เมื่อมัสยิดสวมบทบาทพัฒนาอาชีพให้สตรีด้อยโอกาส เรื่องเล่าจากหน่วยพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

เมื่อมัสยิดสวมบทบาทพัฒนาอาชีพให้สตรีด้อยโอกาส เรื่องเล่าจากหน่วยพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

“โครงการที่ผ่านมาพอประชุมแล้วก็เงียบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่โครงการนี้เข้ามาช่วยเติมเต็มกำลังใจ เติมเต็มความมั่นใจ ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างหลายอย่าง มีอุปสรรคมาก กำลังใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องทุนพัฒนาอาชีพก็เข้าไปเสริมทำให้ชีวิตดีขึ้น”

คือถ้อยคำของ คุณนารี (นามสมมติ) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้าร่วมโครงการของศูนย์วิจัยและพัฒนา มัสยิดอัตตะอาวุน บางปู จังหวัดปัตตานี” ซึ่งได้รับ “ทุนจากโครงการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานคือหนึ่งในเครื่องมือส่งเสริมความเสมอภาคที่ กสศ. ขับเคลื่อนและสนับสนุนตั้งแต่ปี 2562 โดยทุนนี้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการ Reskill และ Upskill สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือประชากรวัยแรงงานที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาศักยภาพผ่านกลไกการหารือและจัดการร่วมกัน

ชีวิตที่พลิกฟื้น: เรื่องเล่าจากแดนใต้

ก่อนหน้านี้คุณนารีมีชีวิตที่ยากลำบาก เป็นกำลังหลักของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เลี้ยงพี่ชายพิการ และดูแลลูก ทั้งที่เธอเองก็ไม่มีรายได้ ต้องอาศัยรายได้จากเงินสวัสดิการผู้สูงอายุและผู้พิการจุนเจือครอบครัว

เมื่อศูนย์วิจัยและพัฒนา มัสยิดอัตตะอาวุน จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมทรัพยากรในชุมชน โดยทุนสนับสนุนจาก กสศ. คุณนารีจึงได้เข้าร่วม นอกจากความรู้และทักษะที่ได้ เธอยังได้รับพลังใจ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

“พอมาเข้าโครงการของมัสยิด รู้สึกดีใจที่ได้มายืนตรงจุดนี้ มีรายได้เข้ามา มีเพื่อนๆ ในกลุ่ม และรู้สึกดีใจว่า อนาคตข้างหน้าต้องดีกว่านี้ เพราะมั่นใจว่าโครงการนี้พาเราสู่อนาคตที่ดี”

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพบนฐานทุนวัฒนธรรมทรัพยากรในชุมชน ขับเคลื่อนและดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและพัฒนา มัสยิดอัตตะอาวุน บางปู จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนา มัสยิดอัตตะอาวุน เป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้มัสยิดอัตตะอาวุน ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อชุมชน ศูนย์วิจัยและพัฒนานี้เป็นที่รวมกลุ่มปัญญาชนที่ขันอาสามาดูแลทำงานชุมชน มาพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ

ในโครงการพัฒนาทักษะอาชีพนี้ ศูนย์วิจัย มัสยิดอัตตะอาวุนได้ร่วมทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรีด้อยโอกาสในชุมชนจำนวน 100 คน โดยสตรีด้อยโอกาสประกอบด้วยแม่หม้าย สตรีว่างงาน แม่เลี้ยงเดี่ยว สตรีที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน รวมทั้งสตรีสูงอายุ

“เนื่องจากสตรีต้องทำงานหนัก ต้องทิ้งบ้านทิ้งลูกทั้งวัน ชีวิตมีแต่ความเศร้า เราจึงอยากช่วยเหลือ อยากยกระดับชีวิตของสตรี แต่เราไม่มีทุน ก็เสาะหาหนทาง พอไปพบกับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของ กสศ.จึงเขียนโครงการสมัครไป” อาจารย์รูฮันนี ทีมดูแลของศูนย์วิจัยฯ มัสยิดอัตตะอาวุน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

“เราจัดกิจกรรมต่างๆ ช่วงแรก เป็นการให้ความรู้ภาคทฤษฎี การสอนทำบัญชีครัวเรือน ช่วงที่สอง ฝึกทักษะอาชีพโดยให้กลุ่มเป้าหมายเลือกอาชีพที่สนใจ โดยมี 5 อาชีพเกี่ยวกับการทำขนมและอาหารพื้นบ้าน คือ ปลาแห้งปลอดสารพิษ ขนมมาดูฆาตง ขนมอาเกาะ ยำสาหร่ายผมนาง และซามาลอแก ซึ่งเป็นอาหารขนมพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์ เราเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาบอกสูตรอาหารมาสอนทักษะการทำอาหาร”

“สิ่งที่สำคัญมาก ทุกครั้งก่อนเริ่มกิจกรรม อิหม่ามจะใช้ศาสนาจรรโลงจิตใจ ให้ทุกคนใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อนั่งระบายความรู้สึก ระบายความในใจ จะได้รับรู้ว่าเขาไม่ได้เศร้าอยู่คนเดียว และสะท้อนสิ่งดีในตัวออกมา ต่อมาก็ค่อยสอนเรื่องอาชีพ เราฝึกให้กลุ่มสตรีคิดประยุกต์เมนูอาหาร คิดต่อยอดอีกหลายเมนู เช่น ปลาแห้งก็สามารถทำเมนูขึ้นโต๊ะได้อีกหลายอย่าง เราค้นพบว่ากลุ่มสตรีเราก็เก่งมากด้วย”

เมื่อโจทย์สนุกก็พ้นทุกข์ถนัด

นอกจากเสริมพลังภายในและเติมศักยภาพความรู้ด้านการผลิตขนมและอาหารแล้ว โครงการยังเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเป้าหมายได้ฝึกทดลองตลาดจริงด้วย โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นทีม ให้เวลาหนึ่งเดือน ทุกทีมได้รับทุนประเดิมทีมละหนึ่งหมื่นบาท พอครบหนึ่งเดือนต้องนำหนึ่งหมื่นบาทมาคืนให้ได้ ซึ่งโจทย์นี้ช่วยกระตุ้นให้ทุกกลุ่มขวนขวายเรียนรู้และฝึกแก้ปัญหาเอง เป็นสิ่งที่สนุกมาก ทำให้สตรีเหล่านี้ลืมความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ทำให้รับรู้ว่า ถ้าเปิดใจกล้าก้าวข้ามความกลัว ออกจากคอมฟอร์ตโซนได้ เขาจะรู้ว่าเขาเก่งสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง

“ผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมพัฒนาอาชีพในรอบเจ็ดเดือน แม้จะไม่ง่าย แต่ทุกคนก็พยายามพิสูจน์ศักยภาพตนเอง อีกทั้งทางมัสยิดก็เป็นที่พึ่งพาให้ทุกคน เราต่างเป็นเพื่อนกัน วันนี้ทุกคนมีความสุขและเห็นแววว่าสามารถเป็นผู้ประกอบการใหม่มีอนาคตที่ดีได้” อาจารย์รูฮันนี กล่าว คุณสุกัญญา สุขสุพันธ์ พี่เลี้ยงจาก กสศ. ที่ช่วยให้คำแนะนำและปรึกษาตลอดโครงการฯ วิเคราะห์ว่า “จุดเด่นของโครงการนี้คือ ความเป็นองค์กร คนทำงาน และกระบวนการเรียนรู้ และจุดที่ประทับใจสุดคือ หน่วยนี้ทำงานบนมิติความสัมพันธ์ คือทำงานแบบต่อยอดจากสิ่งที่เขามี ไปดูก่อนว่าเขามีทุนความรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับขนมที่อยู่บนฐานทุนภูมิปัญญาและทรัพยากรของท้องถิ่น ทำให้เห็นว่าชุมชนมีตัวตน มีศักยภาพ มีความรู้ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการรู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพ”

เร่งลดความเหลื่อมล้ำต้องทำงานข้ามกระทรวง

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องทำงานข้ามกระทรวง

“สำหรับโครงการเหล่านี้ แผนยุทธศาสตร์ของ กสศ. คือ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มนอกรั้วโรงเรียน คือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ใช่เยาวชนแล้ว กสศ.พยายามค้นหารูปแบบกระบวนการที่สามารถส่งเสริมให้ทุกกลุ่มทำงานได้ เราเห็นทักษะศักยภาพ ปัญหา และมองว่าอาชีพนี่แหละเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรื่องของเศรษฐกิจ การศึกษาและชุมชนเชื่อมโยงกัน” ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างจากทั้งสามกรณีศึกษา  “ในภาพใหญ่ของประเทศ เรามีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ 70% ไม่ได้ทำงานในระบบ ยังเผชิญปัญหา สิ่งที่ กสศ.ทำไม่ได้เน้นเชิงจำนวน แต่เป็นการค้นหาโมเดลจากการเรียนรู้ปฏิบัติจริง เราเห็นช่องว่างการเรียนรู้ ระบบนิเวศ จึงพัฒนาโมเดลขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะไปขยายผลต่อได้ โดยการเสนอเป็นแผนนโยบาย ทุกท่านจึงมีบทบาทอย่างยิ่งที่เป็นผู้ให้คำตอบ เราจะขยายผลให้ความช่วยเหลือมากกว่านี้ ทดลองสร้างต้นแบบด้วยกัน เราทำมาแล้วสองปีและได้บทเรียนดีเยอะ”

รู้จักทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป้าหมายหลักคือ ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือประชากรวัยแรงงานที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสร้างกระบวนการให้เกิดการยกระดับความรู้ ความสามารถ ในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง
 
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. ได้มีบทบาทสนับสนุนโครงการพัฒนาอาชีพ 194 โครงการ เปลี่ยนชีวิตผู้คนกว่า 14,414 คน ใน 51 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากการมอบทุนในรูปแบบเงินสนับสนุนแล้ว กสศ. ยังหนุนเสริมทักษะความรู้ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งทำงานร่วมกับ “พี่เลี้ยง” อย่างใกล้ชิด
 
“การใช้ชุมชนเป็นฐานเป็นต้นแบบหนึ่งของ กสศ. ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานเชิงพื้นที่ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดย กสศ.เข้าไปหนุนเสริมทักษะความรู้และงบประมาณบางส่วน ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้รูปแบบการทำงานแบบนี้น่าจะเป็นทางเลือกและทางรอดของประเทศไทยได้”

– ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563

สามารถติดตามข้อมูลทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพิ่มเติมได้ที่: https://www.eef.or.th/fund/community-base

ที่มา: เวทีเสวนาออนไลน์ “เรียนให้รู้ อยู่ให้รอด…สู้วิกฤตโควิด-19: บทเรียนการทำงานทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2563” เมื่อ 28 พฤษภาคม 2564