เมื่อครูไทยต้อง “เปลี่ยนใหม่”
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อครูไทยต้อง “เปลี่ยนใหม่”

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) หรือ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ของ กสศ.  มีเป้าหมายเพื่อให้โรงเรียนขนาดกลางจำนวน 290 แห่ง ใน 36 จังหวัดสามารถพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) ด้านการบริหารจัดการโรงเรียนและด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หรืออาจารย์ไพโรจน์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่าโรงเรียนพัฒนาตนเองคือโรงเรียนที่ครูสามารถสอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองได้ 

“ครูดีเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์ได้ แต่ว่าครูดีเหล่านั้นก็มีขอบเขตการทำงานที่จำกัด ด้วยภารกิจที่ไม่ได้สอดคล้องนโยบาย ยากอยู่นะ สมมติว่าโรงเรียนตั้งเป้าว่าจะไปแบบนี้ พัฒนาการศึกษาโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง แต่ครูจะพัฒนาระบบช่วยเหลือนักเรียนขึ้นมาให้ดี พาเด็กให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง  แค่นี้ก็ขัดแย้งกันแล้ว ครูดีช่วยได้ แต่ถ้าระบบไม่เอื้อ ก็หมดครูดีโดยปริยาย  การแก้ปัญหาที่แท้จริงก็ต้องพัฒนาเชิงระบบให้ได้”

ยิ่งสถานการณ์โควิดที่ทำให้ “ความยาก” ปรากฏตัวอยู่ทุกหัวระแหงของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ครูไทยต้องเปลี่ยนใหม่อย่างไร แล้วประเทศไทยจะยังมีความหวังอยู่อีกไหม 

ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์  ผู้ซึ่งเป็น “ครูของครู” ได้เผยคำตอบที่อาจจะเป็นทางออกบางส่วนไว้

เชิญเลื่อนอ่านกันได้เลย

ก้าวย่างของการเป็นโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง

ผมเป็นหัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง  (TSQP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เราร่วมมือกับ กสศ.​ช่วยดูแลโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมาจนถึงจังหวัดนราธิวาส ทำมาได้ 2 รุ่นแล้ว มีประมาณ 80 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ แต่ต้องยอมรับว่าระหว่างทางมีโรงเรียนจำนวนหนึ่งถอนตัวออกไปเช่นกัน  เนื่องจากมีความเข้าใจที่แตกต่างกันในประเด็นเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ 

ตอนนี้หลายๆ ส่วนก็ยังมองภาพไม่เหมือนกันว่า การศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยควรจะมีหน้าตาอย่างไร ครูและโรงเรียนควรจัดการการเรียนการสอนแบบไหน ซึ่งการสอนแบบใหม่ที่เป็นเชิงรุก ครูต้องใช้เวลาในการออกแบบการสอน มันเป็นการเตรียมตัวใหม่ ฉีกไปจากการยืนสอนหน้าห้องแบบเดิม การปรับเปลี่ยนเชิงรุกนี้ ช่วงแรกครูและโรงเรียนจะเหนื่อย เพราะต้องออกแบบการสอนใหม่และต้องคุยกันมากขึ้น

ความยากในการเป็นโค้ช

การที่จะชวนครูมาพัฒนาการสอนในรูปแบบเชิงรุกที่เรากำหนดไว้ อยากจะให้โรงเรียนเกิดการสอนแบบ Active Learning นี่คือความยาก โดยปกติคุณครูจะคิดว่าตัวเองสามารถสอน Active learning ได้ คือสอนตามรูปแบบตายตัว แต่ความหมายของ Active Learning ที่แท้จริงก็คือครูต้องไม่สอน แต่ต้องตั้งคำถามให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองและสรุปความรู้ได้

ครูยังเข้าใจว่าการจัดกิจกรรมให้เด็กทำ แล้วเด็กสรุปว่าได้ทำอะไรบ้างเป็น Active Learning ในความหมายของครูแล้ว ซึ่งการสอนแบบเดิมเหล่านี้ ทำให้เด็กยังไม่เกิดความคิดด้วยตัวเอง ไม่สามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตัวเอง พูดให้ง่ายคือไม่เข้าใจว่าแบบไหนคือ ‘ของแท้’ กับ ‘ของเทียม’  ซึ่งถ้าคนติดของเทียมไปแล้ว การที่เราจะทำให้เขาหันมาใช้ของแท้มันก็จะยากเรื่องนี้เป็นความยากลำบากของพวกเรา ในการสร้างครูพัฒนาตัวเอง เพื่อสอนแบบ Active Learning

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง
เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Active Learning ที่แท้คืออะไร

