จากก้าวย่างที่ผิดพลาดทำให้เยาวชนจำนวนมาก พาตัวเองไปสู่จุดเริ่มต้นของวงจรสีเทาที่สุ่มเสี่ยงจะถลำลึกไปเรื่อยๆ
“โอกาส” เป็นสิ่งที่จะพาพวกเขาให้กลับมาเดินตามทางปกติ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคม มีการศึกษา อาชีพ รายได้ และอนาคตที่ดีขึ้น กลายเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสังคมต่อไป
แต่หนึ่งใน “อุปสรรค” ที่เกิดขึ้นคือ “การศึกษา” ที่ต้องหยุดชะงัก ทำให้หลายคนที่ก้าวเข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ได้ศึกษาต่อ เมื่อกลับออกไปก็ไม่อาจเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง จนต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย ตามมาด้วยโอกาสในการประกอบอาชีพก็ลดน้อยตามลงไปด้วย จนอาจบีบให้พวกเขาต้องเลือกกลับไปทำในสิ่งที่ผิดพลาดอีกครั้ง
นำมาสู่ความพยายามแก้ไขปัญหา หยิบยื่นโอกาสที่จะช่วยพวกเขาเข้าถึงการศึกษาควบคู่ไปกับการฝึกทักษะอาชีพ
เทียบโอนผลการเรียน กลุ่มประสบการณ์ ลดการเรียนซ้ำซ้อน
ศูนย์การเรียนรู้ซี วาย เอฟ หรือสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยองค์กรเอกชน มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กเล็กและเยาวชน (Children and Youth Development Foundation : CYF) เป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหาตรงนี้
เริ่มต้นจากการร่วมมือกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม ออกแบบแผนการจัดการศึกษาเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้เครื่องมือการจัดการเรียนรู้ และวัดประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ที่สำคัญคือการเทียบโอนผลการเรียนเดิมและการเทียบโอนกลุ่มประสบการณ์ เพื่อลดการเรียนซ้ำซ้อนในวิชาที่ได้เรียนมาแล้ว นับเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชน ให้ได้มีโอกาสเลือกและกลับตัวเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง หรือมีวุฒิการศึกษาภาคบังคับไปสมัครงานถูกกฎหมายเมื่อพ้นโทษ สกัดการกลับมาติดซ้ำในสถานพินิจฯ
ยกระดับสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
สร้างงาน สร้างอนาคต
อีกด้านหนึ่ง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ได้เข้ามาทำงานโครงการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แก่เยาวชนในสถานพินิจและเยาวชน จังหวัดนครพนม เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ผศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการและผ่านหลักสูตรจะได้รับใบประกาศที่มีการรับรองโดยคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครพนม
“ใบประกาศนี้สามารถนำไปใช้สมัครงานและนำไปเทียบหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งความรู้ที่ได้ยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย”
สำหรับหลักสูตรที่จัดอบรมมี 5 หลักสูตร คือ 1. การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย 2. การติดตั้งไฟฟ้าในอาคาร 3. ซ่อมรถจักรยานยนต์ 4. หลักสูตรการเชื่อมอาร์คด้วยมือ และ 5. หลักสูตรการสร้างสื่อดิจิทัล แบ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 20 ชั่วโมง และหลักสูตรระยะยาว 120 ชั่วโมง
“โอกาส”ทำให้เริ่มต้นใหม่ไม่กลับไปเลือกทำผิดซ้ำ
ดรีม (นามสมมติ) เป็นอีกคนที่ผ่านการเรียนกับ CYF จนได้รับวุฒิบัตรจบ ม.3 โดยนำทักษะความรู้เรื่องช่างไฟฟ้าและเลี้ยงสัตว์ไปเทียบเกรด อีกด้านเขายังผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารระดับ 1 ทำให้เมื่อพ้นจากสถานพินิจฯ เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
“ตอนนี้ผมตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน จะไม่เลือกเดือนทางที่พลาดซ้ำอีกแล้ว มองว่าอยากจะเรียนต่อด้านไฟฟ้า ปวช. ช่วงที่อยู่บ้านก็คนมาว่าจ้างให้ไปช่วยงานติดต้ังซ่อมไฟฟ้า พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ”
เช่นเดียวกับ “นิว” (นามสมมติ) อายุ 18 ปี ที่เคยเข้าไปข้องแวะกับยาเสพติด จนต้องมาลงเอยที่สถานพินิจฯ ยืนยันว่าการอยู่ที่นี่ทำให้เขาได้คิดและได้กลับตัว ไม่คิดจะกลับเข้ามาซ้ำอีกแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่ทำให้เขาได้เรียนต่อ ไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะซ่อมมอเตอร์ไซค์
“โอกาสเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผมกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ตอนนี้ผมได้เรียนต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดชะงักหรือเรียนซ้ำ อีกไม่กี่เดือนจะได้ออกจากสถานพินิจฯ ผมตั้งใจว่าจะเรียน CYF ต่อให้จบ ม.6 เพราะมีความยืดหยุ่นในการเรียน ใช้การเทียบโอนทักษะได้ พอเรียนจบก็จะไปเรียน ปวส. ด้านช่างยนต์”
ปัจจุบันมีเยาวชนในสถานพินิจฯ อีกจำนวนมากที่อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง สิ่งสำคัญคือโอกาสที่ทำให้พวกเขาได้กลับมาเรียนและฝึกทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมที่สักวันหนึ่งเขาจะได้กลับมาใช้ชีวิต มีงาน มีอนาคตที่ดี ไม่กลับมาทำผิดซ้ำเดิมอีกต่อไป