกว่าจีนได้ทดลองแนวทางเหล่านี้ในพื้นที่บางแห่ง เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือเฉิงตู และเชิญคุณครูมาเข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นคุณครูรุ่นบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต่อไป
“แต่เราจะต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่ากระบวนการเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน และอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากและข้อท้าทายมากมาย แต่ก็เพราะปัจจัยอันแสนยุ่งยากและความพยายามเหล่านี้ นักการศึกษาทั้งหลายจึงต้องตื่นตัวที่จะทำงาน และยืนยันว่าจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาต่อไป” ศาสตราจารย์สรือกล่าว
การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเราจินตนาการถึงความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่
ศาสตราจารย์ฮิลลารี เครมิน หัวหน้าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เริ่มบรรยายจากการอ่านกลอนที่ชื่อ ‘นางฟ้าไร้เลือด’ เพราะเธอต้องการที่จะชวนพูดคุยลึกลงไปในประเด็นความคิดสร้างสรรค์ และนี่คือส่วนหนึ่งจากกลอนที่เธออ่าน
ชีวิตของคน โดนความจนกระทำเช่นไร
สุดท้ายความคิดไม่รู้ทิศของฉันไปโผล่ในที่สักแห่งหนได้
ฉันมอบเสียงให้พวกเขา มอบของขวัญของโลกใบนี้
ฉันคือใครที่เป็นตัวแทน ฉันทำงานสุดแสนเพื่อความยุติธรรมของสังคม สันติสุข และความยั่งยืน
“ฉันไม่อยากที่จะนำเสนอแนวคิดแบบทวิลักษณ์เพราะไม่อยากจะบอกให้เราเลิกทำสิ่งหนึ่งเพื่อทำอีกสิ่งหนึ่ง ฉันไม่ได้บอกว่าความเปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นในระนาบเดียว แต่อยากจะนำเสนอว่าเราอาจจะต้องเลิกเน้นบางเรื่องเพื่อไปเริ่มต้นเน้นกับบางเรื่องแทน” ศาสตราจารย์ฮิลลารีเอ่ย
เธอนำเสนอประเด็นที่สำคัญรอบๆ ความคิดสร้างสรรค์ที่เรียกให้เราตั้งคำถามกับวิธีคิดแบบเก่า 3 ประเด็นหลักด้วยกัน นั่นคือ การเป็นผู้นำด้านความสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Creative Leadership for Change) หลักสูตร การเรียนและการสอนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Teaching Learning and Curriculum) และการเรียนและพัฒนาเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่องอย่างสร้างสรรค์ (Creative continuous professional development and learning (CPDL)) ซึ่งทั้งหมดนี้ไล่เรียงแนวคิดที่ลึกซึ้งของปัญหาการศึกษาที่ไม่ได้ซุกอยู่ใต้พรมอีกต่อไป และเสนอว่าเราควรจะเปลี่ยนมุมมองของตัวเองเรื่องการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ และเข้าถึงทุกชีวิตให้ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมและดีงามอย่างไร
ด้านการเป็นผู้นำด้านความสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ศาสตราจารย์ฮิลลารีเสนอว่าเราควรจะเลิกน้อมนำสันติภาพเชิงลบ (negative peace) และการรักษาความสงบสุขที่หลายโรงเรียนบังคับใช้ ดังเช่นที่เราเห็นจากการที่มีเจ้าหน้าที่คอยรักษาความสงบคอยป้องกันการทะเลาะกันของเด็ก หรือมีกฎมากมายที่ออกมาเพื่อบังคับควบคุมในชั้นเรียน เพราะมันไม่สามารถสอนเรื่องความรุนแรงทางอ้อม (indirect violence) ให้กับเด็กได้
เธอยังกล่าวอีกว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) นั้นอาจจะนำเราไปในทิศทางที่ทำให้เรามองไม่เห็นความอยุติธรรมในสังคม ในขณะที่เราเองก็เชื่อมั่นและรู้สึกว่างานการศึกษาที่ทำอยู่ คืองานที่ทำเพื่อความเท่าเทียมหรือเพื่อขับเคลื่อนสังคม
ดังนั้นเราจึงควรน้อมนำสันติภาพเชิงบวก (positive peace) เพื่อออกแบบการสร้างสันติภาพแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและเข้าถึงทุกคน
แต่นั่นอาจจะต้องใช้การลงแรงลงใจในการทำงานเพื่อสร้างภาษาและโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดสันติภาพเชิงบวกในระดับที่เป็นสันติภาพจากภายใน ทำให้ผู้เรียนสามารถสานสัมพันธ์กับผู้อื่น พัฒนาไปถึงระดับชุมชน ระดับชาติ และท้ายที่สุดคือระดับสากล
เราควรจะเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ว่า การศึกษาต้องสนับสนุนให้เรามีจินตนาการทางศีลธรรม (moral imagination) มากกว่าการทำธุรกิจการศึกษาไปตามปกติ (business as usual) เพราะจินตนาการนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เรานึกถึงโลกและสังคมที่ดีขึ้นได้
และท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่การคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมเพื่อปฏิรูปการศึกษา
ศาสตราจารย์ฮิลลารีกล่าวไว้อย่างงดงามว่า เราควรจะเปลี่ยนแปลงคอนเซ็บของแนวคิดของการศึกษาในฐานะวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว (monoculture) ไปสู่การศึกษาที่จะต้องฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมา (rewilding) เนื่องจากว่า “เมื่อเราพูดถึงงานการศึกษา เราต้องปล่อยให้ดอกไม้เบ่งบานมากกว่าการออกแบบการศึกษารูปแบบเดียว แต่คาดหวังว่ามันจะเหมาะกับเด็กทุกคน เพราะมันจะบีบรัดการเจริญเติบโตและความคิดสร้างสรรค์จนไร้ลมหายใจ และสุดท้ายมันจะทำให้เราอ่อนเปลี้ย”
นอกจากนั้น เรายังต้องรวมตัวกันเพื่อปฏิรูปการทำงานของขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่มีต่อแนวคิดสมัยใหม่ (modernity) การใช้ยุโรปเป็นศูนย์กลาง ความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งแนวคิดมนุษยนิยม (humanism)
เราควรปรับใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modernity) ความจริงที่หลากหลาย และแนวคิดหลังมนุษยนิยม (post-humanism) หรือแม้กระทั่งมนุษยสมัยหรือแอนโทรโพรซีน (Anthropocene) กับการศึกษา เพราะยุคเรืองปัญญาได้ปลูกฝังแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์และการใช้เหตุผลไว้กับมนุษย์อย่างแน่นแฟ้น หล่อหลอมให้เราเชื่อถือในความคิดแบบภววิสัยหรือรูปธรรม มากกว่าการใช้ประสบการณ์หรือแนวคิดแบบอัตวิสัยอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวผ่านภูมิปัญญาที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่า
“เราสามารถเรียนรู้จากเพื่อนของเราที่มาจากประเทศจีน ลัทธิเต๋า (Taoism) ลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) พุทธศาสนา ธรรมเนียมปฏิบัติแบบฮินดู โยคะแบบดั้งเดิม และศาสตร์ต่างๆ ที่สอนเรื่องสันติภาพและการปรองดองกัน มากกว่าจะสอนว่าสันติภาพคือความมั่นคงและสังคมที่ไร้การต่อสู้ระหว่างกัน
เราถึงจะคิดอย่างแตกต่างได้ว่า การเป็นมนุษย์นั้นต้องเป็นอย่างไร การดำรงอยู่ในสันติภาพเป็นอย่างไร เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสุนทรียะแห่งความงาม สันติภาพ และการปรองดอง” ศาสตราจารย์ฮิลลารีกล่าว
