เคยสงสัยไหมครับ
ว่าสิ่งใดที่มีผลให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าอีกคนหนึ่ง ?
อะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำคนเราประสบความสำเร็จ ?
คำถามนี้ไม่ใช่แค่พวกเราที่สงสัยนะครับ นักวิจัยหลาย ๆ ท่านก็สงสัยเช่นเดียวกัน มีการวิจัยหลายอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ผลวิจัยไหนที่ชี้ชัดว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของมนุษย์
จนมีนักวิจัยท่านหนึ่ง ชื่อว่า Carol Dweck ได้พบสิ่งที่น่าสนใจหลังจากทำวิจัยมานานกว่า 20 ปี เธอพบว่ามีตัวแปรหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งก็คือ กรอบความคิด หรือ mindset
Mindset คืออะไร ?
ชุดความคิดหรือความเชื่อของเรา ซึ่งจะชี้นำพฤติกรรมให้เราทำหรือไม่ทำอะไร โดยชุดความคิดนี้อาจจะเกิดมาจากสภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่เราพบเจอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าถ้าตอนเด็ก ๆ เราโดนไก่จิก เราก็จะมีชุดความคิดในการกลัวไก่ขึ้นมาในหัวของเรา เวลาเจอไก่ เราก็พยายามจะวิ่งหนีมัน
Carol Dweck กล่าวไว้ว่า Mindset ที่บ่งชี้ได้ว่าคนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- Fixed mindset (กรอบความคิดแบบตายตัว) คือ แนวคิดที่ว่าสติปัญญา ความเก่ง เป็นสิ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้แล้ว
- Growth mindset (กรอบความคิดแบบเติบโต) คือ แนวคิดที่ว่าสติปัญญา ความเก่ง เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้อย่างแน่นอน
โดยคนที่มี Growth mindset จะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่วนคนที่มี Fixed Mindset อาจจะหยุดพัฒนาตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ และประสบความสำเร็จน้อยกว่าศักยภาพที่เขามี
ลองคิดง่าย ๆ ก็ได้ครับ ถ้าเด็ก ๆ มี Fixed mindset เชื่อว่าความเก่งเลขเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้แล้ว เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกว่า “เขาจะเรียนเลขไปทำไม เรียนไปก็ทำได้แค่นี้ ก็ตัวเขาเกิดมาไม่ได้เก่งเลขนี่นา” เมื่อคิดแบบนี้ก็จะเกิดพฤติกรรมที่จะไม่เรียนเลขต่อ เบื่อช่างมันละกัน สุดท้ายก็จะไม่มีพัฒนาการด้านเลขเลย
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเด็ก ๆ มี Growth mindset มองว่าความเก่งของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ เขาก็จะคิดว่า “โอเค เราอาจจะยังทำเลขได้ไม่ดีในรอบนี้ แต่ถ้าเราพยายามขึ้นเราน่าจะได้ในอนาคต” เด็ก ๆ ก็จะเริ่มคิดหาวิธีว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการฝึกเลขมากขึ้น และสุดท้ายก็มีโอกาสจะเก่งเลขมากขึ้น
เห็นไหมครับว่า แค่ mindset ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อาจจะเปลี่ยนการตัดสินใจของเด็ก ๆ ได้ และส่งผลให้เขาไปต่อหรือไม่ไปต่อ
แล้วเราจะเริ่มสร้าง Growth Mindset ได้ยังไงนะ ?
ไม่ต้องเริ่มไกลจากที่ไหนเลยครับ
เริ่มจาก “คำพูด” ของพวกเราเวลาคุยกับเด็ก ๆ ก็พอ
4 เทคนิคในการพูดเพื่อสร้าง Growth mindset
1 ให้ชมที่ “ความพยายาม” มากกว่า “ความเก่ง”
เรื่องนี้อาจจะขัดใจหลาย ๆ ท่าน ว่าทำไมเราถึงไม่ควรชมเด็ก ๆ ว่า “โอ้ เก่งจังเลย” เพราะปกติเวลาเด็กทำอะไรได้ดี เราก็อยากชมว่าเขาเก่ง ให้เด็กมีกำลังใจ
แต่การที่เราพุ่งตรงไปชมที่ความเก่งและให้รางวัลเขา จะเป็นการเสริมสร้างให้เขาคิดว่าความเก่งนั่นแหละ คือ สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ต้องการ และเมื่อใดที่คิดจะทำอะไรที่เขารู้สึกว่าจะทำได้ไม่ดี เขาจะไม่ยอมทำและขาดการฝึกทักษะใหม่ในอนาคต หรือไม่กล้าพัฒนาต่อไปข้างหน้า กลายเป็นว่าจะมี Fixed mindset ไปโดยปริยาย
การเสริม Growth mindset จึงควรชมที่ “ความพยายาม” เช่น “หนูทำคะแนนวิชานี้ได้ดีนะ เพราะหนูพยายามอย่างหนักเลยใช่ไหม ความพยายามของหนูออกดอกออกผลแล้ว”
การชมแบบนี้จะทำให้เด็กมีกรอบคิด ว่าที่เขาทำได้ดีเพราะพยายามอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่ว่าจะเจอกับเหตุการณ์ไหน เขาจะใช้ความพยายามในการก้าวผ่านมันไปให้ได้
2 เวลาเด็กเจออุปสรรคหรือปัญหา ให้บอกว่าเป็น “ความท้าทาย” มากกว่า “อย่าไปทำเลย”
หลายครั้งเวลาเด็ก ๆ เจอปัญหา หรือบางครั้งเราเห็นว่ามีอุปสรรค ด้วยความไม่ตั้งใจ และอยากปกป้องเด็ก ๆ เราอาจจะเผลอพูดไปว่า “อย่าไปทำเลยหนู ลำบากจะตาย”
การที่เราพูดกับเขาแบบนี้ อาจจะสร้างกรอบคิดเรื่อง Fixed mindset ไม่กล้าเผชิญกับอุปสรรค ซึ่งในชีวิตจริง ๆ เราทุกคนก็ต้องเจอกับอุปสรรคอย่างแน่นอน การที่เด็ก ๆ กลัว หรือ เลือกที่จะหนีอุปสรรค จะทำให้เขาหยุดพัฒนา
เวลาเด็ก ๆ เจอปัญหาหรืออุปสรรค การพูดกับเขาเพื่อสร้าง Growth mindset ทำได้โดยบอกว่า “ให้มองปัญหาที่เจอว่าเป็นความท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้ได้”
นอกจากนี้เราอาจจะชวนเขามาวางแผน เพื่อทำให้ปัญหาหรืออุปสรรคนั้นลดน้อยลง เมื่อเด็ก ๆ สามารถผ่าฟันอุปสรรคได้ ก็อย่าลืมเน้นย้ำว่า เพราะการมองอุปสรรคเป็นความท้าทายนี่แหละที่ทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้ โดยไม่หนีจากปัญหาไปซะก่อน
3 อย่าพูด “เปรียบเทียบเด็กกับความสำเร็จของคนอื่น” แต่ให้ชวนคิดว่า “คนอื่นทำอย่างไรถึงสำเร็จ”
หลายครั้งพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะเผลอพูดเปรียบเทียบว่า “ลองดูเด็กคนนั้นสิ เขายังทำได้เลย ทำไมหนูทำไม่ได้บ้าง” โดยเราอาจคิดว่าการเปรียบเทียบจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กได้พัฒนาต่อ แต่จริง ๆ แล้วคำพูดเหล่านี้กลับเป็นสิ่งทิ่มแทงให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเขาไม่ดี เขาไม่เก่งเหมือนคนอื่น และยิ่งตอกย้ำให้เด็กมีกรอบคิดแบบ Fixed Mindset และทำให้เด็กให้ความสำคัญไปที่ความเก่งมากกว่าความพยายาม
แล้วถ้าจะพูดเรื่องความสำเร็จของคนอื่น ๆ ให้เด็ก ๆ ฟัง ควรจะพูดอย่างไรให้มี Growth mindset
เราอาจจะปรับการพูดจาก “เปรียบเทียบ” เป็น “ค้นหา” มากกว่า คือให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามว่าทำไมคน ๆ นี้เขาถึงทำได้ดี ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ เขาทำอะไรบ้าง เขามีวิธีอย่างไร สิ่งนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มองไปที่กระบวนการหรือความพยายาม มากกว่าผลลัพธ์หรือความเก่ง และเสริมสร้างแนวคิดที่ว่า ถ้าเรามีความพยายามและวิธีการที่ดี เราก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
4 เวลาเจอความผิดหวังหรือล้มเหลว ให้พูดว่า “ยังทำไม่ได้” แทน คำว่า “ทำไม่ได้”
ข้อสุดท้ายเป็นเทคนิคที่ง่ายที่สุด และอาจจะเป็นวิธีที่ทุกท่านสามารถเอามาใช้ได้เลย สิ่งนี้ Carol Dweck เรียกว่า The power of “Yet” หรือ พลังของคำว่า “ยัง”
เมื่อเด็ก ๆ ผิดหวังหรือล้มเหลว แล้วเราพูดย้ำว่า “หนูทำไม่ได้” หรือ “หนูไม่เก่ง” จะเป็นการสร้าง Fixed mindset ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า “โอเค งั้นเราทำไม่ได้ ก็ไม่ทำต่อละกัน” หรือ “ก็เราไม่เก่งเรื่องนี้ งั้นเราเลิกทำแล้วกัน”
แต่ถ้าเราอยากจะเสริม Growth Mindset เราแค่เติมคำว่า “ยัง” เข้าไป เปลี่ยนจาก “ทำไม่ได้” เป็น “ยังทำไม่ได้” แค่นี้ความคิดของคนที่ได้ฟังก็เปลี่ยนไป
เห็นไหมครับ…แค่เปลี่ยนคำพูดของพวกเรา กรอบความคิดของเด็ก ๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ ขอฝากทุกท่านให้ลองเริ่มเปลี่ยนคำพูด ให้คำพูดของเราไม่เป็น “แม่กุญแจ” ที่ล๊อกเด็ก ๆ ไม่ให้กล้าคิดกล้าทำ
แต่เปลี่ยนคำพูดของเราให้เป็น “บัวรดน้ำ” ที่คอยเติมน้ำให้กับต้นไม้เล็ก ๆ ได้เติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่กันนะครับ