กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อช่วยปรับสภาวะจิตใจเด็กด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
ศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเกียกกายแห่งนี้ มีทั้งมุมของเล่น หนังสือ และเกมต่าง ๆ รวมถึงการได้สื่อสารสนทนากับกลุ่มเด็กวัยเดียวกัน เป็นพื้นที่เล็กๆ อันปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กก่อนเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลต่อไป
เพราะช่วงวิกฤต เด็กต้องได้รับการดูแลพิเศษ
ชุติสา ศาสตร์สาระ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ผู้รับผิดชอบศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเกียกกาย กล่าวว่าศูนย์ฯ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อยากให้ กทม. มีพื้นที่พักคอยสำหรับเด็กโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก โดยใช้พื้นที่อาคาร ‘ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย’ เป็นที่ตั้ง
“พื้นที่เรายังมีไม่มาก มีเตียงรองรับทั้งหมด 52 เตียง แบ่งสัดส่วนชัดเจนเป็นเตียงสำหรับเด็กชายและเด็กหญิงฝั่งละ 26 เตียง ขณะนี้มีน้อง ๆ เข้ามาอยู่แล้วประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวนเตียงทั้งหมด
“กลุ่มที่เรารับมาดูแลคือเด็กจากชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ 50 เขตของ กทม. เป้าหมายของศูนย์ ฯ คือรองรับเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ดูแลตนเองได้ ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากเราเห็นแล้วว่า การส่งเด็กเข้าศูนย์พักคอยปกติที่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยนั้น มีข้อจำกัดหลายอย่างที่เด็ก ๆ ต้องเจอ ทั้งความเครียดกดดันต่าง ๆ หรือสถานการณ์บางอย่างที่จะทำให้สภาพจิตใจของเด็กย่ำแย่ลง สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ หลังจากนี้เด็กจะต้องถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาล ดังนั้นเขาควรได้รับการเตรียมพร้อมที่เหมาะสม
“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยคือเรื่องสำคัญ ทั้งการดูแลสุขภาพร่างกายและการสร้างความปลอดภัยด้านจิตใจ เราจึงจัดสรรพื้นที่ให้มีลักษณะผ่อนคลาย มีมุมสำหรับเล่นเกม เล่นของเล่น และอ่านหนังสือ มีนักสังคมสงเคราะห์ และแพทย์เด็กเฉพาะทางที่พร้อมตรวจดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง สามารถสั่งยาเพื่อช่วยให้น้อง ๆ ไม่เครียด ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และส่งต่อโรงพยาบาลได้ในกรณีที่อาการหนักขึ้น”
บทบาทของ กสศ.
สำหรับบทบาทของ กสศ. ในการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครนั้น กสศ. สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ เพื่อเร่งจัดตั้งศูนย์ ฯ ให้ทันสถานการณ์และความต้องการ รวมถึงรับผิดชอบในการเติมเต็มความช่วยเหลือทุกทางให้เกิดขึ้น เพราะการประสานช่วยเหลือเด็กที่ติดเชื้อโควิด -19 ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน
เด็กที่อยู่ในศูนย์ ฯ แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง ยากจน อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ขาดโอกาสได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ในระยะยาว กสศ. ยังทำหน้าที่ติดตามเพื่อช่วยฟื้นฟูเด็กและครอบครัวในอนาคต เช่น อุปสรรคจากความยากจนที่ทำให้ไม่ได้เรียนต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา กรณีพ่อแม่ผู้ปกครองเสียชีวิตหรือตกงาน
กลไกอาสาสมัครที่มีคุณภาพคือแกนกลางของการปฏิบัติงาน พี่เลี้ยงดูแลเด็กๆ ในศูนย์ ฯ มาจากเครือข่ายอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครประชาชน อาสาสมัครแพทย์พยาบาล ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว ทำหน้าที่ประสานงาน รับเคส ส่งต่อ ติดตามเคส และระบบส่งกลับ สามารถรับมือสถานการณ์ปัญหาเฉพาะหน้าและสื่อสารกับผู้ป่วยเด็ก เยาวชนและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