ในด้านหลักสูตร การเรียนและการสอนเชิงสร้างสรรค์ เราสามารถนำคอนเซ็บที่คล้ายๆ กันกับหลายประเด็นที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นมาปรับใช้ ศาสตราจารย์เสนอให้เราขยับออกจากการเรียนเพื่อเป็นเลิศทางอภิปรัชญาไปสู่การเคารพธรรมชาติในฐานะอาจารย์ของเรา หรือขยับออกจากหลักสูตรแบบยึดยุโรปเป็นศูนย์กลางไปสู่หลักสูตรที่ปลดแอกออกจากความเป็นอาณานิคม ด้วยการเรียนรู้ผ่านภูมิปัญญา และท้ายที่สุดคือขยับออกจากการศึกษาที่สอนและรับรองแต่ชนชั้นสูง ไปสู่การประเมินเพื่อการเรียนรู้
เยาวชน นักเรียน เด็ก วัยรุ่น ไม่ว่าเราจะเรียกพวกเขาว่าอะไรก็ตาม คนเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย พวกเขาเป็นพลเมืองของการศึกษาที่มักจะถูกตรวจสอบและถูกพร่ำบอกให้ท่องจำ มากกว่าบอกว่าเราควรปรับใช้ทัศนคติที่นำเอาศิลปะเข้ามาช่วยดำเนินชีวิต
การเปลี่ยนแปลงประเด็นเหล่านี้ต้องยกเครื่องตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร ซึ่งวิชาด้านวิทยาศาสตร์ก็มิใช่ข้อยกเว้น
ในประเด็นสุดท้าย ศาสตราจารย์ฮิลลารีบรรยายถึงการเรียนและพัฒนาเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่องอย่างสร้างสรรค์ไว้ว่า เราต้องเลิกมองว่าคุณครูเป็นเครื่องมือ แต่เป็นปัญญาชนและนวัตกรของสังคม เลิกมองว่าคุณครูเป็นผู้บริโภคงานวิจัย แต่เป็นครูผู้สร้างและผลิตงานวิจัย เลิกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนและพัฒนาเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อสังคม
เมื่อดำเนินมาถึงช่วงท้ายของเสวนา ศาสตราจารย์สรือสะท้อนเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในชนบทของประเทศจีนไว้ว่า จีนยังขาดความเข้าใจเรื่องคุณภาพของการศึกษาเพราะไม่มีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน
การจัดอบรมที่หลากหลาย รูปแบบการสอน และการพัฒนาข้อมูลยังคงเป็นการบ้านชิ้นภูเขาที่หน่วยงานต่างๆ ต้องพยายามอย่างหนักในการออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน
ในขณะที่ศาสตราจารย์ฮิลลารีเลือกที่จะมีความหวังว่าวันหนึ่งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง เธอจินตนาการเรื่องโรงเรียนและการศึกษามาตลอดระยะเวลาในวิชาชีพ และยังให้ตัวอย่างที่ชัดเจนกับเราว่า โรงเรียนจะสามารถเป็นแบบใดได้บ้าง
“ฉันมีความคิดที่สุดโต่งอย่างมากๆ ว่าเราจะคิดถึงการศึกษาในรูปแบบของการเรียนการสอนของชีวิตได้อย่างไร ซึ่งหมายความง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรเด็กถึงจะมีสิทธิเลือกว่าเขาอยากจะใช้เวลาของเขาแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น เราจะอนุญาตให้เยาวชนตัดสินใจเองได้ไหมว่าพวกเขาอยากจะมาโรงเรียนภายหลังเพราะร่างกายกำลังอยู่ในวัยเจริญพันธ์
เราอยากจะทดแทนโรงเรียนด้วยมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาสุดทันสมัยที่นักเรียนวัย 8 ขวบ อาจจะมานั่งข้างๆ นักเรียนวัย 80 ปีในคาบเรียนคณิตศาสตร์หรือเปล่า หรือเราอยากที่จะให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ ในบ้านพักคนชรา ในแกลเลอรีศิลปะ หรือในร้านค้าต่างๆ ที่มีผู้ใหญ่หลายช่วงอายุเป็นผู้เรียน
แต่เมื่อฉันมองแนวคิดของระบบการศึกษาทั่วโลก ฉันก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ล้าหลังไปเพียงหลักปี แต่เป็นหลักทศวรรษ
ดังนั้นฉันจึงอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง และคิดว่าถึงเราจะไม่ได้ลงมือทำมันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดีเพราะเราเริ่มจะเห็นวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศและเหตุการณ์อื่นๆ ที่อุบัติขึ้นในโลกแล้ว”