โพควา โปรดักชั่น: โรงเรียนผืนดิน คุณครูสายน้ำ วิถีแห่งป่า และวิชาชาติพันธุ์

โพควา โปรดักชั่น: โรงเรียนผืนดิน คุณครูสายน้ำ วิถีแห่งป่า และวิชาชาติพันธุ์

“โอ๊ะหมึโชเป่อ สวัสดีครับ”

ข้อความจากพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า จังหวัดตาก ส่งตรงถึงคนใจกลางประเทศด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีไร้สาย ทำให้ถ้อยคำไม่คุ้นเคยถูกอธิบายความหมายในวรรคถัดมาอย่างรวดเร็ว

‘โอ๊ะหมึโชเป่อ’ เป็นคำทักทายในภาษาปกาเกอะญอที่ โอ-ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี สื่อสารออกมาได้อย่างคล่องปาก เพราะเป็นภาษาแรกที่รู้จักและได้ใช้ในชีวิต ก่อนจะเรียนรู้การสื่อสารภาษาไทยเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน

เด็กชายชาวปกาเกอะญอเติบโตขึ้นผ่านการถีบตัวเองเข้าสู่พื้นที่ความเจริญ ร่ำเรียนจนจบปริญญาตรีในกรุงเทพฯ แล้วประกอบอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน เส้นทางชีวิตของโอจึงดูไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่มีเป้าหมายคือเรียนให้จบแล้วหางานทำในเมือง

จนกระทั่งงานที่ทำอยู่พาให้โอกลับไปพบกับจุดตั้งต้นในตัวตนของเขา นั่นคือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่ไหลเวียนอยู่สายเลือดและความทรงจำ ‘โพควา โปรดักชั่น’ จึงถือกำเนิดขึ้นในนามของสื่อมิติใหม่ของสังคมชาติพันธุ์ เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรม และสะท้อนภาพความจริงของวิถีชาติพันธุ์จากมุมมองของคนชาติพันธุ์

ความหวังใหม่ของโอ คือการสร้างภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ โดยมีโจทย์สำคัญคือการทำให้คนชาติพันธุ์รุ่นใหม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เส้นทางดังกล่าวจึงต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครื่องมือสำคัญอย่างการศึกษาที่สอดรับกับบริบทของความเป็นชาติพันธุ์

และนั่นคือหัวใจหลักของการสนทนาในครั้งนี้

โอ-ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี
(ภาพ: โพควา โปรดักชั่น)

ช่วยแนะนำตัวหน่อยว่าเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี เป็นคนปกาเกอะญอ ตอนนี้เรียนปริญญาโท สาขาการสื่อสารศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานหลักที่ทำอยู่ตอนนี้คือผลิตสื่อสารคดีโทรทัศน์ และทำสารคดีให้กับหน่วยงานต่างๆ บางครั้งก็ไปเป็นวิทยากร เป็นกระบวนกร ส่วนงานอีกประเภทที่เป็นงาน motivate ทำเพื่อหล่อเลี้ยงความรู้สึกและจิตวิญญาณก็คือทำเพจโพควา โปรดักชั่น ให้ความรู้และข้อมูลเรื่องวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

ทำเพจโพควา โปรดักชั่น คนเดียวเลยหรือเปล่า

ใช่ ยังไม่มีทีมงานนะ เพราะเป็นเพจที่ไม่สร้างรายได้ (หัวเราะ) โพควาเป็นงานที่ผมทำแล้วเห็นการเติบโตของมันอย่างชัดเจน เพราะผมออกแบบเองทั้งหมด ตั้งแต่ โมเดลการสื่อสาร (SMCR Model) ไปจนถึงประเมินผลลัพธ์จากการสื่อสาร 

เล่าจุดเริ่มต้นของโพควา โปรดักชั่น และทำไมถึงชื่อ ‘โพควา’

ตอนเรียนปี 4 ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผมได้รับโอกาสทำสารคดีกับไทยพีบีเอส ตอนนั้นก็คิดว่าจะใช้ชื่ออะไรดีที่เป็นตัวแทนของทีมได้ ซึ่งทีมนี่ก็มีผมคนเดียวนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นเรามีข้อมูลและจินตนาการที่จะพูดถึงตัวเองไม่มากพอ

