‘ปัญญายิ้ม’ พลังใจจากรอยยิ้มของครอบครัวผู้พิการ

‘ปัญญายิ้ม’ พลังใจจากรอยยิ้มของครอบครัวผู้พิการ

ในวันที่พิษจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกำลังส่งผลไปทั่วประเทศนั้น คนธรรมดาก็ใช้ชีวิตได้ยากแล้ว คนพิการยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก และยิ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานที่พิการทางสติปัญญาด้วยแล้ว การใช้ชีวิตของพวกเขายิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า

“สำหรับครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและยากจน ผู้ปกครองที่มีลูกพิการทางสติปัญญาถือว่าเป็นภาระหนักหนาสาหัส หากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะพวกเขาเหล่านี้ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเลี้ยงดูลูก จึงไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ รายได้ที่ใช้จุนเจือครอบครัวมีน้อยถึงน้อยมาก บางรายมีเพียงเบี้ยคนพิการเท่านั้นที่ดูแลคนทั้งบ้าน”

นี่คือเรื่องราวเริ่มต้นที่ทำให้ นางสาวสาริศา เปียงาม ประธานชมรมคนพิการทางสติปัญญา ลุกขึ้นมาทำโครงการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของครอบครัวผู้มีลูกพิการทางสติปัญญา จังหวัดนครปฐม

 

โดยเธอเองก็มีลูกที่พิการทางสติปัญญา ต้องพาลูกไปฝึกพัฒนาการ ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดนครปฐมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้มีโอกาสได้พบเจอพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกพิการทางสติปัญญาหลายคน เห็นความยากลำบากของพวกเขา เนื่องจากเวลาพาลูกมาฝึกพัฒนาการ เขาจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย ทำให้บางวันไม่สามารถพาลูกหลานมาฝึกพัฒนาได้ เพราะไม่มีเงิน

“ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่าเราจะช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร พอดีมีทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ เป็นการฝึกพัฒนาการของผู้พิการไปในตัว ยกตัวอย่างเช่น การทำพวงกุญแจ ช่วงจังหวะแรกที่ติดกระดาษจะให้ผู้ปกครองทำก่อน จนถึงกระบวนการเคลือบเงาก็ให้ผู้ปกครองจับมือพาลูกหลานทำ เพื่อฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของผู้พิการไปพร้อมกัน”

ไม่เพียงแต่ฝึกทักษะอาชีพเท่านั้น กระบวนการของสาริศายังทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนุกสนาน และผ่อนคลายจากภาวะตึงเครียดที่ประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีการเติมทักษะด้านตลาด การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย สอนถ่ายภาพ การทำคลิปขายของออนไลน์ในเพจของปัญญายิ้มและเพจที่กลุ่มเป้าหมายสร้างขึ้นเอง เพื่อให้สมาชิกสามารถรับออร์เดอร์ได้เอง 

ในช่วงแรกทางชมรมจะช่วย “หาตลาด” ให้ ทั้งตลาดออนไลน์ในเพจปัญญายิ้ม รวมถึงตลาดน้ำทั้ง 3 แห่งในจังหวัดนครปฐม คือ ตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดน้ำวัดไร่ขิง และตลาดน้ำวัดสรรเพชญ นอกจากนี้มีร้านของชำร่วยย่านสำเพ็งอีก 2 แห่งที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ไปช่วยเสนอขายให้กับลูกค้า โดยออร์เดอร์สินค้าทั้งหมดทางชมรมจะแจกจ่ายให้กลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียม

“เราพยายามแจกงานให้ครบทั้ง 93 ครอบครัว โดยได้รับค่าแรงต่อชิ้นประมาณ 1-3 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน ซึ่งเป้าหมายเราคือ อยากให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 500 บาท แต่ช่วงที่โควิดระบาดหนัก ๆ จะมีปัญหาหน่อย เพราะศูนย์การศึกษาพิเศษปิด เราก็จะส่งงานการทำสบู่ให้กับครอบครัวที่อยู่บริเวณใกล้กับชมรมเท่านั้น เนื่องจากต้องดูแลการทำอย่างใกล้ชิด ส่วนครอบครัวที่บ้านอยู่ไกลก็เปลี่ยนเป็นออร์เดอร์อื่นแทน”

สาริศาเล่าต่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเป้าหมายผลิตได้นอกจากขายผ่านเพจปัญญายิ้มแล้ว ยังมีภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย เช่น อบต.ทรงคะนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สภาสังคมสงเคราะห์ พัฒนาสังคมจังหวัด และอีกหลายหน่วยงานที่เมื่อมีงานออกบูธขายสินค้าก็จะมาชวนให้ชมรมไปร่วมออกบูธแสดงสินค้า โชว์ฝีมือของสมาชิกให้เห็น กระทั่งมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดขายทาง Shopee กับ Lazada ร้านพรีเวดดิ้ง ร้านขายของชำร่วยในพื้นที่ โดยใช้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นที่กระจายสินค้า

“ในยุคโควิดที่เงินหาได้ยากขึ้นเช่นนี้น การมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ​500 บาทต่อเดือนถือเป็นสิ่งดี แต่ที่ดียิ่งกว่าคือ ศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญาที่เพิ่มขึ้น มี 5 ครอบครัวที่สามารถหาออร์เดอร์ได้เองทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ แม้รายได้หลักร้อยที่เพิ่มขึ้น แต่กลับสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนในครอบครัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

สาริศาย้ำว่า สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือสุขภาพจิตของผู้ดูแลเด็ก เมื่อก่อนเวลาพาเด็กมาเรียน เราสังเกตเห็นเลยว่าเขามีภาวะซึมเศร้า ไม่ค่อยพูดจากับใคร เพราะมันมีปัญหาให้เขาต้องคิดหลายอย่าง ทั้งปัญหาเรื่องรายได้ ปัญหาเรื่องพัฒนาการของลูกหลาน 

การที่เขาได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งทุกข์และสุข ความเครียดก็ลดลง  การนำงานกลับไปทำที่บ้านนอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว งานบางอย่างยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้อีกทางหนึ่ง เช่น ช่วยหยิบของใส่ถุง หรือบางคนก็สามารถร้อยสร้อยลูกปัดได้ กลายเป็นได้ทั้งงานทั้งเงิน ได้ส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลาน และได้ความสุขในครอบครัวกลับคืนมา

ในอนาคตทางชมรมอยากที่จะต่อยอดศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นผู้ดูแลคนพิการและเด็กพิการทางสติปัญญาให้สามารถทำงานเองได้ ขณะเดียวกันก็อยากพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาลวดลายและรูปแบบของชำร่วยให้สวยงามน่าสนใจยิ่งขึ้น

สามารถติดตามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ : ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน