‘ส่งน้องให้ถึงมือหมอ’ รถพยาบาล ‘ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต’ กสศ. รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง

‘ส่งน้องให้ถึงมือหมอ’ รถพยาบาล ‘ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต’ กสศ. รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง

กสศ.ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เด็กที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ที่เข้าไม่ถึงการรักษาและความช่วยเหลือเร่งด่วน 

นอกจากสนับสนุนให้มีศูนย์พักคอยเกียกกายสำหรับเด็ก สร้างเครือข่ายอาสาสมัครทั้งในและนอกระบบตามชุมชนต่าง ๆ สนับสนุนเครื่องมือทำงานกับหลายภาคส่วน กสศ. ยังจัดให้มีหน่วยรถพยาบาลเฉพาะกิจพร้อมทีมอาสาสมัคร รับส่งเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด -19

ณัฐพงศ์ ธรรมแท้
เตรียมงานอย่างรัดกุมพร้อมแข่งขันกับเวลา

ณัฐพงศ์ ธรรมแท้ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำรถพยาบาล กสศ. กล่าวว่า “ผู้ติดเชื้อหลายรายยังรอความช่วยเหลือจากที่บ้าน ด้วยความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึงเมื่อไหร่ ทุกวินาทีผ่านไปย่อมหมายถึงอาการป่วยที่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของคนในครอบครัว มีโอกาสได้รับเชื้อตามไปด้วย”

รถพยาบาล กสศ. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำความช่วยเหลือ เข้าไปหาเด็กทั่วกรุงเทพมหานครตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนนำเข้าระบบความช่วยเหลือ รวมถึงการประสานกับโรงพยาบาลและศูนย์พักคอย 

หน้าที่ของรถพยาบาล กสศ.คือ รองรับเคสฉุกเฉิน จัดลำดับความสำคัญจากอาการและพื้นที่ของผู้ติดเชื้อ จากนั้นวางแผนความช่วยเหลือให้มีการทำงานที่กระชับ รวดเร็ว เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อ 90% ที่รับมาคือเด็กเล็ก มีตั้งแต่อายุเพียง 1-2 เดือน ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ของเด็กที่รออยู่  ได้ยินเราติดต่อประสานเข้าไปเขาจะดีใจมาก เพราะบางรายต้องคอยเป็นเวลาหลายวัน เสียงที่ตอบรับกลับมามีความหวังเจืออยู่ในนั้น ว่าลูกของเขากำลังจะได้รับการส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว”

หลังปฏิบัติงานมาแล้วราวสามสัปดาห์ ทีมอาสาสมัครพบว่าทุกเคสที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ คือกลุ่มที่มีผลตรวจเบื้องต้นยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ การปฏิบัติงานจึงต้องมีการสื่อสารกับผู้รอความช่วยเหลือเป็นระยะ ระบุตำแหน่งทีมงานและเวลาเดินทางไปถึง เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมนำผู้ติดเชื้อขึ้นรถได้ทันที

เจ้าหน้าที่จะเตรียมรถที่จัดสรรพื้นที่แยกส่วนผู้ติดเชื้อกับเจ้าหน้าที่ประจำรถ มีการซีลพลาสติกใสหุ้มบริเวณรองรับผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดและป้องกันไม่ให้เชื้อปนเปื้อนตกค้าง ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องสวมชุด PPE เต็มรูปแบบ เข้าใจขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดีว่าเมื่อรับผู้ติดเชื้อขึ้นรถมาแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น วัดค่าออกซิเจนในเลือด วัดไข้ ตรวจสอบลักษณะอาการ และประเมินได้ว่าผู้ป่วยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด

“ความสามารถในการประเมินผู้ติดเชื้อเบื้องต้น ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าจะนำส่งผู้ป่วยไปยังศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาล เพราะบางรายจำเป็นต้องพาไปตรวจหาเชื้อซ้ำ บางรายคือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องส่งให้ถึงมือแพทย์อย่างเร่งด่วนที่สุด ประสบการณ์จากหน้างานทำให้เราเห็นความสำคัญของการจัดระบบ และเตรียมพร้อมทั้งการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวผู้ติดเชื้อ การระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในการทำงาน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อและครอบครัวได้เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว และยับยั้งการแพร่ระบาดให้ลดลงได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้”

ทวีศักดิ์ นิรตานนท์
ภารกิจ​ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา​ ​