คอนเซปต์ที่นึกได้ตอนนั้น คือผมอยู่ในหมู่บ้านแถบชายแดนจังหวัดตาก เป็นภูเขาใหญ่ๆ ติดแม่น้ำ ทุกเช้าจะได้ยินเสียงเรือ ฝั่งนู้นก็พม่า ฝั่งนี้ก็เป็นไทย ผมก็เลยตั้งชื่อทีมในตอนนั้นว่า แสงเล็กๆ ในหุบเขา แต่ไม่ได้ส่งนะ เพราะคิดไปคิดมาชื่อมันยาวจัง มันดูไม่คลาสสิก ผมเลยกลับมาบ้าน ผมเป็นลูกคนโตในครอบครัวปกาเกอะญอ แม่ก็จะเรียกว่า ‘โพควา’ เรียกอยู่นั่นแหละ เรียกไปล้างจาน ทำกับข้าว คือทุกอย่างก็จะเป็นพี่คนโตก่อน เราก็เลยคิดว่า มันก็เป็นคำที่ดูคลาสสิกดี เท่ดี เท่ในเชิงที่เรียกง่ายด้วย มันแสดงถึงพี่คนโตด้วย ลูกชายด้วย ก็นำมาสู่ชื่อโพควา แล้วก็ตามด้วยโปรดักชั่น เพราะตอนนั้นใช้สำหรับพรีเซนต์ตัวเองตอนทำสารคดี

ส่วนจุดเริ่มต้นการทำงานในเพจโพควา โปรดักชั่น เริ่มต้นมาตั้งแต่ 15-16 ปีที่แล้ว เริ่มแรกเป็นการเล่าเรื่องเบื้องหลังสารคดีที่เราทำให้กับสื่ออื่น ว่าไปทำอะไรที่ไหนบ้าง แต่พอทำไป 1-2 ปี ก็คิดว่าควรจะเปิดพื้นที่ สร้างโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น เลยสื่อสารผ่านเพจว่าเรารับงานสารคดี งานถ่ายภาพถ่ายวิดีโอนะ หลังจากนั้นก็ทำงานหาเงินไปควบคู่กับทำเพจ แต่โพควาในตอนนั้นก็ยังไม่ไปแตะประเด็นชาติพันธุ์นะ ยังดูห่างไกลกันอยู่มาก

จนกระทั่งผมมีโอกาสไปทำสารคดีเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ได้เห็นการบวชป่า การแต่งงาน ผมก็เกิดคำถามขึ้นว่า เรามองเห็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราไม่สามารถมองถึงแก่นสารที่อยู่ภายใต้สิ่งนั้นๆ ได้ ซึ่งมันต้องอาศัยกรอบแนวคิด หรือกรอบความรู้เพื่อจะเข้าใจสิ่งนั้นๆ ผมเลยไปสมัครเรียนปริญญาโทที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2561 เพื่อเรียนรู้กรอบแนวคิดทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเอามาใช้กับการสื่อสาร

หลังจากนั้นคอนเทนต์ของโพควา โปรดักชั่น เลยเปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารเรื่องชีวิตวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ โดยที่เราก็เริ่มผลิตชิ้นงานขึ้นเอง เพราะวัตถุดิบบางอย่างที่ได้มาจากการทำสารคดีมันไม่สามารถเอามาใช้งานต่อแบบส่วนตัวได้ บวกกับเราเองก็เป็นคนในวัฒนธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถอธิบายความหมายของมันได้ เราก็ใช้สิ่งที่เราเรียนมามิกซ์กับสิ่งที่เราพบเจอ ตกผลึกบางอย่างทางความคิดแล้วก็เริ่มเขียนลงเพจ

ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องใช้พลังงานมากนักในการทำเพจ เพราะการเรียน ป.โท มันบังคับให้เราต้องทบทวนวรรณกรรม (review literature) อยู่แล้ว ผมเลยต้องหาข้อมูลเพื่อทำธีสิสแล้วก็เอามาทำคอนเทนต์บนเพจไปด้วย โดยลองมองหาแง่มุมที่น่าสนใจของเรื่องราวเหล่านั้น

ครั้งหนึ่งผมรีวิวเรื่องบทธา ซึ่งเป็นกวีที่เล่าวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ผมก็เอามาวิเคราะห์แล้วเขียนลงเพจ ปรากฏว่ามีคนให้ความสนใจเรื่องนี้เยอะมาก มีน้องๆ นักศึกษาที่เป็นปกาเกอะญอ ทักมาขอข้อมูล ขอสัมภาษณ์ เลยทำให้เรารู้ว่าแม้แต่กะเหรี่ยงด้วยกันก็มีคนที่ไม่รู้เรื่องนี้เยอะมาก ซึ่งก็ทำให้เราฉุกคิดว่า วัฒนธรรมอีกหลายๆ อย่างที่ทำสืบต่อกันมาก็อาจมีคนที่ไม่เข้าใจเหตุผลของมันก็ได้ ยิ่งการตีความแบบร่วมสมัยก็ยิ่งหายากเข้าไปอีก ซึ่งเราก็อยากจะเป็นคนหนึ่งที่แผ่มันออกมา อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้คนเข้าใจว่า ทำไมสิ่งนี้ วัฒนธรรมเหล่านี้จึงมีอยู่ มันมีคุณค่าทางสังคมยังไง และจะทำให้มันร่วมสมัยได้ยังไงบ้าง

ช่วงแรกที่ทำเพจ คนที่มาติดตามเป็นใครบ้าง

กลุ่มแรกก็เป็นคนทั่วไปที่มีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์ข้อความง่าย ๆ อย่างข้อความสวัสดี รูปธรรมชาติที่เราถ่าย มันอาจเป็นเพราะความสุนทรีย์ หรืออาจเชื่อมโยงกับชีวิตเขาโดยตรงก็ได้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีเยอะที่สุด เพราะมีทั้งคนที่อยู่ในไทยและในรัฐกะเหรี่ยงของพม่า แม้แต่อเมริกาก็มีนะ แต่ก็เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ไปอยู่ในต่างประเทศ

กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา กลุ่มนี้ก็มีเยอะเหมือนกัน เขาจะอ่านและต้องการข้อมูลระดับหนึ่งเพื่อไปพรีเซนต์ในห้องเรียน บางครั้งถ้าต้องการข้อมูลเชิงลึกก็ติดต่อมาที่เพจเพื่อขอไปลงพื้นที่ด้วย นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มที่รู้จักผ่านโซเชีลมีเดียที่เราเคยไปร่วมทำงานด้วย บางทีก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง ปั๋น-ดริสา การพจน์ (เจ้าของช่องยูทูบ Riety) หรือ เบลล่า-ธนัชพร บุญแสง (รองอันดับสอง Miss Universe Thailand 2019) ที่มาเรียนรู้วัฒนธรรมในพื้นที่ กลุ่มคนเหล่านี้เขาก็จะเชื่อมโยงกับคนในเมืองได้มากกว่าผม ดังนั้น ก็เป็นช่องทางในการเติบโตของโพควาอีกทางหนึ่งด้วย

กลุ่มที่ 3 จะเป็นอาจารย์ นักวิชาการ หรือคนที่ทำประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ มักจะมาขอสัมภาษณ์เพื่อทำวิจัย หรือบางครั้งก็เชิญผมไปร่วมแลกเปลี่ยนเป็นวิทยากร

กลุ่มที่ 4 คิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เชิญไปมอบโล่รางวัล กลุ่มนี้เป็นคนให้รางวัล ตัดสิน และมองว่าเราเด่นด้านไหน มีศักยภาพอะไรบ้าง

ทำงานในพื้นที่ไหนบ้าง มีที่ไหนที่สนใจเป็นพิเศษไหม

มีหลายพื้นที่ที่พ่วงกับที่ผมทำงาน เช่น ผมได้รับทุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในการทำสารคดี ได้รับโปรเจกต์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเรื่องไร่หมุนเวียน 5 ตอน ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครอง 3 ตอน ดังนั้นผมจะหาโอกาสการทำงานแบบนี้ไปพบกับชุมชนชาติพันธุ์ แต่คำถามที่ว่าไปที่ไหนเป็นพิเศษมั้ย คำตอบคือไม่มี อย่างที่บอก มันเป็นจังหวะแบบนี้

แต่ว่าทุกพื้นที่ที่ไป เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ปกาเกอะญอด้วย แล้วเขาก็รับรู้ว่าเราเป็นใครด้วย เขาก็ชวนไปหลายที่ ที่ไปบ่อยมากๆ คือดอยช้างป่าแป๋ ลำพูน ที่นั่นผมสนใจเพราะเขามีประเด็นเรื่องวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้ มีผู้คนที่น่ารัก เขามีศักยภาพที่จะแสดงความสามารถของตัวเองได้ในพื้นที่ตัวเอง เช่น การทอผ้า การทำพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนั้นชาวบ้านก็มีส่วนร่วมในการดูแลป่า มีอำนาจดูแลจัดการข้อมูล โดยใช้ศาสตร์จากภูมิปัญญาของเขากับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาเชื่อมกันเพื่อสื่อสารและต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมันน่าสนใจมากที่สามารถนำความรู้เหล่านี้มาทำงานร่วมกันได้

โพควา โปรดักชั่น นิยามตัวเองว่าเป็น ‘มิติใหม่ของสังคมชาติพันธุ์’ อธิบายหน่อยว่าเป็นยังไง

ถ้าเราดูโครงสร้างภาพลักษณ์ของชาติพันธุ์ในไทย จะแบ่งได้เป็น 3 ยุค ซึ่งข้อมูลนี้ผมรีวิวมาจากงานวิจัยของอาจารย์ขวัญชีวัน บัวแดง (อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ยุคแรกคือยุคจารีต ยุคที่ไม่มีรัฐ แต่ละหัวเมืองจะปกครองกันเอง แต่จะมีหัวหน้าเผ่า มีพิธีกรรม ยุคที่ 2 จะเป็นยุครัฐชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2500 ที่มีการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 โดยพูดถึงชาติพันธุ์ ซึ่งยุคนี้สร้างวาทกรรมเรื่องชาวเขาว่าเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมล้าหลัง ทำลายป่า วาทกรรมเหล่านี้สร้างตัวตนของคนชาติพันธุ์ในความเข้าใจของสังคมไปในเชิงลบ

จนกระทั่งปี 2530 เป็นยุคแรกที่คนชาติพันธุ์เริ่มเขียนเรื่องราวของตัวเอง โดยมี วีระศักดิ์ ยอดระบำ นักเขียนผู้เป็นสหายของชาวกะเหรี่ยง แปลภาษาปกาเกอะญอ ของพะตี่ตือโพ (ศิลปินชาวกะเหรี่ยง) ออกมาเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ตีพิมพ์เป็นหนังสือพ้อเลป่า

ยุคนี้เริ่มมีคนชาติพันธุ์ที่เป็นนักเขียน นักร้อง ศิลปิน มีการสื่อสารภาษาไทยมากขึ้น เพราะการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านภาษาปกาเกอะญอยังคงเป็นเรื่องยากที่คนในเมืองจะเข้าใจ ทำให้ในยุคนี้เกิดมิติภาพลักษณ์ว่าชาวเขาพูดไทยไม่ชัด ป่าเถื่อน สกปรก มันยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ หรือแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีความรู้สึกว่ามันเหยียดๆ กันอยู่

เพราะฉะนั้น มิติใหม่ของสังคมชาติพันธุ์สำหรับผมคือ เมื่อก่อนเรามองจากบนลงล่าง เรามองคนบนดอย คนชายขอบ แล้วอธิบายเขาผ่านมุมมองของเราและเข้าใจไปเอง แต่วันนี้ผมจะเป็นฝ่ายบอกเองว่า ฉันคือใคร ฉันมีศักยภาพอะไรบ้าง เป็นการแสดงศักยภาพโดยใช้มุมมองของมานุษยวิทยาในหลากมิติ ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงคนในเผ่าพันธุ์ เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสทางวัฒนธรรมให้กับคนชาติพันธุ์

ที่ผ่านมา คนข้างนอกมักเข้าใจกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองไปในทิศทางที่ผิด แท้จริงแล้วเขาคือผู้รักษา ไม่ใช่ผู้ทำลาย ถ้าเรามองจากสถานการณ์ที่คนปัจจุบันกำลังหาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อปกป้องโลกนี้จากมหันตภัยทางธรรมชาติ มันก็มีหลักฐานหลายอย่างที่ยืนยันว่าองค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน ซึ่งในแง่ของคนในวัฒนธรรม การที่สิ่งเหล่านั้นจะอยู่มาได้นั่นก็เพราะมันมีประโยชน์ต่อชีวิตของคน เพียงแต่ว่ายุคที่ผมโตคือยุคปกาเกอะญอรุ่นใหม่ ประเพณีหลายๆ อย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคใหม่

การสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม มีจุดไหนบ้างที่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้เข้าไปเรียนรู้และมีส่วนร่วม

พื้นที่ในความหมายผม ใช้คำว่า space ที่ไม่ใช่แค่ area คือนอกจากจะต้องมีพื้นที่ในเชิงกายภาพ ต้องเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ สมมุติยกตัวอย่างว่า จะอนุรักษ์ผ้าทอได้อย่างไร สำหรับคนยุคก่อนโจทย์ของการอนุรักษ์คือการรักษาความเป็นตำรับให้มากที่สุด แต่สำหรับคนรุ่นใหม่มันต้องตอบโจทย์มิติทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้ด้วย มันก็ต้องมาคุยกันเพื่อหาจุดร่วม

มันอาจจะเป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นข้อถกเถียงเหล่านี้งอกงามเกิดผล โดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้ก็สัมพันธ์กับการศึกษาด้วยว่า กรอบคิดที่เราเซ็ตขึ้นมา เรารับมาจากไหน ทำให้เกิดกระบวนทัศน์หนึ่งๆ ในการมองวัฒนธรรมตัวเองอย่างไร เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่มองว่าการประกอบสร้างในตัวเองเป็นอย่างไร

ภูมิทัศน์ของพื้นที่เหล่านี้จะรองรับวิถีชีวิตของคนรุ่นต่อๆ ไปได้หรือเปล่า

มันก็เป็นความหวังที่พอจะเป็นจริงได้นะ ถ้าเราพูดถึงปัจจุบันและอนาคต อาจจะต้องดูว่าสิ่งที่เราคิดจะทำมันสอดคล้องกับสถานการณ์โลกแค่ไหน สังคมวันนี้กำลังพูดเรื่องอะไร แล้วจะมามิกซ์กันได้อย่างไร มันก็ต้องประสานความรู้ข้ามศาสตร์ ไม่ใช่แค่ภูมิปัญญาหรือวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และอื่นๆ เพื่ออยู่กับปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีรากฐาน

ถ้าเห็นความเคลื่อนไหวของสังคม ความเคลื่อนไหวของโลก ก็จะทำให้โมเดลเศรษฐกิจหรือผู้ประกอบการชุมชนอยู่ต่อไปได้ แม้ว่าคุณจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม เพราะมันเป็นความหวังในระดับชุมชนและสังคม ที่สำคัญคือสังคมต้องคำนึงว่าปลายทางของสิ่งที่ชาติพันธุ์รุ่นใหม่กำลังผลักดันอยู่ มันนำไปสู่ GDP โดยรวมของประเทศเหมือนกัน เพียงแต่ในขณะนี้พื้นที่ที่เราอยู่มันไม่ได้ถูกนับรวมในเกณฑ์การคำนวณทางเศรษฐศาสตร์

ถ้าการบริหารจัดการวัฒนธรรมจำเป็นต้องใช้ความรู้หลายแขนง การศึกษาแบบไหนจึงจะตอบโจทย์ความต้องการนี้

โจทย์ใหญ่มีข้อเดียวคือ การศึกษาต้องทำให้คนมองเห็นพื้นที่ตัวเอง 

ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์หรือคนชายขอบที่เติบโตมากับป่า ถ้าต้องพูดถึงการแพทย์ วิศวกรรม หรืออะไรที่ไกลจากชีวิตจริงที่เป็นอยู่ บางทีก็เกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

สมัยก่อนตอนเห็นเครื่องบินบินผ่านท้องฟ้าที่บ้าน ผมก็เกิดความคิดว่าอยากเป็นทหารอากาศ แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงจึงจะได้เป็น กลับกัน ในช่วงหนึ่งผมอยากจะเป็นเด็กปั๊ม ด้วยเหตุผลว่ามันจับต้องได้ และมันหาเงินได้จริง ซึ่งผมก็เคยเห็นมากับตา สิ่งนี้เลยทำให้ผมรู้ว่า ถ้าหลายๆ อาชีพสามารถจับต้องได้ในบริบทสภาพแวดล้อมของเด็กทุกคน มันจะกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตได้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่รวมไปถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย

ปัจจัย 3 อย่างที่การศึกษาต้องเชื่อมโยงให้ได้คือ หนึ่ง ทำให้เด็กเชื่อมโยงตนเองกับพื้นที่ มีความเป็นตัวเอง เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะมนุษย์จะรู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีเมื่อมีพื้นที่ให้แสดงศักยภาพ