‘ความร่วมมือ’ ช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
ผู้รับผิดชอบศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเกียกกายกล่าวว่า งานดูแลเด็ก ๆ ที่ศูนย์ฯ เกิดขึ้นได้ด้วยพลังขับเคลื่อนจากหลายฝ่าย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจาก กสศ . และสำนักงานเขตดุสิต ซึ่งจะเข้ามาประจำที่ศูนย์ฯ วันละ 4 คน ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสองทุ่ม
นอกจากนี้ยังมีครูอาสา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน ข้าราชการสำนักงานเขตดุสิตที่ทำหน้าที่หัวหน้าเวรประจำ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน
“หน้าที่หลัก ๆ ของอาสาสมัครคือ การมอนิเตอร์หน้าจอดูอาการเด็ก รับจองคิว ทักทายพูดคุยให้เด็ก ๆ รู้สึกเป็นกันเอง รวมถึงการเตรียมอาหาร ของว่าง และยาสามมื้อ จัดเตรียมเสื้อผ้า ที่นอน เก็บขยะไปทิ้งให้ โดยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในชุด PPE”
“การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้เห็นว่าความร่วมมือร่วมใจกันคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผ่านวิกฤตไปได้ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานไม่เคยทำมาก่อน แต่การวางแผนเพื่อแบ่งหน้าที่ และแรงหนุนที่ดีจากหลายฝ่ายช่วยให้งานเดินหน้าไปได้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีคนหนึ่งคนใดหรือหน่วยงานใดสามารถทำงานได้เพียงลำพัง
“เรายังไม่ประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง แต่ก็ยังมีผู้ใจบุญจำนวนหนึ่งที่ทราบเรื่องแล้วติดต่อเข้ามา แจ้งความประสงค์ว่าอยากส่งมอบสิ่งของจำเป็นมาให้ ทุกคนพร้อมช่วยกันจริง ๆ ในภาวะวิกฤตแบบนี้”
ส่งต่อความหวังและกำลังใจ
ศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเกียกกายเปิดทำการมาได้ราว 2 สัปดาห์ ภาพเด็ก ๆ ที่เข้ามาพักคอยในพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามในการการถ่ายเทความหวังและกำลังใจให้กันและกัน
“การที่เด็กได้เข้ามาอยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้เด็ก ๆ รักใคร่กลมเกลียวและเปิดใจเข้าหากัน เขาจะช่วยกันทำความสะอาดกวาดถูห้อง สื่อสารความรู้สึกถึงกัน หยิบยื่นน้ำใจ ช่วยถือกระเป๋า คนเป็นพี่ดูแลน้อง คอยปรามไม่ให้ซนกันมากไปนัก แน่นอนว่าด้วยวัยของเขาก็ต้องมีการวิ่งเล่นประสาเด็กบ้าง แต่โดยรวมถือว่าเด็ก ๆ มีความรับผิดชอบสูง พร้อมจะช่วยดูแลกันเป็นอย่างดีในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างตระหนกและหวั่นไหว
“สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราคณะทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ พลอยได้รับกำลังใจและรู้สึกมีความหวังไปด้วย สะท้อนว่าเราทุกคนสามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันและกันได้ อุปสรรคที่เผชิญอยู่จะได้ไม่เป็นเรื่องหนักหนาจนเกินไปนัก”
ยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอก
อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ ยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะ ชุด PPE ที่วันหนึ่งต้องใช้ประมาณ 10 ชุด เพื่อรับเด็กแรกเข้า ส่งยา อาหาร และจัดการขยะ อาหารปรุงสำเร็จเพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับรสชาติที่หลากหลายและโภชนาการที่ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากที่ทางศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมข้าวกล่อง ขนมปัง และขนมขบเคี้ยวไว้ให้น้อง ๆ อยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังต้องการถุงมือ เสื้อกาวน์ ถุงดำ ถุงใส่ขยะติดเชื้อ ถุงพลาสติกหุ้มเท้า รองเท้าบู๊ตยาง กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ฯลฯ อีกด้วย