โดยหลักการของ Active Learning ก็คือ เด็กต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็กสามารถตั้งคำถามแล้วก็ปฏิบัติ จากนั้นสรุปความรู้จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง เราเจอว่าครูที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้จริงๆ มีจำนวนไม่มาก นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เลยทำให้คะแนน PISA ของไทยลดลงๆ ขณะที่มาเลเซียเพิ่มขึ้นๆ ทำไมคะแนน O-net ไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยซะที ทำไมเรามีปัญหาตลอด นั่นเพราะกระบวนการสอนของครู ยังไม่ได้วางอย่างถูกทิศทาง ถูกหลักการ

เราใช้กระบวนการให้เด็กเลือกสิ่งที่สนใจเรียนรู้มาหนึ่งประเด็น แม้ความสนใจ ความต้องการของแต่ละคนไม่ตรงกัน เราก็กำหนดเงื่อนไขว่าควรจะเป็นประเด็นเดียวกัน  นักเรียนทุกคนจะได้สื่อสารกันได้ ทุกคนก็จะมีความหมายต่อกัน  ประชาธิปไตยในห้องเรียนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเคารพความคิดของคนอื่น  แต่ละคนมีเหตุผลที่จะเลือก แล้วเราจะตกลงกันอย่างไร กระบวนการแบบนี้ถูกฝึกกันอยู่ในห้องเรียน

เมื่อครูไทยต้อง “เปลี่ยนใหม่”

ครูดีเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์ได้ แต่ว่าครูดีเหล่านั้นก็มีขอบเขตการทำงานที่จำกัด ด้วยภารกิจที่ไม่ได้สอดคล้องนโยบาย ยากอยู่นะ สมมติว่าโรงเรียนตั้งเป้าว่าจะไปแบบนี้ พัฒนาการศึกษาโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง แต่ครูจะพัฒนาระบบช่วยเหลือนักเรียนขึ้นมาให้ดี พาเด็กให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง  แค่นี้ก็ขัดแย้งกันแล้ว ครูดีช่วยได้ แต่ถ้าระบบไม่เอื้อ ก็หมดครูดีโดยปริยาย  การแก้ปัญหาที่แท้จริงก็ต้องพัฒนาเชิงระบบให้ได้ 

การพัฒนาเชิงระบบต้องพัฒนาที่วิธีการคิดและตัดสินใจ  โดยใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ความสามารถเช่นนี้คือความสามารถของนักวิจัย ฉะนั้นถ้าเราฝึกความสามารถแบบนี้ขึ้นมาได้ โรงเรียนก็จะพัฒนาขึ้น สามารถที่จะรู้ว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ และมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นของตัวเอง จึงจะไปได้ ตอนนี้หาน้อยมากที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง  ต้องรอคำสั่งจากสังกัด แล้วก็ด้วยวิธีการแบบนี้ทำให้เขาไม่คิดด้วยตัวเอง เขาก็รออย่างเดียว เพราะการทำตามคนอื่นว่ามันง่ายและไม่มีความผิด นี่คือจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในสังคม

โมเดลตัวอย่างจากโรงเรียนต่างๆ

ก็มีหลายโมเดล เช่น ที่จังหวัดสตูลใช้โมเดลโครงงานฐานวิจัยในโรงเรียนนำร่อง ยกโรงเรียนนำร่องมาสิบโรงเรียนแล้วขยายออกไปในแต่ละปี ที่สามจังหวัดภาคใต้ก็ให้แต่ละโรงเรียนเสนอว่ามีนวัตกรรมอะไรบ้าง ที่จะใช้ขับเคลื่อนให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ต่างโรงเรียนก็เสนอกันไป บางที่ใช้วิธีการคิดเชิงระบบ โดยพัฒนาจากส่วนบนลงล่าง แต่ละโรงเรียนมีนวัตกรรมอะไรก็เอามาแชร์กัน เรียนรู้ร่วมกัน

หลังจากสถานการณ์โควิดแล้ว  คุณภาพการศึกษาที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือการที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ และต้องเรียนทางออนไลน์ได้ด้วย เพราะตอนหลังพิสูจน์แล้วว่า เด็กสามารถพัฒนาบางทักษะได้ง่ายทางออนไลน์ โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารที่พัฒนาได้เร็วมากทางออนไลน์เมื่อเทียบกับการสอนในห้องเรียน เช่น การที่เด็กสามารถสื่อสารผ่านคลิป  ซึ่งทักษะการสื่อสารมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ของเขา ถ้าทักษะนี้ดี กระบวนการเรียนรู้ของเด็กก็จะเร็ว

เราไม่คิดว่าจะยกห้องเรียนทั้งหมดไปอยู่บนออนไลน์  เพราะถ้าทำแบบนั้นก็ล้มเหลวหมด  ต้องพัฒนาการสอนเชิงรุกขึ้นมา แล้วก็บูรณาการสาระ คือใช้กิจกรรมง่ายๆ ให้เด็กทำ เช่น ทำอาหาร ทำไปแล้วสามารถมีความรู้ตามตัวชี้วัดของสาระตามหลักสูตร หลังจากนั้นเราก็เชื่อมต่อไปที่โครงงานเพื่อฝึกทักษะขั้นสูง พอถึงจุดนึงถ้ายังมีเวลา เราก็พานักเรียนเข้าไปสู่การสร้างอาชีพใหม่จากความรู้ที่เรียนมา ก็ปรากฏว่านักเรียนบางคนสามารถสร้างอาชีพทางออนไลน์ขึ้นมาได้  เรียกว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่กินได้ ทำให้นักเรียนมีรายได้

คติในการเป็นครู

ทำประโยชน์เพื่อคนอื่นก่อน  ผมได้อิทธิพลมาจากมหาวิทยาลัยที่ว่า “กิจของผู้อื่นเป็นที่หนึ่ง”  เราคิดว่าจะทำประโยชน์ให้กับการศึกษา ผมเป็นครูมาตั้งแต่ปี 2529 ก็สามสิบกว่าปีแล้ว ช่วงโควิดเป็นโอกาสของการเรียนรู้ใหม่  เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและก็ต้องปรับตัว

ผมว่าการเรียนการสอนหลังยุคโควิดเปลี่ยนโฉมไปมาก การจัดการเรียนรู้แบบเดิมที่รัฐพยายามคุมไว้ว่าเปิดโรงเรียนให้ได้เท่านั้นคือความคิดเก่าที่ทรงอำนาจ ถ้าปรับสักนิด ประเทศไทยจะไปได้ไกล สมัยหนึ่งที่รัฐบาลพยายามเอาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ ดีมากเลยนะ แต่ไม่มีกิจกรรมมันเลยไร้ผล จังหวะนี้อยากใช้จริงๆ  ก็ไม่มีแท็บเล็ตแล้ว การศึกษาบ้านเราเลยไม่ประสบความสำเร็จสักที จังหวะนี้ถ้ารัฐบาลทุ่มเงินให้แท็บเล็ตแก่คนที่ยากจน แล้วลองดูว่าคนยากจนจะมีการเรียนรู้ที่เทียบเท่าคนรวยหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก นักเรียนได้ประโยชน์

บทสะท้อนความสำเร็จของโรงเรียนพัฒนาตนเอง

เพิ่งคุยกับทีมประเมิน เขาบอกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้น เห็นรายละเอียดของเด็กมากขึ้น มองไปถึงวิธีการพัฒนาเด็กรายบุคคลได้ ส่วนตัวนักเรียนก็มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหา ตอบได้เกือบทุกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในงานของเขา ในสิ่งที่เขาทำ และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับครู

เราให้ครูวิเคราะห์ SWOT นักเรียนรายบุคคล หลังจากนั้นจึงสร้างคอนเซ็ปต์ของการดูนักเรียน พอครูหยิบนักเรียนที่มีปัญหามาวิเคราะห์แบบนี้ ครูก็เริ่มเห็น เริ่มสังเกต และมีจุดจ้องมองเด็กแต่ละคน

ในมุมมองของผม การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ตัวความรู้อย่างเดียว แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การเติมมิติการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ  ไม่สามารถพานักเรียนเข้าสู่มิติของการใคร่ครวญตัวเองได้  ทำให้การศึกษายังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือการสร้างสันติหรือความสุขแก่สังคม

ดังนั้นในสังคมยุคนี้ ถ้าเราไม่เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ของเด็กให้ชัดเจน เราก็จะใช้แนวคิดของเราไปจัดการปัญหา  ถ้าประเทศไทยไม่ปลุกชุมชนขึ้นมาเป็นเจ้าของการศึกษา ก็ยากเหมือนกันที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงขึ้นด้วยการคิดจากด้านบนอย่างเดียว  ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์โควิด ต้องปล่อยให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการศึกษาด้วยตนเอง

ปัญหาปัจจุบันซับซ้อนมากกว่าที่จะคิดแล้วแก้ปัญหาได้เลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็มีประสบการณ์ว่า เราพยายามที่จะโอนลงไปที่ อปท. หรืออะไรแล้วก็ยังไม่ได้ผล เพราะว่าเราลืมเติมความสามารถในการคิดและตัดสินใจ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงพยายามถ่ายทอดกระบวนการคิดขั้นสูงให้กับโรงเรียน ด้วยการถ่ายทอดแบบนี้ ก็จะเห็นว่าโรงเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ผมมองว่าโครงงานฐานวิจัยน่าจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่พัฒนาระบบการคิดได้ง่ายกว่ายุทธศาสตร์อื่น