สองคือ เรื่องเศรษฐกิจ ต้องคำนึงว่าเราจะสามารถพัฒนาทักษะที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจและบริบทชุมชนของเราได้อย่างไร และสัมพันธ์กับบทบาทหน้าที่ของเรา 

สามคือ ต้องไม่ลืมขับเคลื่อนวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เพราะถ้ามันเกิดเศรษฐกิจได้ วัฒนธรรมก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วย แต่สองสิ่งนี้ต้องคุยกันว่าจะใช้เศรษฐกิจนำ หรือใช้วัฒนธรรมนำ หรือถ้าจะทำไปควบคู่กัน จะทำอย่างไรได้บ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเอื้อกับทุกอย่าง แต่ไม่เอื้อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต สิ่งที่เราพูดถึงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก สิ่งแวดล้อมในชุมชนจึงเป็นตัวแปรสำคัญของการจัดการ ไม่ใช่แค่ป่าไม้ แต่รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนด้วย

ถ้าว่าคุณมีโอกาสออกแบบการศึกษาในชุมชนบ้านเกิด อยากจะสอนอะไรบ้าง

สิ่งแรกเลยคือ ทำให้เขาภูมิใจและรู้ว่าเขามีศักยภาพ ค้นหาตัวเองว่าคุณเจ๋งเรื่องอะไร อย่างที่บ้านผมมีคนขับรถโดยสาร คนหาปลา คนขับเรือ คนแลกเงิน คนค้าขาย เราต้องทำให้เด็กเข้าใจได้ว่า เรื่องพวกนี้คือศักยภาพของคนคนหนึ่งเหมือนกัน

ถ้าเด็กคนหนึ่งบ้านอยู่ติดแม่น้ำ แล้วเด็กคนนั้นหาหอยเก่ง หรือยิงปลาเก่ง ทั้งที่ทักษะแบบนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน มันก็ควรเป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในศักยภาพตัวเอง

สองคือการทลายกำแพงภาษา เด็กชาติพันธุ์มีภาษาแม่เป็นภาษาแรก มีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง แต่การด้วยภาษาไทยมันทำให้หลายอย่างเข้าไม่ถึง ผมเห็นน้องๆ ที่อยู่ที่นี่ พอต้องพูดภาษาไทยแบบปุบปับมันก็ยากกับเขา การขอไปห้องน้ำ ขอไปปัสสาวะ อุจจาระ ต้องพูดเป็นภาษาไทย ไม่เช่นนั้นจะโดนครูด่า ทั้งที่มันเป็นแค่ความต้องการขั้นพื้นฐานทั่วไป

เราต้องตั้งเป้าให้เด็กทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ ไม่ว่าภาษาอะไรก็ไม่ควรจะเป็นกำแพงของการเรียน ถ้าภาษาไทยคือเครื่องมือที่ใช้เพื่อเข้าสู่ความรู้จากส่วนกลาง ภาษาแม่ก็ใช้เพื่อเข้าถึงความรู้แบบภูมิปัญญา มันควรจะสามารถเรียนรู้และใช้งานไปพร้อมกันได้ทั้ง 2 ภาษา อย่างเวลาที่คนไทยพูดไทยคำอังกฤษคำ มันดูเท่ แต่พอพูดไทยคำกะเหรี่ยงคำมันกลับดูแปลก ทั้งที่สถานการณ์เป็นแบบเดียวกัน

สามคือการสร้างอาชีพในพื้นที่ ดูว่าวิถีชีวิตในบริบทของชาติพันธุ์จะทำให้เกิดอาชีพอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ก็ต้องมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนให้เกิดอาชีพด้วย

ที่ผมพูดมามันติดกรอบใหญ่คือการกระจายอำนาจ ในเมื่อการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์กับพื้นที่จริงๆ ไอเดียเหล่านี้มันก็ทำไม่ได้ หรือถ้าต้องทำ ผมคิดว่าควรจะออกแบบการศึกษาทางเลือกที่มีหลายหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน ต้องได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ เพื่อจะสร้างโอกาส สร้างอาชีพในพื้นที่ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบ หรือประเมินว่าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะเรียนแบบนั้นได้

การศึกษาที่ตอบโจทย์ ไม่ได้จำกัดแค่การเรียนในห้องเรียน พื้นที่แห่งชีวิตในเขตรั้วบ้านหรือชุมชนก็เป็นสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ มันเป็นการเรียนที่ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ

นอกเหนือจากนั้น การศึกษาควรจะออกแบบเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจได้ด้วย สิ่งสำคัญคือการทำให้คนเหล่านี้มีประสิทธิภาพทางสังคม เป็นผลผลิตที่งอกงามในชุมชนของตัวเอง เพื่อเติบโตไปเป็นพลเมืองของสังคม

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในการจัดการศึกษาสำหรับพื้นที่ห่างไกล

จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ผมเรียนหนังสือผ่านหลักสูตรแกนกลางในโรงเรียนรัฐ ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าโรงเรียนจะสอนอะไรบ้างจนกระทั่งได้มาเรียน ผมมองว่าเราได้เรียนการวิพากษ์วิจารณ์ในชั้นมัธยมน้อยมาก เพราะเราต้องเคารพครู ครูคือความถูกต้องของทุกสิ่ง การโต้แย้งจึงเป็นเรื่องที่ยาก สิ่งที่เราสงสัยไม่เคยถูกถาม แล้วเราก็จะลืมไปเลย กลายเป็นว่าเรายอมรับข้อมูลนั้น ทั้งที่จริงๆ เราปฏิเสธมัน

ตัวอย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ ในห้องเรียนไม่เคยพูดถึงเรื่องชาติพันธุ์เลย ผมมาเรียนรู้เรื่องความเป็นปกาเกอะญอเชิงลึกตอนใกล้จะจบ ป.ตรี พอมาเรียน ป.โท ก็ทำให้เราได้เรียนการวิพากษ์มากขึ้น เพราะแนวคิดของสื่อมวลชนมันต้องมีการวิพากษ์ มีการตั้งคำถาม ทำให้เกิดมุมมองปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมา แล้วมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าบางอย่างมันไม่ใช่ บางอย่างมันไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะพื้นที่ของความรู้ 

สมมุติสิ่งที่เราเรียนมา เคยพูดถึงเรื่องของชาติพันธุ์ว่าเป็นคนไม่ดี ใช้ keyword การตลาด อย่างคำว่า ชาวเขาทำลายป่า ปลูกฝิ่น ภัยความมั่นคง พอคุณไปเจอพื้นที่จริง แล้วมองคนชาติพันธุ์ผ่านมุมมองของนักมานุษยวิทยา มันจึงจะเข้าใจได้ว่า การที่เขาอยู่กันแบบนั้นมันมีปัจจัยสาเหตุ และการทำแบบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรเลย

เราก็เข้าใจมุมมองของรัฐด้วยนะ รัฐต้องการจัดการทรัพยากรที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คน แต่ในขณะที่ชุมชนบอกว่า ฉันอยู่มาก่อน ให้ฉันจัดการได้ไหม รัฐก็จะมองว่าเขาพยายามตั้งตนเป็นประเทศ จะกุมอำนาจในพื้นที่ของตัวเอง เราเลยได้เห็นกระบวนการใช้อำนาจของรัฐ และกระบวนการที่คนถูกใช้อำนาจไปต่อรอง ซึ่งเราเป็นคนที่มองเห็นปรากฏการณ์ระหว่างสองกลุ่มนี้ และพยายามหาพื้นที่ตรงกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างหลากหลายเฉพาะตัว

พอประเทศนี้มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ผมคิดว่าการศึกษาก็ต้องตอบโจทย์กับพื้นที่ห่างไกล กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่างๆ เพราะการศึกษาทุกวันนี้เหมือนเป็นโรงงาน จบปุ๊บก็เข้าสู่ระบบสายพาน ดูดคนเข้าสู่เมืองหมด ทำให้ในชุมชนเหลือแต่เด็กกับคนแก่เพราะไม่มีงานรองรับ ทำให้แนวทางการพัฒนาชุมชนที่ต้องอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ก็ไม่สำเร็จสักที

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมไปดับไฟป่าที่บ้านแม่กลางหลวง เชียงใหม่ ที่นั่นมีแต่คนแก่กับเด็ก พอถามว่าคนรุ่นใหม่ไปไหน ชาวบ้านตอบว่า โอ๊ย มันไม่ว่างหรอก มันไปทำงาน ลางานไม่ได้ หรือไม่ก็ไปเรียนแล้วกลับมาไม่ได้ สุดท้ายคนที่อยู่ทำแนวกันไฟเลยมีแต่เด็กกับคนแก่ เพราะไม่รู้จะไปตามลูกหลานกลับมาอยู่บ้านได้ยังไง

การขาดพลังคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ก็ส่งผลกระทบต่อชุมชนและภาพรวมการพัฒนาประเทศด้วย ดังนั้น รัฐต้องออกแบบการศึกษาที่รองรับชุมชนหรือภูมิภาคได้ด้วย จะทำอย่างไรให้พื้นที่ต่างภูมิภาคศิวิไลซ์ได้ ซึ่งสุดท้ายมันก็หลีกหนีการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจไม่ได้อยู่ดี

ถ้ามีกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ ชุมชนก็ออกแบบดีไซน์ได้ มีอำนาจ มีงบประมาณในการจัดการพื้นที่ มันอาจจะเป็นการศึกษามิติใหม่ เป็นกระบวนทัพใหญ่ที่รับใช้ชุมชน สังคม และประเทศได้ แล้วนำไปสู่การพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม

พอได้ศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นชุมชน ความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเอง คุณเรียนรู้หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง

ผมตกผลึกกับตัวเองได้อยู่ 3 คำ คือ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา 

ตอนเพิ่งเรียนจบ ป.ตรี ผมมีไฟ ผมอยากจะไปเรียนรู้ แต่พอเราได้ไปอยู่กับธรรมชาติ ไปอยู่กับนักปราชญ์เก่งๆ กับพะตี (ญาติผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นลุง) หลายๆ คนที่เมื่อก่อนเคยออกไปต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์ เขามักจะเล่าให้เราฟังด้วยแนวคิดปรัชญาว่าทุกอย่างเชื่อมโยงอยู่กับธรรมชาติ

ครั้งหนึ่งผมได้คุยกับพะตีจอนิ โอ่โดเชา (ปราชญ์ชาวบ้าน และที่ปรึกษาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย) ตอนกำลังเดินทางไปแม่ฮ่องสอน ระหว่างทางไม่มีสัญญาณมือถือเลย ทำให้เรานั่งคุยกันบนรถ ผมถามพะตีว่า ‘โม่ลื่อป่าล่า’ แปลว่าอะไร ซึ่งคำนี้ถ้าเทียบเป็นภาษาไทย มันจะแปลว่ารากเหง้าบรรพชน

ผมก็ถามต่อว่ามันสามารถตีความยังไงได้อีกบ้าง พะตีบอกว่า ถ้าแปลตรงตัวคือ ‘แม่เป็นใย ใบเป็นพ่อ’ ซึ่งคำเหล่านี้มาจากโครงสร้างของต้นไม้ ถามว่าจากต้นไม้นำมาสู่รากเหง้าวัฒนธรรมได้ยังไง มันก็มาจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งที่เราเรียนรู้คือความธรรมชาติ ธรรมดา แม้กระทั่งชื่อนก ปลา การตั้งชื่อลูก ก็มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น เหล่านี้คือภูมิปัญญาที่เราพูดถึงกัน 

อีกคำหนึ่งคือคำว่า ‘เฮาะโข่’ แปลว่าแผ่นดิน แต่ความหมายทางวัฒนธรรมสำหรับพะตีจอนิ แปลว่า ที่แห่งการร้องไห้ เพราะธรรมชาติของคนที่อยู่บนผืนดินนี้ล้วนต้องร้องไห้ เกิดมาครั้งแรกก็ร้องไห้แล้ว ดีใจก็ร้องไห้ เสียใจก็ร้องไห้ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิต

ในทางภาษาศาสตร์ การเรียกแทนสิ่งใดด้วยคำใดคำหนึ่ง มันหล่อหลอมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ถ้ามนุษย์เรียนรู้ต่อสิ่งใดก็จะมีเซนส์ต่อบางสิ่ง และจะนิยามบางสิ่งเสมอๆ ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่า จะเรียนรู้ชีวิตเพื่อให้เข้าใจธรรมะ ธรรมชาติ และธรรมดา ที่เป็นพื้นฐานแห่งชีวิตได้ยังไง สำหรับผมเอง การตระหนักถึง 3 สิ่งนี้ได้ มันทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น