ทวีศักดิ์ นิรตานนท์ คือพนักงานขับรถตู้ที่หันมาทำงานจิตอาสา เขาเล่าว่าเห็นประกาศรับอาสาสมัครขับรถ ​โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และ​ปรับแต่งรถมีฉากกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร รวมทั้งแยกระบบปรับอากาศข้างหน้าและข้างหลังเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเขาผ่านเงื่อนไขทั้งสองข้อ จึงตัดสินใจทำงานอาสาสมัครในระหว่างที่ยังไม่มีงานเข้ามา

“ผมชอบขับรถและเคยทำงานจิตอาสามาก่อน  ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ช่วยคน คิดว่าจะจอดรถทิ้งไว้เฉย ๆ ทำไม น่าจะได้ออกไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงมาเป็นอาสาสมัครขับรถ พอได้ทำแล้วก็รู้สึกดี ได้เห็นเขาไปถึงจุดหมายปลายทาง ได้พาคนป่วยไปถึงมือหมอ ด้วยความหวังว่าเขาจะต้องหาย เราส่งเขาถึงจุดหมาย เขาก็ยกมือไหว้ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก”

ทวีศักดิ์เคยขับรถส่งผู้ป่วยไปจังหวัดขอนแก่น โดยเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเตียงและทางโรงพยาบาลแจ้งว่าได้เตียงแล้ว​  จึงทำการนัดผู้ป่วยและไปรับที่บ้านแต่ละหลังรวม 5 คน ซึ่งเขามองว่าถ้าใจไม่รักก็คงทำไม่ได้ เพราะแค่ตระเวนรับก็ 3 ชั่วโมงแล้ว บางคนอยู่สมุทรสาคร บางคนอยู่บางนา ก็ต้องวางแผนการรับทีละคน และไปให้ถึงโรงพยาบาลปลายทางทันเวลาราชการ

“ถามว่ากลัวติดเชื้อไหม ไม่กลัวนะ เพราะเรามีอุปกรณ์ป้องกัน ถ้าเรามีสติ ไม่ประมาท เราก็ไม่ติด เราใส่ชุด PPE  ใส่หน้ากากเฟซชีลด์ ​​รถเราก็ปลอดภัย มีประตูไฟฟ้า ตั้งแต่ไปรับก็ไม่ได้ลงจากรถเลย เสร็จแล้วบางโรงพยาบาลมีล้างรถฆ่าเชื้อให้ด้วย แต่กลับบ้านเราก็ไปล้างเองอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ”

ยงยุทธ ขาวขำ
ไม่ใช่แค่​ขับรถรับ-ส่ง แต่ต้องดูแลเรื่องเอกสารและให้กำลังใจ

ยงยุทธ ขาวขำ โชเฟอร์อาสาสมัครวัย 52 ปีเล่าให้ฟังว่า เขารับส่งเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก ส่วนมากจะเป็นเด็กจากย่านคลองเตยและห้วยขวาง การทำหน้าที่โชเฟอร์ไม่ใช่แค่การขับรถเท่านั้น  แต่ยังต้องช่วยเหลือเรื่องเอกสาร และให้กำลังใจผู้ป่วยอีกด้วย

“สถานการณ์ตอนนี้น่ากลัว แต่เราก็ป้องกันตัวเองอย่างดี มีอุปกรณ์ครบ แล้วก็คิดว่าถ้าเราไม่ช่วยแล้วเขาจะมีคนมาช่วยหรือเปล่า บางครั้งเด็กมาคนเดียว เพราะผู้ปกครองติดเชื้ออยู่โรงพยาบาล เราก็ต้องไปช่วยกรอกเอกสาร บางคนขึ้นมาหงอย ๆ เราก็ต้องชวนคุยให้เด็กมีกำลังใจ บางคนตรวจเสร็จรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ เราก็บอกว่าสู้ ๆ เดี๋ยวก็หาย ของแบบนี้มันหายได้ ไม่ใช่เป็นแล้วไม่หาย ทำให้เขามีกำลังใจ ผู้โดยสารหัวเราะ เราก็หัวเราะ ผู้โดยสารหงอย เราก็ต้องชวนเขาคุย เด็ก ๆ ก็เป็นเหมือนกับลูกหลานเรา

“สิ่งที่ได้คือความสุข เราส่งเขาเสร็จแล้ว เขาก็ไหว้แล้วไหว้อีกแทบทุกคน แต่สิ่งแรกที่ต้องมีคือต้องมีใจก่อน ถึงจะทำตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีใจทำไปก็ไม่มีความสุข  แต่ถ้ามีใจทำแล้วมีความสุขแน่นอน”​